13 ก.พ. 2021 เวลา 15:43 • หนังสือ
รีวิวหนังสือ : การุณยฆาต
ผมเคยมีความคิดว่า หากถึงเวลาที่ป่วยหนักมากๆ ไม่อยากให้มีการเอาสายระโยงระยางมาต่อส่วนตรงนั้นตรงนี้ของร่างกาย ปล่อยให้มันเป็นไป ตามสภาพ
อย่างไรก็ตาม ไม่เคยได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง คิดแต่ว่า พอถึงเวลานั้นจริงๆ พ่อแม่พี่น้อง หรือญาติ ก็ตามคงจะขอให้แพทย์รักษาถึงที่สุดอยู่ดี
จนวันหนึ่งคุณหมอโย ผู้เขียนหนังสือการุณยฆาต ส่งหนังสือเล่มนี้ มาให้ลองอ่าน...
การการุณยฆาตนั้น สมัยเริ่มแรก แบ่งออกเป็นสองแบบ
1. การการุณยฆาตเชิงรุก หมายความถึง การช่วยให้ความตายมาถึงเร็วกว่ากำหนด
2. การการุณยฆาตเชิงรับ หมายถึง การปล่อยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเสียชีวิตตามธรรมชาติ โดยไม่ยื้อด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ใดๆ
ปัจจุบัน การุณยฆาตมักใช้ในความหมายเดียวที่ว่า เป็นการทำให้เสียชีวิตโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง
ในส่วนของการการุณยฆาตเชิงรับนั้นสอดคล้องกับแนวทางของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ พาลิเอทีฟแคร์ อันเป็นหลักสูตรที่คุณหมอผู้เขียนได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองนี้เอง ที่จะมาเป็นเส้นหลักของเรื่องนี้
ประเด็นส่วนใหญ่จะเป็นการต่อสู้ทางความคิด ในเรื่องของการที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยตายตามธรรมชาติ หรือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ให้นานที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นความคิดของแพทย์ด้วยกันเอง
ดังในตอนที่หมอตะวันรุ่นพี่ของหมออฆะ พูดว่า “การใส่ทิวป์(ท่อช่วยหายใจ) หรือให้ยากระตุ้นชีวิตความดันโลหิต มันก็สามารถยืดชีวิตของผู้ป่วยออกไปได้”
หมออฆะ ตอบโต้ว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับที่พี่ใช้คำว่ายืดชีวิต เพราะมันคือการยื้อชีวิตมากกว่า การได้เวลาที่ยาวนานขึ้นแต่มีเพียงความทรมาน สู้ยอมรับกับเวลาที่เหลือแล้วใช้มันให้คุ้มค่าที่สุดน่าจะดีกว่า...” (หน้า 30-31)
ส่วนที่เป็นจุดขัดแย้งสำคัญ คือ ความคิดของญาติกับตัวผู้ป่วยเอง
ดาราบถ อายุ 31 ปี มีสภาพติดเตียงจากเส้นเลือดในสมองแตก แม่ของดาราบถแจ้งหมอว่า “หมอใหญ่ใส่ท่อให้มันเถอะ ฉันไม่อยากเห็นมันหอบแบบนี้” ทั้งที่ดาราบถเคยบอกไว้ว่าถ้าเกิดสำลักอีก หรือเป็นอะไรขึ้นมาอย่ายื้อไม่อยากทรมานเหมือนครั้งที่แล้ว (หน้า 82)
หรือในกรณีของ ป้าโพยมานเป็นมะเร็งเต้านมกระจายไปที่ปอด ปฏิเสธการใส่ทิวป์ แต่ลูกชายพูดกับหมอว่า “ไหนหมอบอกว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจ นี่ปล่อยให้แม่ต้องทรมานอยู่ได้ตั้งนานแล้ว” (หน้า 99)
นี่เป็นเพียงบางส่วนที่หยิบยกขึ้นมาเท่านั้น
ทั้งยังมีประเด็นในเรื่องการการุณยฆาต ซึ่งในประเทศไทยยังถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานฆ่าผู้อื่น(ตามหมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกาที่ 659/2532)อันเป็นจุดสำคัญของเรื่องที่อาจทำให้ผู้อ่านประหลาดใจได้เช่นเดียวกัน
ความดีงามหลักของเล่มนี้ เป็นการนำเอาความรู้เรื่อง การการุณยฆาต การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (palliative care) รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การขอเสียชีวิตที่บ้าน หรือ ลิฟวิ่งวิว อันถือว่าเป็นคำสั่งล่วงหน้า ขอตายตามธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติเรื่องเหล่านี้ก็ไม่น่าจะมีใครไปแสวงอ่าน มาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของนิยาย โดยรวมแล้ว ก็ถือว่าเขียนออกมาได้ดีเลย พอเราได้อ่านเรื่องราวแล้ว ก็เกิดความสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเรื่องที่ซักวันหนึ่งตัวเราเองอาจจะได้ใช้ก็เป็นได้
เมื่ออ่านจบแล้ว มันทำงานกับตัวผมให้ย้อนกลับมาคิดใหม่ ว่าการที่เรายื้อชีวิตผู้ป่วย เป็นการทำเพื่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง หรือเป็นไปเพื่อความสบายใจของตัวเราเองกันแน่…
ใครที่สนใจ สามารถสั่งซื้อได้ที่นี่ ครับ
นอกจากจะได้หนังสือแล้ว รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ยังใช้เพื่อกิจการของศูนย์บริรักษ์ฯ และการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายต่อไปอีกด้วย
หากใครสนใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อมูลในนิยายเล่มนี้แล้ว ผมมีลิงก์สำหรับประชาชนด้วยครับตามนี้เลย
@Nwolf
นพ.ภิญโญ ศรีวีระชัย : เขียน
ศูนย์บริรักษ์ ศิริราช
#แนะนำหนังสือ
#รีวิวหนังสือ
#อ่านแหลก
โฆษณา