18 ก.พ. 2021 เวลา 05:20 • ศิลปะ & ออกแบบ
ทำไปงงไป กับ Walk Cycle และพื้นฐาน Adobe Animate และนี่คือวีค 3 ของการฝึกฝนสู่การเป็นยอดแอนิเมเตอร์
ในสัปดาห์นี้ ผมได้เริ่มเข้าสู่บทเรียนทางเทคนิค ในเรื่องของการวาดแอนิเมชั่น และการทำ storyboard สำหรับแอนิเมชั่น ซึ่งสำคัญมากในกระบวนการทำแอนิเมชั่น ให้ไม่ต้องวาดอะไรวุ่นวายเกินจำเป็น
ในวันแรกของการฝึกของอาทิตย์นี้ ผมได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการใช้โปรแกรม Adobe Animate และคีย์ลัดอะไรก็ตามที่ผมจะต้องรู้จักเพื่อที่จะสามารถเร่งกระบวนการทำแอนิเมชั่นได้ ซึ่งเดี๋ยวผมจะลงรายละเอียดให้นะครับ
ในเรื่องของการทำ animation คร่าวๆนะครับ จะมีองค์ประกอบสำคัญอยู่สองอย่างหลักๆ คือ Timeline และ Canvas ซึ่งสองอย่างนี้จะขาดกันไม่ได้เลย และผมจะเริ่มจากอธิบาย Timeline ก่อนเลยนะครับ
ทางแถบซ้ายมือคือเครื่องมือ Canvas ส่วนทางด้านบนคือ Timeline นะครับ
ถ้าใครเคยใช้โปรแกรมตัดต่อรูปหรืออะไรก็ตามในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา น่าจะพอคุ้นชินกับระบบ layer ซึ่งเป็นระบบที่จะทำให้เราสามารถวาดหรือจัดเรียงวัตถุต่างๆบน canvas โดยที่จะทำงานในชั้นของตัวเองตามเลเยอร์
เราสามารถที่จะวาดบนแต่ละ layer แยกกัน และจะทำให้รูปภาพที่วาดเปลี่ยนแปลงหรือขยับ โดยการวาดบน layer เดิมแต่บน Keyframe ใหม่ได้ ซึ่ง keyframe คือเฟรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเฟรมที่แล้ว เราสามารถที่จะค้าง Keyframe หนึ่งได้บนหน้าจอเพิ่มอีกหลายเฟรม เพื่อที่จะทำให้เราเห็นภาพชัดมากขึ้น
คีย์ลัดที่ใช้ได้เกี่ยวกับ Timeline ส่วนใหญ่จะเป็นปุ่ม function อย่าง F5 คือการเพิ่มเฟรม Shift+F5 จะเป็นการลบเฟรม F6 คือการเพิ่มคีย์เฟรมปล่าว และ F7 คือการเปลี่ยนเฟรมนั้นให้เป็นคีย์เฟรม
ต่อไปผมจะพูดถึงเครื่องมือที่ใช้วาดและทำในส่วนของ canvas นะครับ ซึ่งส่วนตัวไม่ใช่คนสายอาร์ทนะครับอยากจะบอกไว้ก่อน เพราะงั้นผมไม่น่าจะได้ใช้ทุกเครื่องมือ และไม่น่าเข้าใจบางอันด้วย 555555
ก่อนอื่นต้องอธิบายความแตกต่างของเครื่องมือสองประเภทนะครับระหว่าง Lines และ Fills
Lines คือจะเป็นการวาดลวดลายแบบเป็นเส้นเดี่ยวๆ และเราจะสามารถปรับขนาดของมันได้ตอนไหนก็ได้
แต่สำหรับ Fills แล้ว คือการวาดแบบเป็นรูปๆ และถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแก้ขนาดเส้นได้ก็ตาม แต่ว่าจะมีอิสระระหว่างวาดและเติมสี
ซึ่งเครื่องมือต่างๆใน Adobe Animate จะเล่นกับ Lines และ Fills ได้แตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับความชอบความถนัดของศิลปินที่จะเลือกใช้ Lines หรือ Fills ตอนไหนยังไง
