13 ก.พ. 2021 เวลา 23:31 • ไลฟ์สไตล์
ย้อนอดีต ห้างญี่ปุ่นในเมืองไทย มีเจ้าไหนที่จากเราไปแล้วบ้าง?
ถ้าพูดถึงไลฟ์สไตล์คนเมือง วันหยุดไม่รู้จะไปไหน หวยก็อาจจะออกอยู่แค่ไม่กี่ที่ หนึ่งในนั้นก็คือห้างสรรพสินค้า ที่ในไทยเป็นทั้งที่ช๊อป ที่กิน ที่พักผ่อน ที่นัดเจอ ที่ตากแอร์ สารพัดนึก ไม่รู้จะไปไหนก็ไปเดินเล่นห้างก่อน เรียกได้ว่าในกรุงเทพย่านไหนมีชุมชน ย่านนั้นก็มีห้างให้เดิน
1
ทำให้มีห้างจากฝั่งคนไทยเองก็เยอะ ต่างชาติเองก็มาก อยู่รอดจนยิ่งใหญ่บ้าง ต้องปิดตัวไปก็มี อย่างล่าสุดที่ถึงคราวอิเซตันและโตคิวต้องลาจากบ้านเราไป
สำหรับญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกประเทศที่ขยายกิจการเข้ามาในบ้านเราเยอะทีเดียว ด้วยแถบประเทศที่ไม่ไกลกันมาก และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2500 ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
แต่ก็น่าเสียดายที่หลายๆ เจ้าอาจจะยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ วันนี้เราเลยจะขอพาย้อนอดีตไปวันวานกับการไปดูห้างญี่ปุ่น ที่เคยมาเปิดให้บริการในเมืองไทย แล้วเลิกกิจการกลับไปแล้วครับ จะมีเจ้าไหน ใครทันได้เดินที่ไหนบ้าง มาดูกัน!!
ไทยไดมารู
ไทยไดมารู
เปิดให้บริการ : 2507
ปิดให้บริการ : 2543
1
ถ้าพูดถึงตำนานห้างเก่าในไทย ห้างไทยไดมารูก็คงเป็นอีกหนึ่งห้างที่ใครหลายๆ คน นึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ด้วยการที่เข้ามาพลิกโฉมการทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าในสมัยนั้น ถือว่าเป็นห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นเจ้าแรกที่เข้ามาในบ้านเรา ภาพจำที่ใครๆ ยังนึกถึงทุกวันนี้เวลาพูดถึงชื่อไทยไดมารูคือที่นี่มีบันไดเลื่อนให้บริการเป็นที่แรก!! รวมไปถึงมีเครื่องปรับอากาศติดตั้งตลอดทั้งห้างด้วย ถือว่าเป็นห้างที่ทันสมัยมากๆ หากย้อนกลับไปในปี 2507
1
จุดเด่นของที่นี่คือการที่เป็นห้างสัญชาติญี่ปุ่น ก็จะมีสินค้าต่างๆ นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาขาย รวมไปถึงมีร้านอาหารญี่ปุ่นมาเปิดในตัวห้างด้วย จับกลุ่มตลาดทั้งคนไทย และคนญี่ปุ่นที่เริ่มเข้ามาทำงานในบ้านเรามากขึ้น ด้วยความแปลกใหม่และล้ำสมัยจึงเป็นห้างนึงที่ประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น
ทำเลที่ตั้งของห้างไทยไดมารูสาขาแรกจะอยู่บริเวณราชประสงค์ ที่เป็นเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน ก่อนที่ในปี 2515 ห้างไทยไดมารูและศูนย์การค้าราชดำริอาเขตจะย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน ไปอยู่ฝั่งเดียวกับ Big C ราชดำริ
1
ห้างไทยไดมารูสาขาเสรีเซ็นเตอร์ศรีนครินทร์ (ที่มาภาพ : เพจเมืองเก่าเล่าใหม่)
