11 ก.พ. 2021 เวลา 07:58 • ประวัติศาสตร์
เจอบทความนี้ในช่วงตรุษจีนและพม่ากำลังวุ่นวายพอดี ฮ่าๆ น่าสนใจมากครับทุกท่านลองอ่านดู
กษัตริย์พม่าไม่ยอมอ่อนข้อให้อังกฤษ แต่ยอมจิ้มก้องต่อต้าชิง เพราะหวังใช้อิทธิพลของต้าชิงถ่วงดุลอังกฤษ?
3
ในพงศาวดารราชวงศ์ชิง (清史稿) เล่มที่ 528 บทว่าด้วยพม่า กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับอังกฤษในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ไว้ค่อนข้างละเอียดพอสมควร แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่ราชสำนักต้าชิงมีต่อสถานการณ์การแผ่ขยายอำนาจของชาติมหาอำนาจตะวันตกเข้ามาในภูมิภาคอุษาคเนย์ในช่วงเวลานั้น
ทว่า มีข้อความหนึ่งในพงศาวดารราชวงศ์ชิงเล่มดังกล่าวที่น่าสนใจก็คือ "เมื่อผู่กานม่าน(蒲甘曼 หมายถึงพระเจ้าพุกามแมง กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์คองบองของพม่า ครองราชย์ในช่วงปี พ.ศ.2389 - 2396) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พม่า พระองค์ไม่ยอมรับ (น่าจะหมายถึงไม่ยอมรับข้อตกลงในสนธิสัญญารานตะโบ ที่พม่าทำกับอังกฤษหลังสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ.1826/พ.ศ.2369) ทำให้สัมพันธภาพระหว่างอังกฤษกับพม่าสะบั้นลงอีกครั้ง และ(พระองค์)ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระบบรัฐบรรณาการกับจีนเหมือนดังแต่ก่อน"
1
(時緬王蒲甘曼嗣立,執不允。於是英、緬再失和,而修職貢於中國如故。)
จากนั้น ก็ปรากฏร่องรอยการติดต่อทางการทูตกันระหว่างพม่ากับต้าชิง หรือราชสำนักราชวงศ์ชิงของจีนในปีรัชศกเสียนเฟิง(咸豐) ที่ 3 (ค.ศ.1853/พ.ศ.2396) ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชกาลของพระเจ้าพุกามแมง ต่อต้นรัชกาลของพระเจ้ามินดงของพม่า โดยในพงศาวดารราชวงศ์ชิงระบุว่า "ในเดือน 11 รัชศกเสียนเฟิงปีที่ 3 หลัวเร่าเตี่ยน (羅繞典 เป็นขุนนางผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ขุนนางต้าชิงที่มีอำนาจสูงสุดในพื้นที่ชายแดนติดต่อกับพม่าในขณะนั้น) ถวายฎีกาแจ้งว่า ทูตจากพม่าจะขอเข้าเฝ้าจิ้มก้องที่ปักกิ่ง โดยจะขอเปลี่ยนเส้นทางในการเดินทาง(จากยูนนานไปปักกิ่ง เนื่องจากเวลานั้นพื้นที่ทางตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ของจีนมีปัญหาความไม่สงบเนื่องจากเกิดกบฎไท่ผิง)
(咸豐三年十一月,羅繞典奏緬國貢使入京,請變通辦理。)
ซึ่งในครั้งนั้น ข้อมูลตามพงศาวดารราชวงศ์ชิงระบุว่า ฮ่องเต้เสียนเฟิงทรงมีรับสั่งผ่านอภิรัฐมนตรีสภา (軍機大臣 สภาที่ประกอบไปด้วยเชืื้อพระวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักในสมัยราชวงศ์ชิง มีหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นเกี่ยวกับราชการสำคัญก่อนทูลเกล้าฯ ให้ฮ่องเต้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย คล้ายกับอภิรัฐมนตรีสภาในสมัยรัชกาลที่ 7 ของไทย) ในทำนองชื่นชมพม่าอย่างมาก ทั้งยังทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ทูตพม่าไม่ต้องเดินทางมาปักกิ่ง โดยโปรดให้พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ทูตพม่าตามธรรมเนียมด้วย
จากข้อมูลเหล่านี้ เราพอจะอนุมานได้หรือไม่ว่า พม่าต้องการอาศัยอิทธิพลของต้าชิง(จีน) ถ่วงดุลกับอังกฤษ? ซึ่งก่อนหน้าที่พม่าจะส่งทูตไปต้าชิง ก็เพิ่งเกิดสงครามพม่า–อังกฤษครั้งที่ 2 ไปหมาดๆ