เริ่มจากเครื่องมือที่ทุกคนน่าจะใช้มากที่สุด ได้แก่เครื่องมือ Brush Tool (B) ซึ่งจะเป็นการวาดรูปโดยใช้ Fill ซึ่ง Adobe Animate รุ่นใหม่ๆจะมี Fluid Brush ที่จำลองจากปากกาจริงให้ใกล้เคียงมากที่สุด
ต่อไปคือ Selection Tool (V) ที่เป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากที่สุด เพราะจะสามาถทำได้หลายอย่าง เช่นเคลื่อนย้ายวัตถุ หรือว่าจัดขอบ Fill หรือแม้กระทั่งการดัดเส้น Line
เครื่องมือถัดมาคือ Free Transform (Q) ซึ่งจะสามารถให้เราสามารถดัดแปลงสัดส่วนและขนาดของรูปภาพได้ตามต้องการ
จริงๆยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างมากแต่เดี๋ยวจะแนะนำเพิ่มอีกแค่อันเดียว เพราะอันที่เหลือไม่น่าจะได้ใช้เยอะขนาดนั้น ซึ่งก็คือ Paint Bucket (K) ซึ่งสามารถให้เราเติมสีลงไปในรูปปิดที่เป็น Fill ได้
ส่วนคีย์ลัดอย่างอื่นก็ยังมีเหมือนเดิม
Ctrl + Z - Undo
Ctrl + C - Copy
Ctrl + V - Paste
Ctrl + X - Cut
Ctrl + S - Save
Ctrl + +/- - Zoom In/Out
ต่อไปผมจะอธิบายความแตกต่างระหว่าง Symbol และ Motion Graphic ซึ่งเป็นรูปแบบที่เราสามารถแปลงวัตถุและลายเส้นเป็นได้
Motion Graphic คือรูปแบบที่วัคถุเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงใน Timeline หลักเท่านั้น แต่แบบ Symbol จะเป็นการที่วัตถุจะถูกเซฟใน Library ของโปรแกรมนั้น และจะมี Timeline แยกของตัวเองและสามารถวนการกระทำซํ้าๆได้เรื่อยๆ
และนี่คือทั้งที่ผมได้เรียนรู้ในวันแรก จริงๆตอนแรกแผนคือจะเอาใช้ทำแอนิเมชั่นเองเลย แต่ว่าผมเริ่มวันนั้นช้า เลยกว่าจะเสร็จแล้วก็ประมาณห้าทุ่ม เลยไม่ได้ทำต่อ
เนื้อหาในวันแรกผมได้เรียนรู้มาจากคลิปสอนพื้นฐานของยูทูบเบอร์ชาวอังกฤษชื่อ RubberNinja: https://youtu.be/49yK2AfG8kc
ในวันที่สอง ผมได้ลองลงมือใช้โปรแกรม Adobe Animate ทำงานของตัวเองดู และได้ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาจากคลิปสอนวันก่อน และลองเล่นเทคนิค 12 ประการจากอาทิตย์ที่แล้วมา โดยที่วันนี้ผมได้ทำงานทั้งหมด 3 ชิ้น
งานชิ้นแรกที่ได้ทำคือการลองเล่นกับ function Ease เวลาใช้ Classic Tween ซึ่งจะมีกราฟอะไรเต็มไปหมดเลย โดยที่ผมใช้ลูกบอล 2 ลูก 2 สี เพื่อเทียบระหว่างการมี Ease กับ ไม่มีมันเป็นยังไงบ้าง โดยที่ผมได้ถ่ายรูประยะทางระหว่างเฟรมมาได้ตามนี้ครับ
รูปด้านบนคือบอลที่เคลื่อนที่โดยไม่ใช้ ease ในแต่ละเฟรม ส่วนแถวล่างคือใช้ ease in/out
อันนี้ผมรู้สึกว่าค่อนข้างตรงตัว เพราะว่ามันแค่วาดวงกลมโง่ๆละลากไปมาบน timeline แล้วตั้งค่า ease หลังจากทำ classic tween
ซึ่งตัว ease มีหลายแบบให้เลือกมาก และยังสามารถทำขึ้นมาเองได้โดยที่มันจะเป็นกราฟเวลา-ความเร็ว แต่จะสังเกตุได้ว่าถึงแม้ว่าตัวบอลจะเริ่มออกตัวช้ากว่าอีกอัน สุดท้ายแล้วก็ถึงเป้าหมายพร้อมกันอยู่ดี
ภาพกราฟ Cubic Ease In Out
งานชิ้นที่สองที่ได้ทำคือการลองใช้เทคนิค Squash and Stretch ซึ่งอันนี้ผมได้ลองก๊อปเอาบอลที่ใช้เทียบ ease จากงานชิ้นที่แล้วมาเพิ่มการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของบอลในแต่ละเฟรมให้ดูยืดหยุ่นไปตามแรงเหวี่ยงของบอล
จากที่เห็นในภาพคือบอลที่ผมใช้นั้นยังคงการเว้นระยะห่างระหว่างช่วงเวลาไว้อยู่ แต่ว่าผมได้ปรับเปลี่ยนอัตราส่วน และให้บอลดูยืดออกข้างเวลาที่มีความเร็วสูง และเด้งกลับเข้ารูปเมื่อช้าลง
งานชิ้นสุดท้ายคือชิ้นที่ผมค่อนข้างภูมิใจ เพราะว่าผมยังไม่เคยแม้กระทั่งจะวาดคนเดิน แต่ว่าผมลองทำ Walk Cycle ของคนดูเล่นๆ โดยเริ่มจากไอเดียที่ผมอยากวาดแอนิเมชั่นคนวิ่งแล้วกระโดดข้ามเหว แต่ว่าผมก็รู้ตัวว่า 1. ผมวาดคนไม่เป็น 2. ผมต้องมี storyboard (ซึ่งยังทำไม่เป็น) และ 3. ผมยังวาดคนวิ่งไม่เป็นด้วยซํ้า ผมเลยกะว่าจะลองหัดวาด walk cycle ดู
Walk Cycle ระยะ 9 เฟรม (ตอนนี้ยังส่งวีดิโอไม่ได้ คงต้องรอครบ 100 ฟอลนะคร้าบบ)
ซึ่งการวาด walk cycle นั้น ผมได้เปิดรูปอ้างอิงจากเน็ต และมาวาดเป็นแอนิเมชั่น โดยที่ผมวาดแบบ on twos ตอนแรกมีแค่ 4 เฟรม แต่ผมรู้สึกว่ามันยังดูไม่ค่อยลื่นเท่าไหร่ ผมเลยแทรกเฟรม ประมาณว่าคล้ายๆกับการวาดแบบ Pose to Pose ซึ่งผมจะอธิบายจังหวะการเดินของคนออกเป็น 4 ขั้น คือการก้าวเท้าไปข้างหน้า การยกขาหลัง การเทนํ้าหนักไปข้างหน้า และการก้าวเท้าเพื่อพยุงตัว
ในวันที่สาม ผมได้ฝึกการทำ storyboard ซึ่งผมไปดูคลิปของชาวต่างชาติ เรื่องการวาด storyboard โดยใช้ฝีมือศิลปะตํ่าๆ และการวาด storyboard สำหรับแอนิเมชั่น เพราะการวาง storyboard นั้เปรียบเหมือนการตัดต่อผลงานล่วงหน้าเพราะว่าเราจะต้องอิงตาม storyboard ในการวาดจริงทั้งหมด
หลังจากที่พอยัดหลักการเข้าสมองบ้างแล้ว ผมก็เริ่มรู้สึกอยากโชว์ฝีมือการวาด storyboard แบบก็อดแล้ว
แฟนสตาร์วอร์คนไหนมาเห็นผมวาด Mandalorian มีร้องทุกคน...
ซึ่งผมได้เปิดคลิปหนังข้างกันละลองวาดดู โดยที่ผมได้ใช้โปรแกรมแปลกๆอันนึงชื่อว่า Storyboarder แต่ผมยังไม่ค่อยถนัดมือกับเครื่องมือมันเท่าไหร่ แต่พอรวมๆแล้วยังพอดูเข้าใจอยู่
สรุปแล้วทั้งอาทิตย์นี้ผมได้ลองฝึกการวาดแอนิเมชั่นในด้านของการใช้โปรแกรม และได้หัดการวาด Storyboard ซึ่งเป็นทักษะการแอนิเมชั่นที่สำคัญมาก โดยรวมแล้วก็รู้สึกว่ามีวินัยเพิ่มมาระดับหนึ่งและได้ฝึกอะไรมาเยอะมาก แต่ติดปัญหาที่ว่าพอรู้สึกว่าทำอะไรมาเยอะมากแล้ว จะรู้สึกเหลิง และรู้สึกว่าไม่ต้องทำในวันต่อไป ทำให้ขาดการฝึกไปเป็นช่วงๆ
ในอาทิตย์หน้า ผมจะไม่ค่อยได้ฝึกเพิ่มเติมมากเท่าไหร่ เพราะผมจะมีทริปไปเชียงใหม่เป็นเวลาสามวัน และจะมีสอบอีกเป็นเบือ แต่ผมจะเริ่มการทำชิ้นงานแอนิเมชั่นชิ้นใหม่แล้วตั้งแต่เริ่ม storyboard จนจบแอนิเมชั่นด้วยตัวเอง ฝากติดตามต่อไปในสัปดาห์หน้าด้วยนะคร้าบบ
โฆษณา