Toxic Positivity พิษของการสั่งให้คิดแต่เรื่องบวก โดยไม่ดูความเป็นจริง
.
.
เราทุกคนรู้ดีว่าการมีมุมมองความคิดที่เป็นบวก มีผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจมากแค่ไหน แนวคิด “Just be positive” ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสุขสำเร็จรูป จึงถูกผลิตซ้ำออกมาให้เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ
.
แต่การให้ค่าแค่กับอารมณ์เชิงบวก และปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงลบ ด้วยการพยายามเก็บซ่อนอารมณ์โกรธ ผิดหวัง โศกเศร้า หรือเสียใจนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเช่นกัน
.
เพราะบางครั้งการปฏิเสธอารมณ์ที่แท้จริงด้วยการย้ำเตือนตัวเองให้ “คิดบวก” เข้าไว้ โดยหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาดีได้นั้น อาจไปสร้างผลย้อนกลับที่เรียกว่า Toxic Positivity หรือ “การฝืนตัวเอง” ให้คิดแต่เรื่องบวก จนเกิดพิษต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตขึ้นมาแทน
.
เคยมั้ยพยายามคิดบวกแล้วแต่ก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้น? แถมยังรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเดิม
.
คำตอบนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมายอย่างใด มันเกิดจากวัฒนธรรมการคิดบวกนั่นเอง
.
เพราะสำหรับบางคน การบอกตัวเองให้คิดแต่เรื่องบวก กลับเหมือนเป็นการผลักให้ออกห่างจากความรู้สึกที่ควรจะได้รับ และทิ้งให้จมปลักอยู่กับความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่แข็งแรงมากพอจะมีความสุขหรือมองโลกในแง่บวกได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้ รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ หรือกลัวจะไปสร้างบรรยากาศรอบข้างให้แย่ลงยิ่งกว่าเดิม
.
เช่นเดียวกับสถานการณ์ให้คำปรึกษา มีคนจำนวนมากแนะนำให้ผู้ที่กำลังตกอยู่ในปัญหาพยายามมองเป็นแง่บวก แน่นอนว่าเป็นเรื่องดีที่เราพยายามแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่น
.
แต่การให้คนคนหนึ่งเบี่ยงเบนความสนใจจากความโศกเศร้าไปที่ความสุข อาจเป็นการหยิบยื่นความคิดแบบ Toxic Positivity ให้เขาโดยไม่รู้ตัว
.
เพราะในความเป็นจริงใช่ว่าเราจะสามารถบอกให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนมาคิดบวกได้ในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะคนที่จมดิ่งอยู่กับความทุกข์ทรมานมาเป็นเวลานาน การเดินเข้าไปแล้วพูดว่า “มองโลกในแง่ดีสิ อย่างน้อย…” อาจทำให้เขาต้องฝืนตัวเองเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง ที่นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว กลับไปสร้างความรู้สึกถึงแรงกดดันขึ้นมาแทน
.
เกิดการเปรียบเทียบขึ้นในใจที่ว่า “ทำไมถึงทำไม่ได้แบบคนนั้นคนนี้ หรือคิดบวกไม่มากพอ ทำไมคิดบวกไม่ได้ มีความสุขแบบคนอื่นไม่ได้ …”
.
ฉะนั้น การจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนในสิ่งที่เขากำลังมองหาอยู่นั้น จึงอาจแก้ได้ด้วยการให้ใครสักคนมาช่วยยืนยันว่า ความคิดหรือความรู้สึกลบๆ ของพวกเขาเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ความผิดหรือสิ่งเลวร้ายอะไร เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยที่จะเผยความรู้สึกแง่ลบที่มีอยู่ เพราะหลายๆ คนก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าผู้ฟังที่ดี รับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินแบบฉาบฉวย หรือแค่กำลังใจเล็กๆ น้อยๆ
.
ง่ายๆ เลย คุณลองคิดว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์มืดแปดด้าน หากมีคนมาพูดกับคุณ เช่น ลองมองหาสิ่งดีๆ ในสถานการณ์นี้สิ, มีความสุขเข้าไว้สิ หรืออย่ายอมแพ้สิ คำพูดเหล่านี้จะช่วยคุณได้จริงๆ หรือ?
.
แต่หากคุณลองให้กำลังใจด้วยประโยคที่สื่อความหมายเดิม แต่เป็นคำที่ไม่กดดันพวกเขามากเกินไปล่ะ? เช่น
.
ไม่เป็นไรนะ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะคิดได้ (เชิงลบ) ในสถานการณ์แบบนี้
.
ฉันรู้ว่ามันมีอะไรหลายๆ อย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้น ปัญหาเรื้อรังที่ยากจะให้มองเป็นเรื่องดีๆ เดี๋ยวเราค่อยๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมกันนะ
.
ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ฉันรู้ว่ามันยาก แต่ฉันคิดว่าคุณน่าจะเคยผ่านเรื่องที่ยากกว่านี้มาแล้ว ฉะนั้น ฉันยังเชื่อในตัวคุณนะ
.
ประโยคปลุกใจที่ฟังดูผ่อนคลายเหล่านี้อาจช่วยคุณและคนที่คุณให้คำปรึกษาได้มากกว่าหรือเปล่า?
.
การรับฟังและเปิดโอกาสให้เขาได้สะท้อนความคิดและความรู้สึกออกมา แม้จะเป็นความรู้สึกในแง่ลบบ้าง มันก็น่าจะดีกว่าหรือเปล่า?
.
.
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเชื่อว่าการรับรู้และเฝ้าสังเกตการณ์ความรู้สึกของตัวเองหรือคนรอบข้างจะช่วยให้คุณและคนที่คุณให้คำปรึกษาก้าวผ่านปัญหาไปได้เร็วยิ่งขึ้น แต่บางครั้ง การพยายามเปลี่ยนผลลัพธ์ก็ไม่มีทางลัด
.
“ทุกสิ่งที่มีค่าในชีวิตล้วนผ่านประสบการณ์เชิงลบที่เกี่ยวข้อง ความพยายามใดๆ ที่จะปิดกั้นหรือกำจัดสิ่งที่เป็นลบนั้นมีแต่จะไปสร้างผลย้อนกลับ การหลีกเลี่ยงความทุกข์เป็นรูปแบบหนึ่งของความทุกข์ การหลีกเลี่ยงการต่อสู้คือการต่อสู้ การปฏิเสธความล้มเหลวคือความล้มเหลว การซ่อนสิ่งที่น่าอับอายเป็นรูปแบบหนึ่งของความอัปยศ” - Mark Manson
.
ดังนั้นคุณอาจต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจไปพร้อมๆ กับการใช้เวลาสักหน่อยในการกำจัดความรู้สึกแง่ลบ ที่พวกคุณพยายามหลีกเลี่ยงในตอนแรก
.
.