12 ก.พ. 2021 เวลา 07:37 • ประวัติศาสตร์
แสตมป์ของพ่อ
สวัสดีครับ เมื่อวันก่อนผมเคยเล่าให้ฟังเรื่องของแสตมป์ชุดแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือชุดฉลองราชนิติภาวะ พุทธศักราช 2490 วันนี้ ผมจะเล่าให้ฟังถึงแสตมป์ชุดสุดท้ายของรัชกาลที่ 9 ครับ
ตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี
วันแรกจำหน่าย 1 เมษายน 2560
ชนิดราคาและจำนวนพิมพ์
9 บาท 9,000,000 ดวง
**ราคาซื้อขาย บวกจากหน้าดวงนิดหน่อยครับ เนื่องจากเพิ่งออกมาไม่นานครับ**
ตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี
ลักษณะของแสตมป์คือ นำเสนอภาพมุมกว้างโดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ 6 พระอิริยาบถขณะทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่งทั่วประเทศ เชื่อมต่อกันแบบพาโนรามา ทำให้แสตมป์ชุดดังกล่าวมีความยาวถึง 170 มิลลิเมตร เป็นแสตมป์ชุดที่ยาวที่สุดในโลก และนับเป็นแสตมป์ชุดสุดท้ายแห่ง “รัชกาลที่ ๙”
นอกจากนี้ แสตมป์ดังกล่าวยังเป็นสื่อเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง ผ่านคลิปวิดีโอด้วยเทคโนโลยี AR เพียงสแกนด้วยแอปพลิเคชัน ASEAN Stamp บนสมาร์ทโฟน
ความเป็นมาของศูนย์
ในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น แนวทางและหลักการ คือ การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยที่จะต้องทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งก่อน แล้วมีการพัฒนาต่อไปให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ ขณะเดียวกันจะต้องอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความรู้เทคนิควิชาการสมัยใหม่พร้อมๆกันไปด้วย อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และสังคมวิทยาของแต่ละท้องถิ่นทีมีความแตกต่างกันด้วยเสมอ ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ความตอนหนึ่งว่า
"...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยา คือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆแล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ..."
 
ด้วยหลักการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 6 ศูนย์ อันได้แก่
1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
ในปีพุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้และพบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าวเป็นป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรม มีความลาดชันไม่สูงมากนักไม่มีราษฎรอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ ดังนั้นจึงได้พระราชทานพระราชดำริที่จะใช้ลุ่มน้ำดังกล่าว เป็นลุ่มน้ำสำหรับศึกษาในการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ระบบน้ำชลประทานเป็นแกนนำ และเนื่องมาจากสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมนี้ เป็นสภาพลุ่มน้ำที่มีอยู่ค่อนข้างมากในพื้นที่ภาคเหนือ หากว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชนิดนี้ได้รับการพัฒนาแล้ว ก็จะทำให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ รวมทั้งความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำชนิดนี้มีสภาพดีขึ้นไปด้วย ดังนั้นสืบเนื่องมาจากแนวพระราชดำรินี้ กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อศึกษาการพัฒนาก็ได้เริ่มขึ้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้
2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มากที่สุดของประเทศ โดยมีพื้นที่ถึง 106.4 ล้านไร่ หรือ 170,218 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 33.1 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งประสบกับปัญหาหลักๆ 3 ประการ คือ ปัญหาเกี่ยวกับดิน เนื่องจากความสมบูรร์ของทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ แร่ธาตุต่างๆ ดินมีคุณภาพต่ำไม่สามารถอุ้มน้ำได้และมีความเค็ม ปัญหาด้านแหล่งน้ำและป่าไม้ แหล่งน้ำธรรมชาติมีไม่เพียงพอ ทำให้ดินขาดความชุ่มชื้น ส่งผลต่อการเพาะปลูกพืช มีการแผ้วถางป่าเพื่อการประกอบอาชีพจนทำให้แหล่งต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศวิทยาถูกทำลาย นอกจากปัญหาปัจจัยการผลิตการเกษตรข้างต้นที่ไม่พร้อมแล้ว ผลจากการขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะเทคนิควิชาการเกษตรที่ถูกต้อง การปรับปรุงบำรุงรักษาคุณภาพของปัจจัยการผลิตอย่างมีหลักวิชา เช่น เรื่องป่าไม้ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การแปรรูปผลผลิตและเรื่องการตลาด
จากสภาพภูมิประเทศ และทรัพยากร ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างไปจากภาคอื่น จึงมีการศึกษาถึงปัญหาสภาพท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของราษฎรเพื่อจัดหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับภาคอีสาน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ฯ ด้วยตนเอง เพื่อเป็นพื้นที่ตัวแทนของภาคอีสานทั้งหมด ด้วยพื้นที่นี้มีลักษณะสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวงจรทางชีวภาพที่คล้ายคลึงกับภูมิภาคโดยทั่วไปของภาคอีสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2525 เพื่อเป็นแบบจำลองของภาคอีสานและเป็นพื้นที่ส่วนย่อที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนาให้ภูมิภาคนี้เกิดความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้น ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน บริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ไหนก็พยายามที่จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น เนื่องจากผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังพระราชดำรัส
“...ประวัติมีว่า ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนัก ในปี 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรก ก็ต้องค้นคว้าว่าที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถามก็ได้พบบนแผนที่พอดี อยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับ การเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดี ก็เคยเริ่มทำในที่นั้น...”
การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาเขาหินซ้อนฯ ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ ณ ที่แห่งเดียวในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรม และการพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบ และแนวทางให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป โดยเฉพาะหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 15 หมู่บ้าน เนื้อที่ 113,214 ไร่
4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2524 โดยมีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี
“...ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจันทบุรี..." และได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสดังกล่าว เป็นทุนริเริ่มดำเนินการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 30ธันวาคม พุทธศักราช 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สาระโดยสรุปว่า "...ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล..."
จากนั้นจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ จึงกำหนดพื้นที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 ศูนย์ศึกษาดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษา สาธิตและการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล โดยวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงาน เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม และยั่งยืนตลอดไป
5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
แต่เดิมสภาพภูมิประเทศในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ภายหลังได้มีราษฎรเข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่า ทำลายป่า ทำการเกษตรอย่างผิดวิธี และใช้สารเคมีที่ส่งผลเสียต่อดินและน้ำ ขาดการบำรุงรักษาคุณภาพดิน ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปรสภาพไปอย่างรวดเร็ว หน้าดินถูกชะล้างความอุดมสมบูรณ์ไปหมดสิ้น ดินกลายเป็นดินทรายและดินดานที่ไม่มีแร่ธาตุ ความสมดุลทางธรรมชาติถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงความแห้งแล้งของพื้นที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ความตอนหนึ่งว่า
“...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เดิมเป็นป่าโปร่ง คนไปตัดไม้สำหรับเป็นฟืนและสำหรับเผาถ่าน ต่อจากนั้น มีการปลูกพืชไร่และสับปะรดจนดินจืดกลายเป็นทราย ถูกลมและน้ำชะล้างไปหมด จนเหลือแต่ดินดาน ซึ่งเป็นดินที่แข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ดินนี้ก็ไม่มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์...”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วยการปลูกป่า และจัดหาแหล่งน้ำโดยจัดให้ราษฎรที่ทำกินเดิมได้มีส่วนร่วมในการรักษาป่าไม้และ ได้ประโยชน์จากป่าไม้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเกษตรกรรมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาอาชีพ
6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตพื้นที่ภาคใต้ ทรงพบว่าพื้นที่จำนวนมากมีสภาพเป็นพรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวและมีคุณภาพต่ำไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ขึ้น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2524 เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนาดินอินทรีย์และดินที่มีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่พรุ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทาด้านการเกษตรรวมทั้งแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนา ทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จให้พื้นที่อื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีซองวันแรกจำหน่าย และแผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีด้วยครับ
ซองวันแรกจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี
แผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (ชีทที่ระลึก)
ผมยังจำได้ดี เช้าวันที่ 1 เมษายน 2560 ตรงกับวันเสาร์ แต่มีไปรษณีย์ 3 สาขาที่เปิดจำหน่ายแสตมป์ชุดนี้ คือ
พิพิธภัณฑ์ไปรษณียากร สามเสน
ไปรษณีย์กลาง บางรัก
และ ไปรษณีย์ หลักสี่
ผมทำการบ้านมาดีครับ เช็คแล้วว่าไปรษณีย์หลักสี่เปิด 9 โมง ผมไปถึงประมาณแปดโมงครึ่ง แต่พอไปถึงมีคนที่สนใจมาเช้ากว่าผมเข้าแถวรอก่อนแล้ว ผมได้คิวประมาณคนที่ 50 กว่า คิดในใจสงสัยจะไม่ได้แล้ว เพราะส่วนมากจะซื้อกันคนละหลายๆแผ่น
พอ 9 โมง มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า ให้ซื้อได้ไม่เกินคนละ 10 แผ่น ได้ยินแบบนี้ยิ้มเลยได้แน่นอน ผมจึงจัดมันตามโควต้าเลยครับ ส่วนซองวันแรกไม่ถึงผม หมดซะก่อนไม่เป็นไรยังได้แสตมป์มา ซองที่เห็นในรูปผมได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์สิริกิติ์ ครับ
ขอบคุณที่ติดตามครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา