12 ก.พ. 2021 เวลา 04:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Yellow Filter สีของประเทศโลกที่ 3 ในหนัง Hollywood?
เคยสงสัยไหมว่าในหนัง Hollywood เวลามีฉากในประเทศอย่างเม็กซิโกหรือฉากในประเทศแถบเอเชีย มักจะมีโทนสีเหลืองๆย้อมไปทั้งภาพ?
4
ชื่อที่นิยมเรียกโทนสีเหลืองที่ว่าก็คือ “Yellow Filter” เป็นโทนสีที่ทำให้ภาพทั้งภาพถูกย้อมไปด้วยสีเหลือง สีอื่นๆจะถูกทำให้ซีดลง จนเหลือสีที่โดดเด่นเพียงแค่สีเหลืองเท่านั้น ภาพที่ได้จะออกมาคล้ายๆกับเวลาคุณสวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์เป็นสีเหลืองๆ
2
โทนสี Yellow Filter ถูกนำมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากในช่วงนี้ เพราะหนังจากทางฝั่ง Hollywood เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆที่นำโทนสีเหลืองนี้มาใช้ย้อมสีให้กับประเทศอย่างอินเดียหรือเม็กซิโก รวมไปถึงหลายประเทศในแถบเอเชีย เยอะจนผู้ชมเริ่มรู้สึกได้และเริ่มตั้งคำถาม จนถึงถูกนำมาล้อเลียนเป็นมุขตลก
https://knowyourmeme.com/memes/mexico-in-american-movies
ทำไมถึงต้องเป็นโทนสีนี้กัน?
ทำไมถึงนิยมใช้สีโทนนี้กับประเทศบางประเทศ?
จุดเริ่มต้นความนิยมนี้มันมาจากไหน?
เป็นเรื่องปกติที่ผู้สร้างจะเลือกใช้สีที่เป็นโทนร้อนหรือโทนเย็นในการนำเสนอเมืองหรือสถานที่ต่างๆในหนังของตนเอง ถ้าอยากให้คนดูรู้สึกว่าเมืองนั้นร้อนก็ใช้สีโทนร้อน หรือ อยากให้รู้สึกว่าเป็นเมืองที่หนาวก็ใช้สีโทนเย็น ทำให้เราจะคุ้นชินกับว่าถ้าเห็นมีหิมะตกๆ ภาพมันจะต้องออกอมฟ้าๆหม่นๆเสมอ ซึ่งก็ยังนับว่าซื่อตรงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
แต่ในภาพยนตร์เรื่อง Extraction ที่ออกฉายบน Netflix มีฉากของเรื่องส่วนหนึ่งอยู่ในเมือง ธากา ประเทศบังกลาเทศ ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนกว่าเมืองในอเมริกา หนังเรื่องนี้จึงเลือกใช้สีที่ไม่ใช่แค่โทนร้อน แต่เป็นการใช้ Yellow Filter อย่างหนักหน่วง
ภาพที่ได้ออกมาชวนให้เรารู้สึกถึงความร้อนของอากาศ มลภาวะ ความแห้งแล้ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาจากมุมมองที่ผู้สร้างเลือกที่จะนำเสนอเมืองธากา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว อากาศอาจจะไม่ได้ร้อนแบบที่หนังทำมา ดูได้จากภาพเบื้องหลังของการถ่ายทำในฉากเดียวกันที่ไม่ผ่านการปรับแต่งสี จะเห็นสีที่เป็นธรรมชาติและไม่ได้ดูร้อนแบบที่หนังสื่อออกมา
(บน) ภาพจากในภาพยนตร์ Extraction / (ล่าง) ภาพเบื้องหลังจากกองถ่าย Extraction
อีกหนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงคือซีรีส์ชื่อดังอย่าง Breaking Bad ที่ในช่วงหนึ่งของเรื่องจะมีฉากที่เป็นประเทศเม็กซิโก ซึ่งผู้สร้างหยิบใช้ Yellow Filter ที่ว่านี้มาย้อมสีให้กับประเทศเม็กซิโกในฉาก Flashback และใช้สีโทนร้อนเฉยๆในฉากเม็กซิโกเวลาปัจจุบันก็ตาม แต่ผู้คนก็อดสังเกตไม่ได้ว่าเมื่อเป็นฉากในเม็กซิโก ภาพจะต้องดูร้อนขึ้นมาทันที
