Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Nikita Pongpon Chuencharoen
•
ติดตาม
14 ก.พ. 2021 เวลา 11:26 • ประวัติศาสตร์
106 ปีชาตกาลพลตรีอ่องซาน บิดาแห่งสหภาพพม่า
ภาพถ่ายสีของพลตรีอ่องซาน
ช่วงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสายตาของโลกกำลังจับจ้องไปที่สถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า แน่นอนว่าสำหรับใครหลาย ๆ คนย่อมปลุกกระแสความสนใจใคร่รู้ความเป็นมาของประเทศเพื่อนบ้านเราประเทศนี้อยู่พอสมควร อีกทั้งภาพข่าวที่ปรากฏก็มักจะเป็นภาพที่ชาวพม่าพากันชูรูปนายพลอ่องซานในการประท้วงด้วย ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสเนื่องในวันเกิดของนายพลอ่อง ซาน นำเสนอเรื่องราวของวีรบุรุษของชาวพม่าเป็นสิ่งแรกก่อน
กลุ่มผู้ชุมนุมถือภาพถ่ายของนายพลอ่องซานวีรบุรุษผู้กู้เอกราชพม่าจากอังกฤษ
นายพลอ่องซานเกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1915 ทีเมืองนัตเมาก์ (Natmauk) ภาคกลางของพม่า ในครอบครัวที่ถือได้ว่าเป็นชนชั้นกลางพม่า บิดาชื่ออูผ่าร์ (U Phar) ประกอบอาชีพนักธุรกิจแม้จะจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ มารดาชื่อด่อ ซู (Dau Su) คาดว่านายพลอ่องซานน่าจะนำชื่อมารดาของตนเองไปตั้งเป็นชื่อลูกสาวในเวลาต่อมาคือ “อ่องซาน ‘ซู’ จี” สืบสาแหรกขึ้นไปก็พบได้ว่าบรรดาพี่น้องของคุณย่านายพลอ่องซานที่เคยเป็นขุนนางรับใช้ราชวงศ์คองบองก็เคยมีประวัติต่อต้านอังกฤษมาก่อนแล้วในช่วงสงครามอังกฤษยึดพม่า สิ่งนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นายพลอ่องซานคิดทำการใหญ่ปลดปล่อยพม่าออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ต่อมาอ่องซานได้ย้ายไปศึกษาชั้นมัธยมที่เมืองเยนังยอง (Yenangyaung) ที่ที่พี่ชายของอ่องซานเป็นครูใหญ่อยู่ เริ่มกลายเป็นหนอนหนังสือ เก็บตัวใช้เวลากับความคิดของตนเองรวมไปถึงบทความต่าง ๆ จนทำให้ได้พบกับผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันและกลายเป็นเพื่อนต่อมานั่นก็คืออูนุ (U Nu) และอูถั่น (U Thant) ที่ในเวลาต่อมาจะได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการองค์การสหประชาชาชาติตามลำดับ
อ่องซานสอบเข้ามหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้ในปี 1933 และได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารโอเวย (Oway) – หางนกยูง และโดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัยพร้อม ๆ กับอูนุที่ปราศรัยต่อต้านอังกฤษ เนื่องจากอ่องซานในฐานะบรรณาธิการนิตยสารปฏิเสธที่จะให้ชื่อเจ้าของบทความที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เป็นคนของเจ้าอาณานิคมอังกฤษจนบานปลายกายเป็นการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ จนกระทั่งผู้มีอำนาจในอาณานิคมต้องยอมถอย คืนสถานภาพนักศึกษาให้รวมไปถึงยอมตั้งให้อ่องซานเป็นประธานนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ประธานสหภาพนิสิตนักศึกษาพม่า
อ่องซานกับคณะบรรณาธิการนิตยสาร Oway
ในที่สุดอ่องซานก็เข้าสู่การเมืองเต็มตัวเมื่อเข้าร่วมกับสมาคมโดบะมา อซิโยน (Dobama Asiayone) หรือถะขิ่น (Thakhin) กลุ่มชาตินิยมพม่าเพื่อต่อต้านอังกฤษ สมาชิกจะมีคำนำหน้าว่า Thakhin โดยคอยทำการนัดหยุดงานประท้วงในรูปแบบต่าง ๆ ในที่สุดอ่องซานก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นเลขาธิการใหญ่อย่างเต็มตัวขององค์กรนี้และในเวลาต่อมาอ่องซานก็ได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma) แต่บทบาทและอุดมการณ์ในพรรคไม่ราบรื่นและไม่สอดคล้องกับอ่องซานนัก ไม่นานอ่องซานจึงแยกมาตั้งพรรคใหม่นามว่าพรรคประชาชนปฏิวัติพม่า (Burma Revolutionary Party) ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นพรรคสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Party) ในที่สุด
ในช่วงเวลานี้ว่ากันว่าอ่องซานได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการปฏิวัติในรัสเซียรวมไปถึงได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและอุมการณ์จากสหภาพโซเวียต ถึงขนาดที่อ่องซานเคยเขียนไว้ว่าเป็นหนี้ทางปัญญาต่อสตาลินรวมไปถึงผู้นำคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ที่อ่องซานได้อ่านและศึกษางานเขียนมา (ผู้เขียนอาจทำ content พม่า-รัสเซียแยกย่อยต่างหากในอนาคต) แต่อย่างไรก็ตามอ่องซานก็มิได้นำแนวคิดมาร์กซิสต์แบบเข้มข้นในลักษณะที่ต้องปฏิวัติโค่นล้มชนชั้นนายทุนและศักดินามาสมาทาน แต่ยึดเพียงแค่การปฏิวัติเพื่อขับไล่เจ้าอาณานิคมเป็นหลักเท่านั้น
ดร.บะมอว์ (ซ้ายสุด) ในการประชุมวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพากับจักรรวรรดิญี่ปุ่นและพันธมิตร
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นในปี 1939 ขณะนั้นวงของสงครามยังคงจำกัดอยู่ในโลกตะวันตก แต่สถานะของอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมก็เริ่มสั่นคลอน เปิดโอกาสให้บรรดากลุ่มชาตินิยมพม่ารวมตัวกันแข็งแกร่งมากขึ้น จึงมีการตั้งดร.บะมอว์ (Dr. Ba Mau) นักกฎหมายชื่อดังเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของกลุ่ม โดยอ่องซานเป็นเลขาธิการใหญ่ โดยทางกลุ่มได้เคลื่อนไหวผ่านการสไตรค์ทั่วประเทศ การขัดขืนไม่จ่ายภาษาไปจนกระทั่งการก่อความไม่สงบโดยนักรบกองโจร
ก่อนสงครามในฝั่งเอเชียจะเริ่มได้ไม่นาน อ่องซานได้เป็นตัวแทนจากฝั่ง “ถะขิ่น” เข้าร่วมการประชุมคองเกรสแห่งชาติของนักเคลื่อนไหวเอกราชอินเดียรวมไปถึงพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (ขณะนั้นพม่าถูกรวมเข้ากับอินเดีย) จึงได้พบกับมหาตมะ คานธี (Mohatma Gandhi) เยาวราล เนห์รู (Jaowaharlal Nehru) เป็นต้นและเมื่อกลับพม่าอ่องซานก็พบว่าบรรดาองค์กรถะขิ่นต่าง ๆ ต่างถูกปราบปรามจับกุมจนเหี้ยนฐานต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และตัวอ่องซานเองก็โดนตั้งค่าหัวไว้ 500 รูปีสำหรับใครก็ตามที่จับตัวอ่องซานได้ จึงต้องรีบลี้ภัยออกจากพม่า โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจจะไปขอความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ตัวอ่องซานเองบันทึกไว้ว่าการเดินทางไปในลักษณะปลายเปิด คือไม่ได้เจาะจงไปหาผู้ใดเป็นพิเศษ (เนื่องจากความเร่งรีบของการออกจากพม่า-ผู้เขียน) แต่แล้วเมื่อไปถึงจีนก็พบว่าถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นไปแล้ว และในที่สุดกลุ่มของอ่องซานก็ถูกจับโดยตำรวจลับญี่ปุ่นและมาตกล่องปล่องชิ้นกับญี่ปุ่นหลังได้รับการทาบทามให้เดินทางไปโตเกียวในที่สุด
อ่องซาน (ขวาสุด) กับพลพรรค 30 สหาย
ณ เวลานั้นกองทัพญี่ปุ่นกำลังมองหาผู้ที่จะเข้ามาช่วยการขยายอำนาจของญี่ปุ่นในพม่า พลตรีซูซูกิ เคอิจิ (Maj. Gen. Suzuki Keiji) นายทหารข่าวกรองระดับสูงของญี่ปุ่นได้แอบเดินทางเข้ามาในพม่าอย่างลับ ๆ ในฐานะนักข่าวพลเรือนจึงได้เริ่มติดต่อกับบรรดาสมาชิกถะขิ่น ในที่สุดความหวังของญี่ปุ่นก็ไปตกอยู่ที่อ่องซานและพวก เนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มมั่นใจในตัวอ่องซานว่าเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยแนวคิดการต่อต้านเจ้าอาณานิคมอย่างแท้จริง หลังจากที่อ่องซานก่อตั้งกลุ่ม 30 สหาย (30 Comrades) ญี่ปุ่นจึงเริ่มให้การฝึกฝนทั้งด้านการทหารและอุดมการณ์แบบอำนาจนิยม (ในแบบลัทธิทหารแบบญี่ปุ่น) ถึงขนาดที่อ่องซานเคยเขียนโมเดลทางการเมืองในอุดมคติว่า “หนึ่งรัฐ หนึ่งพรรค หนึ่งผู้นำ” ทางกลุ่ม 30 สหาย เช่น อ่องซาน เนวิน และเสะจา จึงเข้ารับการฝึกที่เกาะไหหลำเป็นเวลา 6 เดือนพร้อมกับได้รับยศพันโทและเตรียมเป็นผู้นำกองทัพประชาชนพม่าและผู้บริหารรัฐพม่าภายใต้การกำกับดูแลของญี่ปุ่นในเวลาต่อไป
เมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) อันเป็นจุดเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สองในฝั่งเอเชียแปซิฟิก กองทัพญี่ปุ่นก็ยาตราทัพบุกพม่าผ่านประเทศไทย สู้รบกับอังกฤษจนอังกฤษต้องถอยร่นเข้าไปทางอินเดีย อ่องซานจึงได้จัดตั้งกองทัพเอกราชแห่งพม่า (Burma Independence Army – BIA) ขึ้นที่กรุงเทพ ฯ ได้ทำพิธีถ่วย เถ่าก์ (Thwe Thauk) หรือดื่มเลือดสาบานกับสมาชิก 30 สหายคนอื่น ๆ ก่อนที่จะยาตราทัพเข้าพม่าและเข้าทำการควบคุมพื้นที่แนวหลังของญี่ปุ่นซึ่งยึดได้จากอังกฤษ ก็ปรากฏว่ามีการต่อต้านอย่างหนักจากพวกกะเหรี่ยง ชาติพันธุ์ที่ได้รับผลประโยชน์จากการปกครองของอังกฤษและถูกมองว่ากดขี่ชาวพม่าช่วงที่อังกฤษเข้ามา จนกองทัพ BIA ได้เข้าปราบปรามกะเหรี่ยงอย่างหนักถึงขนาดที่ญี่ปุ่นต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซง แยกมวยคู่นี้ออกจากกัน
ธงชาติพม่าในฐานะอาณานิคมอังกฤษ
ธงชาติพม่าในช่วงเป็นเอกราชสั้น ๆ จากการสนับสนุนของญี่ปุ่น เป็นต้นแบบของธงชาติพม่าในยุคปัจจุบัน
ธงชาติสหภาพพม่าหลังได้รับเอกราชในปี 1948
ในที่สุดเมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดย่างกุ้งได้ ก็ได้แต่งตั้งบรรดาถะขิ่นให้เป็นผู้บริหารประเทศพม่าภายใต้การกำกับดูแลของญี่ปุ่น โดยกองทัพ BIA ได้แปรสภาพเป็นกองทัพป้องกันพม่า (Burma Defense Army - BDA) โดยอ่องซานได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอก แม้กระนั้นญี่ปุ่นกลับตั้งดร.บะมอว์ เป็นผู้นำประเทศ โดยดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ (Head of State) โดยพันเอกอ่องซานเป็นรอนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้นำหมายเลขสอง เนื่องจากญี่ปุ่นมองเห็นศักยภาพในด้านความเป็นเผด็จการของดร.บะหม่อว์มากกว่า และน่าจะมองว่าจะเป็นผู้ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นได้มากที่สุด แม้ว่าดร.บะมอว์จะเป็นผู้กุมอำนาจบริหารสูงสุด แต่พันเอกอ่องซานก็เป็นผู้กุมอำนาจกองทัพพม่าทั้งหมดในมือเช่นกัน โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและผู้บัญชาการของทัพพม่า และเริ่มก่อร่างสร้างกองทัพตามแบบแผนของญี่ปุ่น มีลักษณะความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้เริ่มใช้สโลแกน "One Blood, One Voice, One Command" ซึ่งยังคงใช้มาจนปัจจุบัน ในช่วงนี้เองอ่องซานได้พบรักกับขิ่นจี ในขณะที่อ่องซานรักษาอาการบาดเจ็บจากการสู้รบ โดยขิ่นจีขณะนั้นเป็นพยาบาลอาวุโส และตกลงปลงใจแต่งงานกันในปีเดียวกัน
พลตรีอ่องซานในชุดนายทหารแบบญี่ปุ่นกับขิ่นจีภริยา หลังจากที่ทั้งคู่สมรสกัน
แม้ว่าในปี 1943 ญี่ปุ่นจะให้การรับรองรัฐพม่าเป็นเอกราชและจัดพิธีเฉลิมฉลองให้ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่ายิ่งอยู่ญี่ปุ่นยิ่งเข้ามาควบคุมการปกครองพม่ามากขึ้น ความเป็นรัฐหุ่นเชิดของพม่าชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดอ่องซานที่ได้รับการอวยยศเป็นพลตรีก็เริ่มคลางแคลงใจในจุดประสงค์ของญี่ปุ่น ในที่สุดปีถัดมา 1944 พลตรีอ่องซานก็จัดการประชุมลับระหว่างกองทัพพม่า พรรคคอมมิวนิสต์พม่า และพรรคประชาชนปฏิวัติร่วมกันก่อตั้งสันนิบาติประชาชนเสรีต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist People’s Freedom League (AFPPL)” ที่เมืองพะโคและตัดสินใจหักหลังญี่ปุ่นโดยเริ่มสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์และแสร้งจัดสวนสนามหน้าที่ทำการรัฐบาลพม่าก่อนที่จะถูกญี่ปุ่นส่งไปรบกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ในที่สุดในวันที่ 27 มีนาคม 1945 กองทัพของพันเอกอ่องซานกลับหันปืนเข้าหาฝ่ายญี่ปุ่นและโจมตีกองทัพญี่ปุ่นแทน จึงถือเอาวันนี้เป็นวันแห่งการลุกฮือและเป็นวัน “ตั๊ดมาด่อว” หรือวันแห่งกองทัพพม่า
นายพลอ่องซานกับครอบครัว โดยเด็กน้อยตาโตที่อยู่ตรงกลางด้านหน้าคืออ่องซานซูจี ผู้นำพรรค NLD
กองทัพอังกฤษได้ยาตราทัพเข้ากรุงย่างกุ้งและลอร์ด หลุยส์ เมาต์แบทแทน (Lord Louise Mountbatten) ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ให้การรับรองต่อกองทัพพม่าว่าเป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตรจนกระทั่งขับไล่ญี่ปุ่นออกไปได้และสงครามสิ้นสุดลงพร้อมความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น พลตรีอ่องซานแปรสภาพของทัพพม่าเป็นกองกำลังผู้รักชาติพม่า (Patriotic Burmese Force – PBF) และในภายหลังได้แปรสภาพเป็นองค์การประชาชนอาสา (People’s Volunteer Organization) ดูเหมือนจะแปรสภาพเป็นพลเรือนไปแล้ว แต่อันที่จริงก็ไม่ต่างอะไรกับทหารกองหนุนกว่าแสนนายที่พร้อมจะออกมาสู้รบตามคำสั่งของพลตรีอ่องซานตลอดเวลา
หลังสงครามอังกฤษได้กลับเข้ามาจัดระเบียบใหม่ในพม่า ในช่วงแรกผู้สำเร็จราชการมีแนวคิดความขัดแย้งกับพลตรีอ่องซาน ในที่สุดอังกฤษจึงเปลี่ยนผู้สำเร็จราชการเป็นคนใหม่เพื่อเจรจากับนายพลอ่องซาน ในขณะเดียวกันก็มีกุศโลบาย “แยกปลาออกจากน้ำ” ด้วยการทำการเจรจากับนายพลอ่องซานเองโดยตรง ทำให้ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยร่วมงานกับนายพลอ่องซานไม่พอใจและวิพากษ์วิจารณ์ในความร่วมมือกับอังกฤษอย่างรุนแรง ทำให้นายพลอ่องซานประกาศคว่ำบาตรพวกคอมมิวนิสต์ออกจาก AFPPL เป็นการตอบโต้
เคลเมนต์ แอตลี (ซ้าย) และนายพลอ่องซาน (ขวา) ในการประชุมร่วมกัน ณ กรุงลอนดอนว่าด้วยเอกราชของพม่าในปี 1947
ในที่สุดพลตรีอ่องซานก็ได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรีเคลเมนต์ แอตลีย์ (Clement Atlee) ของสหราชอาณาจักรให้เข้าหารือเกี่ยวกับเอกราชของพม่าที่กรุงลอนดอน โดยข้อเสนอต่อฝ่ายพม่าคือเอกราชที่สมบูรณ์โดยปราศจากการต่อสู้เรียกร้องไม่ว่าจะด้วยความรุนแรงหรือความสงบใด ๆ เพิ่มเติมและไม่มีเงื่อนไข หลังได้รับเอกราชพม่าจะจะดการเลือกตั้งในปี 1947 และมีสิทธิที่จะเข้าร่วมเครือจักรภพ (British Commonwealth) ตามแบบแคนาดาหรืออสเตรเลียหรือไม่ก็ได้ รวมไปถึงการถอนทหารอังกฤษและการร่างรัฐธรรมนูญต้องกระทำขึ้นโดยเร็วที่สุด อีกทั้งอังกฤษจะเป็นผู้รับรองให้พม่าเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่เพิ่งก่อตั้งสด ๆ ร้อน ๆ ด้วย
พลตรีอ่องซานขณะลงนามในข้อตกลงปางโหลงในปี 1947
หลังการเจรจากับฝ่ายอังกฤษเรียบร้อยดี พลตรีอ่องซานก็เดินทางกลับมาพม่าและจัดการประชุมปางโหลงครั้งที่สอง ซึ่งต่อยอดจากปางโหลงครั้งแรกที่ผลักดันโดยบรรดาเจ้าฟ้าสหพันธรัฐฉานที่เริ่มมองเห็นโอกาสที่พม่าจะได้รับเอกราชร่วมกันผลักดันในเรื่องนี้ไปได้โดยไว และจะได้หาลู่ทางการจัดสรรอำนาจระหว่างพม่าและรัฐชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ต่อไป ในการประชุมปางโหลงครั้งที่สองจัดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 โดยพลตรีอ่องซานตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกลางพม่าร่วมกับบรรดาเจ้าฟ้าสหพันธรัฐฉาน รัฐคะฉิ่นและรัฐชินได้ร่วมลงนามร่วมกันรวมกันเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อให้ได้รับเอกราชจากอังกฤษโดยสมบูรณ์ภายใต้ชื่อว่า “สหภาพพม่า” (Union of Burma) โดยมีหลักการใหญ่ ๆ คือการมีอำนาจปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ภายในรัฐสมาชิกต่าง ๆ การเงินคลังของรัฐต่าง ๆ รวมถึงสิทธิของพลเมืองรัฐต่าง ๆ จะต้องไม่ได้รับกระทบใด ๆ จากการรวมเป็นสหภาพในครั้งนี้ จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันก่อตั้งสหภาพพม่า
และแล้วการเลือกตั้งตามเงื่อนไขข้อตกลงอ่องซาน-แอตลีก็เกิดขึ้น พรรค AFPFL ของนายพลอ่องซานได้คะแนนเสียงถึง 176 ต่อ 210 เสียงที่สุดพลตรีอ่องซานก็จัดตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลเฉพาะกาลได้ตามลำดับ โดยนายพลอ่องซานได้เชิญให้ผู้นำกะเหรี่ยงหม่าน บา ไคง์ (Mahn Ba Khaing) ผู้นำสพันธรัฐฉานเจ้าสามตุ่น (Sao Hsam Htun) รวมไปถึงผู้นำมุสลิมทมิฬอับดุล ราซัก (Abdul Razak) เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีด้วย สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดแบบ Federalism ที่หมายถึงการยอมรับอำนาจทางการเมืองของผู้นำชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสถานะสถาบันทางการเมือง และมีอิทธิพลต่อการก่อตั้งพม่าสมัยใหม่หลังได้รับเอกราช
พลตรีอ่องซานกับกองกำลังทหารฝ่ายสัมพันธมิตร
ในที่สุดวันสุดท้ายในชีวิตของนายพลอ่องซานก็มาถึง เวลาเช้าตรู่ 10.30 น. ของวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 มือปืนสี่คนพร้อมปืนกลทอมสันขนาด .45 และปืนกลสเตนขนาด 9 มม.พร้อมระเบิดมือจำนวนหนึ่ง ได้ขับรถจี๊ปบุกเข้าไปในที่ทำการรัฐบาลขณะที่นายพลอ่องซานกำลังประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่โดยไม่มีใครกล้าขัดขวาง กลุ่มมือปืนได้เปิดฉากยิงทหารรักษาการณ์ด้านหน้า จากนั้นก็พังประตูเข้าไปยังห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และมือปืนก็ตะโกนสั่งขึ้นมา...
“ทุกคน นั่งลงให้หมด อย่าขยับ” ...
นายพลอ่องซานกลับทำตรงกันข้ามกับที่กลุ่มมือปืนสั่ง โดยได้ยืนขึ้นและ...
“ปั้ง”
เพียงเสี้ยววินาทีพลตรีอ่องซานก็ถูกยิงเข้าที่หน้าอกล้มลงเสียชีวิต จากนั้นกลุ่มมือปืนได้กราดยิงคณะรัฐมนตรีที่เหลือ...
“ปังปังปังปังปัง ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ...”
เสียงปืนกลแผดไปอีกราว 30 วินาทีก่อนที่มือปืนจะหลบหนีไป ทิ้งให้คณะรัฐมนตรีรวมนายพลอ่องซาน 9 รายนอนสิ้นชีพจมกองเลือดในห้องประชุม เหลือเพียง 3 คนเท่านั้นที่เพียงบาดเจ็บสาหัสแต่ก็รอดชีวิตมาจากวันนองเลือดนั้นได้
ภาพจำลองเหตุการณ์วันนองเลือดจากภาพยนตร์เรื่อง The Lady โดยมือปืนคนหน้าสุดกำลังถือปืนกลทอมสันขนาด .45 และมือปืนคนหลังสุดกำลังถือปืนกลสเตนขนาด 9 มม
นอกจากพลตรีอ่องซานแล้ว ผู้เสียชีวิตอีก 8 รายได้แก่ ถะขิ่น เมี้ยะ (Thakhin Mya) รัฐมนตรีลอย (รองนายกรัฐมนรีอย่างไม่เป็นทางการของอ่องซาน) เพื่อนของอ่องซาน บะโจ (Ba Cho) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสาร อับดุล ราซัก (Abdul Razak) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการชาวมุสลิมทมิฬ บะวิน (Ba Win) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าผู้เป็นพี่ชายคนโตของอ่องซาน หม่านบะไคง์ (Mahn Ba Khaing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมชาวกะเหรี่ยง เจ้าสามตุ่น (Sao Hsam Htun) เจ้าชายรัฐฉานผู้ประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางย่างกุ้งกับบรรดาเจ้าฟ้าสหพันธรัฐฉานในการโน้มน้าวให้เข้าร่วมสหภาพพม่าเพื่อเอกราชจากอังกฤษ โอน์ หม่อง (Ohn Maung) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่เพิ่งเดินเข้ามาในห้องก่อนการสังหารไม่นาน และโค เถว่ (Ko Htwe) บอดี้การ์ดวัย 18 ปีของอับดุล ราซัก โดยในทุกวันที่ 19 กรกฎาคมของทุกปีจะถือเป็นวันผู้เสียสละชีพแห่งพม่า (Burmese Martyrs’ Day) และถือเป็นวันหยุดราชการของพม่าจนถึงปัจจุบัน
อูซอว์ ขณะเตรียมถูกประมหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี 1948
ในวันเดียวกันอูซอ (U Saw) อดีตนายกรัฐมนตรีพม่าสมัยอาณานิคมอังกฤษก็ถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรม โดยตำรวจพบอาวุธปืนที่ใช้ในการก่อเหตุซุกอยู่หลังบ้านของอูซอ แม้ว่าอูซอจะปฏิเสธจนถึงที่สุดและแก้ต่างว่าปืนทั้งหมดที่พบเป็นการจัดฉากใส่ร้าย แต่ในที่สุดอูซอก็ตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เหตุหนึ่งที่น่าเชื่อได้ว่าอูซอมีส่วนรู้เห็นเนื่องจากเขาเป็นหนึงในตัวเต็งที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีพม่าหลังขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากพม่าได้สำเร็จ แต่กลายเป็นว่าผู้ว่าการพม่าชาวอังกฤษคนสุดท้ายเซอร์ ฮิวเบอร์ต แรนซ์ (Sir Hubert Rance) กลับสนับสนุนนายพลอ่องซานแทน อูซอจึงเสียผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามก็มีอีกหลายข้อสันนิษฐานที่มีลักษณะทฤษฎีสมคบคิดที่หาข้อสรุปไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ บ้างก็ว่ารัฐบาลอังกฤษมีส่วนรู้เห็นอย่างลับ ๆ (จากสารคดีของบีบีซีในปี 1997 หรือแม้กระทั่งการกล่าวหาอูนุ (U Nu) นายกรัฐมนตรีผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากนายพลอ่องซานของนายพลจอซอ (Kyaw Zaw) อดีตนายพลพม่าผู้ลี้ภัยอยู่ที่ยูนนาน และอื่น ๆ อีกมากมาย
ถึงที่สุดแล้วแม้พลตรีอ่องซานจะสิ้นชีพตั้งแต่อายุเพียง 32 ปี และไม่ได้มีชีวิตอยู่จนได้เห็นพม่าเป็นเอกราชในปี 1948 ปีถัดมาแต่นายพลอ่องซานก็กลายวีรบุรุษของชาติในใจคนพม่า และกลายเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่หลอมรวมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวพม่ามาจนทุกวันนี้
Sources:
Kyaw Zwa Moe. "Who Killed Aung San?" The Irrawaddy. July 17 2017.
https://www.irrawaddy.com/from-the-archive/who-killed-aung-san.html
Lintner, Bertil. Burma in Revolt: Opium and Insurgency Since 1948. Chiang Mai, Thaiand: Silkworm Books. 2003.
Smith, Martin (1991). Burma - Insurgency and the Politics of Ethnicity. London and New Jersey: Zed Books.
Robert H. Farquharson (2004). For Your Tomorrow: Canadians and the Burma Campaign, 1941–1945. Trafford.
Aung Zaw. "Rewards of Independence Remain Elusive". The Irrawady. 3 January 2018. Retrieved 5 September 2020.
Thant Myint-U. The River of Lost Footsteps: A Personal History of Burma. London: Faber and Faber Limited. 2008.
www.rbth.com
Image Sources:
www.bbc.com
www.wikipedia.org
#aungsan #generalaungsan #burma #unionofburma #historyofburma
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย