13 ก.พ. 2021 เวลา 15:36 • การศึกษา
รับฝากเงินแล้วเอาเงินที่รับฝากไปใช้มีความผิดฐานลักทรัพย์ หรือไม่?
นาย เหลา ฝากเงินไว้กับ นาย ลอว์ จำนวน 5000 บาท ต่อมา นาย ลอว์ นำเงินที่ นาย เหลา ฝากไว้ จำนวน 5000 บาท ไปใช้ แบบนี้ นาย ลอว์ มีความผิดฐานลักทรัพย์ นาย เหลา หรือไม่ ?
ในการรับฝากเงินนั้นตามกฎหมายผู้รับฝากไม่จำเป็นจะต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่รับฝากไว้ แต่ผู้รับฝากจะต้องคืนเงินให้ครบตามจำนวนที่รับฝากไว้ และผู้รับฝากจะเอาเงินที่รับฝากออกไปใช้ก็ได้
เห็นได้ว่าแม้ นาย ลอว์ จะนำเงินของ นาย เหลา ไปใช้ นาย ลอว์ ก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะ นาย ลอว์ สามารถเอาเงินที่รับฝากจาก นาย เหลา ไปใช้ได้ตามกฎหมาย การที่ นาย ลอว์ เอาเงิน นาย เหลา ไปใช้จึงไม่ใช่การเอาทรัพย์ของ นาย เหลา ไป การกระทำของ นาย ลอว์ จึงไม่ครบองค์ประกอบในความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ นาย ลอว์ จะต้องคืนเงินให้ครบเต็มจำนวน 5000 บาท ตามที่ นาย เหลา ฝากไว้
เทียบคำพิพากษาฎีกา 624/2553
การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต เงินฝากในบัญชีของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสองตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากประการใดก็ได้ คงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินตามที่โจทก์ทั้งสองฝากไว้เท่านั้น โดยไม่จำต้องคืนเงินจำนวนเดียวกับที่ฝากไว้ การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
แต่ถ้า นาย เหลา ฝากเงินให้ นาย ลอว์ ไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ให้นำเงินไปไถ่ถอนจำนอง หรือให้ไปวางมัดจำซื้อบ้าน หรือฝากให้ นาย ลอว์ เอาเงินไปฝากธนาคารให้ นาย เหลา แล้ว นาย ลอว์ นำเงินนั้นไปใช้ ถือว่า นาย ลอว์ เบียดบังเอาทรัพย์ของ นาย เหลา มาเป็นของตัวเอง เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์
เทียบคำพิพากษาฎีกา 617/2536
การที่โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อไปฝากเข้าบัญชีเป็นการส่งมอบทรัพย์ให้อยู่ในความยึดถือของจำเลยอันเป็นการมอบให้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าวแทนโจทก์ร่วม จำเลยจึงอยู่ในฐานะครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก
รูปภาพ www.pixabay.com
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
คำพิพากษาฎีกา 617/2536
คำพิพากษาฎีกา 624/2553
โฆษณา