Breaking Bad - Vince Gilligan (2008-2013)
อีกตัวอย่างเล็กๆคือในเรื่อง Doctor Strange ของค่าย Marvel ที่ปกติแล้วจะไม่ได้มีการย้อมสีภาพมากมายนัก หนังค่าย Marvel มักจะทำภาพให้ดูธรรมชาติและเป็นกลางๆ แต่ในเรื่องนี้มีช่วงหนึ่งของหนังที่ตัวละครจะต้องเดินทางมายังประเทศเนปาล ภาพของเมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลนั้นก็ไม่วายถูกนำเสนอด้วยสีโทนร้อนในสไตล์ Yellow Filter อยู่ดี ทั้งๆที่เมืองกาฐมาณฑุนั้น แท้จริงแล้วเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันและวัฒนธรรม แต่เมื่อมาอยู่ในหนัง สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้รับการเสนอออกมาอย่างซื่อตรงเท่าที่ควร
3
(บน) เมืองกาฐมาณฑุในเรื่อง Doctor Strange / (ล่าง) ภาพถ่ายเมืองกาฐมาณฑุ จาก medium.com
ดังนั้นเราจะเห็นว่า จริงๆแล้วสถานที่หนัง Hollywood นำเสนอว่าเป็นเมืองร้อนหรือเต็มไปด้วยมลภาวะ ไปจนถึงเป็นอันตรายนั้น แท้จริงแล้วก็อาจไม่ใช่อย่างนั้นซักทีเดียว
หรืออาจเป็นเพราะการรับรู้และมุมมองของผู้สร้างชาวตะวันตกที่มีต่อเมืองนั้นๆเองหรือเปล่า ที่เลือกจะนำเสนอเมืองเหล่านี้ออกมาในแบบนี้่โดยที่ไม่รู้ตัว เกิดจากความเคยชินที่เห็นต่อๆกันมา
กระแสการใช้ Yellow Filter นี้มันเริ่มต้นมาจากไหน จุดเริ่มต้นนั้นหาได้ยาก
อาจเป็นที่ผู้สร้างหลายๆคนคุ้นชินกับการใช้สีโทนร้อนกับเมืองที่ร้อนอยู่แล้ว หรือว่ามันมีหนังเรื่องไหนที่ใช้สีโทนร้อนนี้สื่อถึงสถานที่ที่ทั้งร้อนและรู้สึกถึงอันตรายได้อย่างน่าจดจำ จนเป็นภาพจำต่อหนังรุ่นต่อๆมากันแน่
1
Apocalypse Now อาจจะเป็นหนังเรื่องที่ว่า
Apocalypse Now ของผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Francis Ford Coppola ออกฉายในปี 1979 เป็นหนังที่มีสถานที่ดำเนินเรื่องหลักๆอยู่ในประเทศเวียดนาม และ กัมพูชา เกิดในช่วงสงครามเวียดนามพอดี โดยตัวเอกที่แสดงโดย Martin Sheen นั้น ต้องเข้าไปในบรรยากาศที่ทั้งร้อนระอุและอันตรายของป่าดงดิบในแถบเวียดนามและกัมพูชา
Apocalypse Now - Francis Ford Coppola (1979)
ผู้กำกับภาพของเรื่องนี้ Vittorio Storaro เลือกที่จะใช้การย้อมสีฟิล์มให้ภาพของเวียดนามในเรื่องนี้นั้นออกมาเป็นโทนสีเหลืองส้ม ซึ่งเมื่อประกอบกับเรื่องราวของเรื่องที่ต้องการจะสื่อถึงความอันตราย ความร้อนชื้นของสถานที่แล้ว สีโทนนี้ตอบโจทย์สิ่งนี้ได้อย่างดีเยี่ยม จนกลายเป็นหนึ่งในภาพจำที่มีอิทธิพลอย่างมากในการเป็นแบบอย่างของการใช้สีโทนร้อนกับสถานที่ในแถบเมืองร้อนในเวลาต่อมา
ดังนั้นแล้ว จริงหรือที่ Yellow Filter ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของสีของประเทศโลกที่ 3 จากมุมมองของ Hollywood?
