Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Alpha Investing
•
ติดตาม
11 ก.พ. 2021 เวลา 11:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ
S1. EP. 5 เรื่องราวของหุ้น (STORY)
ลงทุนอย่างไรให้ชนะตลาด???
มินิซีรีย์ "Seeking Alpha" ตามล่าหาสุดยอดไอเดียการลงทุน พิชิตตลาด
Investment framework : Story
ในบทที่ผ่านๆ มา เราได้พูดถึงปัจจัยทางพื้นฐาน และ ปัจจัยทางเทคนิค ที่จะเป็นตัวช่วยผลักดันราคาหุ้น ให้เพิ่มขึ้นไป ทำให้เราหาหุ้นที่มีผลตอบแทนที่ดีเหนือกว่าตลาด หรือ ที่เราเรียกว่า Alpha ได้ ในบทนี้ผมจะขอ อธิบายถึงอีกปัจจัยสุดท้าย มีส่วนสำคัญ ไม่แพ้ปัจจัยทั้งสอง คือ Story หรือ “เรื่องราว” ของหุ้นตัวนั้นๆ
พลังของ “Story” นี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มมวลชน ส่วนใหญ่ (mass participants) ที่อยู่ในตลาด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ช่วยผลักดันให้ราคาหุ้น วิ่งเข้าสู่ Alpha ชนะตลาดโดยรวม อย่างมีพลังที่สุด และในหลายๆครั้ง ด้วยพลังของกลุ่มมวลชน นี้เองเป็นตัวช่วยผลักดันให้ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปสูงขึ้นอย่างยาวนาน ซึ่งหากนักลงทุนเข้าใจถึงประเด็นนี้ ก็จะสามารถทำกำไร let profit run ไปต่อเนื่องได้ ไม่รีบขายหุ้นไปก่อนเวลาอันควร
เพราะเมื่อหุ้นตัวนั้นๆ ได้รับความนิยมมากพอ คือ ผู้เล่นกลุ่มมวลชนทั่วไปเข้าไปเล่น ปรากฏการณ์ ที่เรามักจะเห็นคือ ตลาดจะปรับ valuation ให้หุ้นตัวนั้นสูงขึ้น เช่น การปรับระดับ PE ที่เหมาะสมให้มากขึ้น หรือ ยอมที่จะใช้วิธีการ valuation ที่ไม่เข้มงวดมาก เพื่อที่จะหาเหตุผลไปสนับสนุนการที่ราคาหุ้นนั้น ปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
โดย Story ที่จะทำให้มวลชนหมู่มาก (mass participants) เชื่อได้ ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องมี 3 ประเด็นปัจจัยที่สำคัญคือ
Story : the triangle to gain mass participation in stock market
1. เป็น Story ที่เข้าใจได้ง่าย :
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็น story ที่ผู้ฟังได้เคยสัมผัส มีประสบการณ์ร่วม อยู่ด้วย จะทำให้ผู้ฟังมีจุดร่วมกับเรื่องราวเหล่านั้นได้ง่ายมากขึ้น ตรงนี้ผมคิดว่าจะเป็นจุดร่วมสำคัญที่จะดึง มวลชนเข้ามาได้
เช่น ในสมัยก่อน หุ้นที่มีสินค้า หรือ บริการที่ อยู่ใกล้ตัว ผู้บริโภคอย่าง บริษัทในธุรกิจค้าปลีก หรือ สินค้าอุปโภคบริโภค มักจะเป็นที่นิยมและ trade ในราคา valuation ที่มี premium มากกว่า บริษัทที่เป็นผู้ผลิตต้นน้ำเป็นต้น เพราะนักลงทุนที่เป็น ผู้ฟังสามารถไปสังเกต ไปสัมผัสของจริงได้เลย ว่าเป็นไปอย่างที่ได้ยินได้ฟังมาหรือไม่
หรือ อย่างปัจจุบันก็ต้องเป็น หุ้น digital consumer ที่มี app ให้เราใช้ในมือถือกันทุกวัน เวลามีคนมาเล่าเรื่อง ว่ามันดีอย่างไร มันจะเติบโตไปได้อย่างไร ผู้ฟังก็จะเข้าใจได้ง่าย เพราะได้ใช้งานจริงในทุกๆ วันอยู่แล้ว
