10 ก.พ. 2021 เวลา 13:00 • ครอบครัว & เด็ก
#ทำไมคนเป็นแฟนกันถึงมีหน้าตาคล้ายๆกัน #ทำไมวะ
ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับวันแห่งความรัก อย่างวันวาเลนไทน์ ก็เลยอยากขอเสนอคอนเทนท์ของคนมีคู่ดูสัก 1 😝 ..เคยเห็นคู่รักบางคู่แล้วถามกับตัวเองไหมคะว่า “ทำไมคู่นี้หน้าเหมือนกันจัง / หน้าคล้ายกันจัง” โดยเฉพาะบางคู่นี่หน้าเหมือนกันอย่างกับฝาแฝด เรื่องนี้มีทฤษฎีอะไรที่รองรับได้ไหม มันเกิดจากอะไรกันแน่ หรือที่แท้เรานั้นคิดไปเองงงง ว่าแล้วก็มาไขข้อสงสัยนี้กันเลยค่ะ
ทำไมคนเป็นแฟนกันมักมีหน้าตาคล้ายๆกัน
👫เราได้รับอิทธิพลเรื่องเนื้อคู่จากพ่อแม่มาเยอะนะ รู้ไหม?
มีผลการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า “คนเรามักจะเลือกหวานใจ ที่มีหน้าตาคล้ายพ่อหรือแม่ของตัวเอง” ลองสังเกตสเปคของตัวเองดีๆแล้วอาจจะพบได้ว่า หลายๆสิ่งที่เราชอบในคู่ชีวิตของเรานั้นจะมีความคล้ายกับคนในบ้านของเรา เช่น ผมยาว มีหนวด/เครา ผิวเข้ม/ผิวขาว หรือชอบคนใจเย็น อาจจะพูดได้ว่าเป็นเพราะความคุ้นเคย ความอบอุ่นและความไว้เนื้อเชื่อใจคนในครอบครัวของตัวเอง
.
ผนวกเข้ากับอีก 1 ทฤษฎีที่ว่ามนุษย์เรามักชอบ และดึงดูดสิ่งที่เหมือนกันเข้าหาตัวเองเสมอ โทนี่ ลิตเติล (Tony Little) นักวิจัยด้านจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง ประเทศสก็อตแลนด์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า “เมื่อเราเห็นคนที่มีใบหน้าคล้ายกันกับเรา เราจะรู้สึกเชื่อใจและให้ความร่วมมือกับเขาง่ายขึ้น” เป็นเพราะคนเราจะรู้สึกว่าปลอดภัยและรู้สึกคุ้นชินกับใบหน้าของตัวเองนั่นเอง ด้วย 2 ข้อแรกนี้ก็พอจะร้องอ๋อแล้วว่าทำไมหน้าตาถึงคล้ายกันนัก ก็เราดันชอบทั้งคนที่มีลักษณะคล้ายพ่อ-แม่ของเรา และชอบคนที่หน้าคล้ายตัวเองอีกทีนั่นไง!
.
🙆‍♀️การเลียนแบบของจิตไร้สำนึก (Unconscious Minicry)
อีกทฤษฎีที่น่าสนใจของโรเบิร์ต ซายองค์ (Robert Zajonc) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่าคนเรามักจะเผลอเลียนแบบลักษณะของคนที่อยู่รอบตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว ยิ่งในคู่ที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นเวลา อาจจะ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี เกิดจากการที่คนเราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันเป็นเวลานาน ทำให้หลายๆคู่เผชิญสถาณการณ์ร่วมกันบ่อยๆ ง่ายๆก็คือ สุขก็หัวเราะด้วยกัน เจอเรื่องเครียด เศร้า เสียใจก็ร้องไห้ไปด้วยกัน หรืออาจเรียกได้ว่าพวกเขามีการ “แชร์ประสบการณ์ร่วมกัน” (ตามหลักจิตวิทยาเรียกว่า Shared Coordinative Structure) ใช้กล้ามเนื้อในการแสดงอารมณ์เหมือนกัน ริ้วรอยบนใบหน้าที่เกิดขึ้นจึงมีแนวโน้มที่จะเกิดในส่วนเดียวกัน เช่น ตีนกา ร่องแก้ม เป็นต้น
.
ตลอดจนอาจมีสำนวนการพูดจาที่ถอดแบบกันเป๊ะ จากปรากฎการณ์ “การระบาดทางอารมณ์” (Emotional Contagion) คือ บางคู่อาจมี “น้ำเสียง” หรือแม้กระทั่ง “จังหวะ” ในการพูดที่เหมือนกันมากๆ นอกจากนี้โรเบิร์ต ยังอธิบายต่ออีกว่ายิ่งในคู่รักคู่ไหนที่มีความสุขมากๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันมาอย่างโชกโชน ก็จะยิ่งมีหน้าตาที่คล้ายกันมากขึ้นไปอีก
.
นอกไปจากการปรับเปลี่ยนรูปหน้าที่เกิดขึ้นจากการอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานแล้วนั้น คู่รักที่สนิทสนม มีความสัมพันธ์อันดีกันมากๆ จะมีพฤติกรรมแบบ “การสะท้อน” (Miroring) คือ จะมีการปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของตัวเองให้คล้ายกับอีกคนอยู่เสมอ เช่น เมื่อมีฝ่ายนึงลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ก็มีแนวโน้มที่อีกฝ่ายจะค่อยๆปรับเปลี่ยนมามีพฤติกรรมรักสุขภาพด้วย เป็นต้น
.
สรุปได้คือ การที่คู่รักมีใบหน้าที่คล้ายคลึงกันนั้นมีความเป็นไปได้ ด้วยทฤษฎีและงานวิจัยต่างๆมากมาย ว่าคู่รักที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานานจะมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน เจอสถานการณ์ร่วมกันและเกิดการแชร์ประสบการณ์ร่วมกันอยู่ตลอด จึงเกิดการปรับเปลี่ยนของกล้ามเนื้อบนใบหน้า หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงอุปนิสัยต่างๆไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งมนุษย์ทั่วไปมักจะชอบคนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพ่อ/แม่ คนในครอบครัว หรือมีลักษณะใดๆที่คล้ายคลึงกับตนเอง จึงช่วยเพิ่มความเหมือนขึ้นไปอีกนั่นเองค่ะ
โฆษณา