15 ก.พ. 2021 เวลา 18:53 • สุขภาพ
เรื่องปวดหัวของ Optician : แว่นกรอบใหญ่ ตัดไงให้ชัด
แว่นกรอบใหญ่ๆ หรือทรง Oversized​ เป็นที่นิยมมาทุกยุคสมัย จะด้วยเหตุที่ให้ลุควินเทจเก๋ๆ หรือมุมมองภาพกว้างกว่ากรอบเลนส์เล็ก
และเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่มีแก้มเยอะ ๆ แล้วหาแว่นที่แก้ shape รูปทรงใบหน้า
โดยทั่วแว่นกรอบโต ๆ ที่เห็นได้บ่อยๆ จะเป็นแว่นกันแดดครับ เนื่องจากต้องการเลนส์กว้างๆเพื่อพื้นที่การมองและลดช่องว่างที่แสงแดดจะลอดเข้ามา
แว่นใหญ่ๆ แบบนี้ถูกใจสาว ๆ
แต่เมื่อแว่นกรอบโตๆ กลายเป็นแว่นสายตา บางครั้งมันกลายเป็นงานยากของช่างแว่นเลย
**ขอเรียนว่าบทความ series นี้เน้นแนวปรับทุกข์ มากกว่าจะให้สาระครับ (ฮา)**
ทำไมแว่นกรอบใหญ่ถึงสร้างความปวดหัวให้งานตัดประกอบแว่น อธิบายด้วยภาพได้แบบนี้ครับ
แว่นกรอบเหลี่ยมใหญ่ case study ของเราในวันนี้
ยกตัวอย่างแว่นกรอบเหลี่ยมใหญ่จากแบรนด์ดังมาให้ดูกัน แว่นในภาพเลนส์ 1 ข้าง มีขนาด:
-กว้าง 50 มม
-สูง 57 มม
-วัดมุมแทยง 60 มม
ถือว่าขนาดใหญ่ใช้ได้เลย🤔
เมื่อนำมาวัดระยะห่างจุดกึ่งกลางรูม่านตา (Pupillary Distance : PD) จะถูกมาร์กตำแหน่งประมาณนี้ครับ (จากภาพ ผู้สวมแว่นมี PD ประมาณ 60 มม)
จุดที่เส้นตั้งและเส้นนอนตัดกัน คือจุด PD ครับ
ทีนี้มาดูที่แผ่นเลนส์กัน เลนส์โดยทั่วไป 1 วง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 65-75 มม. ครับ
ซึ่งเลนส์ 1 วง จะมีจุดชัด (จุด focus, จุด Optical Center) อยู่กึ่งกลางแผ่นเลนส์ แบบนี้
แล้วมันมีปัญหาอะไรล่ะ?
ปัญหาคือเมื่อเราจุด Optical Center กึ่งกลางแผ่นเลนส์มาวางบนจุด PD ของแว่น แล้วมันตกขอบน่ะสิ แบบนี้
จุดเริ่มต้นของความปวดหัว (ฮา)
ทำไงดีล่ะทีนี้
1. Fitting แว่นใหม่ ปรับยกแว่นให้สูง จุด PD จะได้ต่ำลงมาสักหน่อยเผื่อฝนเลนส์แล้วจะไม่ตกขอบ
ปัญหา: วิธีนี้ไม่เสียสตางค์ แต่ต้องอ้อนขอลูกค้าซึ่งอาจจะทำให้เสีย Look ที่ควรจะเป็นเวลาสวมแว่น designนี้ ซึ่งโดยทั่วไปขอบบนจะเสมอคิ้วหรือทับคิ้วเล็กน้อย ดีดยกขึ้นอีกอาจจะไม่สวย
ก็หนูสะดวกของหนูแบบนี้ 😏
2. สายมาร: เลื่อนจุด Optical Center
**คำเตือน วิธีนี้ไม่ควรทำ แต่พบเป็นประจำ**
คือการวางจุด Optical Center อยู่ออกห่างจาก PD ที่ควรจะเป็น เพื่อไม่ให้เลนส์ตกขอบ
ปัญหา: ภาพที่มองทะลุจากจุดกึ่งกลางตาดำจะไม่ชัดเจนเท่าที่ควรและเสี่ยงต่อการเปิดปรึซึม (Prism) หรือการหักเหแสงออกจากวัตถุที่ผิดเพียน ผลคืออาจจะมองชัดแต่ไม่สบายตา หรือหนักกว่านั้นคือมองไม่ชัด ยิ่งไปกว่านั้นหากค่าสายตายิ่งมากค่าปรึซึมยิ่งชัดและรุนแรงขึ้น ยิ่งมีสายตาเอียงด้วย ยิ่งมีสิทธิ์พัง
แบบนี้เลนส์ไม่ตกขอบ  แต่มันจะไม่ชัดไง
3. Decenter คือการสั่งเลนส์ที่มีการเลื่อนจุด PD ไปตามที่เราต้องการโดยมีหน่วยเลื่อนเป็น กี่ มม. ตามที่วัด PD ลูกค้าได้ ตัดแว่นออกมาชัดเจน ไร้ที่ติ
ปัญหา: มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้บริษัทเลนส์นะจ๊ะ คิดราคาค่าเลื่อนเป็นราย มม. เลย
บางร้านจึงเลือกเข้าด้านมืดไปหาข้อ 2
4. เลนส์ RARE.... หมายถึงเลนส์ผ่าเหล่า ที่ผลิตออกมาแล้วจุด Optical Center ไม่ได้มาตรฐาน ดันไม่อยู่ตรงกลาง เบี้ยวซ้าย เบี้ยวขวา ในสถานการณ์ปกติ เลนส์พวกนี้จะกลายเป็นเลนส์ใคร ๆก็ไม่รัก คล้ายมีมลทิน
แต่เคสนี้มันคือทางรอดจากสวรรค์ของเราแว่นชัด ๆ หมุนๆ บิดๆ หน่อย ตรงกับจุด PD เป๊ะ
ปัญหา:
1. มัน Rare สมชื่อ บางทีเอาเลนส์ในสต๊อกมาไล่เช็คหาจนหมดก็ไม่มี โรงงานดันทำมาดีทั้งล็อต
2. สายตาเอียง ใช้วิธีนี้ไม่ได้นะครับ มันมีแกนองศาเอียงกำกับอยู่
5. ให้ยกมือไหว้สวย ๆ ไปทางลูกค้าแล้วบอกว่า "เปลี่ยนกรอบอื่นเถอะคร้าบบบบบ"
บทความนี้มีเจตนาเพื่อเล่าสนุกๆ ถึงความท้าทายในการทำงาน เพื่อให้ลูกค้าได้สวมกรอบแว่นที่ตัวเองถูกใจและเลือกมาสวม
ส่วนใหญ่ในเคสเหล่านี้ ผู้เขียนใช้วิธีข้อ Decenter (ข้อ3)​ โดยเจรจาขอคิดค่าบริการเพิ่มเล็กน้อย เมื่อเจรจาพร้อมให้เหตุผลแล้วส่วนใหญ่ ลูกค้าจะเข้าใจและให้ความร่วมมือครับ
เพื่อนๆ สายงานแว่นตาที่ผ่านเข้ามาแวะมาแชร์ทริคของแต่ละท่านได้นะครับ
โฆษณา