นอกจากสาขาราชดำริ ในปี 2524 ไทยไดมารูได้เปิดสาขาที่ 2 ที่บริเวณพระโขนง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ด้วยทำเลที่มีกำลังซื้อน้อยกว่าและมีคู่แข่งมาก ก่อนที่สาขาราชดำริจะหมดสัญญาเช่าที่ในปี 2537 ก็ได้ย้ายมาเปิดสาขาที่ 3 ที่เสรีเซ็นเตอร์ ศรีนครินทร์ (Paradise Park ในปัจจุบัน) น่าเสียดายที่ตัวห้างเสรีเซนเตอร์ที่เปิดให้บริการในปี 2537 ต้องมาเปิดชนกันกับซีคอนสแควร์ที่เปิดในปีเดียวกัน ซึ่งซีคอนทั้งใหญ่กว่า มีร้านครบครันกว่า มีสวนสนุกด้วย เสรีเซ็นเตอร์ก็เลยเงียบเหงากว่าพอสมควร แถมพอย้ายมาศรีนครินทร์ ทำเลนี้ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทยมาเดินซะส่วนใหญ่ ลูกค้าญี่ปุ่นก็น้อยลง และในยุคนี้แต่ละห้างก็มีจุดเด่นของตัวเองทำให้การแข่งขันสูงมากเช่นกัน
2
จนกระทั่งเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซ้ำอีก บริษัทแม่จากทางญี่ปุ่นก็ตัดสินใจขายหุ้นในไทยออกไปในปี 2541 ให้กับกลุ่มพรีเมียร์ เจ้าของห้างเสรีเซนเตอร์ในสมัยนั้น
แต่หลังจากกลุ่มพรีเมียร์ได้เข้ามาทำต่อ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้น 2 ปี จึงได้ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา และปิดตำนานห้างญี่ปุ่นเจ้าแรกในไทยในปี 2543 ด้วยอายุการดำเนินกิจการ 37 ปี
1
โซโก้
1
เปิดให้บริการ : 2507
ปิดให้บริการ : 2546
อีกหนึ่งห้างในตำนาน ยุคนี้มีห้างจากญี่ปุ่นมาเปิดไล่ๆ กัน 3 เจ้าเลยครับ ทั้งโตคิว โซโก้ จัสโก้ ที่ตั้งของห้างโซโก้จะอยู่ที่อัมรินทร์พลาซ่าที่บริเวณใกล้แยกราชประสงค์ในปัจจุบัน ที่ยังเป็นที่ตั้งของร้าน McDonald สาขาแรกในไทยด้วย จุดเด่นของที่นี่คือตัวอาคารเค้าจะออกแบบมาในสไตล์นีโอคลาสสิกผสมสถาปัตยกรรมกรีกและโรมันสวนทางกับอาคารออฟฟิศด้านบนที่ดีไซน์เป็นกระจกล้วนทรงโมเดิร์น ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังในยุคนั้นอย่าง "คุณรังสรรค์ ต่อสุวรรณ" คนเดียวกับที่ออกแบบอาคารสเตททาวเวอร์สีลม และสาทรยูนีคที่เป็นตึกร้างสาทรในปัจจุบัน
2
ตัวอาคารจัดว่าออกแบบมาหรูหราทีเดียวกับการมีเสาโรมันขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าห้าง เรียกได้ว่าหลังจากที่ห้างแห่งนี้สร้างมา บ้านคนรวยในยุคนั้นหรือแม้แต่ตึกแถวก็ทำทรงนี้ออกมาตามๆ กันอีกเพียบ อย่างในบ้านละครหลังข่าวที่เราเห็นๆ กัน
กลับมาที่โซโก้ ห้างโซโก้จะเป็นส่วนหนึ่งของอัมรินทร์พลาซ่าครับ มีพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 1 ใน 3 ของส่วน Retail ของโครงการ ห้างนี้ถือว่าเป็นห้างหรูในสมัยนั้นเลย กับการเน้นที่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่ายทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น
1
ที่มาภาพ : เพจเมืองเก่าเล่าใหม่
ที่นี่หลายคนพูดเหมือนกันว่าของแพง เพราะสินค้าที่เป็นของนำเข้าก็จะมีราคาสูง บางอย่างก็อาจจะแพงเกินกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ของที่ผลิตจากในไทย ราคาก็ไม่ค่อยต่างกับห้างอื่น บวกกับการทำตลาดจัดโปรโมชั่นที่ไม่ค่อยตรงสไตล์คนไทย (เหมือนเขาเน้นการบริการที่ดีกว่า ว่างั้น) ทำให้ยอดขายอาจจะไม่ได้ดีมาก
