Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วัดเชียงใหม่ พุทธศิลป์ถิ่นล้านนา
•
ติดตาม
10 ก.พ. 2021 เวลา 11:22 • ท่องเที่ยว
อารามนามมงคล (EP.๒/๒) เดชเมืองเชียงใหม่ ฑีฆชีวะวัสสาราม “วัดเชียงยืน”
วัดเชียงยืน หนึ่งในวัดนามมงคลทักษาเดชเมืองด้านทิศเหนือ (หัวเวียง) ของเมือง เชียงใหม่ สร้างขึ้นราว พ.ศ.๑๘๔๐ ในรัชสมัยพญามังราย (หลังการตั้งวัดเชียงมั่น ๑ ปี) เพื่อให้เป็นวัดคู่ตามความหมาย “มั่นคง” และ “ยั่งยืน” ได้กำหนดให้ตั้งอยู่ทางทิLเหนือด้านนอกกำแพงเมืองตามหลักชัยภูมิของการสร้างเมืองเชียงใหม่ ถือเป็นทิศมงคลเดียวกับแจ่งศรีภูมิ เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ด้านนอกกำแพงเมือง ได้อาศัยวัดเชียงยืนในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
พงศาวดารโยนกบันทึกว่าในสมัยอาณาจักรล้านนาเคยเป็นวัดหลวง มีนามว่า “ฑีฆชีวะวัสสาราม” และ ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์บันทึกนามไว้ว่า “วัดฑีฆายวิสาราม” เมื่อถอดคำว่า “ฑีฆ แปลว่ายาว” คำว่า “ชีวะ แปลว่า ชีพ” และคำว่า “วัสสา มาจาก พรรษา แปลว่า ปี” หมายรวมเป็นอารามนามมงคลมีอายุยืนยาว
ในอดีตราว พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๔๖ อารามนามมงคลแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระอภัยสารทะสังฆปา โมกข์ องค์ปฐมสมเด็จพระสังฆราชาองค์แรกของอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน และ กำหนดขอบเขตโบราณ สถานวัดเชียงยืนในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๙๖ ตอนที่ ๑๔๕
ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒
อุโบสถแปดเหลี่ยม อาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงแปดเหลี่ยมศิลปะล้านนาผสมผสาน ศิลปะพม่า ตั้งอยู่ภายในรั้วกำแพงแก้ว (เขตแดนทำสังฆกรรมตามพระวินัย) ฐานมุม ทั้งสี่ยังคงปรากฏหลักหินพัทธสีมาที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หลังคากระเบื้องดินขอโบราณซ้อนกันสามชั้น เชิงชายศิลปะงานไม้ฉลุแบบขนมปังขิง เหนือกรอบหน้าต่างประดับปูนปั้นรูปนกยูงรายล้อมด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ซุ้มโขงประตูโดดเด่นด้วยศิลปะ ปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษา (พระอุโบสถแปดเหลี่ยมตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน)
พระวิหารสัพพัญญู อาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงศิลปะล้านนา หน้าบันแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมประดับลวดลายพรรณพฤกษาและไม้แกะ สลักรูปนกยูงรำแพน บานประตูงานลงรักปิดทองรูปทวารบาล ผนังด้านข้างภาพ เขียนเทวานางฟ้าท่วงท่าร่ายรำ ภายในประดิษฐาน “พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปกรรมสมัยเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๔๐ เมตร เป็นองค์พระประธาน เพื่อให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สักการะบูชาก่อนเข้าออกเมืองทางด้านประตูช้างเผือก เมื่อมีพิธีราชาภิเษกและเพื่อความเป็นสิริมงคล ในยามออกศึกสงคราม ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตามตำนานประวัติศาสตร์ที่ปรากฏถึงพลังพุทธานุภาพในความศักดิ์สิทธิ์ บันดาลความเป็นสิริมงคลเจริญยั่งยืน ด้วยอายุวรรณะ สุขะ พละ เดช อำนาจ โชคลาภ วาสนาแก่ผู้กราบสักการะบูชา
พระมหาธาตุทีฆา สื่อความหมายถึงเดชบารมีแผ่ไปทั้งแปดทิศ สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๖๐ รัชสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย องค์ที่ ๑๓ ภายใน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์รูปทรงศิลปะล้านนาผสมผสานศิลปะพม่า ตั้งอยู่ บนฐานแปดเหลี่ยมทรงสูงย่อเก็จทั้งสี่มุม รองรับเรือนระฆังทรงกลมประดับลวดลาย ดอกไม้ มุมฐานประดับศิลปะปูนปั้นสิงห์ขนาดใหญ่ และ ปูนปั้นเทพยดาทั้งสี่ทิศ
หลวงพ่อทันใจ องค์พระพุทธรูปหล่อสีเหลืองทองอร่ามขนาดใหญ่ หันพระพักตร์ สู่คูเมืองประวัติศาสตร์ (ด้านนอก) ถนนมณีนพรัตน์ ด้านหลังองค์พระ มีทางเดินขึ้นทางเดินลง ประดิษฐานอยู่บนแท่นพื้นยกสูง ๘-๑๐ เมตรด้านหน้าซุ้มประตูทางเข้า
………………………………………………………
ร้อยเรียง เพื่อบอกเล่า : "ปริญญ์ทิพย์ " กรุณากดไลค์ กดแชร์ สนับสนุนทีมงาน หรือ ส่งข้อเสนอแนะ เพื่อการสืบสานฯ ให้ได้ประสิทธิผลต่อเนื่อง
:
email:harnggoon@gmail.com
มือถือ/ไอดีไลน์: 089 956 8234
…………………………………………………………
https://harnggoonchorn.business.site
1 บันทึก
22
1
22
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย