12 ก.พ. 2021 เวลา 08:02 • การศึกษา
สินส่วนตัว VS สินสมรส
การที่ชายหญิงสมรสเป็นสามีภริยากันย่อมต้องมีทรัพย์เพิ่มพูนขึ้นระคนปนกันกับทรัพย์ที่แต่ละคนมีอยู่เดิม กฎหมายจึงมีหลักเกณฑ์แบ่งประเภทของทรัพย์สินและการจัดการทรัพย์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ สินส่วนตัว และ สินสมรส
รูปภาพจาก www.pixabay.com
1. สินส่วนตัว
ทรัพย์สินส่วนตัวตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. ทรัพย์สินที่สามีหรือภริยามีอยู่ก่อนสมรส เช่น ก่อนที่ นาย ก และ นาง ข จะสมรสกัน นาย ก มีบ้านอยู่ 1 หลัง และมีรถยนต์ 2 คัน ส่วน นาง ข มีที่ดิน 100 ไร่ บ้านและรถยนต์ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของ นาย ก และ ที่ดินถือเป็นสินส่วนตัวของ นาง ข ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง นาย ก และ นาง ข
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ
ทรัพย์สินประเภทนี้ไม่ว่าสามีหรือภริยาจะได้มาก่อนหรือหลังจากสมรสกันก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายนั้น
เช่น นาย ก สมรสกับ นาง ข หลังจากสมรส นาย ก ได้ซื้อเสื้อและกางเกงมาใช้ เสื้อและกางเกงเป็นสินส่วนตัวของ นาย ก หรือ นาง ข ได้ซื้อแหวนทองคำมาใช้เป็นเครื่องประดับ แหวนทองคำก็เป็นสินส่วนตัวของ นาง ข แต่ทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ตามควรแก่ฐานะด้วย
ตัวอย่าง นาย ก และ นาง ข เป็นสามีภริยากันและมีฐานะร่ำรวย นาย ก ได้ซื้อสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท และพระเลี่ยมทอง 10 องค์ให้แก่ นาง ข เช่นนี้ถือว่า สร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองเป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของ นาง ข เป็นสินส่วนตัวของ นาง ข (ฎีกา 3666 – 3667/2535) แต่ถ้า นาย ก และ นาง ข เป็นคนยากจน สร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองย่อมไม่ใช้เครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะจึงไม่ใช่สินส่วนตัว
3. ทรัพย์สินที่สามีหรือภริยาได้ว่าระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา
ทรัพย์สินประเภทนี้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากสมรสกันแล้วแต่ได้มาโดยการรับมรดกตกทอดหรือจากการให้โดยเสน่หา เช่น
นาย ก และ นาง ข สมรสกัน ต่อมาแม่ของ นาง ข ถึงแก่ความตาย นาง ข ได้รับมรดกตกทอดเป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท เงินจำนวนนี้ถือเป็นสินส่วนตัวของ นาง ข ไม่ใช่สินสมรส หรือ พ่อของ นาย ก ยกที่ดินให้ นาย ก จำนวน 200 ไร่ โดยการให้โดยเสน่หา ที่ดิน 200 ไร่ ก็เป็นสินส่วนตัวของ นาย ก ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง นาย ก กับ นาง ข
4. ของหมั้น
ของหมั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของหญิงตั้งแต่ที่หญิงกับชายทำการหมั้นกัน ของหมั้นจึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของภริยา
การจัดการสินส่วนตัว
เมื่อทรัพย์สินเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยาแล้ว สามีหรือภริยาย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น นาย ก สมรสกับ นาง ข นาย ก มีที่ดิน 100 ไร่ ที่เป็นสินส่วนตัว นาย ก สามรถนำที่ดินไปขายได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจาก นาง ข
สินส่วนตัวอย่างไงก็ยังเป็นสินส่วนตัว
คือถ้าได้นำสินส่วนตัวไป แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มายังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ เช่น นาย ก นำที่ดิน 100 ไร่ ที่เป็นสินส่วนตัวไปขายได้เงินมา 10,000,000 บาท เงินนี้ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของ นาย ก
รูปภาพจาก www.pixabay.com
2. สินสมรส
ทรัพย์สินสมรสตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส เช่น นาย ก และ นาง ข สมรสกันเงินของ นาย ก และ นาง ข ที่ได้มาระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส ไม่ใช่สินส่วนตัวของแต่ละคน
2. ทรัพย์สินที่ได้ระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
ทรัพย์สินประเภทนี้ต้องเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดย 1.) พินัยกรรม หรือ 2.) การให้เป็นหนังสือ และที่สำคัญ พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้น จะต้องระบุว่าให้เป็นสินสมรส ถ้าไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจะถือว่าเป็นสินสมรสไม่ได้ เช่น นาย ก และ นาง ข สมรสกันต่อมาพ่อของ นาย ก ยกที่ดินให้แก่นาย ก โดยระบุในหนังสือยกให้ว่าให้ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส เช่นนี้ต้องถือว่าที่ดินเป็นสินสมรส นาย ก และ นาง ข
3. ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ดอกผลไม่ว่าจะเป็นดอกธรรมดา หรือ ดอกผลนิตินัย ดอกผลธรรมดา คือสิ่งที่เป็นดอกผลตามธรรมชาติ เช่น ไข่ไก่ถือเป็นดอกผลธรรมดาของแม่ไก่ใครเป็นเจ้าของแม่ไก่ย่อมเป็นเจ้าของไข่ไก่ด้วย หรือ ดอกผลนิตินัยคือไม่ใช่ดอกผลตามธรรมดาแต่กฎหมายให้ถือว่าเป็นดอกผล เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล ใครเป็นเจ้าของต้นเงินย่อมเป็นเจ้าของดอกเบี้ยเงินฝากหรือเงินปันผลนั้น หรือเงินค่าเช่าก็ถือเป็นดอกผลนิตินัยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าย่อมเป็นเจ้าของเงินค่าด้วยด้วย
แต่ถ้าดอกผลเกิดจากทรัพย์สินส่วนตัวในระหว่างสมรสจะต้องถือว่าดอกผลนั้นเป็นสินสมรสด้วย เช่น นาย ก และ นาง ข สมรสกัน โดยนาย ก มีแม่ไก่ และเงินฝากไว้ที่ธนาคารซึ่งเป็นสินส่วนตัว ส่วนนาง ข ได้นำเงินซึ่งเป็นสินส่วนตัวไปซื้อหุ้นที่สหกรณ์แห่งหนึ่ง และได้เอาที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้ นาย ค เช่า ได้ค่าเช่าเดือน 5000 บาท ถ้าหากว่าในระหว่างสมรสกันแม่ไก่ของ นาย ก ออกไข่ 20 ฟอง ไข่ทั้ง 20 ฟอง ถือเป็นสินสมรส หรือเงินที่ นาย ก เอาไปฝากไว้กับธนาคารได้ดอกเบี้ย 5000 บาท เงินดอกเบี้ย 5000 บาทก็ถือเป็นสินสมรส รวมทั้งเงินปันผลที่ นาง ข ได้จากการนำเงินไปซื้อหุ้นและเงินเช่าที่ได้จาก นาย ค ก็ถือเป็นสินสมรสเช่นกัน
การจัดการสินสมรส
การจัดการสินสมรสสามีหรือภริยาสามารถจัดการได้โดยลำพัง แต่การจัดการทรัพย์สินที่สำคัญสามีหรือภริยาจะต้องจัดการร่มกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น ขายที่ดิน ให้เช่าซื้อบ้านหรือที่ดิน จำนอง ให้เช้าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 3 ปี หรือ ให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น
ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินส่วนตัวหรือทรัพย์สินสมรส ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินสมรส
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1471
มาตรา 1472
มาตรา 1473
มาตรา 1474
มาตรา 1476
🔔 หากบทความนี้ประโยชน์ช่วย กด Like 👍 กด Share 🤳และ กด Follow👥 เหลา กับ LAW เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพวกเรา และท่านจะได้ไม่พลาดสาระน่ารู้จากเรา
โฆษณา