2
บวกกับทำเลราชประสงค์ที่จริงๆ ถึงจะเป็นทำเลที่ดี ใจกลางเมือง แต่ก็แลกมากับการที่มีคู่แข่งมาตั้งอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ในยุคนั้นย่านราชประสงค์ก็จะมีไทยไดมารู, โรบินสัน, บิ๊กเบล และมีเวิลด์เทรดตามมา ฝั่งสยามมีศูนย์การค้าสยามและมาบุญครอง หรือถ้าเลยราชประสงค์ไปทางถนนเพชรบุรี ก็มีห้างเช่นพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า, เมโทร, พาต้า อินทราอีก เรียกได้ว่าแข่งขันกันสูงมาก
2
เท่าที่ทีมงานลองหาข้อมูลดู มีช่วงนึงโซโก้เคยเช่าพื้นที่เพิ่มในโซนพลาซ่าของโรงแรมเอราวัณ ตึกข้างๆ อัมรินทร์พลาซ่าที่สร้างตามมาทีหลังในช่วงปี 2534 ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าห้างโซโก้ปิดกิจการไปในช่วงปีไหน (ใครมีข้อมูลอัปเดทได้นะฮะ)
ปัจจุบัน อัมรินทร์พลาซ่าได้ถูกซื้อโดยกลุ่มเกษร ที่มีห้างอยู่ในฝั่งตรงข้าม ส่วนในอัมรินทร์พลาซ่าเองก็ไม่ได้มีห้างแบบ department store แล้วครับ
1
โตคิว
เปิดให้บริการ : 2528
ปิดให้บริการ : 2564
มาถึงห้างล่าสุดที่เพิ่งปิดไปเลยครับกับห้างโตคิว ที่อยู่คู่กับ “นครหินอ่อนใจกลางเมือง” อย่างมาบุญครองมากว่า 35 ปี (เป็นชื่อโปรโมทมาบุญครองในสมัยนั้น ด้วยตัวตึกที่ใช้หินอ่อนในการตกแต่งเยอะมากๆ ทั้งผนังด้านนอกของห้าง และพื้นห้างส่วนใหญ่)
3
พอพูดถึงโตคิว หลายคนก็จะนึกไปถึงแต่ที่มาบุญครอง หรือ MBK Center ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวกันมายาวนาน ไม่ว่า MBK จะปรับรูปแบบห้างไปกี่รอบ ตั้งแต่เป็นห้างขายสินค้าแบรนด์เนม มีสวนสนุก จนกลายมาเป็นห้างกึ่งตลาดนัดติดแอร์ ซอยล๊อก กำเนิดร้านตู้มือถือ จนมาจับกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้น โตคิวก็ยังอยู่คู่กับมาบุญครองมาโดยตลอด
3
แต่รู้หรือไม่ครับว่าโตคิวไม่ได้มีแค่ที่มาบุญครองที่เดียวนะ ในช่วงยุคก่อนปี 40 โตคิวยังมีอีกสาขา คือที่ “อาคารศรีวราไฮเทคทาวเวอร์ รัชดา” พูดชื่อปุ๊บหลายคนอาจจะงง ปัจจุบันก็คืออาคาร Cyber World ตึกสูงแฝด ที่อยู่ตรงข้าม The Steet รัชดานั่นเองครับ
ที่มาภาพ : Prakard.com
ใครที่นั่งรถหรือขับรถผ่านแยกเทียมร่วมมิตรในยุคนั้น น่าจะเคยเห็นห้างโตคิว ที่หน้าห้างเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ ตั้งเด่นอยู่หัวมุมแยก มาพร้อมกับอาคารด้านบนที่กำลังก่อสร้างเป็นตึกออฟฟิศขนาดใหญ่ ก่อนจะหยุดสร้างเป็นตึกร้างไปช่วงนึง สำหรับสาขานี้ด้วยยอดขายและวิกฤตเศรษฐกิจ เลยปิดไปในช่วงปี 40 ครับ ก่อนที่กลุ่มเสี่ยเจริญจะซื้ออาคารมาทำต่อเป็นสำนักงานในปัจจุบัน ส่วนด้านล่างอาคารถ้าใครลองไปก็จะเห็นโถงขนาดใหญ่ที่ก็ยังมีความเป็นห้างอยู่ครับ
นอกจากนี้ ในช่วงปี 58 หลังจากที่กลุ่ม MBK จับมือกับสยามพิวรรธณ์ (กลุ่มสยามพารากอน/ไอคอนสยาม) เข้าซื้อห้างเก่าอย่างเสรีเซนเตอร์ ศรีนครินทร์ (ที่พูดถึงตอนไทยไดมารู) มา Renovate ใหม่เป็น Paradise Park ทาง MBK ก็ได้ร่วมทุนกับโตคิวประเทศญี่ปุ่นในสัดส่วน 50/50 นำโตคิวมาเปิดที่ Paradise Park ด้วยเช่นเดียวกัน น่าเสียดายที่สาขานี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ปิดให้บริการไปในต้นปี 62 รวมเวลาเปิดประมาณเพียง 3 ปีกว่าเท่านั้นเอง
