11 ก.พ. 2021 เวลา 14:22 • สุขภาพ
ถ้วยอนามัย - ทางเลือกใหม่ของมนุษย์มีเมนส์
2
ในช่วงหลายปีมานี้ คนไทยคงเริ่มคุ้นหน้าคุ้นตากับเจ้าถ้วยอนามัยกันมากขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับมนุษย์มีเมนส์ เพราะน้องถ้วยมีข้อดีหลาย ๆ อย่าง
ในบทความนี้อยากมาชวนคุยกันเรื่องถ้วยอนามัย โดยจะเล่าให้ฟังในมุมทางการแพทย์ อ้างอิงจากงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลมาจากหลาย ๆ การศึกษาทั่วโลกเลย
ในบทความนี้จะเล่าเป็น 3 ช่วง คือ 1. แนะนำน้องถ้วย 2. งานวิจัยและความคิดเห็น 3. มายาคติ และหากใครมีประสบการณ์เพิ่มเติม สามารถพิมพ์แลกเปลี่ยนกันได้นะ
“แนะนำให้รู้จักน้องถ้วยกันก่อน”
ถ้วยอนามัยคือซิลิโคนรูปกรวย หากใครไม่เคยเห็นลองดูที่ภาพประกอบได้ น้องถ้วยทำหน้าที่รองรับเมนส์ไว้ในถ้วย เหมือนกับผ้าอนามัยที่รองรับเมนส์ด้วยการซึมซับลงในแผ่น
เวลาจะใช้งาน ต้องพับมุมถ้วยให้เล็ก ๆ และสอดเข้าไปในช่องคลอด ถ้วยจะกางในช่องคลอดเพื่อรอรับน้องเมนส์
ซึ่งถ้าใส่ได้ถูกต้องก็จะโล่งสบายตัว รู้สึกเหมือนไม่ได้มีประจำเดือน แฮปปี้ ขยับเขยื้อนได้สะดวก ไม่ต้องกลัวเปื้อน ไม่ระคายเคืองและอับจิ๋มเหมือนผ้าอนามัย แถมยังลงเล่นน้ำได้อีกด้วย
1
หลายคนที่เคยใส่ผ้าอนามัยแบบสอดอาจพบปัญหาเรื่องแห้ง เพราะเหมือนมีสิ่งซับความชื้นอยู่ในช่องคลอดตลอดเวลา ซึ่งการใช้ถ้วยอนามัยก็ช่วยลดปัญหานี้ได้ เพราะน้องถ้วยไปรอรองรับเมนส์เฉย ๆ ไม่ได้ดูดซับความชื้นภายในออกไปด้วย
ข้อดีอีกเรื่องคือการรักษ์โลก เพราะน้องถ้วยสามารถใช้ซ้ำ ๆ ได้เป็น 10 ปี ไม่สร้างขยะทุก ๆ เดือนเหมือนผ้าอนามัย ซึ่งหลาย ๆ คนที่เริ่มมาใช้ถ้วยอนามัย ก็เพราะเหตุผลในเรื่องนี้นี่แหละ
3
แต่ข้อเสียของน้องถ้วย ก็คือ ความยุ่งยากในการใส่และถอดในช่วงแรก ๆ ที่เจ้าของจิ๋มยังไม่ถนัด ผสมกับความกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จัก ทั้งกลัวเจ็บและบางคนอาจจะกลัวเลือดมาก ๆ จนไม่กล้าที่จะเปิดใจลอง
1
นอกจากนี้ บางคนอาจมีความกังวลเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด คือ ก่อนการใช้งานถ้วยครั้งแรกในแต่ละรอบเดือน ต้มน้องในน้ำเดือดเพื่อฆ่าเชื้อ (ไม่แนะนำให้เวฟ นึ่ง หรือใส่หม้อทอดไร้น้ำมัน) ระหว่างใช้งานแต่ละครั้ง ล้างมือให้สะอาดก่อนถอดน้อง ส่วนน้องถ้วยจะล้างด้วยน้ำเปล่าหรือใช้สบู่ร่วมด้วยก็ได้ พอหมดรอบเดือนก็ต้มน้องอีกสักทีก่อนเก็บไว้ในที่สะอาด ๆ พอถึงรอบเดือนใหม่ก็นำน้องออกมาต้มใหม่ วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
2
อีกเรื่องที่อาจจะยากกว่าทุกเรื่องที่กล่าวมา คือการก้าวข้ามมายาคติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้องถ้วย เดี๋ยวเรื่องนี้จะคุยกันอีกทีในช่วงท้าย
“งานวิจัยทางการแพทย์บอกว่าอย่างไร”
