12 ก.พ. 2021 เวลา 21:03 • สุขภาพ
ความทุกข์ทรมานของการ ‘ไม่ฝันเลย’ เมื่อความฝันที่สูญสลายลดทักษะการเรียนรู้ของสมอง
ภาระของชีวิตบีบให้คุณฝันน้อยลง แต่การไม่ฝันเลยสร้างผลกระทบร้ายกาจกว่า
คุณคงล่องลอยอยู่ใน ‘ฝันดี’ สักเรื่องที่ทำให้คุณยิ้มออก เดินบิดอยู่บนหาดมัลดีฟส์ ได้พบเจอคนที่คุณเคยทำหล่นหายระหว่างทาง หรือเจอเค้กนุ่มๆ ที่ไม่มีทางลิ้มรสในชีวิตจริง แต่ในขณะที่ความฝันนั้นอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม อีกนิดเดียวความฟินถึงอารมณ์กำลังจะปะทุ เสียงแตรรถกระบะในซอยกลับทำให้คุณสะดุ้งตื่น ฝันมลายหายไปในบัดดล
ความฝันที่สูญหายนับเป็น ‘ความสูญเสีย’ อย่างร้ายกาจ เหมือนคุณพลาดตอนจบซีรีส์เรื่องโปรด หรือไต่เขาแล้วไม่ถึงยอด จังหวะอารมณ์จากความฝันที่ค่อยๆ ถักทอพังครืน แม้พยายามกลับไปนอนเพื่อสานต่อฝันหวานนั้น มันก็ช้าไปเสียแล้ว
ความฝันยังพังได้ แล้วจะไปเอาอะไรกับชีวิตกันนักล่ะ
เธอผู้ไม่ฝัน
คนส่วนใหญ่มองการนอนฝัน (dream sleep) เป็นเรื่องหาสาระไม่ได้ของชีวิต แต่วิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ความฝันมีอิทธิพลกับชีวิตคุณมากกว่านั้น มันคือการผจญภัยยามค่ำคืนที่คุณได้ทบทวนตัวเองในหลายมิติ ความถูกผิดหรือศีลธรรมใดๆ ไม่สามารถมาครอบงำพื้นที่ความฝันของคุณได้ ฝันจึงวิปลาส ปั่นป่วน หลอกหลอน หรือหวานซึ้งน่าอภิรมย์กว่าชีวิตจริงเป็นไหนๆ
งานวิจัยใหม่ๆ ยืนยันถึงความฝันในช่วง Rapid eye movement (REM) ว่าเป็นความฝันที่ทรงพลังมากที่สุด มันจำเป็นต่อการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้มีสุขภาพจิตที่ดีผ่านการทบทวนทางอารมณ์
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจนเป็นเทรนด์ในปัจจุบันคือ คนส่วนใหญ่ฝันน้อยลง หรือที่เรียกว่าภาวะ Chronic dream deprivation (มีศัพท์เรียกวิชาการซะด้วย) สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว พวกเรามีกระบวนการนอนที่ไม่สู้ดีนัก
คุณคืบคลานขึ้นเตียงด้วยความเมามายจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ เหนื่อยล้าจากภาระหน้าที่ เครียดสะสม กินยาระงับประสาทต่างๆ เพื่อลดความวิตกกังวล กระบวนการสร้างฝันจึงถูกก่อกวนบ่อยครั้ง ทำให้อารมณ์คุณขุ่นมัวในทุกเช้า ไม่ร่าเริง หมดกำลังใจ และที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น มันทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณปั่นป่วน เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 (type 2 diabetes) โรคอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้าที่ล้วนลากเส้นเชื่อมโยงกับกระบวนการการนอนและความฝันเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าทึ่ง
มูลนิธิที่ศึกษาด้านการนอนหลับ National Sleep Foundation แนะนำให้พวกเรานอนวันละ 7 ถึง 9 ชั่วโมงต่อคืน เพื่อสุขภาพที่ดี
แต่น้อยคนเหลือเกินที่ทำได้ การสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่ามีประชากรเพียง 35% เท่านั้นที่นอนได้ตามคำแนะนำดังกล่าว
โรคเกี่ยวกับการนอนจึงเปรียบเป็นโรคระบาดใหม่ของมนุษยชาติที่ทำลายสุขภาพองค์รวม
หัวใจของความฝัน คือการที่คุณได้ทบทวนสิ่งที่เรียนรู้ และอารมณ์
วัฏจักรการนอนของมนุษย์ตามที่เข้าใจกันถูกแบ่งออกเป็นช่วงๆ ทุกๆ 90 นาที
ในการนอนแบบ non-REM sleep แบ่งเป็น 3 Stage ใหญ่ๆ ซึ่งระหว่างนี้คลื่นสมองของคุณจะดำเนินไปอย่างแช่มช้า สม่ำเสมอเหมือนเต้นวอลซ์ จนกระทั่งเป็นคลื่นต่ำที่เข้าโหมด ‘หลับลึก’ หลังจากนั้นสมองจะเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้งเป็นจังหวะแทงโก้ ดวงตาคุณจะเกลือกไปมาแม้เปลือกตาจะปิด กล้ามเนื้อร่างกายส่วนใหญ่เป็นอัมพาต จังหวะอันเอกอุนี้เองที่เรียกว่า REM sleep
เมื่อวัฏจักรการนอนของคุณสมบูรณ์ สมองจะเริ่มสร้างความฝันน้อยใหญ่ แม้คุณจะฝันในช่วงการหลับอื่นๆ ได้เช่นกัน แต่มักเป็นความฝันที่ไม่ลึกซึ้งไปถึงแก่นแท้ของอารมณ์ ถูกลืมง่าย สู้ความฝันในช่วง REM sleep อันเป็นความปรารถนาลึกๆ ซับซ้อนที่ติดค้างในใจคุณไม่ได้
ความฝัน REM Sleep เป็นความฝันแบบคลาสสิกที่มนุษย์นิยมศึกษามากที่สุด มันเป็นความฝันที่แปลกประลาด วิปลาส วิชวลแรง และลอยตัวอยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง มันแอบซ่อนกุญแจปริศนาบางอย่างที่คุณอยากไขเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง
แต่เมื่อ REM Sleep ของคุณถูกรบกวนจากเสียงเด็กร้อง รถเด็กแว้น หรือนาฬิกาปลุก กระบวนการฝันจะถูกทำลายลงโดยทันที หายไปในบัดดล
นักวิจัยจาก Dream and Nightmare Laboratory เรียกการสูญเสียความฝันเรื้อรังว่า วิกฤตด้านสาธารณสุขที่ไม่มีใครสังเกตได้ (unrecognized public health hazard)
พร้อมเชื่อว่า การสูญเสียฝันเป็นการสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ทบทวนความทรงจำ และอารมณ์
ปีที่แล้วทีมนักวิจัยนำโดย Sylvain Williams จากมหาวิทยาลัย McGill University แสดงให้เห็นว่า หนูทดลองที่ถูกรบกวนการนอนช่วง REM sleep และรบกวนกระบวนการสร้างฝัน (หนูมีศักยภาพในการฝันได้เช่นกัน แต่ฝันเรื่องอะไรไม่มีใครรู้) มีความบกพร่องของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่รับผิดชอบความทรงจำ
พวกเขาพบว่า หนูมีผลงานแย่ลงเมื่อทำแบบทดสอบเกี่ยวกับการใช้ความจำจากสิ่งที่มันเรียนรู้เมื่อวันก่อน
สิ่งมีชีวิตเลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่เพิ่งพาสมองส่วนฮิปโปแคมปัสในการเรียกใช้ความทรงจำ
เพราะธรรมชาติเองก็มีเหตุผลที่ทำให้การนอนในช่วง REM เชื่อมโยงอย่างยิ่งยวดต่อสมอง ความฝันจึงไม่ได้เกิดปุบปับแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ทางวิวัฒนาการที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์
ความฝันคือแก่นกลางอารมณ์
ฟังก์ชั่นของความฝันไม่ได้ยุติเพียงแค่นั้น
เป็นเวลาหลายปีที่นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าความฝันเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนอารมณ์ ความฝันคงไม่ใช่ความฝันหากมันไม่กระตุ้นความรู้สึกอะไรของคุณเลย
สมองมีศักยภาพในการเรียกคืนอารมณ์ที่สูญหายไปแล้ว และตีความอย่างซับซ้อน
คุณอาจฝันถึงแฟนเก่าที่เลิกกันไปนานกว่า 3 ปี แต่วินาทีที่อยู่ด้วยกันกลับหวนมาอีกครั้งราวกับเขามาอยู่ตรงหน้า เห็นรอยยิ้มชัดเจนแม้ในวันที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ด้วย หรือจำสัมผัสขนละเอียดของสุนัขแสนรักที่จากไปนานแล้ว สมองเป็นนักแปรที่แยบยล
หากในความฝันคุณจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ สมองมักจดจำการตอบสนองทางอารมณ์เหล่านั้นทำให้วันรุ่งขึ้นคุณตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น (ในเชองคอนเซ็ปต์แล้วเหมือนกับหนังเรื่อง Inception เลยใช่ไหมล่ะ)
แต่สมองเองก็มี ‘ผู้ช่วย’ ที่ไม่ค่อยได้เครดิตเท่าไหร่ มันคือระบบย่อยอาหารของคุณ (digestive system) ที่ทำงานร่วมกับสมองอย่างเข้าอกเข้าใจ จนได้สมญานาม ‘สมองที่ 2’ (second brain)
เมื่อเซลล์ประสาทจำนวนมากเชื่อมโยงสมองและระบบย่อยอาหารไว้ด้วยกัน
ดังนั้นคุณจึงควรใส่ใจระบบย่อยอาหารด้วยเช่นกัน เพื่อให้สมองและลำไส้ทำงานร่วมกันสานต่อความฝันและการเรียนรู้
หากคืนที่ผ่านมาคุณสามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่และมีโอกาสฝัน มีแนวโน้มที่ภาวะทางอารมณ์ของคุณจะได้รับการเยียวยาได้เร็วกว่า
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rush University พบว่าผู้หญิงที่ผ่านการหย่าร้าง มักมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
แต่ในจำนวนนั้นพวกเธอรายงานว่า ผู้หญิงที่ได้หลับฝันแล้ว พวกเธอยอมรับถึงความเสียใจอย่างเปิดเผยและอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ตัวเองไปเดทอีก
กระบวนการฝันจึงเป็นการย่อย (digest) อารมณ์เชิงลบโดยที่ตัวเราไม่รู้ตัว
แนวคิดนี้กลายเป็นทฤษฎีที่ชื่อ Digestive theory of dreaming คือ ความฝันจะช่วยจัดรูปแบบการแสดงออกทางอารมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป
มันพาคุณไปพบความทรงจำที่ทั้งแย่และดีปะปนกัน
บ้างครั้งมันอาจเปิดปากบาดแผลจากเหตการณ์เจ็บช้ำในอดีตบ้าง
มีกรณีน่าสนใจคือ บางเสียงที่ผู้ทดสอบได้ยินขณะฝันกลับไปกระตุ้น (trigger) ความทรงจำที่เป็นบาดแผล เช่น อาจได้ยินเสียงประตูปิดดังๆ แต่ดันฝันไปถึงเสียงปืน ไปกระตุ้นอะดรีนาลีนและรบกวนคลื่นสมองขณะนอนหลับ
เมื่อเราอยู่ในยุคเร่งด่วน จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะตื่นตามธรรมชาติ
ผลการสำรวจของ YouGov survey พบว่ามีคนใช้นาฬิกาปลุกถึง 60%
การดื่มเหล้าก่อนนอนเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ชื่อว่า แอลกอฮอล์จะทำให้หลับง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วแอลกอฮอล์มีฤทธิ์รบกวนรูปแบบการนอน เพียงไม่กี่แก้ว ก็ทำให้การนอนแบบ REM ช้าลงแล้ว แถมยิ่งทำให้กระบวนการฝันเลือนไปอีกและลดคุณภาพการนอนของคุณลง
เหล้าไม่ใช่เพื่อนที่ดีสำหรับการนอน เพราะร่างกายจะพยายามขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายตลอดเวลา ทำให้คุณไม่สบายตัวขณะนอนหลับ
วิถีชีวิตที่ซ้ำซ้อน ยุ่งยาก ลดเวลาการนอนที่มีคุณภาพลง และไปส่งผลยังความฝันที่มีคุณภาพ
การกลับไปเปลี่ยนรูปแบบการนอนในช่วง REM ของคุณจึงเป็นเรื่องจำเป็น
พยายามลดปัจจัยที่ทำให้คุณตื่นมากลางดึก
ควบคุมแสงในห้องให้มืดสนิท
และนอนให้เป็นเวลา
ยิ่งวิทยาศาสตร์ด้านการนอนเดินหน้าไปเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งพบว่าความฝันส่งผลต่อชีวิตคุณมากขึ้นเท่านั้น
ไม่มีใครแก่เกินไปหรืออ่อนเกินไปที่จะฝัน พวกเราต่างออกเดินทางไปคนละทิศเมื่อหัวถึงหมอน จนกว่ารุ่งเช้าจะมาเยือน ความฝันจะขับเคลื่อนคุณให้ค้นพบตัวตนลับๆ ที่แอบซ่อนมาตลอด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Dreamless: the silent epidemic of REM sleep lose: Rubin Naiman nyaspubs.onlinelibrary.wiley.com
An epidemic of dream deprivation: Review finds unrecognized health hazard of sleep loss
September 29, 2017, University of Arizona
Consciousness and cortical responsiveness: a within-state study during non-rapid eye movement sleep. Scientific Reports, 2016; 6
Lucid Dreaming for Creativity, Better Sleep, and Wellness
REM sleep and memory.
Illustration by Kodchakorn Thammachart
โฆษณา