และล่าสุดหลังจากที่ผ่านมา ผลประกอบการหลายปีของโตคิวในประเทศไทยก็ไม่ได้มีกำไร บวกกับเจอวิกฤต ในช่วงนี้จนต่างชาติเข้ามาเที่ยวไม่ได้ ห้าง MBK ที่เน้นลูกค้าเป็นชาวต่างชาติก็เลยรับผลไปเต็มๆ โตคิวก็โดนไปด้วยเช่นกัน สุดท้ายจึงเป็นที่มาของการเลิกกิจการ ปิดตำนาน 35 ปีไปในที่สุด
1
เยาฮัน
เปิดให้บริการ : 2534
ปิดให้บริการ : ประมาณปี 2540-2541
“สงครามชีวิตโอชิน” ใครเคยดูซีรี่ย์เรื่องนี้บ้างครับ เรื่องราวมรสุมชีวิตของหญิงแกร่งลูกชาวนาจากครอบครัวยากจน ที่ถูกขายให้ไปทำงานตอนเด็ก ฝ่าฟันจนสามารถเปิดซุปเปอร์มาเก็ตจนยิ่งใหญ่ได้ตอนแก่ในยุคหลังสงครามโลก จะบอกว่าผมไม่เคยดูครับ แต่เคยได้ยินชื่อเรื่องนี้บ่อยทีเดียว เพิ่งมารู้เมื่อไม่นานนี้ว่าเรื่องราวที่ทำเป็นซีรี่ย์นี้มาจากชีวิตจริงของเจ้าของห้างเยาฮันนี่เอง
2
ห้างเยาฮันเคยเข้ามาเมืองไทยเมื่อประมาณปี 2534 ตัวห้างจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟอร์จูนทาวน์หัวมุมแยกพระราม 9 (ชื่อโครงการรัชดาสแควร์ในตอนแรก แต่พอตึกสร้างเสร็จก็เปลี่ยนเป็นฟอร์จูนทาวน์ครับ) มีพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางเมตร ตัวอาคารโดดเด่นด้วยตัวตึกที่ยาวมาก ขนาบข้างไปกับถนนรัชดา และมีอุโมงค์บันไดเลื่อนด้านหน้าห้างที่ยาวตั้งแต่ชั้น 1 ยันชั้น 9 ทำให้ค่อนข้างจะเด่นมากๆ
ฟอร์จูนทาวน์รัชดา ช่วงกำลังเริ่มก่อสร้าง (ที่มาภาพ : เพจเมืองเก่าเล่าใหม่)
ห้างเยาฮันในไทยสมัยนั้นนอกจากลงทุนโดยญี่ปุ่นแล้ว ยังมีฝั่งคนไทยลงทุนด้วยครับ เป็นเครือสหพัฒน์กรุ๊ป 10% บริษัทสยามนำโชค (กลุ่มซีพีและยูนิเวสต์) 21% แบงก์กรุงศรีอยุธยา 5% บริษัทเอ็มบีไทย 5% และบริษัทไทยเอ็มซี (มิตซูบิชิคอร์ป) 5% ซึ่งสยามนำโชคเองก็เป็นเจ้าของโครงการฟอร์จูนในตอนนั้น ส่วนกลุ่มยูนิเวสต์ที่ถือหุ้นสยามนำโชคอยู่ ก็เป็นเจ้าของที่ดินหลายผืน รวมถึงที่ฝั่งตรงข้าม ที่ต่อมากลายมาเป็น G Land และเซ็นทรัลพระราม 9 ในปัจจุบันด้วย
2
ยุคนั้นต้องบอกว่าเป็นยุคที่เศรษฐกิจของไทยและประเทศในแถบนี้กำลังเจริญแบบสุดๆ ครับ มีโครงการต่างๆ ทั้งหมู่บ้าน ห้าง การลงทุนเกิดขึ้นมากมาย ทางเยาฮันเองนอกจากมาเปิดสาขาในประเทศไทย ก็เร่งลงทุนขยายสาขาในประเทศต่างๆ รวมทั่วโลกกว่า 450 สาขา ซึ่งก็มีสาขาในภูมิภาคแถบนี้เป็นจำนวนมากด้วยเช่นเดียวกัน
จนเมื่อเกิดปัญหาฟองสบู่แตกเป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจในปี 40 ซึ่งนอกจากจะหนักที่ไทย ประเทศแถบนี้ก็โดนกันเป็นโดมิโนไปด้วย เยาฮันบริษัทแม่ที่เอาเงินไปลงทุนเปิดสาขาจำนวนมากก็มีหนี้สินจนไปต่อไม่ไหว แถมตัวบริษัทเยาฮันเองก็มีปัญหาตกแต่งบัญชีมาก่อนหน้านั้นด้วย แล้วเรื่องเพิ่งมาแดง จนล้มละลาย ต้องขายกิจการให้กับ AEON Group แล้วถูกเปลี่ยนเป็น MaxValu Tokai ในญี่ปุ่น (ชื่อนี้คุ้นๆ ไหมครับ)
2
ส่วนในไทย หลังจากที่บริษัทแม่ประสบปัญหา ที่ไทยก็ปิดสาขาไปในช่วงปี 40 ครับ ช่วงท้ายๆ ของสาขารัชดาก็แอบน่าสงสารเหมือนกัน คือเลือกมาตั้งในทำเลที่มีอนาคตอย่างรัชดา ซึ่งก็มีอนาคตจริง มีรถไฟฟ้ากำลังจะผ่านรัชดาตลอดสาย แถมมีสถานีมาอยู่หน้าห้างเลย แต่ปัญหาก็คือเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ระหว่างก่อสร้างช่วงปี 40 เนี่ยก็ต้องทำการขุดถนน และมีการเปิดหน้าดินลงไปเพื่อก่อสร้างสถานี แยกพระราม 9 หน้าฟอร์จูนในสมัยนั้นก็คือขุดถนนเบี่ยงหลบกั้นทางรถติดกันอลังการมาก น่าจะเป็นอีกสาเหตุนึงที่ทำให้คนน้อยลงในช่วงนั้น
ส่วนห้างฟอร์จูน กลุ่มยูนิเวสที่ถือหุ้นร่วม กลุ่มนี้ทำอสังหาเป็นหลัก อย่างเช่น “หมู่บ้านเมืองเอก” ที่ดังๆ ในยุคนั้น หลังจากวิกฤตปี 40 ด้านอสังหาก็กระทบเต็มๆ จนต้องขายหุ้นโครงการฟอร์จูนมาให้กับทางกลุ่ม CP ที่เป็นเจ้าของมาถึงปัจจุบัน ส่วนเยาฮัน ในภายหลังก็มีโลตัสมาแทนครับ
1
ห้างเยาฮัน สาขาฟิวเจอร์พาร์คบางแค (ที่มาภาพ : เพจเมืองเก่าเล่าใหม่)
เยาฮันนอกจากจะมาเปิดที่ฟอร์จูนรัชดาแล้ว ยังมีไปเปิดอีกสาขาที่ฟิวเจอร์พาร์คบางแคในช่วงปี 2538 ด้วยนะครับ คู่กับโรบินสัน (ฟิวเจอร์พาร์คก็เป็นของกลุ่มยูนิเวสในตอนนั้น) ซึ่งลำพังฟิวเจอร์พาร์ค เจอทั้งเดอะมอลล์ท่าพระและบางแคปิดหัวท้าย แถมความหลากหลายของฟิวเจอร์ก็น้อยกว่าด้วย ก็เลยค่อนข้างเงียบพอสมควร และเปิดได้ไม่นานก็เจอวิกฤตปี 40 เยาฮันก็ปิดสาขาไป เหลือไว้แต่ฟิวเจอร์ที่ร้านค้าอื่นๆ ก็ทยอยปิดตามเช่นกัน จนหลังๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นกึ่งๆ ห้างร้างก็ว่าได้ ตรงข้ามกับฟิวเจอร์รังสิตที่คนเยอะมาก จนกระทั่งช่วงยุคปี 2010 ที่กลุ่มซีคอนเข้ามาซื้อฟิวเจอร์พาร์คบางแค แล้วทำใหม่เป็นซีคอนบางแคในปัจจุบัน
5
จริงๆ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิตก็เคยเกือบจะมีเยาฮันเหมือนกันฮะ แต่เยาฮันเจอปัญหาไปซะก่อน เลยได้เซ็นทรัลมาแทน
1
Isetan
เปิดให้บริการ : 2535
ปิดให้บริการ : 2563
อีกหนึ่งห้างที่อยู่คู่กับเซ็นทรัลเวิลด์มาหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่ว่ายังไง หน้าตาตึกด้านนอกก็ไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่ยุคยังเป็นเวิลด์เทรด จนเซ็นทรัลซื้อไป จนรีโนเวทไปหลายรอบ ยังไง๊ยังไงข้างนอกอิเซตันก็ยังเป็นตึกหินอ่อนสีชมพูเหมือนเดิม
จุดเริ่มต้นของอิเซตันในไทย เริ่มจากช่วงประมาณปี 2525 “บริษัทวังเพชรบูรณ์” โดยคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนครและเป็นเศรษฐีในยุคนั้น ได้ขอเช่าพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาสร้างเป็นห้าง โดยในสัญญาเค้าก็มีระบุครับ ว่าเช่าไปแล้วจะต้องสร้างอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องสร้างเป็นโปรเจค mixed-use ขนาดใหญ่เลย มีทั้งห้าง สำนักงาน โรงแรม
ทีนี้หลังจากเริ่มสร้างไปโครงการก็มีการล่าช้าหลายส่วน หลายรอบ จนสามารถเปิดเป็น World Trade Center ที่มีในส่วนของพลาซ่าและห้าง Zen ในปี 2532 หลังจากนั้นอีก 3 ปี โซนที่เป็นห้างสรรพสินค้าอิเซตันก็ถึงค่อยสร้างเสร็จตามมาในปี 2535
1
ภาพร่างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในยุคแรก ที่มีออฟฟิศและโรงแรม (ที่มาภาพ : เพจเมืองเก่าเล่าใหม่)
แต่ถึงยังไง บริษัทวังเพชรบูรณ์เองจนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถสร้างโรงแรม และอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญาได้ เนื่องจากปัญหาทางการเงินต่างๆ ใครที่ผ่านไปแถวนั้นยุคปี 40 น่าจะเคยเห็นตึก office ร้างสร้างทิ้งไว้อยู่หลังเวิลด์เทรด จนสุดท้ายถูกยกเลิกสัญญาเช่า แล้วเปลี่ยนหาบริษัทใหม่เข้ามาประมูลแทน โดยได้กลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาบริหารต่อในที่สุดและเปลี่ยนเป็นห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนตึกร้างก็ถูกสร้างต่อจนเสร็จเป็น The Offices @ CentralWorld เพิ่มโรงแรม เพิ่มตึกจอดรถ รวมถึงรีโนเวทปรับแปลนตึก สร้างโซนใหม่ มีส่วนต่อขยายเพิ่ม จนเดินแล้วงง หลงไปหมด เพราะตึกก็สร้างมาแต่ละส่วนไม่พร้อมกัน มากันคนละทีสองที เปลี่ยนเจ้าของก็เปลี่ยนผังด้วยนี่แหล่ะครับ (ดีที่ปรับปรุงรอบล่าสุดเดินง่ายขึ้นแล้ว)
1
ในยุคนั้นห้างหลายๆ ที่ จะนิยมมี Department Store สองเจ้าตั้งคู่กัน อย่างที่เวิลด์เทรดเองก็จะมี Zen คู่กับ อิเซตัน อยู่คนละฝั่งของห้าง สำหรับอิเซตันในประเทศไทย ตั้งแต่เปิดบริการมาจะมีอยู่สาขาเดียวที่นี่เลย จุดเด่นคือจะเน้นขายสินค้าที่มาจากญี่ปุ่นหลากหลายชนิดกว่า 40% ทั้งของใช้และอาหารต่างๆ รวมถึงมีร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นมาเปิดอยู่ที่ชั้น 6
1
ตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการ 28 ปีที่ผ่านมา ห้างอิเซตันก็ถือว่าไม่ได้หวือหวามากครับ แต่ก็มีกำไรมาตลอด อาจจะไม่ได้ขาดทุนเหมือนกับห้างญี่ปุ่นเจ้าอื่นแต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก (รายได้หลักพันล้านแต่ก็ได้กำไรแค่ไม่กี่ล้าน)
จุดที่ทำให้ Isetan ไม่ไปต่อ อาจจะเพราะแต่เดิมอิเซตันเซ้งระยะยาว 30 ปี ตั้งแต่สมัยเวิลด์เทรด ทางเซ็นทรัลก็ไม่เคยได้ค่าเช่าในส่วนนี้ครับ ซึ่งสัญญาการเซ้งตึกก็รวมไปถึงบริเวณด้านนอก เป็นที่มาของด้านนอกเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่ง Isetan ที่ยังเหมือนยุคเวิลด์เทรดเดิมอยู่นั่นเอง จนเพิ่งครบสัญญาในปลายปี 2020 ที่จะเป็นการเริ่มต้นสัญญาเช่าใหม่กับเซ็นทรัล อาจจะบวกลบคูณหารดูสัญญาแล้วไม่คุ้มค่ากับการลงทุนต่อ อาจจะความเสี่ยงเรื่องของวิกฤตตอนนี้ผสมด้วย ก็เลยเป็นอันต้องโบกมือลาห้างญี่ปุ่นในเมืองไทยไปอีกห้างหนึ่งครับ
1
ส่วนร้านอาหารในชั้น 6 บางส่วนกับร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ จะย้ายมาอยู่ในเซ็นทรัลเวิลด์โซนอื่นแทน แต่เท่าที่ลองดูชื่อร้านที่ย้ายตามมาแล้ว ก็ต้องบอกว่าหายไปเยอะทีเดียวล่ะครับ
Jusco
1
เปิดให้บริการ : 2527
ชื่อเต็มๆ ของ Jusco ย่อมาจาก Japan United Stores Company เริ่มต้นเปิดกิจการในญี่ปุ่นเมื่อประมาณปี 2513 และเป็นอีกหนึ่งห้างที่เข้ามาไทยยุคเดียวกันกับโตคิวและโซโก้ช่วงปี 2527-2528 แต่รูปแบบอาจจะต่างจากคนอื่นไปซักหน่อยครับ ด้วยการเข้ามาเปิดตลาด Supermarket ไม่ได้เป็นห้างแนว Department Store โดยเน้นในทำเลชุมชนเกิดใหม่
บริษัทสยามจัสโก้ เริ่มที่แรกจาก “สยามจัสโก้สาขารัชดาภิเษก” เมื่อปี 2527 หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยขยายสาขาไปในย่านชุมชนต่างๆ เช่น พัฒนาการ, สุขาภิบาล 1, รัตนาธิเบศร์, ประชาอุทิศ, บางบอน, หลักสี่ สาขาที่แอดคุ้นเคยหน่อยก็จะเป็นสุขาภิบาล 1 ไปกินเอ็มเคบ่อยเพราะใกล้บ้าน หรืออย่างสาขาพัฒนาการก็เคยไปกิน 13 เหรียญ
จนกระทั่งในปี 2540 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปรับค่าเงินบาท ทำให้มีหนี้จากเงินกู้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ต้องทยอยปิดบางสาขาไปหลายแห่ง หลังจากนั้นลองทายกันครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับห้างจัสโก้ต่อ บางคนอาจจะเดาว่าก็คงค่อยๆ เงียบและเลิกกิจการไป สาขาที่เหลือก็ขายตึกให้คนอื่นไปทำต่อใช่ไหมครับ
…แต่ไม่ใช่กับจัสโก้ครับ
ห้างจัสโก้ สาขารัตนาธิเบศร์ ปัจจุบันคือเซ็นทรัลพลาซารัตนาธิเบศร์ (ที่มาภาพ : เพจเมืองเก่าเล่าใหม่)
ในญี่ปุ่นตั้งแต่ประมาณปี 2532 บริษัทจัสโก้ในญี่ปุ่นได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อของตัวเองใหม่ เป็น ÆON หรืออิออน เจ้าเดียวกับอิออนบัตรเครดิตในบ้านเรานั่นเองครับ เค้าทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ถึงบริษัทแม่จะเปลี่ยนเป็น ÆON แล้ว แต่บรรดาห้างจัสโก้ในหลายๆ ประเทศก็ยังค่อยๆ ทยอยเปลี่ยนชื่อเป็น ÆON ตามมา ไม่ได้เปลี่ยนทีเดียวหมด
และในระหว่างนี้ เมื่อช่วงปี 40 กลุ่ม ÆON ได้ไปเข้าซื้อกิจการห้างเยาฮัน ที่ประสบปัญหาขาดทุนจนล้มละลาย แล้วรีแบรนด์ใหม่เป็นชื่อ MaxValu Tokai สำหรับซุปเปอร์มาร์เก็ต บางสาขาที่เป็นห้างขนาดใหญ่ก็ถูกรีแบรนด์เป็นห้าง ÆON
ส่วนในไทย หลังจากประคับประคองผ่านวิกฤตปี 40 ไป ทาง ÆON บริษัทแม่ก็ตัดสินใจลงทุนเพิ่มในช่วงปี 2550 เพราะยังเห็นศักยภาพของตลาดในประเทศไทยที่ยังไปต่อได้ คือนอกจากจะไม่ทิ้งตลาดเมืองไทยไปแล้วยังลงทุนเข้ามาเพิ่มอีก พร้อมกับการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เปลี่ยนจัสโก้ในไทยให้กลายเป็น MaxValu ด้วยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มสาขาและลงมาลุยแข่งกับตลาดมินิมาร์ทด้วย “MaxValu ทันใจ”
2
ก็เรียกได้ว่าเป็นห้างสัญชาติญี่ปุ่นเจ้านึงที่ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้หายไปไหน เค้าแค่เปลี่ยนชื่อแค่นั้นเองครับ
ปัจจุบันเหลือห้างไหนบ้าง?
สำหรับในไทยปัจจุบันก็ยังมีห้างสัญชาติญี่ปุ่นมาเปิดอยู่ครับ อาจจะไม่ได้เปรี้ยงปร้างมาก แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกที่ฮะ เราจะได้มีตัวเลือกในการซื้อสินค้าที่หลากหลาย
เริ่มกันที่ที่แรก
Siam Takashimaya
เรียกได้ว่าสร้างเสียงฮือฮาตอนเปิดตัวได้พอสมควร กับห้างสรรพสินค้าแบรนด์ดังจากทางญี่ปุ่น ที่มาเปิดให้บริการสาขาแรกในเมืองไทยในปลายปี 2561 พร้อมกับห้าง ICONSIAM มีพื้นที่กว่า 36,000 ตารางเมตร เป็นสาขานอกญี่ปุ่นที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด แต่ด้วยห้าง ICONSIAM ที่ส่วนนึงก็เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย และไม่อยู่ในกลางเมืองเหมือนห้างอื่นๆ ช่วงนี้ก็อาจจะดูเงียบเหงาไปซักหน่อยนึงครับ รอหมดช่วงนี้ไปก็หวังว่าน่าจะดีขึ้นนะฮะ
1
Don Don Donki
เป็นอีกห้างที่เพิ่งเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ กับห้างดองกิโฮเต้ ร้านขายของชื่อดังในญี่ปุ่นที่มีทุกอย่างสารพัดนึก ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ยัน !$^&%#^@!- เรียกได้ว่าไปญี่ปุ่นแล้วจะซื้อของฝากกลับไทย ไม่รู้จะซื้ออะไรเดินเข้าที่นี่มันต้องมีของติดมาบ้างแหละ มาเปิดสาขาในไทยในช่วงต้นปี 62 กับสาขาทองหล่อ 10 หลังจากนั้นก็มีอีกสาขาตามมาที่ห้าง The Market ตรงข้ามกับ CentralWorld และล่าสุดประกาศออกมาแล้วว่ากำลังจะมาเปิดสาขาใหม่ที่ห้าง MBK แทนบางส่วนของห้างโตคิวที่ปิดไปครับ รอไปกันได้เลย
3
MaxValu
สำหรับ MaxValu ในไทย ปัจจุบันก็มีสาขาอยู่ประมาณ 50 กว่าสาขาครับ ทั้งแบบ Supermarket และร้านสะดวกซื้อ ที่ผ่านมาอาจจะมีปิดไปบ้างสำหรับบางสาขาที่ไม่ได้ทำกำไร เช่นบางสาขาเล็กๆ ที่ไปเปิดใต้คอนโด แต่ก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งห้างที่คนคึกคักอยู่พอสมควร แอดเองก็ชอบไปซื้อข้าวป้ายเหลืองตอนดึกๆ นะ ถูกดี 555
ก็จะประมาณนี้ครับสำหรับห้างญี่ปุ่นที่เคยมา แล้วจากไปในเมืองไทย เท่าที่ทีมงานพอจะมีข้อมูลกับหาข้อมูลมาได้ ใครมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม สามารถคอมเม้นเสริมเข้ามาได้เลยนะครับ บางอย่างก็ไม่ทันจริงๆ ^^
1
โฆษณา