16 ก.พ. 2021 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
เส้นทาง 'Start up' ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
เกาะติดเส้นทางการก้าวสู่การเป็น Start up company จะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
บทความโดย ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ | คอลัมน์ แกะดำทำธุรกิจ
เส้นทาง 'Start up' ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ฝันอยากสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีมากกระตุ้นให้สังคมไทยมีพัฒนาการเกิดสินค้าหรือบริการใหม่ที่เดินหน้าประเทศไปสู่ผู้เล่นระดับโลก ความที่ผมเคยก่อตั้ง start up company สองบริษัท เลยขอให้ความเห็นกับผู้อ่านที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการอิสระว่าคุณต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
1.ชีวิตสามปีแรกเป็นชีวิตที่ไม่มีชีวิตส่วนตัว คุณต้องสละเวลาทุ่มเทกับธุรกิจ ขออนุญาตพูดเป็นภาษาอังกฤษว่าช่วงแรกของชีวิตสตาร์ทอัพ คุณต้องใช้ชีวิตบนคำว่า “There is no life” ผมขอยกตัวอย่างสักสามเรื่องให้เห็นอย่างชัดเจน
ตัวอย่างแรก สตาร์ทอัพรายหนึ่งที่ตอนนี้แจ้งเกิดเรียบร้อยแล้ว เขาบอกว่าช่วงแรกของชีวิต เขากินนอนที่บริษัท คำว่าเสาร์อาทิตย์แทบจะไม่มี สันทนาการของชีวิตน้อยมาก ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะสตาร์ทอัพของเขาได้เงินลงทุนจาก Venture Capital นี่คือพันธสัญญาที่เขาต้องส่งมอบความก้าวหน้าขององค์กร การทำงานหนักจึงเป็นหัวใจของการแจ้งเกิด
ตัวอย่างที่สองคือ Marissa Meyer ซึ่งเคยทำงานกับ Google ตอนที่องค์กรนี้เป็นสตาร์ทอัพ ผมให้ทุกท่านเดาครับว่าเธอทำงานกี่ชั่วโมงในหนึ่งอาทิตย์ 130 ชั่วโมงครับ ตัวเลขนี้มันตรงกับตัวอย่างแรกที่ผมเล่าว่าชีวิตของ start up operator จะไม่มีชีวิตส่วนตัว และตอนที่ Marissa มาเป็น CEO ของ Yahoo มีอยู่ช่วงหนึ่งเธอลาคลอด เธอทำงานในโรงพยาบาลหลังคลอดทันที นี่คือ spirit ที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ในมุมตรงกันข้ามถ้าคุณทำงานแบบ 9 to 5 ผมรับรองว่าจุดจบของธุรกิจคุณคือความล้มเหลว
ผมไม่ได้บอกว่า start up operator ต้องทำตัวแบบ Marissa สิ่งที่ผมต้องการให้ความเห็นคือ “การทุ่มอย่างหมดหัวใจ” คือสูตรสำเร็จที่จะนำสตาร์ทอัพจากภาวะความเป็นวุ้นแล้วเป็นต้นไม้ใหญ่
ตัวอย่างสุดท้ายคือชีวิตจริงของผม ช่วงแรกที่ผมก่อร่างสร้างตัว ผมทำงานแบบไม่มีวันหยุด เสาร์อาทิตย์ก็ใช้เวลาส่วนหนึ่งมาทำงานเพื่อเตรียมตัวเริ่มต้นวันจันทร์ด้วยความพร้อมโดยนำงานมาทำที่บ้าน และบางครั้งก็ไปที่ออฟฟิศด้วย ถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น เพื่อให้เช้าวันจันทร์ผมวิ่งร้อยเมตร ผมสามารถเริ่มต้นวันแรกของอาทิตย์ด้วยความพร้อมที่มากกว่าคู่แข่งขัน มันจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเสียสละชีวิตส่วนตัว เสียสละความสุขเพื่อ make impossible into reality
2.ต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งฉกาจ การเล่าเรื่องมีความสำคัญในสองระดับ เรื่องแรกคือการทำ internal communication คุณต้องเป็นนักเทศน์ปลุกพลังทีมงาน ชี้ทิศให้ชัดเจนว่า “ดาวเหนือ” ขององค์กรอยู่ที่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำคัญมาก เพราะชีวิตช่วงแรกของสตาร์ทอัพเป็นชีวิตที่ยากลำบาก ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นภาคบังคับของผู้นำที่ต้องสร้างขวัญและกำลังใจของทีมงานให้หึกเหิมพร้อมรบตลอดเวลา
1
ประการที่สอง การเล่าเรื่องมีความสำคัญคือคุณต้องไป pitch ตัวเองกับบุคคลภายนอก เพื่อชักชวนมาเป็นลูกค้าหรือลงทุนในบริษัทคุณ มาถึงตรงนี้ผมแนะนำเทคนิคหนึ่งในการทำ pitch ที่เรียกว่า elevator pitch ความหมายคือคุณสามารถเล่าเรื่องที่ใช้เวลาสั้นมากเหมือนกับคุณใช้ลิฟต์เพื่อขึ้นไปชั้นที่คุณต้องการภายในเวลาอันสั้นมาก
คุณสามารถส่งพลังและเล่าเรื่องที่กระจ่างชัดทำให้ผู้คนอยาก engage กับคุณ ใครที่เป็นสตาร์ทอัพจึงต้องมีทักษะในการสื่อสารที่สั้น กระชับ ตรงประเด็น และสร้าง inspiration จะทำอย่างนั้นได้เกิดจากการฝึกฝน เล่าเรื่องแบบ personal story telling ที่ทำให้คนอีกข้างหนึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอ ขอบอกว่าความสามารถตรงนี้ไม่ใช่พรสวรรค์ มันเป็นพรแสวงครับ
1
3.คุณต้องมีความสามารถพิเศษคือ “รักการกินข้าวต้มได้นานๆ โดยไม่เบื่อ” เพราะช่วงสามปีแรกซึ่งเป็นช่วงตั้งไข่ คุณต้องประหยัด กินน้อย ใช้น้อย เพื่อให้มี oxygen of progress ที่เพียงพอที่จะทำให้สตาร์ทอัพของคุณเดินหน้าอย่างไม่ติดขัด ในขณะเดียวกันคุณต้องบริหารองค์กรบนแนวคิดของ “สลากกินแบ่ง” ไม่ใช่ “สลากกินรวบ” ความหมายคือถ้าธุรกิจจุดไฟติด คุณยินดีแบ่ง wealth ขององค์กรให้กับทีมงาน
1
4.ไม่มีคำว่ายอมแพ้ สตาร์ทอัพถ้าเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ มีแต่เกียร์เดินหน้า เกียร์ถอยหลังยกทิ้งไป เพราะสตาร์ทอัพไม่รู้จักคำว่า “ท้อหรือถอยหลัง” คุณล้มเหลวหรือผิดพลาดได้ แต่เมื่อล้มลงบนเวที ให้กรรมการนับแค่ 5 แล้วลุกขึ้นมาใหม่
อยากเข้าใจเรื่องนี้ไปอ่านประวัติของพันเอก Harland David Sanders เขาเปลี่ยนอาชีพมาทั้งหมด 9 อาชีพ แปดอาชีพแรกเขาล้มไม่เป็นท่า แต่ทุกครั้งเขาเริ่มต้นใหม่ จนอายุได้ 40 เขาเริ่มทำอาหาร ใช้เวลาทั้งหมด 9 ปี จนสุดท้ายคิดค้นไก่ทอดสูตรลับ และพยายามขายสูตรนี้เพื่อทำเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งหมด 1,009 ครั้ง ในที่สุดมีคนตาดียินดีซื้อแฟรนไชส์นี้ไปให้บริการในสหรัฐ หลังจากนั้น Kentucky Fried Chicken กลายเป็น Household name ของคนทั้งโลก ผู้พัน Sanders กว่าจะประสบความสำเร็จอายุปาเข้าไป 50 กว่า
ประเด็นของการไม่ยอมแพ้คือ ไม่สำคัญว่าวันนี้คุณอายุเท่าไร ต้นทุนมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญคือคุณพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่ล้มลง
5.ความอดทน ผมเป็นคนที่มีความเชื่อว่าแนวคิดของคนรุ่นเก่าเรื่อง “ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน” ยังเป็นหลักในการตั้งตัวของสตาร์ทอัพที่ไม่มีวันล้าสมัย ถ้าจะขยายความคำว่าอดทน คือมีจิตที่นิ่ง สามารถดำน้ำลึก ดำน้ำนาน อดทนอยู่กับความลำบาก โดยไม่ปริปากและแสดงอาการ เหตุที่จะทำให้คนคนหนึ่งอดทนมาจากจิตที่แกร่ง ไม่คิดวกวน ฟุ้งซ่านเพราะจิตปรุงแต่ง จะมีคุณสมบัติอย่างนี้ต้องฝึกจิตให้เป็น heart of steel
6.มีความสามารถในการคิด disruptive business idea ที่เป็น end to end solution เป็นข้อเสนอธุรกิจที่เป็นคำตอบองค์รวม ตั้งแต่ตัวสินค้าหรือบริการ เขียนพิมพ์เขียวของงานหลังบ้านและงานหน้าบ้านให้สอดรับกันอย่างไร้รอยต่อ ผมมีตัวเลขที่อยากเล่าให้ฟังคือสตาร์ทอัพมีโอกาสประสบความสำเร็จไม่ถึงครึ่งหนึ่ง คนที่รอดคือคนที่สร้าง disruptive idea แล้วถ่ายทอดเป็นสินค้าที่ดีจริงตามฝัน ความหมายคือสตาร์ทอัพคนนั้นต้องเป็นทั้ง “นักคิด” และ “นักปฏิบัติ” มีจิตวิญญาณของนักสู้ข้างถนน แพ้ได้แต่ไม่มีคำว่าถอย
สุดท้ายคือ start up จำเป็นต้องมีสรรพคุณสำคัญสามคำคือ nimble, agile และ flexible คล่องแคล่ว ว่องไวปานกามนิตหนุ่ม มีความยืดหยุ่นในการบริหารธุรกิจ พร้อมกับมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด เพราะทั้งสามคำทำให้คุณเป็น master of time เวลาหมายถึงโอกาสทางธุรกิจ เวลาคือต้นทุน
ขอเป็นกำลังใจกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างเรือลำเล็กไปโต้คลื่นยักษ์ในทะเลลึกครับ
โฆษณา