13 ก.พ. 2021 เวลา 09:45 • ท่องเที่ยว
นางิโสะ (Nagiso) พักเพื่อผ่านทาง แต่ได้หัวใจทั้งดวง
ทิวทัศน์จากสะพานโมโมสึเกะ ขณะเดินข้ามลำน้ำคิโสะ
สายลมแห่งฤดูใบไม้ผลิพัดพาฉันมาถึงนางิโสะ (Nagiso) ในวันที่สนามบินจุดหมายคือเซ็นแทร์ แห่งจังหวัดไอจิ ก่อนจะถึงเวลานัดหมายกับเพื่อนในยามเย็นย่ำและรอเข้าพักในโรงแรมติดสถานีรถไฟนาโงย่า ฉันมีเวลาค่อนวันที่จะไปให้ถึงสึมาโหงะ (Tsumago) เมืองไปรษณีย์เก่าแก่แห่งจังหวัดนางาโน่ (Nagano) ซึ่งฉันตกหลุมรักเพียงแรกเห็นภาพถ่ายเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ก่อนจะไปให้ถึงสึมาโหงะ ฉันต้องเลือกเปลี่ยนรถไฟระหว่างสองเมืองคือ นางิโสะ กับ นาคัตสึงาวะ (Nakatsugawa) สุดแท้แต่ว่าดวงชะตาเมื่อย่างเท้าเข้าไปจองขบวนรถไฟนั้นจะสุ่มได้เมืองใดมา
แล้วเลขชะตาก็ตกไปเป็นของนางิโสะ ด้วยขบวนรถไฟด่วนพิเศษ Wide View Shinano ใช้เวลาหลับๆตื่นๆราวหนึ่งชั่วโมง เมื่อถึงที่นั่น ฉันต้องรอรถบัสประจำทางอีกเกือบสองชั่วโมงจึงจะได้ไปสึมาโหงะ ซึ่งใช้เวลาเดินรถแค่ 7 นาที แต่ถ้าให้ขึ้นแท็กซี่ ชะรอยค่ารถ 300 เยนอาจต้องเพิ่มเลข 0 อีกหนึ่งตัวเป็นแน่ ฉันจึงตั้งใจจะเดินเล่นและกินข้าวเที่ยงที่นางิโสะระหว่างรอเสียเลย
ความตั้งใจแรกเมื่อขึ้นรถไฟคือนอนหลับเอาแรง เพราะมาเที่ยวบินกลางคืน ตื่นตั้งแต่ฟ้านอกหน้าต่างเครื่องยังไม่สาง แต่ทิวทัศน์ระหว่างรางรถไฟชวนตื่นตาจนไม่ได้หลับ ปลายเดือนเมษายนแบบนี้เป็นที่รู้กันว่าซากุระได้ร่วงโรยจากภูมิภาคคิวชูถึงคันโต จะสะพรั่งก็แถบโทโฮขุทางเหนือ หากภาพที่เห็นเป็นระยะทำให้หัวใจฉันพองฟู เพราะสีขาวอมชมพูของดอกไม้ที่โด่งดังที่สุดของประเทศญี่ปุ่นยังสล้างงดงามเต็มกิ่งก้าน แม้จะมิได้ถึงขนาดเบิกบานเรียงเป็นทิวดังเช่นช่วงต้นเดือน หากก็แต่งแต้มให้ทุ่งเขียว ภูสูง รวมถึงฟ้าใส ไสวสว่างอ่อนหวานขึ้นมาในทันใด
ซากุระแต่งแต้มกิ่งก้านในนางิโสะ
เมืองที่ฉันกำลังจะเดินทางไปถึงเรียกรวมกันว่า คิโสะ แวลลี่ย์ (Kiso Valley) หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า คิโสะ-จิ (Kiso-ji) อยู่ในแถบตะวันตกและใต้ของจังหวัดนางาโน่ จังหวัดที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขามากมายในตอนกลางของญี่ปุ่น จนได้รับการขนานนามว่าเจแปนแอลป์ (Japan Alps) ลึกเข้าไปในดินแดนเขตนี้มีแม่น้ำคิโสะ (Kiso River) พาดผ่านให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนหญ้าและมวลต้นไม้อันหนาแน่น สมัยก่อนถือเป็นจุดหมายที่นักเดินทางเข้าถึงได้ยากมากเพราะเต็มไปด้วยป่าลึกและเนินเขาสูงชัน ต้องใช้เวลาสามวันจึงไปถึง แต่ปัจจุบันน่ายินดีที่มีทางหลวงสาย 19 ตัดผ่านและรถไฟสายจูโอของเจอาร์นำร่องเข้าไปให้การไปมาหาสู่สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น
ถึงกระนั้น การมาเที่ยวเมืองเล็กๆ ย่านนี้ก็ยังต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง เพราะเวลาเดินรถ ตลอดจนการเชื่อมโยงเวลาของรถไฟกับรถบัสทั้งขาไปและขากลับต้องกระทำอย่างรัดกุมยิ่ง มิฉะนั้นถ้าพลาดพลั้งจุดไหนขึ้นมา การเดินทางจุดต่อไปจะรวนอย่างมาก แถมอาจมีผลให้ความคิดที่ต้องการค่อยๆ ทอดน่องละเมียดละไมชมนกชมไม้ในบางเมืองต้องเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม
ข้อมูลของนางิโสะในมือที่ฉันมี ประกอบไปด้วยย่อหน้าจำนวน 4 บรรทัด บอกว่าเป็นเมืองของพิพิธภัณฑ์ 3 แห่ง ค่าเข้ารวมกัน 700 เยน เปิดเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น และปิดทำการวันที่ 29 ธันวาคมถึง 1 มกราคม
ดอกไม้สีหวานระหว่างทางเดินจากสถานีรถไฟ
เมื่อฉันต้องอยู่ที่นี่อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงครึ่งเพื่อรอเวลารถบัสออก พิพิธภัณฑ์ 3 แห่งน่าจะเพลิดเพลินไม่น้อย ทว่าทันทีที่ฉันก้าวพ้นออกมาจากสถานีนางิโสะ ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวขนาดเล็ก มีเจ้าหน้าที่ประจำการเพียงหนึ่งคน ในสถานีนอกจากห้องพักรอรถไฟเที่ยวถัดไปแล้วก็ไม่มีอะไรอีก ฉันก็พบกับถนนสายเล็กๆ ตั้งขวางอยู่ข้างหน้า ซ้ายมือมีม้านั่งเล็กๆ ตู้ไปรษณีย์ อาคารขนาดย่อมที่ประกาศว่าตัวเองเป็น ‘ติดต่อสอบถาม’ ถัดไปคือห้องน้ำ (ซึ่งสะอาดและทันสมัยมาก)
หันมาด้านขวา มองไปก็เห็นแต่ตึกลิบๆ อยู่สูงกว่าสถานี อย่างที่บอกว่าคิโสะเป็นดินแดนเนินชันๆ ถนนรวมถึงสิ่งก่อสร้างจึงลัดเลาะไปตามภูเขาสูงๆต่ำๆ มิได้เป็นเส้นราบเรียบ ตรงหน้าฉัน อีกฝั่งของสถานีเองก็เป็นตึกสองชั้นเรียงราย หน้าตาบ่งบอกว่าเป็นร้านขายของที่ระลึก รวมถึงที่พักอาศัย ทั้งเมืองในช่วงสายๆของกลางสัปดาห์เงียบเชียบจนเหมือนเมืองร้าง
ถนนสายเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ และบ้านเรือนขนาดเล็ก
ฉันตัดสินใจก้าวมาทางซ้ายเพื่อไป ‘ติดต่อสอบถาม’ คุณป้าหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสส่งภาษาญี่ปุ่นมาเป็นชุด จับใจความได้งูๆปลาๆ ว่าต้องรอรถบัสอีกสองชั่วโมงถึงจะได้ไปสึมาโหงะ คุณป้าผู้อารีอารอบส่งใบเวลาขากลับของรถบัสและรถไฟมาให้ด้วย ย้ำว่าต้องออกจากสึมาโหงะภายในเวลาเท่านี้ เพื่อให้มาทันรถไฟขบวนนี้นะ ไม่อย่างนั้นต้องโบกแท็กซี่นะจ๊ะหนู
แล้วคุณป้าก็ชวนเชิญให้เดินเที่ยวนางิโสะ ไหนๆ หนูก็ต้องอยู่นี่ไม่มีทางไปไหน ลองเดินไปสะพานโมโมสึเกะที่อยู่ใกล้ๆ นี่สิ มีชื่อเสียงของที่นี่เลยนะ พร้อมกับส่งเอกสารท่องเที่ยวสะพานที่ว่าเป็นภาษาญี่ปุ่นพรึ่บมาให้ประกอบการพิจารณา
ฉันเริ่มออกเดินไปทางขวาตามท่าทีพยักเพยิดของคุณป้า ถนนสายนั้นเล็กแคบ รถสวนได้สองเลนแบบต้องระมัดระวังกันพอควร ด้านซ้ายคือตึกสองชั้นขายของที่มองเห็นจากหน้าสถานี ทุกร้านที่เปิดล้วนเงียบเหงา สลับกับบ้านเรือน กิจการเล็กๆ ของชาวบ้านที่นิ่งและเนือยตามบรรยากาศของเมือง เดินได้ไม่กี่ก้าวก็เห็นซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ ที่มีคนเดินเข้าออกพอให้รู้ว่ายังมีชีวิตเคลื่อนไหว บนถนนเล็กๆ ที่ฉันย่ำเท้าไปแต่ละก้าวสงัดงัน นานๆ จึงมีรถผ่านมาสักคัน ท้องฟ้าวันนี้แจ่มใส อากาศสดชื่นเย็นสบายจนไม่เร่งร้อน ดอกไม้แห่งฤดูใบไม้ผลิหลากสีแข่งกันอวดโฉมผ่านรอยแตกของช่องปูน และผืนหญ้าเล็กๆที่แทรกตัวอยู่ตามขอบถนน นางิโสะเป็นเมืองเล็ก สงบ และดูเหมือนแทบจะไม่มีอะไรจริงๆ
ซ้ายมือคือถนนเล็กๆ ลาดสู่สะพานโมโมสึเกะ
ภาพสะพานในเอกสารนำเที่ยวนั้นดูแห้งแล้งจนเกือบจะเป็นแข็งกร้าว ฉันจึงแทบไม่ได้ฝากความคาดหวังใดๆไว้ ทว่าเมื่อเดินมาถึงแนวเสาพร้อมป้ายที่ผนึกไว้ว่านี่คือทางเข้าสะพานโมโมสึเกะบาชิ เส้นทางเล็กๆ แคบๆ ที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้ร่มรื่นสองข้างนำพาฉันเดินต่อไปราวต้องมนต์สะกด เพื่อพบกับสิ่งก่อสร้างอันประกอบด้วยเสาปูนและพื้นทางเดินไม้ ความกว้างประมาณรถผ่านได้หนึ่งเลน ยึดโยงตัวเองอย่างแน่นหนาข้ามลำน้ำคิโสะ ท่ามกลางภูมิทัศน์แบบกว้างไกลของทิวเขาและนางิโสะทั้งเมือง ทั้งหมดนี้เผยตัวเองขึ้นมาอย่างงามสง่าเพียงก้าวพ้นทางเข้าเล็กๆ ชั่วพริบตาเดียว
สะพานโมโมสึเกะ เบื้องหน้าทิวเขาตระการ
ลำพังตัวสะพานโมโมสึเกะบาชิอาจบอกไม่ได้เต็มปากว่าสวยงามเสียเหลือเกิน หากองค์ประกอบที่อยู่ท่ามกลางแวดล้อมของสะพานแห่งนี้ต่างหากที่ช่วยส่งเสริมให้ภาพตรงหน้างดงามจับตา ด้วยทิวเขาฉาบหิมะอันซับซ้อนเป็นฉากหลัง ผนวกกับความน่ารักของนางิโสะ เมืองเล็กๆ ในหุบเขา เป็นฉากหน้า โดยมีสายน้ำใสสะอาดกับกองก้อนหินระเกะระกะราวธรรมชาติจับวางอย่างประณีตบรรจงของแม่น้ำคิโสะเป็นตัวชูรส ทั้งเพิ่มบรรยากาศของงานเทศกาลเข้าไปอีกด้วยราวธงปลาคาร์พปลิวไสวข้ามแม่น้ำจากเบื้องล่าง เนื่องด้วยใกล้จะถึงวันที่ 5 พฤษภาคม อันเป็นวันเด็กผู้ชายของญี่ปุ่น จึงยิ่งทำให้ทั้งหมดทั้งมวลนี้มองเท่าไรก็ยิ่งสวย อยู่นานเท่าไรก็ยิ่งรู้สึกถึงคำว่า ‘พักกายพักใจ’ มากขึ้นเท่านั้น
พลิกดูประวัติของสะพานโมโมสึเกะบาชิเล่าว่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1922 โดยโมโมสึเกะ ฟุกุซาวะ บุตรบุญธรรมของยูคิจิ ฟุกุซาวะ บุคคลบนธนบัตรใบละ 10,000 เยนของญี่ปุ่น สะพานนี้เชื่อมทางเดินระหว่างฝั่งถนนสายนี้กับฝั่งตรงข้ามให้ไปมาหาสู่กัน ระหว่างที่ฉันยืนเกาะราวสะพานมองขบวนธงปลาคาร์พหลายขนาดหลายสีโผบินตามแรงลม คนที่เดินกินลมชมสะพานเช่นฉันมีแต่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกกับช่างภาพรุ่นคุณลุงชาวญี่ปุ่นที่ตั้งหน้าตั้งตาหามุมเก็บภาพธงปลาคาร์พกับสะพานอย่างจริงจัง ครั้นมองลงไปเบื้องล่าง ก็เห็นชาวบ้านเพียงไม่กี่คนเดินเล่นอยู่ริมแม่น้ำ บ้างก็วิ่งเล่นไปมาบนสนามหญ้าอย่างรื่นรมย์
ธงปลาคาร์พเหินลมเหนือทุ่งหญ้ากว้าง
ความจริงแล้วจากสถานีรถไฟมาถึงสะพานใช้เวลาเดินไม่เกิน 15 นาที และทั้งสะพาน แม่น้ำ ธงปลาคาร์พ ภาพเมืองนางิโสะ กับทิวเขาเบื้องหน้า รวมแล้วเพียง 10 นาทีก็เก็บภาพทางสายตาได้ครบทั้งหมด แต่ฉันกลับละเลียดอารมณ์อยู่ที่นี่ค่อนชั่วโมง ดื่มด่ำกับความนิ่งและเย็นของสภาพรอบตัวอย่างลึกล้ำ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าที่สะสมมาจากการทำงานอันยาวนานค่อยๆ ปลาสนาการเป็นปลิดทิ้ง เพียงให้เมืองเล็กๆ อย่างนางิโสะช่วยบำบัดเท่านั้นเอง
ช่วงเดินกลับออกมาจากสะพาน ฉันขอให้คุณลุงช่างภาพคนหนึ่งช่วยถ่ายภาพกับซากุระที่ยังออกดอกสวยงามตรงทางเข้าให้ คุณลุงเลยชวนคุยและชวนเดินกลับมาสถานีด้วยกัน ระหว่างการเดินเคล้าบทสนทนาอันรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง คุณลุงเล่าเรื่องเมืองโน้นเมืองนี้ในจังหวัดนางาโน่ให้ฟังอย่างสนุกสนาน คุณลุงบอกว่าจะไปทำไมกันมาโกะเมะน่ะ ไปแค่สึมาโหงะก็พอ เพราะมาโกะเมะมีความ ‘ใหม่’ แทรกซึมเข้าไปจนเสียเอกลักษณ์แล้ว
ธงปลาคาร์พและซากุระใกล้โรย ภาพคุ้นตาช่วงปลายเมษายนของทุกปี
พอมาถึงสถานี คุณลุงช่วยดูสายรถไฟที่จะกลับ เวลารถบัสที่จะไป แถมพาฉันไปฝากฝังกับคุณป้าตรง ‘ติดต่อสอบถาม’ อีกด้วย คุณป้าเห็นก็เอาแต่หัวเราะ บอกว่าฉันมาขอคำแนะนำจากป้าแล้ว รออยู่ตรงนี้แหละ เดี๋ยวรถบัสไปสึมาโหงะก็มา
ฉันกับคุณลุงร่ำลากันด้วยรอยยิ้ม คุณลุงไปนั่งในห้องรับรองที่สถานีเพื่อรอรถไฟขบวนที่กำลังจะมาถึง ส่วนฉันออกมานั่งรอรถบัสบริเวณม้านั่งด้านนอกพร้อมกับมื้อกลางวันเป็นสตรอว์เบอร์รี่จากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งเดียวในเมือง สายลมในนางิโสะวันนี้ยังพัดเย็นสบาย เมฆขาวบนท้องฟ้ามีจำนวนน้อยนิดเสียจนเห็นแต่ฟ้าใสกระจ่างตา เมืองเล็กๆ ที่ดูเหมือนแค่ที่พักผ่านทางกลายเป็นความทรงจำที่ทรงคุณค่า นึกถึงเมื่อไรก็ยิ้มได้ทุกทีเมื่อนั้น
โฆษณา