งานวิจัยฉบับนี้นำมาจากวารสาร Lancet ตีพิมพ์ในปี 2019 ซึ่งได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาทั้งหมด 43 เรื่อง และงานวิจัยนี้เป็นงานที่ระบบสุขภาพของอังกฤษ (NHS) นำมาอ้างอิงในการให้ข้อมูลกับประชาชนด้วย
1
แอดจะเล่าประเด็นที่น่าจะมีคนอยากรู้บ่อย ๆ โดยยึดตามงานวิจัยเป็นหลัก ส่วนตรงไหนเป็นความเห็นส่วนตัวจะเขียนวงเล็บไว้นะคะ (สิ่งที่อยู่ในวงเล็บคือความเห็นแอด)
การติดเชื้อทางช่องคลอด – การใช้ถ้วยไม่ทำให้สมดุลในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง และไม่ได้ทำให้การติดเชื้อในช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น (ความเห็นแอด หากเริ่มใช้แล้วมีตกขาว ลองพิจารณาว่าใช้สบู่ล้างถ้วยแรงไปไหม มีสารตกค้างรึเปล่า แนะนำให้ใช้สบู่ pH ต่ำกว่า 5.5 เผื่อมีสารตกค้างจะได้ไม่กวน pH น้องจนเกินไปนัก)
1
Toxic shock syndrome (TSS) – TSS คือการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่เคยมีรายงานว่าพบในการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด แต่สำหรับถ้วยอนามัย ข้อมูลปัจจุบันบอกว่าเจอน้อยมาก และมีเคสที่เป็นเพราะใส่ถ้วยไว้นานเกือบ 3 วัน (ใส่แล้วอย่าลืมเอาออกก็แล้วกัน เพราะอย่างที่บอกถ้าใส่ได้ถูกต้อง บางทีจะไม่รู้สึกเลยว่ามีถ้วยอยู่ข้างใน)
1
ปัสสาวะติดเชื้อ – (ชี้แจงก่อนว่า ปกติจะใส่ถ้วยเข้าในรูช่องคลอด ส่วนรูปัสสาวะเป็นอีกรูนึง คนละรูกัน) แทบไม่เจอเลยว่ามีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และเคสที่พบการติดเชื้อ เล่าว่า ถ้วยเขาถูกขโมย ก็เลยใช้ทิชชู่แทนผ้าอนามัยแบบสอด (เฮ้ย อย่าหาทำ!)
ห่วงคุมกำเนิดหลุด – (เกริ่นอีกนิด ใครที่ใช้การคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงจะมีสายห้อย ๆ อยู่ในช่องคลอด การใส่ถ้วยเข้าไปอาจจะไปกวนสายนั้นได้ เลยกังวลว่ามันจะดึงห่วงหลุดออกมาจากมดลูก) เรื่องนี้ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่อาจจะไม่เหมาะกับการใช้ 2 สิ่งนี้ด้วยกัน (ความเห็นแอดคิดว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หากใครใช้ห่วงคุมกำเนิดอยู่และอยากจะใช้ถ้วย)
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ - ในทางทฤษฎี หากมีการย้อนกลับของเมนส์ อาจทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ แต่ในงานวิจัยยังไม่พบว่าการใช้ถ้วยทำให้เกิด (ความเห็นแอด หากใครเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อยู่ ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ หรือรอข้อมูลงานวิจัยใหม่ ๆ อีกนิด)
1
แต่โดยสรุปงานวิจัยบอกว่า ถ้วยอนามัยเป็นทางเลือกที่สามารถเลือกใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป (ความเห็นแอด ถ้วยอนามัยค่อนข้างปลอดภัย แต่ควรเลือกที่เป็นถ้วยแบบเกรดการแพทย์เท่านั้น)
1
ในส่วนนี้เป็นความคิดเห็นของแอดนะคะ
1. แนะนำให้เลือกใช้ถ้วยอนามัยเกรดการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน
2. หากใครเพิ่งเริ่มต้นใช้ ควรสังเกตร่างกายตัวเองให้ดี ว่ามีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
3. แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ที่ใช้บ่อย ๆ ถึงเทคนิคต่าง ๆ ในการใช้ถ้วยอนามัย
4. หากใช้แล้วเกิดความผิดปกติ เช่น ตกขาว ฉี่และอึลำบาก ควรปรึกษาหมอ
5. ใช้อย่างมีวินัย ดูแลความสะอาด ใส่แล้วอย่าลืมน้อง
6. ระวังเยอะ ๆ ในคนที่ใส่ห่วงอนามัย หรือเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
4
“มายาคติเกี่ยวกับน้องถ้วย”
ขอบอกก่อนเลยว่า การใส่ถ้วยอนามัย ไม่ได้ทำให้จิ๋มหลวม จิ๋มบาน หรือจิ๋มเปลี่ยนสีนะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าถ้าใช้ถ้วยอนามัยจะทำให้น้องจิ๋มเปลี่ยนหน้าตาไป
2
ความยากในการเริ่มใช้ถ้วยที่เจอได้บ่อยมากคือเรื่องมายาคติ แอดเคยอ่านเจอในทวิตเตอร์ว่า มีครอบครัวหนึ่งที่เจอลูกสาวใช้ถ้วยอนามัย ถึงกับทะเลาะกันรุนแรง เพราะคิดว่าลูกจะเสียซิงให้กับถ้วยอนามัย
หากใครมีลูกหลานที่ใช้อยู่ อยากเชิญชวนให้ลองมองมุมใหม่ว่ามันก็คือทางเลือกในการดูแลเรื่องเมนส์ของลูกหลาน และการใส่อะไรเข้าไปในจิ๋มไม่ได้แปลว่าเยื่อพรหมจรรย์จะขาด ไม่ได้แปลว่าจะเสียซิงนะ
หวังว่าคงได้ข้อมูลกันมากขึ้นเกี่ยวกับถ้วยอนามัยในมุมมองทางการแพทย์ จริง ๆ ต้องยอมรับว่าแพทย์หลายคนยังไม่ค่อยรู้จักเจ้าถ้วยนี้สักเท่าไหร่ เพราะยังเป็นสิ่งที่ใหม่อยู่ ต้องเป็นตำราแพทย์ใหม่ ๆ หรืองานวิจัยใหม่ ๆ เท่านั้นที่จะเขียนถึง
กลับมาที่คำถามที่ว่า ใช้ถ้วยอนามัยดีไหม แอดตอบได้แค่เพียงว่า การใช้ถ้วยอนามัยนั้น ค่อนข้างปลอดภัย และเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์มีเมนส์
2
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่คนร่ำลือเกี่ยวกับน้องถ้วย ทั้งความยาก ความเจ็บ หรือความสะดวกสบาย ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ต่างคนต่างพบเจอประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ทำให้ความชอบและความประทับใจในน้องถ้วยก็จะแตกต่างกันไปด้วย
คงต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ใช้งานจริงหลาย ๆ คนมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งการเลือกขนาด การวัดปากมดลูกต่ำ-สูง และเทคนิคในการใช้ต่าง ๆ ให้เจ้าของจิ๋มสามารถฝึกฝนและใช้ได้อย่างสบายใจ
ขอขอบคุณการสนับสนุนจาก https://www.happicup.com/ ถ้วยอนามัยแฮปปี้ ถ้วยอนามัยแบรนด์คนไทยที่อยากให้มนุษย์มีเมนส์มีความสุขมากขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตโดยคัดเลือกซิลิโคนเกรดการแพทย์นำเข้าจากต่างประเทศ 100% ผลิตโดยผู้ผลิตที่มีการรับรองมาตรฐานสากล (ISO 9001 : 2015, ISO 13485 : 2016)
หากใครมีข้อสงสัยอะไรสอบถามเพิ่มเติมได้นะคะ หรือใครที่เคยใช้แล้วอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก็ยินดีค่า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา