11 ก.พ. 2021 เวลา 04:05 • สิ่งแวดล้อม
ภาพรวมเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง (พ.ศ. 2563)
แรกเริ่มเดิมที สหรัฐฯ มีแนวคิดสร้างเขื่อนแต่ก็ชะงักไปในช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามเย็นที่การรบพุ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการรบพุ่งพัวพัน กลายเป็นว่าจีนในยุคสร้างตัว ที่ให้ความสนใจกับพื้นที่แม้น้ำโขงมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 2530 กลายเป็นผู้ปักเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขง คือเขื่อนมานวาน เปิดใช้งานเมื่อปี 2539
แต่ก่อนที่ผลกระทบของการสร้างเขื่อนจะเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด การสร้างเขื่อนในจีน ผนวกกับเทรนด์การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่เข้ามาพร้อมโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างก็กระจายไปก่อนแล้ว รู้ตัวอีกที "น้ำ" กลายเป็นหนึ่งในแต้มต่อทางการทูตของคนที่ควบคุมแม่น้ำโขงได้มากที่สุด
ในด้านผลกระทบ ผลการศึกษาการจัดการอย่างยั่งยืนและการพัฒนาแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก (The Study on Sustainable Management and Development of the Mekong River including Impacts of Mainstream Hydropower Projects) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) รายงานว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก แม้มีผลดีกับการสร้างกำลังผลิตไฟฟ้า แต่จะมีผลกระทบกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างมาก
เมื่อเทียบกับปีฐาน (พ.ศ. 2540) การศึกษาพบว่า หากสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักทั้งหมด 11 เขื่อนตามแผนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ผลผลิตของภาคเกษตรบริเวณลุ่มน้ำโขงลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและระดับน้ำทะเลที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ตะกอนดินต่างๆ ที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกจะถูกกั้นไว้โดยเขื่อนที่สร้างไว้ที่จีนซึ่งอยู่ตอนบนของแม่น้ำ คาดการณ์ว่าในปี 2583 จะเหลือตะกอนดินแค่ร้อยละสามเท่านั้นที่จะไหลถึงปากแม่น้ำโขงเมื่อเทียบกับจำนวนตะกอนดินในปี 2540 นอกจากนั้นปลาในแม่โขงตามธรรมชาติจะสูญพันธุ์ จะมีปลานอกท้องถิ่นเข้ามาแทนที่
การขาดตะกอนดินย่อมกระทบต่อความเร็วของการรุกล้ำของน้ำทะเลในตอนปลายของแม่น้ำโขงด้วย ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเวียดนามซึ่งอยู่ตอนปลายสุดของแม่น้ำ ที่จะเสียทั้งพื้นที่เพาะปลูกและดินแดนจากการกัดเซาะของน้ำทะเล จึงเป็นเหตุผลที่เวียดนามมีท่าทีต่อต้านจีนในเรื่องการสร้างเขื่อนอย่างชัดเจน ในปี 2563 ที่เวียดนามเป็นประธานอาเซียน เวียดนามก็ผลักดันให้เรื่องแม่น้ำโขงเป็นวาระของอาเซียนได้ ทั้งที่เดิมทีเรื่องนี้มักไม่ค่อยได้รับการสนใจ เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นที่ทุกประเทศสมาชิกเกี่ยวข้องนัก
ดูภาพรวมความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ที่จีนจัดตั้ง และหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ 2 กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เข้ามาขยายอิทธิพลการเมืองในประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการอย่างไร ให้เงินไทยไปแล้วเท่าไหร่ และในวันที่เขื่อนเต็มแม่น้ำ อะไรขาดหายไปในการแข่งขันนี้
โฆษณา