11 ก.พ. 2021 เวลา 02:47 • ครอบครัว & เด็ก
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ธรรมชาติได้สร้างให้มนุษย์อย่างเรา ๆ นั้น เกิดมาเพื่ออยู่รวมกันเป็นสังคม ไม่ว่าสังคมจะใหญ่หรือเล็กแต่โดยธรรมชาติของมนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
สังคมแรกเริ่มที่มนุษย์เกิดมาแล้วได้สัมผัสและรู้จักเลยนั่นก็คือ "ครอบครัว" ครอบครัวจัดเป็นสังคมเล็ก ๆ สังคมแรกที่เราเกิดมาและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเลยก็ว่าได้ บางคนอาจมีปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ หรือบางคนอาจมีเพียง พ่อ แม่ พี่ น้อง อยู่กันเป็นครอบครัวเล็ก ๆ แต่นั่นก็คือครอบครัว หรือสังคมเริ่มต้นของการชีวิตนั่นเอง
การใช้ชีวิตแบบสัตว์สังคมที่ถูกต้องควรปฎิบัติต่อเพื่อนร่วมสังคมควรปฏิบัติตามหลักธรรมทั้ง 6 ประการ ดังนี้
1. เมตตามโนกรรม หมายถึง การคิดดี การมองกันในแง่ดี มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อกัน รักและเมตตาต่อกัน คิดแต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ต่อกัน ไม่อิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่พยาบาท ไม่โกรธแค้นเคืองกัน รู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันและกันกันอยู่เสมอ
2. เมตตาวจีกรรม หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจกันและกัน ในยามที่มีใครต้องพบกับความทุกความผิดหวังหรือความเศร้าหมองต่างๆ โดยที่ไม่พูดจาซ้ำเติมกันในยามที่มีใครต้องหกล้มลง ไม่นินทาว่าร้ายทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดแนะนำในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ พูดอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ไม่โกหกมดเท็จ
3. เมตตากายกรรม หมายถึง การทำความดีต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียนหรือรังแกกัน ไม่ทำร้ายกัน ให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่ตลอดเวลา
4. สาธารณโภคี หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรม ช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ
5. สีลสามัญญตา หมายถึง การปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆอย่างเดียวกัน เคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่อ้างอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง
6. ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึง มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่าง ของกันและกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ
หากทุกชีวิตในสังคม สามารถปฎิบัติได้ตามหลักธรรมทั้ง 6 ประการข้างต้นนี้ คนในสังคมรู้จักสามัคคี ปรองดอง ให้อภัยซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สังคมก็จะสงบสุข ทุกชีวิตในสังคมก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่นและปลอดภัย
ติดตามสาระดี ๆ กำลังใจมีให้คุณทุก ๆ วันที่เพจ >> https://www.blockdit.com/nanajittang นะคะ
โฆษณา