เมื่อมวลชน (mass) เริ่มเข้ามาสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องราว story ที่เข้าใจได้ง่ายนี้ มักจะถูก “package” มาในรูปแบบของคำว่า “Trend” เช่น ในช่วงนี้ ต่างประเทศเราจะเห็น Trend ของ digital economy, clean engergy เป็นต้น หรือในอดีต ที่เราเคยเห็น trend ในไทย อย่างเรื่อง modern trade, โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด, กลุ่มที่มีสินค้าที่จะไปเจาะตลาดจีน เป็นต้น ซึ่งในแต่ละช่วงเวลา ตลาดมักจะชอบ “Trend” บางอย่างมากเป็นพิเศษ
การอธิบายด้วยการรวมกลุ่มเป็นธีม เป็น trend เป็นเรื่องราวที่สามารถเล่าสื่อสารได้ด้วยการใช้ภาพกว้างๆ ของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ (top down approach) โดยไม่ต้องลงรายละเอียดมาก ทำให้ คนส่วนใหญ่ สามารถทำเข้าใจได้ง่ายและเร็ว หากเราลงทุนในบริษัทที่อยู่ใน Trend เหล่านี้ เราเหมือนกับการว่ายน้ำตามน้ำ ไม่เหนื่อยมากนัก (ซึ่งแปลกแต่จริง ว่าในบางครั้ง ตลาดมักจะพร้อมใจ ปรับให้หุ้นที่อยู่ใน trend เดียวกัน ในขณะนั้น ขึ้นไปพร้อมๆ กันหมด ทั้งกลุ่ม โดยไม่เลือกว่าใครเป็น ผู้แพ้ หรือ ผู้ชนะด้วยซ้ำไป)
แต่ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องทำคือ วิเคราะห์ให้ได้ว่า Trend ที่ว่านั้นเป็น trend ที่จะคงอยู่ต่อไปอย่างยาวนานในอนาคตหรือไม่ ผมขอเรียกว่า Mega Trend ซึ่งจะช่วยให้กลุ่ม Mass participant นี้ยังลงทุนอยู่ในหุ้นตัวนั้นๆ ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
แต่หาก trend ที่ว่านั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หรือ อยู่เพียงสั้นๆ ซึ่งเป็นเพียงแค่ hype ชั่วคราวอันนี้ ราคาหุ้นที่เพิ่มไปนั้นจะเป็นเพียงแค่ชั่วคราว เพราะเมื่อกระแสนั้นๆ จบไป mass participant ก็จะหายออกไปเร็ว พอๆ กับตอนที่เข้าไป
2. มีผู้ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวนั้นๆ (Story teller)
ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง หุ้นที่ตลาดมักจะเล่นกัน คือหุ้นที่มี ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของบริษัทนั้นๆ อย่างประจำสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะการเล่าเรื่องราวผ่าน เจ้าของ หรือ CEO ของบริษัทนั้นๆ เองหรือ ผ่านทางนักวิเคราะห์ที่ cover หุ้นเหล่านั้นอยู่ หรือ แม้กระทั่งกลุ่มนักลงทุนที่ไปลงทุนหุ้นตัวนั้นๆ เองก็ตาม
การเล่าเรื่องราว นี้เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่ง ในสังคมมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารระดับสูง จำเป็นต้องใช้ในการ โน้มน้าว ชักจูงให้ ทีมงานบริษัทที่มาจากมากมายหลากหลาย background ให้สามารถทำงานร่วมกัน ให้บรรลุเป้าหมาย จนบริษัทประสบความสำเร็จให้ได้
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราจะเห็น CEO โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นผู้ก่อตั้ง (founder) นั้นต่างมีความสามารถ ในการเล่าเรื่องและสื่อสารถึง vision ของบริษัทออกมาสู่ นักลงทุนได้เป็นอย่างดี (ซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับบริษัท ที่ยังไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่มากนัก)
