11 ก.พ. 2021 เวลา 22:16 • ประวัติศาสตร์
หนังสือที่ยอดนักการทหารไทยเขียน
หนังสือเล่มหนึ่งในสาขาประวัติศาสตร์การทหาร ตำราการทหาร ซึ่งเมื่อพูดชื่อออกไปอาจไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนมากนัก แต่หากเป็นหมู่คนที่รู้จักหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดก็จะยอมรับว่าเป็นสุดยอดหนังสือการทหารเล่มนึงที่คนไทยเขียนขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตำราพิชัยสงครามชั้นเอกเล่มหนึ่งของกองทัพบกไทยก็ว่าได้ หนังสือที่ผู้เขียนจะพูดถึงคือหนังสือชื่อ พงษาดารยุทธศิลปะ ซึ่งเขียนโดย เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "พระบิดาแห่งเสนาธิการกองทัพไทย"
2
สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
หนังสือพงษาดารยุทธศิลปะ เป็นหนังสือที่เล่าถึงวิธีการจัดกองทัพบก และการใช้กองทัพทำสงครามในยุคสมัยต่างๆ ของชาวตะวันตก ซึ่งเขียนครอบคลุมทั้ง การจัดกำลัง ระเบียบ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี อย่างรอบด้าน จำนวนทั้งสิ้น 822 หน้า ทรงเขียนในเวลาที่ว่างเว้นจากราชการแล้วเสร็จพิมพ์ออกเผยแพร่ในปี 2459 ด้วยมีพระประสงค์จะเผยแพร่แบ่งปันให้คนไทยได้รู้ ในสิ่งที่พระองค์ได้ไปร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ ดังที่พระองค์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนในคำนำว่า"ผู้เรียบเรียงสมุดเล่มนี้ไม่ได้ตั้งใจจะอวดความเป็นนักปราชญ์ เป็นแต่ผู้เก็บเอาความที่นักปราชญ์ต่างๆเขารวบรวมไว้แล้ว มาเล่าให้เพื่อนนายทหารและเพื่อนชาวสยามด้วยกันทราบไว้บ้างเท่านั้น"
1
พระองค์เขียนพงศาวดารนี้โดยแบ่งออกเป็น 3 ภาคใหญ่ คือ
ภาคที่ 1 ว่าด้วยวิธีการทำสงครามของชาติโบราณ คือ อัสซีเรียน บาบิโลเนีย เปอร์เซีย อียิปห์
ภาคที่ 2 ว่าด้วยวิธีการทำสงครามของชาวกรีก และโรมัน โดยเรียกว่าพวกคาลสสิก
ภาคที่ 3 ว่าด้วยวิธีการทำสงครามของชาติต่างๆในยุโรป โดยเรียกว่าชาติใหม่ เพราะยังเป็นชาติที่มีอำนาจอยู่ต่อมาจนถึงสมัยพระองค์ ส่วนของภาคที่ 3 จะเป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ซึ้งกินพื้นที่มากกว่าครึ่งเล่ม โดยจะมาจบที่การรบที่ วอเตอร์ลู ของจักรพรรดินโปเลียน
หนังสือเล่มนี้มีความรู้ทางการทหารประวัติศาสตร์ และข้อคิดต่างๆมากมาย จะขออณุญาตนำมาเขียนไว้สักเล็กน้อย
1
- ในบทการทหารของชาติโรมัน หน้า 64 ทรงเขียนเล่าถึงขนาดของดาบโรมันซึ่งในต้นยุคใช้ดาบสั้นยาวประมาณ 91 ซม. และเขียนต่อท้ายว่า "ดาบของทหารโรมันนี้ ภายหลังเมื่อทหารเลวลง(ไม่กล้าหาญเข้มแข็งเหมือนในยุคต้น) ก็ยาวออกทุกที และหอกก็ยาวออกด้วย แต่ในเวลาที่ใช้ดาบยาวหอกยาวนั้น ประเทศโรมันกลับเสียบ้านเมืองที่ตีได้เมื่อครั้งใช้ดาบสั้นหอกสั้นนั้นเป็นลำดับ จนลงท้ายเสียทั้งเมือง"
- ในบท สรุปวิธีทำสงครามของชนชาติคลาสสิก หน้า 196 ข้อ ค. ทรงสรุปวิธีทำสงครามของ 4 แม่ทัพที่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น และเขียนว่า "แม่ทัพวิเศษทั้ง 4 ย่อมใช้วิธีอย่างเดียวกัน คือรวมกำลังกองทัพไว้ด้วยกันในบังคับบัญชาของตนเองให้มากที่สุด แบ่งทหารไปทำการทางอื่นที่ไม่สำคัญและรักษาฐานทัพกับเสบียงแต่เล็กน้อยเท่าที่จำเป็น
นำทหารที่รวมไว้นั้นไปรบในทางที่สำคัญและในทางที่ตั้งความมุ่งหมายว่าจะไปตั้งแต่ต้นนั้น ฝ่ายข้าศึกย่อมแยกกำลังกันไปทำการในทิศทางต่างๆ หรือส่งทหารมาต่อสู้เป็นคราวๆไม่พร้อมกันหมด ทำให้ถึงซึ่งปราชัยเสมอ
1
- ในบท ระเบียบการทหารรัสเซีย หัวข้อ การฝึกหัดทหาร หน้า 517 ทรงเขียนถึง คำพูดของซูโวร็อฟ แม่ทัพชื่อดังของชาวรัสเซีย "ซูโวร็อฟกล่าวว่า""ทหารชอบการฝึกหัด ถ้าการฝึกหัดนั้นเป็นเรื่องเป็นราว"" หมายความว่าให้ทหารเองรู้สึกว่าการที่ทำไปนั้นมีประโยชน์จริง จำเป็นจริง" และ "ตามคำของซูโวร็อฟทหารต้องปฎิบัติตนประดุจเวลาสงครามเสมอ ""ถึงในเวลาสงบศึกทหารก็อยู่ในสงคราม ลำบากเวลาฝึก สบายในเวลาเดินทัพ สบายในเวลาการทัพ"" หมายความว่าหัดให้ชินความลำบากตั้งแต่ตอนฝึก เวลาสงครามทหารก็จะไม่รู้สึกลำบากอันใด"
หนังสือพงษาดารยุทธศิลปะ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ ทรงเขียนขึ้นและพยายามจะชี้ให้เห็นสิ่งหนึ่งว่าแม้ระยะเวลากี่พันปีจะผ่านไป วิธีการสงครามจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แต่หลักการทำสงครามยังเหมือนเดิม ดังปรากฎในคำส่ง 822 ว่า "หลักยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่สำคัญอัน 1 มีอยู่ว่า ให้รวมกำลังอันมากเข้า ณ ที่ที่เหมาะในเวลาที่เหมาะ ดังนี้ อเล็กซานเดอร์มหาราช,นโปเลียน ได้ยึดถือมาฉันใด แม่ทัพสมัยนี้ก็คงต้องยึดถือใช้อยู่เหมือนกัน จะละทิ้งไม่ได้เป็นอันขาด แต่การจะใช้อุบายอย่างไรให้สำเร็จตามหลักนี้เป็นอีกเรื่อง 1 อุบายย่อมใช้ต่างกันตามสมัยตามเครื่องมือตามเหตุการณ์ ในสมัยหรือภูมิประเทศที่ไม่มีรถไฟ ถนนมีน้อยการวมกำลังตามหลักนี้ก็นับว่าลำบากอยู่ ต้องให้ทหารเดินเท้าบุกป่าฝ่าทุ่งออกแรงกันเหน็ดเหนื่อยมาก กว่าจะรวมกันสำเร็จได้ใช้เวลานาน สมัยนี้(2459) มีทางรถไฟขึ้น ยิ่งยุโรปตะวันตกก็มีมากออกจะเต็มเมือง การรวมกำลังก็นับว่าง่ายสะดวก ทั้งทำได้รวดเร็วในระยะที่ไกล เห็นได้ว่าอุบายที่ใช้ทั้งความสะดวกและไม่สะดวกนั้นต่างกันจริง ไม่เหมือนกันเลย แต่ตัวหลักนั้นคงเดิมใช่หรือ ใครจะปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่หลักอันเดียวกัน"
1
หนังสือพงษาดารยุทธศิลปะเล่มนี้ เป็นหนังสือที่นับว่าอ่านได้ง่ายมาก เมื่อลองนึกถึงการที่ต้องอธิบายเรื่องที่เข้าใจได้ยากและเนื้อหามหาศาลขนาดนี้ มาให้ผู้อ่านเข้าใจ
จะมีอ่านลำบากอยู่ก็ตรงที่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาในยุคโบราณ คำเขียนหลายคำค่อนข้างจะต่างกับที่เราใช้ในสมัยนี้ทีเดียว สำหรับตัวผู้เขียนบทความคิดว่าหนังสือพงษาดารยุทธศิลปะเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยอ่านมา สำหรับท่านผู้ใดที่สนใจเท่าที่ทราบตอนนี้สามารถหาอ่านได้อยู่เล่มนึงที่ห้องสมุดกรมยุทธศึกษาทหารบก ในโอกาสต่อไป เมื่อมีเวลาผู้เขียนจะยิบยกบทต่างต่างของหนังสือเล่มนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง
ข้อความบางตอนที่ยกมาใส่ในบทความนี้มาจากหนังสือพงษาดารยุทธศิลปะ
โดย สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ด้วยจิตคาราวะอย่างสูงในท่านผู้เป็นยอดนักการทหารของไทย
หนังสือพงษาดารยุทธศิลปะ
โฆษณา