19 ก.พ. 2021 เวลา 08:51 • หนังสือ
ช่วงนี้หรือจริงๆก็สักพักแล้วที่กระแสความวินเทจเข้ามาจับจองพื้นที่ในประเทศจะเห็นได้จากสินค้าแฟชั่นหรือสถานที่ที่มีกลิ่นอายวินเทจจะเป็นที่นิยมอย่างมาก ไม่แปลกที่วงการภาพยนตร์หรือวงการนวนิยายเองต่างก็หยิบยกยุคสมัยอดีตที่รุ่งโรจน์ด้วยศิลปะ วัฒนธรรม การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นฉากหลังอยู่เสมอ หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆคนท่านได้ดูซีรีส์ในNetflix เรื่องBridgerton ซีรีส์ชื่อดังที่สร้างมาจากนิยายขายดีของJulia Quinn ที่มีฉากหลังอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษในยุครีเจนซี่(Regency)หรือยุคอาณานิคม (ค.ศ. 1795-1815) ยุคนี้น่าสนใจตรงที่เป็นยุคทองทางศิลปวัฒนธรรม สุนทรียนิยมที่รุ่งเรืองเบ่งบานขึ้น ที่ต่อมาได้กลายเป็นอีกหนึ่งยุคสมัย ที่โดดเด่นด้วยบริบททางอารยธรรมที่หลากหลายแขนง คือ ประตูสู่ยุคใหม่ (Modern Age) ที่หล่อหลอมความสง่างามแบบยุคคลาสสิกและความทันสมัยเข้าไว้ด้วยกัน อย่างลงตัว ทำให้ยุครีเจนซี่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นทั้งเรื่อง สถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม ประติมากรรม วรรณกรรม แฟชั่น ดนตรี ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยผลงานการรังค์สรรค์อย่างงดงาม ตลอดจนวัฒนธรรมการอยู่อาศัยแบบชนชั้นสูงในลอนดอนที่เป็นภาพฝันของคนทั่วโลก
Bridgerton เล่ม 1 The Duke and i
Brigerton เป็นนิยายเกี่ยวกับสังคมชนชั้นสูงของอังกฤษที่อยู่ในช่วงฤดูหาคู่ของสาวโสดที่ถึงวัยต้องแต่งงาน โดยมีดยุคแห่งเฮาส์ติ้งเป็นหนุ่มโสดระดับพรีเมี่ยมที่นอกจากจะโสดแล้วยังมีบรรดาศักดิ์ รวย ฉลาดและหล่อชนิดที่ไม่อาจละสายตาได้กับดาฟนี สาวโสดที่ยังขายไม่ออกเพราะนิสัยที่เหมือนมนุษย์มากเกินไป(?) หนังสือเล่มนี้เกิดจากที่ผู้เขียนดูซีรีส์แล้วติดใจเนื้อเรื่องที่ขอเรียกว่า "น้ำเน่าสุดๆ" เป็นเรื่องของพระเอก-นางเอกที่แกล้งจีบกันเพื่อหนีจากการจับคู่ของบรรดาแม่ๆและเพื่อล่อให้ผู้ชายมาสนใจ ซึ่งตอนจบสุดท้ายเป็นอย่างไรก็คงไม่ต้องเดาและแน่นอนว่าเป็นนิยายในยุคอดีต เราก็จะเห็นความเชื่อแปลกๆอย่าง เป็นผู้ชายต้องเสเพล ผู้หญิงต้องกลับบ้านก่อน5โมงเย็น เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องยอมรับให้ได้ถ้าคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ จะมีตัวละครที่ผู้เขียนชื่อชอบเป็นพิเศษ คือ เลดี้บริดเจอร์ตัน หรือไวโอเล็ต บริดเจอร์ตัน แม่ของดาฟนีที่ถึงแม้จะอยากให้ลูกแต่งงานมากแค่ไหน บังคับลูกให้คุยกับคนนู้นคนนี้แต่เธออยากให้ลูกแต่งงานด้วยความรักเหมือนกับเธอไม่ใช่เพราะความเหมาะสม หรือตอนที่ดาฟนีกับดยุคมีปัญหากันเธอได้ปล่อยให้ลูกแก้ปัญหาชีวิตคู่เองขณะเดียวกันถ้าดยุคเริ่มทำให้ลูกเธอต้องเสียใจหนักเธอก็จะก้าวขึ้นมาต่อว่าดยุคตรงๆ และตัวละครที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือพี่ชายทั้ง3 ของดาฟนีที่รักน้องเกินคำบรรยาย พร้อมทำเพื่อน้องเสมอ อยู่ข้างน้องเสมอเวลาที่น้องเสียใจเป็นความผูกพันที่น่ารักจริงๆแม้จะแอบลำไยความหัวร้อนเกินเบอร์ไปบ้าง ตัวละครดาฟนีเองก็มีความแซ่บไม่น้อยเพราะเธอเติบโตมาในครอบครัวที่มีความรักเต็มเปี่ยมเธอจึงอยากมีครอบครัว มีลูกที่อบอุ่น แต่เมื่อต้องมาแต่งงานกับดยุคที่ไม่อยากมีลูกเพราะปมในอดีตที่ฝังรากลึกมานาน อะไรจะเกิดขึ้น (ขอบอกก่อนว่าหนังสือเล่มนี้18+นะเออ) ซึ่งในนิยายจะเน้นบรรยายความคิด,ความเป็นมาของตัวละครมากกว่าที่ซีรีส์นำเสนอ แต่ซีรีส์กลับทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าทั้งสองรักกันจริงๆมากกว่าในนิยายเสียอีก(อ้าว!555)ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียแต่ต่างกันไป ผู้เขียนขอยอมรับว่าไม่ค่อยได้อ่านนิยายแปลหรือนิยายต่างชาติมากนักจึงทำให้ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอ อย่างเช่น คำว่าห้อตะบึงหรือรองเท้าบู๊ตหัวเหล็ก(หน้า67,บทที่4) ตัวซีรีส์ค่อนข้างปรับเปลี่ยนเนื้อหาไปจากนิยายพอสมควร ทั้งดยุคที่ไม่ได้เป็นผิวสีและมีอาการติดอ่างซึ่งเป็นปมในใจตั้งแต่เด็ก ดาฟนีและพี่น้องทุกคนล้วนมีผมสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีควีนเข้ามาจับคู่ดาฟกับเจ้าชายแห่งปรัสเซีย แอนโทนีไม่ได้มีคนรักเป็นหญิงนักร้องโอเปร่า(หรืออาจจะบอกในเล่มถัดไป) แต่การปรับเปลี่ยนนี้ก็ทำให้ตัวซีรีส์มีสีสันมากขึ้นเลยละยอมรับเลยว่าซีรีส์ทำออกมาได้ดี ทั้งการพูดคุยที่ถูกคอกันของพระนาง สังคมขี้นินทาและการแย่งกันจับคู่ให้ลูกๆของบรรดาคุณแม่ ที่ดูสมจริงจนน่าอึดอัดแทนพระนางเลยทีเดียว
ที่มา : https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/bridgerton-dancecard
ความโดดเด่นของเรื่องนี้แน่นอนว่านอกจากฉากที่สวยงาม คอสตูมสุดอลังการก็คงมีฉากเต้นรำนี่แหละที่เห็นบ่อยที่สุดและสวยทุกฉาก ผู้อ่านหลายๆท่านคงได้เห็นฉากการเขียน Dance card ผ่านตาอยู่บ้างถือว่าเป็นกิมมิคเล็กๆที่น่ารักมาก ผู้เขียนจึงทำการหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงได้ความว่า ฟังก์ชั่นของบัตรเต้นรำก็คือมีไว้เพื่อให้หญิงสาวจดชื่อและ ‘คิว’ ของชายหนุ่มที่มาขอเต้นรำลงไป ซึ่งชายหนุ่มคนไหนที่อยากขอหญิงสาวเต้นรำ ก็จะต้องมาขอใส่ชื่อจองคิวเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถไฟชนกันหรือแย่งคิวเต้นรำกันในเพลงที่จะมาถึง ซึ่งถ้าจะให้นึกภาพได้ง่ายขึ้น บัตรเต้นรำก็เหมือนกับมือถือที่หญิงสาวในยุคนี้เอาไว้ใช้เก็บเบอร์โทร, ไลน์ หรือ IG ของหนุ่มที่มาขอชนแก้วด้วยอะไรแบบนั้นเพื่อไม่ให้หลุดโอกาสในการทำความรู้จักไปนั่นเอง โดยปกติแล้วบัตรเต็มรำนั้นจะถูกห้อยติดไว้ที่ข้อมือหรือชุดเดรสของผู้หญิงพร้อมดินสอขนาดเล็กสำหรับเขียน และหลายครั้งที่บัตรเต้นรำยังทำหน้าที่เป็นของขวัญจากโฮสต์ผู้จัดงานเลี้ยงทำให้มีดีไซน์ที่หลากหลายและยังงดงามอย่างวิจิตรอีกต่างหาก
ตัวอย่างความวิจิตรของDance card
หนังสือเรื่องนี้สำหรับผู้เขียนมันให้ความรู้สึกเหมือน สุภาพบุรุษจุฑาเทพ แบบอังกฤษ ทั้งเป็นชนชั้นสูงของสังคมเหมือนกัน ถูกบังคับให้แต่งงานเหมือนกัน ต้องแกล้งจีบๆกัน(อันนี้เหมือนเรื่องคุณชายพุฒิภัทร) และมีพี่น้องที่ผูกพันกัน ค่อยช่วยเหลือกันเสมอ แต่ไม่ว่าจะเหมือนกันหรือไม่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า เรื่องBridgerton ก็ประสบความสำเร็จในแง่ของซีรีส์และนิยายที่กลายเป็นที่พูดถึงทันทีที่ซีรีส์ออกฉาย ถ้าผู้อ่านท่านใดชอบดูซีรีส์ก็ขอรับประกันเรื่องความสนุกเข้มข้น ถ้าชอบอ่านนิยายก็ขอบอกว่าแซ่บสุดไม่แพ้กัน แล้วคุณจะอึ้งถ้ารู้ว่าใครคือ เลดี้วิสเซิลดาวน์ (Shhhh...!)
โฆษณา