ยิ่งเดี๋ยวนี้ช่องทางการสื่อสาร จาก บริษัทจดทะเบียน มายังนักลงทุนนั้นมีมากมาย หากบริษัทรู้จักใช้การสื่อสารเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ข้อมูลจะสามารถวิ่งเข้าสู่ นักลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง และโอกาสที่หุ้นตัวนั้นๆ จะเป็นที่รู้จักกันในหมู่มวลชนหมู่มาก (mass participants) นั้นเร็วและง่ายกว่าในอดีตค่อนข้าง เยอะมาก
ในทางกลับกันหาก บริษัทนั้นๆ ไม่มีผู้เล่าเรื่องที่ดี (เช่น ไม่เปิดตัวบริษัทมากนัก ไม่มีนักวิเคราะห์ cover) โอกาสที่จะมี กลุ่ม Mass เข้ามาเล่นเยอะๆ ช่วยผลักดันให้ราคาหุ้นเข้าสู่ กลุ่ม Alpha ให้ได้นั้นน่าจะน้อยกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม การเล่าเรื่องนั้น ก็เปรียบเสมือน ดาบสองคม เพราะหากผู้เล่าเรื่องเอง มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ในเรื่องราวที่ตัวเองจะเล่า เรื่องที่ดีอาจจะถูกเน้น เรื่องที่แย่มักจะทำให้ดูเบาบางลง หรือ ไม่เคยได้เอ่ยถึงเลย ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่ต้อง พิจารณาให้ดีก่อนที่ จะเชื่อสิ่งที่ได้ฟัง หรือ ได้อ่านมา
3. เป็นstory ที่นำไปสู่ความเป็นจริง (reality) ได้จริง
ข้อนี้แน่นอนว่า สำคัญที่สุด เพราะหาก Story นั้นๆ ค่อยๆเป็นไปได้ตามจริงตามที่เคยพูดได้ จะทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้เล่าเรื่องนั้นมากขึ้น พอจะพูดอะไรต่อไปในอนาคต คนก็จะเชื่อมั่นมากขึ้น
อีกทั้งความเป็นจริงนี้เองจะช่วยเพิ่มจำนวนของ Story teller ให้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น บริษัทอาจจะเป็นที่สนใจของ สื่อต่างๆ มากขึ้น มีคนเล่าเรื่องให้บ่อยขึ้น และมีนักวิเคราะห์ ค่อยๆ เข้ามา cover หุ้นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น นักลงทุนที่ลงทุนมาก่อนแล้ว ก็อยากจะเล่าเรื่องว่า หุ้นตัวนั้นๆ น่าสนใจอย่างไร เหตุการณ์เหล่านี้ ก็จะยิ่งเพิ่มความถี่ของการสื่อสารเรื่องราวนี้ออกไป ในวงที่กว้างขึ้น จนเป็นที่สนใจของมวลชน (mass participantion) ในที่สุด
สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ Story ที่เล่านั้นมี โอกาสจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับความคาดหวัง ในขณะนั้นๆของนักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นคึกคัก เรามักจะเคลิ้มไปกับ story มาก บาง story สามารถเกิด mass participation ของนักลงทุนได้อย่างรวดเร็ว อย่างน่าแปลกใจ ถ้าความคาดหวัง “เกินกว่า” หรือว่า “มาเร็ว” กว่า ความเป็นจริงไปมาก กระแสหรือ Hype ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะสร้าง ความเสียหาย ให้กับนักลงทุน ที่เข้ามาภายหลัง ได้มากเช่นกัน
การประยุกต์ปัจจัยเรื่อง Story (ที่ทำให้กลุ่ม mass participant เข้ามีส่วนร่วม) มาใช้ใน investment framework นี้
