11 ก.พ. 2021 เวลา 10:33 • หนังสือ
หนังสืออีกเล่มที่มาก่อนกาล... เอามาป้ายคร้าบ อยากให้อ่านนนน ❤
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สะท้อนประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างเเหลมคม เเม้กระทั่งในสังคมปัจจุบัน ถึงเเม้จะถูกเขียนขึ้นมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้วก็ตาม
...เป็นหนังสือที่สะท้อนถึงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านกฏหมายกับคนจน สะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่ (ส่วนผู้หญิงเป็นเพียงไม้ประดับหรือภาพวาดที่เลี่ยมใส่กรอบเอาไว้) สมัยที่การตั้งคำถามคือสิ่งที่เป็นตัวเเทนของความกระด้างกระเดื่องเเละยอกย้อน
ประเด็นที่เหมือนจะเปลี่ยนเเต่ก็ยังไม่เปลี่ยน เหมือนจะถูกเเก้ไขเเต่ก็ยังไม่ใช่...
...เเต่ก็อย่างว่าเเหละครับ คิดในเเง่ดีคือไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวที่การเปลี่ยนเเปลงในเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา
ในยุคที่ยังเชื่อว่าความดีความชั่วนั้นอยู่ในสายเลือด Privilege ต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ชอบธรรมเเต่กำเนิด การเกลือกกลั้วกับชนชั้นต่ำกว่านั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้ทุกอย่างเเปดเปื้อน ชนชั้นต่ำที่ตีเสมอชนชั้นเจ้านายก็มีเพียงเเต่ผู้ที่หวังจะสบายทางลัด ไม่รู้จักฟ้าสูงเเผ่นดินต่ำ ไม่มีทางเป็นเหตุผลอื่นไปได้ !!
“คนเราไม่มีสกุลรุนชาติจะเป็นคนดีได้อย่างไร ? มีใครอบรมสั่งสอน ? ความเป็นผู้ดีน่ะมันอยู่ในสายเลือด ถ้าเลือดไพร่เเล้วถึงอย่างไรก็เป็นไพร่”
ชนชั้นเจ้านายกอบโกยสิ่งทรัพยากรต่าง ๆ ไปเสียส่วนมากโดยชอบธรรม - อย่างน้อยก็ในความคิดของเขา
...ส่วนชนชั้นล่างนั้น - ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของสังคมศักดินาเเละความเชื่อทางศาสนาเรื่องบุญบารมีเเล้ว ทำให้พวกเขา ‘ไม่กล้าคิด’ ว่าจะสามารถเปลี่ยนเเปลงอะไรได้ จำต้องอยู่โดยคิดว่าการพึ่งบุญบารมีจากความเมตตาของชนชั้นเจ้านายนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่เเล้ว
ในยุคหนึ่งตาชั่งศีลธรรมเคยเป็นแบบนี้ - ถึงจะดูเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เเต่ก็อยู่ในสมดุล
...เเต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่จะมาเป็นเเรงกระเพื่อมให้ตาชั่งศีลธรรมนี้เสียสมดุลไปคือ ‘การตั้งคำถาม’
‘การห้ามตั้งคำถาม’ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมยุคนั้น - เเละสิ่งที่กีดกั้นคนจากการตั้งคำถามที่ดีที่สุดคือการกีดกั้นพวกเขาออกจากความเเตกต่าง
คำถามจะเกิดขึ้นได้อย่างไร - ถ้าคุณสนทนาเเต่กับคนเดิม ๆ อยู่กับสิ่งเดิม ๆ อยู่ในเเวดวงเดิม ๆ ?การที่ชนชั้นเจ้านายไปเกลือกกลั้วจนเกิดมิตรภาพกับชนชั้นต่ำกว่า เเล้วเพลี่ยงพล้ำไปเอา ‘เเว่นตา’ ของชนชั้นต่ำกว่ามาใส่ ได้เห็นมุมมองที่ต่างไป ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ย่อมไม่ดีเเน่สำหรับผู้ที่ได้ประโยชน์จากเกมนี้​
การตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ทำให้สมดุลของตาชั่งศีลธรรมประจำยุคสมัยต้องเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนสมดุลตรงนี้เองย่อมเกิดความขัดเเย้งตามมา สำหรับผู้ที่สุขสบายดีอยู่เเล้วคงจะเป็นเรื่องที่กวนใจอยู่ไม่น้อย
...เเต่ก็เป็นเรื่องต้องต่อสู้เช่นกันในมุมมองของคนที่ต้องการหาคำตอบของคำถามที่เขาเหล่านั้นตั้งขึ้นมา ถึงเเม้ต้องเเลกกับความไม่สงบก็ตามที
...อย่างที่ สาย สีมา ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ผมคิดว่าคำถามว่า ‘ทำไม’ คำเดียว เราอาจพลิกโลกทั้งใบ เเละทุกสิ่งทุกอย่างที่ตั้งอยู่บนที่เดิมของมัน หงายกลับขึ้นมาดูเหตุผลของมันได้ทีเดียว” - เเล้วความเชื่อนี้ของเขานั้นเอง ที่ทำให้เขาต้องกลายเป็น ‘ปีศาจ’...