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็นับเป็นการตัดสินใจของราชสำนักพม่าที่เข้าใจได้ยากพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1842/พ.ศ.2385 ต้าชิงในรัชกาลของฮ่องเต้เต้ากวง พระราชบิดาของฮ่องเต้เสียนเฟิง ก็เพิ่งจะพ่ายแพ้ต่ออังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การรบในสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เป็นการรบทางทะเล และการปะทะตามชายฝั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแสนยานุภาพและยุทธวิธีการรบทางทะเลของต้าชิงนั้นสู้อังกฤษไม่ได้ แต่ในสงครามเซินปา(森巴戰爭) ระหว่างต้าชิงกับจักรวรรดิสีเค่อ(锡克帝国) หรืออาณาจักรซิกข์ของอินเดียทางเหนือ ซึ่งรบกันในสมรภูมิแถบทิเบต ลาดักห์ และซินเจียง ซึ่งเป็นการรบทางบก ในช่วงเวลาเดียวกับสงครามฝิ่นนั้น กองทัพต้าชิงสามารถยันการรุกของกองทัพซิกข์เอาไว้ ปกป้องทิเบตจากการโจมตีของพวกซิกข์ได้ ดังนั้นพม่าจึงอาจจะยังมีความมั่นใจว่าแสนยานุภาพของกองทัพบกต้าชิง ที่มีไพร่พลทหารจำนวนมาก (เฉพาะทัพกองธงเขียวก็มีกำลังไม่ต่ำกว่าหกแสนคน ไม่รวมทัพแปดกองธง) จะยังคงสามารถต้านทานกองทัพบกอังกฤษได้
แต่พอถึงรัชกาลต่อมาของพม่า คือพระเจ้ามินดง(ในพงศาวดารราชวงศ์ชิงเรียกพระองค์ว่า "ม่านถง" 曼同) พระองค์ก็ทรงประนีประนอมและแสดงความเป็นมิตรกับอังกฤษมากขึ้น จนกระทั่งในปีรัชศกถงจื้อ(同治) ที่ 1 (ค.ศ.1862/พ.ศ.2405) พม่ากับอังกฤษได้มีการทำสนธิสัญญากันใหม่ โดยพม่าต้องยกดินแดนบางส่วน โดยเฉพาะหัวเมืองแถบชายฝั่งทะเลให้แก่อังกฤษ ซึ่งคาดได้ว่าความพ่ายแพ้ของต้าชิงต่ออังกฤษและฝรั่งเศสในสงครามฝิ่นครั้งที่สองเมื่อปี ค.ศ.1860 (พ.ศ.2403) จนทำให้กองทัพมหาอำนาจทั้งสองประเทศนี้สามารถบุกเข้ามาถึงกรุงปักกิ่ง และเผาทำลายพระราชวังหยวนหมิงหยวน อันแสดงให้เห็นว่าแม้แต่กองทัพบกของต้าชิงก็มิอาจต้านทานกองทัพอังกฤษได้ มีผลสำคัญในทางจิตวิทยาต่อราชสำนักพม่าว่า แม้แต่ต้าชิงก็ไม่มีทางที่จะต้านทานแสนยานุภาพของอังกฤษได้เลย จึงได้ปรับเปลี่ยนนโยบายยอมโอนอ่อนต่ออังกฤษลงเมื่อเทียบกับรัชกาลก่อนหน้าอย่างพระเจ้าพุกามแมง จตนกระทั่งพม่าถูกผนวกเป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428) ในช่วงเวลาเดียวกับที่ต้าชิงกำลังทำศึกกับฝรั่งเศสในสงครามจีน-ฝรั่งเศส ทางตอนเหนือของเวียดนาม เพื่อปกป้องรัฐบรรณาการสำคัญของต้าชิงในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่มีความใกล้ชิดในทางวัฒนธรรมมากที่สุดอย่างราชวงศ์เหวียนของเวียดนามจากการรุกรานของฝรั่งเศสนั่นเอง (สงครามครั้งนั้นอยู่ในเวลาเดียวกับ "สงครามปราบฮ่อ" ที่รัฐบาลสยามส่งทหารไปยังดินแดนตอนเหนือของลาวเพื่อปราบพวกฮ่อ หรือพวกทัพธงดำของหลิวหย่งฝู และทัพธงเหลืองของหวงฉงอิง จนกระทบกระทั่งกับฝรั่งเศสในเวลาต่อมาด้วย)
3
ภาพประกอบ : ภาพวาดเหมือนของหลัวเร่าเตี่ยน (羅繞典 ค.ศ.1793 - 1854) ผู้ว่าราชการมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ผู้รับไมตรีจากทูตพม่าของพระเจ้าพุกามแมงและทูลเสนอต่อฮ่องเต้เสียนเฟิงแห่งต้าชิง หลัวเร่าเตี่ยนเป็นขุนนางสายพลเรือน มาจากการสอบจอหงวน มีความสนิทสนมกับขุนนางคนสำคัญในราชสำนักชิงในรัชกาลเต้ากวงทั้งเฉาเจิ้นยง(曹振镛) หวังติ่ง (王鼎) และหลินเจ๋อสวี(林则徐) ทั้งยังมีผลงานการต่อต้านกบฎไท่ผิงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอยู่ที่มณฑลหูหนาน(湖南) ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว(云贵总督) นอกจากการรับทูตพม่าแล้ว ยังมีผลงานสำคัญคือปราบปรามกบฎชนกลุ่มน้อยที่นำโดยหยางหลงสี่(杨龙喜) ในมณฑลกุ้ยโจว แต่น่าเศร้าเมื่อระหว่างที่หลัวเร่าเตี่ยนกำลังนำทัพไล่ล่าข้าศึกขึ้นไปบนภูเขาเหลยไถซาน(雷台山) เขาประสบอุบัติเหตุตกเขาได้รับบาดเจ็บสาหัส จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในเวลาต่อมา เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในราชสำนักชิงในช่วงต้นรัชกาลเสียนเฟิง
โฆษณา