ข้อสังเกตนี้ถูกยกขึ้นมาในบทความของ Elisabeth Sherman จากเว็บไซต์ Matadornetwork
โดยในบทความนั้นกล่าวถึงการใช้ Yellow Filter ในหนังอเมริกัน ที่มักจะใช้สีที่ว่ากับประเทศที่ตนมองว่าเป็นประเทศโลกที่ 3 แบบเหมารวมว่าเป็นประเทศที่ทั้งร้อนและอันตราย ไปจนถึงด้อยพัฒนา อย่างที่ยกตัวอย่างประเทศแถบเอเชียหลายๆประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านของอเมริกาอย่างเม็กซิโกด้วยก็ตาม
หรือถ้าเรามามองดีๆแล้ว การใช้ Yellow Filter ของภาพยนตร์ Hollywood เรื่องต่างๆที่ยกตัวอย่างมานั้น แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่การเหมารวมซะทีเดียว แต่มันมีเหตุผลรองรับบางอย่าง
ไม่ว่าจะในเรื่อง Extraction, Breaking Bad, Doctor Strange รวมไปถึง Apocalypse Now นั้น สถานที่ที่ผู้สร้างเลือกใช้ Yellow Filter หรือสีโทนร้อนนั้น มักเป็นสถานที่ที่ตัวละครไม่คุ้นเคยและอาจเป็นอันตรายต่อตัวเองทั้งสิ้น
ถ้ามองว่าการหยิบสีโทนนี้มาใช้เพื่อสร้างให้เกิดความต่างระหว่างสถานที่ที่ตัวเอกคุ้นเคยกับสถานที่ที่ตัวเอกต้องเดินทางไปและอาจพบเจอกับอันตรายในสไตล์เดียวกับที่ Apocalypse Now ได้ทำเอาไว้ ก็นับว่าเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักอยู่ไม่น้อยทีเดียว มองแบบนี้เราก็จะเห็นถึงสาเหตุของการเลือกใช้สีโทนร้อนนี้ในหนังแต่ละเรื่องได้ดียิ่งขึ้น
ในเรื่อง Only God Forgives ที่สถานที่ดำเนินเรื่องราวเกิดในเมืองกรุงเทพฯแทบทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีการใช้ Yellow Filter ในการย้อมสีกรุงเทพฯในแบบที่หลายเรื่องที่เราได้ยกตัวอย่างกันไป
ภาพในเรื่องนั้นค่อนไปในทางที่เป็นธรรมชาติ บางทีค่อนไปทางโทนเย็นด้วยซ้ำ ในขณะที่เรื่อง Hangover Part II ที่สถานที่เดินเรื่องหลักเป็นเมืองกรุงเทพฯเช่นกัน แต่ก็ยังคงมีการใช้สีโทนร้อนอยู่ อะไรคือความต่างของสองเรื่องนี้ ที่ทำให้เมืองเดียวกันถูกตีความสีออกมาไม่เหมือนกัน
1
(บน) เมืองกรุงเทพฯในเรื่อง Only God Forgives / (ล่าง) เมืองกรุงเทพฯในเรื่อง The Hangover Part II
ความแตกต่างของ 2 เรื่องนี้ที่ทำให้โทนสีของกรุงเทพฯออกมาต่างกันได้นั้น อาจจะตอบได้ด้วยการมองที่ตัวเรื่องราว
ตัวเอกของ Only God Forgives เป็นชาวตะวันตกก็จริง แต่ได้เข้ามาใช้ชีวิตและอาศัยทำมาหากินด้วยธุรกิจผิดกฏหมายอยู่ในกรุงเทพฯ และมีความคุ้นเคยกับเมืองเป็นอย่างดี ทำให้กรุงเทพฯในเรื่องนี้ไม่ได้มีการใช้ Yellow Filter หรือสีโทนร้อนเพื่อให้รู้สึกถึงความแตกต่างหรือสื่อถึงความอันตรายและไม่แน่นอนแต่อย่างใด
ในขณะที่เรื่อง The Hangover Part II นั้น แก๊งตัวเอกเป็นชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในไทย และต้องประสบพบเจอกันเรื่องไม่คาดคิดต่างๆนาๆมากมายในกรุงเทพฯ สีของกรุงเทพฯในเรื่องนี้จึงยังคงถูกย้อมด้วย Yellow Filter เหมือนกับหลายๆเรื่องที่นิยมทำกันมา
พอคิดแบบนี้ลองกลับมามองที่เรื่อง Doctor Strange ก็จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ตัวเอกเดินทางไปฝึกวิชาในเมืองกาฐมาณฑุได้สักพักและเริ่มปรับตัวแล้ว สี Yellow Filter ที่เห็นในตอนที่ตัวเอกเดินทางมาครั้งแรกก็หายไป กลับไปสู่สีที่เป็นธรรมชาติแบบที่ Marvel นิยมทำ
(บน) เมืองกาฐมาณฑุจากตอนต้นเรื่อง / (ล่าง) เมืองกาฐมาณฑุจากหลังจากที่ตัวเองปรับตัวเข้ากับเมืองได้แล้ว
สุดท้ายแล้วสีแบบ Yellow Filter กับเมืองร้อนนี้ก็ยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตและตั้งคำถามกันต่อไป สีโทนนี้จะถูกใช้เพื่อเป็นตัวแทนของการเหมารวมประเทศโลกที่ 3 หรือไม่? หรือเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการเล่าเรื่องเพื่อตอบสนองเรื่องราวของหนังแต่ละเรื่องเท่านั้น
ผู้อ่านทุกท่านคิดเห็นยังไง แลกเปลี่ยนกันได้ในช่อง Comment นะครับ ถ้าผมตกหล่นอะไรหรือใครมีคำถามที่น่าสนใจผมจะพยายามตอบให้ได้ครับ
ใครที่ชอบบทความแบบนี้ สามารถกดติดตามเพจ Color In Story ไว้ได้นะครับ
ใครที่ชอบบทความแบบนี้ สามารถกดติดตามเพจ Color In Story ไว้ได้นะครับและแชร์ไปให้เพื่อนๆอ่านและพูดคุยกันได้นะครับ หลังจากนี้จะเป็นบทความเจาะลึกถึงการใช้สีในภาพยนตร์หรือซีรีส์แต่ละเรื่องที่มีความน่าสนใจกันอีกหลายๆเรื่องอย่างแน่นอน
โฆษณา