...เเต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชนชั้นปกครองทุกคนนั้นจะเห็นดีเห็นงามไปด้วยกับ Privilege ของตัวเองนะครับ ยังมีคนที่มองเห็นว่าระบอบนี้เป็นเรื่องไม่ชอบธรรม (ซึ่งก็เกิดจากการศึกษาระบอบการปกครองจากตะวันตก) พยายามเปลี่ยนเเปลงวิถีปฏิบัติของชาวบ้าน เเต่ก็ต้องแพ้ให้กับวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกเกินกว่าจะเปลี่ยนได้ในวันสองวัน
“พ่อผมเป็นชาวนาต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อยลงบนพื้นพูดกับท่านที่อำเภอ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไม่มีเเล้ว เมื่อเราทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฏหมาย เมื่อประชาธิปไตยสอนให้เราเคารพคำของคนทุกคนโดยเท่าเทียมกัน เเต่ผมก็ผิดหวัง สิ่งเหล่านั้นยังเหลืออยู่ เมื่อราษฎรมาติดต่อ ผมให้เขานั่งเก้าอี้เท่า ๆ กับผมด้วยความยากลำบากเหลือเกินกว่าจะให้เขาทำเช่นนั้นได้ เพราะถูกกดมาจนเคยชิน”
...เเละฟีดแบ็คของความพยายามที่จะเปลี่ยนเเปลงนี้คือประโยคที่ว่า “นี่คุณปลัด วิธีการของคุณน่ะใช้ไม่ได้หรอก คุณจะทำให้ชาวบ้านกระด้างกระเดื่องปกครองยาก เก็บไอ้สิ่งที่คุณเรียนรู้มาไว้ในตู้เถอะดีกว่า...”
“เขาปกครองกันสงบเรียบร้อยมาเป็นร้อย ๆ ปีเเล้ว...”
... “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที” - ปีศาจ ; เสนีย์ เสาวพงศ์
หนังสือเล่มนี้ควรค่าเเก่การอ่านมาก ถูกเขียนเมื่อ 64 ปีที่เเล้ว - เเต่กลับเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่จะเข้าถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ มีอีกหลายประเด็นในสังคมสมัยนั้นที่สะท้อนให้เราใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นเเม้กระทั่งตอนนี้
ในบางเเง่มุม... การตั้งคำถามนั้นอาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีงามในตัวมันเอง ในยุคหนึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการปกครอง... ‘การตั้งคำถาม’ อาจเป็นตัวแปรในการทำให้เกิดความไม่สงบราบคาบในการปกครองจริง
เเต่ก็เช่นกัน - ในศตวรรษที่ 20 ผมว่าสิ่งเดียวกันนี้ก็เป็นวัตถุดิบหลักในการรังสรรค์พัฒนาการในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์เช่นกัน
ก็คงต้องเลือกดูล่ะครับ
//ลอย
ปล. ตอนนี้ THE BRIEFBOOK มี LINE Official แล้วนะครับ !
คลิ้กที่ลิงก์นี้ได้เลย : https://lin.ee/35IQCbj
ปล. 2 หนังสือเล่มนี้ไม่มีขายนะคร้าบบบบ
ปล. 3 ซินเจียยู่อี่ซินนี้ฮวดใช้คร้าบบบบบบ ✌
อ่านนนนนกันนนนนนน
โฆษณา