Entry points for each market participants
ผมคิดว่า เราควรใช้ประโยชน์ของในแง่ของ การพิจารณา จังหวะที่เหมาะสมในการ “ขาย” ไม่ใช้จังหวะในการ “ซื้อ” เพราะ ในการซื้อที่ดีและปลอดภัยนั้นเราควรที่จะต้องซื้อก่อนที่กลุ่ม Mass participants จะเห็นว่าดี เราควรจะมองให้ออกก่อน คนอื่น โดยใช้ปัจจัยทางพื้นฐานและทางเทคนิค เข้าช่วยจากที่อธิบายในบทก่อนๆ ซึ่งจะลดความเสี่ยงของเราที่จะซื้อแพงเกินราคา ลงไปได้มาก เพราะจะทำให้เราซื้อได้ตั้งแต่ตอนจุดเริ่มต้น ของการวิ่งขึ้นของหุ้น
การประยุกต์ใช้ในการ “ขาย” นั้น ยกตัวอย่าง เช่น หากหุ้นที่เราซื้อเอาไว้แล้ว หาก กลายมาเป็นที่สนใจของตลาด กลายเป็นหุ้นที่ใครๆต่างพูดถึงเป็น mega trend มีนักวิเคราะห์เข้ามา cover เข้ามาตามติดมากขึ้น และ ผู้บริหารสามารถทำผลงาน ได้จริงตามที่วาดฝันได้ อย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าราคาหุ้นอาจจะขึ้นมาเยอะกว่า ที่เราตั้งเป้าหมายตามพื้นฐานเอา ไว้ในตอนแรกแล้วก็ตาม ผมคิดว่า เราอาจจะไม่จำเป็นต้องรีบขายหุ้นออกทั้งหมด จริงๆแล้ว เราสามารถ enjoy และ let profit run ไปกับการที่ตลาดพร้อมใจปรับมูลค่าเพิ่มให้ จนกว่าจะมีอะไรมาทำให้มุมมองของ Mass participants นี้เปลี่ยนไป (แน่นอนว่าหลักๆ คือ พื้นฐานของกิจการนั้นๆเอง)
แต่ ถ้าในกรณีบริษัทที่ผมลงทุนไป จนแล้วจนเล่า ไม่ได้กลายเป็นที่สนใจของตลาด ไม่มีคนกลุ่ม Mass participant เข้ามาลงทุนต่อด้วย เมื่อราคาขึ้นมาได้ตาม เป้าหมายที่ คาดหวังเอาไว้ ผมก็มักจะขายออก ไม่ต้องรอ let profit run อะไรมาก เอาเงินของเราไป ใส่ไว้ให้กับบริษัทที่เราหามาใหม่ๆ จะดีกว่า เป็นต้น
2
และนี้คือปัจจัยสุดท้ายใน Investment framework ที่ผมคิดว่าน่าจะช่วยในการหาหุ้นที่จะเป็น alpha ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว คงไม่สามารถบอกได้ว่า วิธีการนี้ถูกต้องที่สุด หรือดีที่สุด
เพียงแต่ผมเชื่อว่าถ้านักลงทุน หา framework ที่เหมาะสมกับตนเอง หมั่นศึกษาหาความรู้ในแต่ละปัจจัยใน framework ของตนให้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ และ คอย ทบทวนวิธีการในการลงทุนว่าเหมาะสม กับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ สุดท้ายเราจะสามารถ ลงทุน และ อยู่รอดในตลาดในระยะยาวได้ ครับ
อย่างไรก็ตามหวังว่า เพื่อนๆ นักลงทุนผู้มุ่งมั่น จะได้ไอเดียจากบทความ ในมินิซีรีย์ นี้บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ ในมินิซีรีย์ ต่อๆ ไป ผมจะอธิบายเกี่ยวกับ ขั้นตอนการลงทุน (investment approach) ตั้งแต่ การคัดเลือกหุ้น การบริหารพอร์ตจัดการความเสี่ยง การขายหุ้น โดยใช้ investment framework เป็นหลักในการตัดสินใจ ถ้าสนใจ สามารถติดตามต่อกันได้ในอนาคตนะครับ
ขอบคุณครับ
Alpha investing
Feb 2021
5 บันทึก
5
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Seeking Alpha ลงทุนให้ชนะตลาด
5
5
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย