Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 ก.พ. 2021 เวลา 08:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
'เศรษฐกิจ' ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน
ทำความรู้จัก "เศรษฐกิจแบบสมาชิกชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ" พร้อมยกตัวอย่าง 6 รูปแบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ ที่มีความสำคัญในยุควิกฤติโรคระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำ
บทความโดย รศ.วิทยากร เชียงกูล | คอลัมน์ปฏิรูปประเทศไทย
'เศรษฐกิจ' ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน
เศรษฐกิจแบบสมาชิกชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ/ผู้บริหารทรัพย์สินร่วมกัน (The Common) มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม มากกว่าระบบทุนนิยมหรือสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง ระบบนี้มีหลายรูปแบบ อาจเรียกชื่อว่าสหกรณ์ เครดิตยูเนียน ป่าชุมชน วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น
1.โครงการฟาร์มเกษตรที่ชุมชนสนับสนุน (Community Supported Agriculture) คนจากชุมชนเมืองที่เป็นผู้บริโภคพืชผักผลไม้ ลงทุนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ชนบทใกล้เมือง ตอนต้นฤดูการผลิต เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทุนในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแบ่งปันกันแบบระบบสหกรณ์ ผู้ลงทุนซื้อหุ้นร่วมรับความเสี่ยง และร่วมเข้าไปช่วยเหลือทำงานและจัดกิจกรรมร่วมกันช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย มีโครงการแบบนี้ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมหลายพันแห่ง เฉพาะในสหรัฐมี 1,700 แห่ง ในญี่ปุ่นก็ทำเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970
ตัวอย่างเช่น ที่เมือง Hadley เมืองเล็กๆ ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ มีโครงการฟาร์ม next barn over ที่สมาชิกชุมชนเมืองที่ร่วมลงทุนทุกต้นฤดูการผลิตจะไปช่วยกันเก็บเกี่ยวและแบ่งปันผลผลิตพืชผักผลไม้ชนิดต่างๆ ในเช้าวันเสาร์ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว สมาชิกที่มีครอบครัว 2 คนจะลงทุนหรือซื้อหุ้น 415 ดอลลาร์ และได้ส่วนแบ่งพอเพียงสำหรับคน 2 คนจะบริโภคได้ใน 1 สัปดาห์ตลอดทั้งฤดูเก็บเกี่ยว ครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนก็จ่ายเพิ่มและได้รับส่วนแบ่งเพิ่มตามสัดส่วน
โครงการแบบนี้ตั้งใจช่วยเกษตรกรและสมาชิก ได้บริโภคพืชผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษมากกว่ามองว่าเป็นเรื่องธุรกิจ การจ่ายเงินลงทุนตอนต้นฤดูการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีทุนดำเนินงานที่ผู้ร่วมหุ้นร่วมรับความเสี่ยงด้วย ถ้าพืชผลฤดูนั้นเสียหายได้ผลผลิตน้อย สมาชิกก็จะได้ส่วนแบ่งผลผลิตน้อยด้วย สมาชิกยังสนุกกับการไปช่วยทำฟาร์มในวันหยุดและจัดงานสังสรรค์รื่นเริงกันระหว่างสมาชิกจากเมืองและเกษตรกร เป็นการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกว่าความสัมพันธ์แบบซื้อขายสินค้ากันในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม
2.เครือข่ายสหกรณ์ Cecosesola มลรัฐ Lara เวเนซุเอลา การรวมตัวกันของสหกรณ์ 30 แห่งและองค์ประชาชนระดับรากหญ้าอีก 30 แห่ง ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เพื่อที่จะให้อาหาร การดูแลรักษาพยาบาล การขนส่งและบริการอื่นๆ เข้าถึงสมาชิกราว 7 แสนคน ในราคาที่ต่ำกว่าราคาในท้องตลาด มีการร่วมมืออย่างแข็งขันของสมาชิกทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย พวกเขาใช้วิธีการประชุมหารือกันในกลุ่มต่างๆ เพื่อกำหนดต้นทุนการผลิตและรายได้ที่ผู้ผลิตสามารถยังชีพได้ แล้วก็เฉลี่ยออกมาเป็นราคาเดียวกันโดยไม่สนใจต่อกลไกราคาในตลาดทุนนิยม พวกเขาทำให้ราคาสินค้าต่ำกว่าท้องตลาดได้เพราะการบริหารจัดการแบบสหกรณ์ที่สมาชิกร่วมมือกันช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด จากคนกลาง และด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์
พวกเขาอาศัยความไว้วางใจเชื่อใจกันในหมู่สมาชิก สหพันธ์มีกองทุนกลางที่สามารถจัดสรรไปช่วยเหลือสหกรณ์กลุ่มที่มีปัญหาเดือดร้อนได้ด้วย ทั้งๆ ที่ประเทศเวเนซุเอลาซึ่งต้องพึ่งพาการสั่งเข้าอาหารจากต่างประเทศมาก มีปัญหาอัตราเงินเฟ้อ (ค่าครองชีพ) สูงมาก แต่เครือข่ายสหกรณ์แห่งนี้ก็ยังคงดำเนินงานสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารให้กับท้องถิ่นโดยยึดหลักการสหกรณ์มาได้ยาวนาน เครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภคแบบนี้มีในประเทศอื่นๆ ด้วย
3.ธนาคารเวลาและการใช้เงินตราท้องถิ่น ที่เมืองเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ และเมืองอื่นๆ มีการจัดตั้งธนาคารเวลา ซึ่งคล้ายกับระบบสหกรณ์ สมาชิกใช้วิธีการแลกเปลี่ยนการทำงานให้กับสมาชิกคนอื่น โดยได้รับคะแนนชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเขาสามารถใช้คะแนนของเขาไปขอนัดรับบริการจากสมาชิกคนอื่นได้ แนวคิดของการแลกเปลี่ยนการทำงานให้กันและกันแบบนี้ คือการปฏิเสธเรื่องการจ้างงานของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งเน้นแต่เรื่องการตอบแทนเป็นเงินมากไป ทำให้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนมนุษย์ที่ควรช่วยเหลือกันลดลง
ที่เมืองเฮลซิงกิ มีสมาชิกโครงการนี้มากกว่า 3,000 คน ในสังคมชุมชนอื่นๆ ก็มีธนาคารเวลาแบบนี้และมีการใช้เงินตราท้องถิ่นแทนการซื้อขายให้บริการแบบใช้เงินทางการของรัฐบาลในชุมชนต่างๆ ได้ จุดประสงค์ของเงินตราท้องถิ่นคือเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการให้บริการการในท้องถิ่น ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอก ช่วยเพิ่มการจ้างงานและผลผลิตในท้องถิ่น และปฏิเสธเรื่องการใช้เงินตราสะสมทุนเพื่อหาดอกเบี้ย ผลกำไร เพื่อสร้างความมั่งคั่งของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
4.โครงการร่วมมือระหว่างประชาชนกับเทศบาลเมือง เมืองโบโลญญา อิตาลี ฟื้นฟูอาคารที่ถูกทอดทิ้งรกร้างให้นำกลับมาใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน การเพิ่มสวนและต้นไม้ในเมือง และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอื่นๆ โครงการร่วมมือกันแบบนี้มีในเมืองอื่นๆ มากกว่า 10 เมืองในอิตาลี แม้แต่เมืองการท่องเที่ยว เช่น ฟลอเรนซ์ ซึ่งที่ดินมีราคาสูงมาก ก็มีสมาชิกชุมชนร่วมกันพัฒนาสถานที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางพักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมของชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่ยอมให้บริษัทธุรกิจเอกชนเข้ามากว้านซื้อที่ดินไปทำธุรกิจเหมือนในเมืองอื่นๆ ในประเทศอื่นๆ
5.องค์กรพยาบาลดูแลผู้ป่วยที่เมืองอัลเมโร เนเธอร์แลนด์ เป็นองค์กรแบบธุรกิจเอกชนที่เน้นประสิทธิภาพ ความเป็นธรรมและความพอใจของผู้รับและผู้ให้บริการ จัดตั้งโดยพยาบาลที่ต้องการพัฒนากิจกรรมดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายต่ำ ที่สามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้น องค์กรนี้จัดตั้งทีมพยาบาลที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี แบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่บริหารจัดการกลุ่มได้เอง กลุ่มหนึ่งดูแลสมาชิกในชุมชนราวกลุ่มละ 50-60 คน พยาบาลเหล่านี้ใช้วิธีออกไปเยี่ยมเยียนและพูดคุยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ป่วย คนชรา ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กิจกรรมขององค์กรดูแลผู้ป่วยนี้ได้ผลดีมาก ทำให้ผู้ป่วย คนชรา ไปรับการดูแลเยียวยาที่โรงพยาบาลจริงๆ ลดน้อยลง การทำกิจกรรมแบบเน้นความเอาใจใส่ความเข้าใจมากกว่าเรื่องธุรกิจให้บริการแบบทุนนิยมนี้ทำให้คนทั้งคนไข้และพยาบาลทำงานร่วมกันด้วยความเอาใจใส่และมีความสุขทั้ง 2 ฝ่าย
ในปี 2017 องค์กรนี้ซึ่งได้ผลดีและมีค่าใช้จ่ายต่ำ มีพยาบาล 9,000 คน ดูแลคนไข้ 100,000 คน ทั่วเนเธอร์แลนด์และมีโครงการขยายงานแบบนี้ไปในสหรัฐ และประเทศยุโรปอื่นๆ ด้วย
6.กิจกรรมแบบให้เปล่าผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีหลายโครงการมาก เช่น การเปิดให้ใช้ซอฟต์แวร์ฟรีของ Linux การให้บริการด้านความรู้ข้อมูลข่าวสารโดย Wiki (มีหลายโครงการ) โครงการให้คนใช้ wifi ฟรีในบางเมือง ฯลฯ โครงการเหล่านี้ปฏิเสธระบบทุนนิยมที่เน้นการทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าที่ต้องมีค้าขายแลกเปลี่ยน คนที่ทำโครงการเหล่านี้เห็นว่าควรส่งเสริมเศรษฐกิจแบบร่วมมือ ช่วยเหลือกันและกันโดยไม่หวังผลตอบแทนแบบระบบทุนนิยม
เศรษฐกิจแบบแบ่งปันนี้ นอกจากทำให้คนในสังคมเข้าถึงบริการได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึงเป็นธรรมแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่น เป็นมนุษย์ มากกว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มักจะเน้นการหากำไร สร้างความไม่เป็นธรรมและความแปลกแยก ความเคร่งเครียด
ในโลกยุควิกฤติโรคระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำ เรายิ่งจำเป็นต้องคิดสร้างระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันกัน แบบสร้างความเป็นธรรม อนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต จิตใจ มากกว่าการคิดในกรอบทุนนิยมที่เน้นแต่ความมั่งคั่งทางวัตถุและกำไรส่วนตัว
9 บันทึก
5
5
9
5
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย