ส่อง 7 เทรนด์ผู้บริโภคปี 2564 ที่ผู้ประกอบการต้องฟัง
เข้าปี 2564 มาได้เดือนกว่าๆแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป จากเริ่มแรกเป็นวิถีชีวิตแบบ New Normal ไปสู่ Next Normal ชีวิตวิถีถัดไปหลังโควิด บรรดาธุรกิจต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ใครที่ปรับตัวได้ทันต่อเหตุการณ์ก็จะรอดพ้นจากวิกฤตได้ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
รายงานล่าสุดโดยผู้บริหารสูงสุด (Global Managing Partner) ของ สถาบัน Mckinsey Global Institute ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์กและสำนักงานอีก 74 แห่งใน 38 ประเทศ ได้หยิบยกตัวอย่างความสำเร็จในการปรับตัวของภาคธุรกิจทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น อัตราการใช้ e-Commerce ของร้านค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่เคยคาดว่าต้องใช้เวลาอีกห้าปีจึงจะแตะระดับ 24% แต่กลับพุ่งสูงถึง 33% ได้สำเร็จตั้งแต่กลางปีก่อน สำหรับประเทศยุโรปที่การใช้งานดิจิทัล หรือ digital adoption ในภาพรวมสูงอยู่แล้วถึง 81% ก่อนโควิด ทะยานขึ้นไปถึง 95% ขณะที่ห่วงโซ่การผลิตได้ก้าวเข้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มที่ ทั้งการวิเคราะห์ใช้ข้อมูลประกอบการดำเนินธุรกิจ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร การใช้หุ่นยนต์ขั้นสูง รวมถึงการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งล้วนแต่ได้รับการกระตุ้นจากการดำเนินการภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดทั้งสิ้น พัฒนาการเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว และชดเชยได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนต่างต้นทุนแรงงานระหว่างการเลือกผลิตในสหรัฐฯและจีน จึงช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตของตนที่ตั้งอยู่ในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มาดูทางด้านผับริโภคกันบ้าง มินเทล (Mintel) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตอบคำถามที่ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร และ ทำไม ในฐานะบริษัทชั้นนำของโลกด้านข้อมูลตลาด Mintel ได้ทำการวิเคราะห์ผู้บริโภค ตลาด ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และทิศทางของการแข่งขัน พร้อมนำเสนอมุมมองด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับสากลในรูปแบบที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร นับตั้งแต่ปี 1972 หรือ 2515 คำวิเคราะห์เชิงคาดการณ์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของมินเทลได้ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำและฉับไว จุดประสงค์ของมินเทลคือการช่วยให้ธุรกิจและผู้คนเติบโตไปด้วยกัน
ล่าสุด ได้เผยแพร่แนวโน้มของกลุ่ม ผู้บริโภคทั่วโลกประจำปี 2564 พร้อมทั้งนำเสนอรายงานการวิเคราะห์และรายละเอียดการตลาดเชิงลึก ชี้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของตลาดตามแต่ละช่วง นวัตกรรมของแบรนด์ต่าง ๆ และโอกาสการพัฒนาบริษัท รวมไปถึงแบรนด์ต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้านี้
โดยเทรนด์ของผู้บริโภคปี 2564 ประกอบด้วย 7 เทรนด์ดังนี้
· นิยามใหม่ของสุขภาพดี: ผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังมองหาวิธีที่จะสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีให้กับตัวเองมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงพยายามใช้ชีวิตอย่างสมดุล และต้องการความรู้สึกอุ่นใจ รวมถึงการใช้ชีวิตที่มีระเบียบแบบแผน
จากการที่ความเป็นอยู่ที่ดีเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผู้บริโภคคำนึงถึง แต่ในโลกนี้ก็ไม่เคยมีใครจัดทำคู่มือการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบมาก่อน ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของแบรนด์ที่จะใช้โอกาสนี้เพื่อนำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีแก่ผู้บริโภค
สำหรับแบรนด์ใดที่ตั้งเป้าจะปรับภาพลักษณ์และโครงสร้างธุรกิจใหม่ มินเทลมองว่า วิธีการที่จะดึงดูดผู้บริโภคนั้นไม่ใช่การเน้นขายสินค้าและบริการเพียงอย่างเดียว แต่แบรนด์ควรสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภค เพื่อให้พวกเขาเห็นถึงความสำคัญของคุณค่าภายในตนเอง และพลังที่ผลักดันให้มนุษย์กล้าลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
· ฟังเสียงจากผู้บริโภค: มินเทลวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคทั่วโลกต่างออกมาให้การสนับสนุนและผลักดันในประเด็นด้านความเสมอภาค สิทธิ และหน้าที่ เพื่อที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงในสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ความคิดส่วนรวมในสังคม (Collective Mentality) ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นได้กระตุ้นทัศนคติของผู้บริโภคให้เห็นถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ยังได้เกิดขึ้นกับสังคมที่มีวัฒนธรรมความเป็นปัจเจกสูง (Traditional individualistic culture) อีกด้วย โดยกระแสดังกล่าวได้ส่งเสริมให้มนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนผิวสี (Black Lives Matter Movement) และการเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก (Global Climate Strike) นับได้ว่าเป็นการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งกับมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมบนโลก
ฉะนั้น มินเทลจึงให้คำแนะนำว่า แบรนด์จึงควรก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการพูดถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม การเพิกเฉยต่อปัญหาต่างๆ ในสังคมอาจเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของแบรนด์ได้
· ลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนไป: สถานการณ์คือ ผู้บริโภคเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างแท้จริง โดยมองถึงความเป็นอิสระจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ อันเป็นการสร้างนิยามใหม่สำหรับทัศนคติของการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังพบเจอกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและต้องปรับตัวอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคในปัจจุบันจึงได้เริ่มตระหนักและสำรวจการใช้จ่ายของตน พร้อมควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่จำเป็น ซึ่งสรุปได้ว่า ผู้บริโภคเหล่านี้ไม่ได้มองหาแค่ความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่พวกเขายังคิดไปถึงเรื่องของความปลอดภัย การป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดตามมา รวมถึงความทนทานของผลิตภัณฑ์และคุณภาพบริการต่างๆ อีกด้วย
มินเทลกล่าวว่า นี่จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ ที่จะสร้างและปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนให้เป็นไปตามเทรนด์ดังกล่าว เพื่อพิสูจน์ว่า แบรนด์สามารถมอบสิ่งที่คุ้มค่าและให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้บริโภคได้
· เดินหน้าไปด้วยกัน: ผลจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคและชุมชนต่างๆ เริ่มหันมาร่วมมือและช่วยเหลือกันและกัน
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มโหยหาการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมโลกมากกว่าที่เคย อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนในอีกหลายประเทศที่ต้องต้องกักตัวในที่พักอาศัย หรือเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งในจุดนี้ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง
ทัศนคติและความเข้าใจถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะความโดดเดี่ยวได้ ซึ่งนี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ต่างๆ ที่จะนำเสนอวิธีการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์สู่ผู้บริโภค
· ชีวิตเสมือนจริง: การเว้นระยะห่างในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการแสวงหาสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตหลีกหนีจากความเครียด และเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ชีวิตของผู้บริโภคยุคปัจจุบันต้องเกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องได้เปลี่ยนแปลงประสบการณ์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค นอกจากนี้ การรับชมสื่อบันเทิงในรูปแบบดิจิทัลยังสามารถสร้างพลังบวกและเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้าด้วยกัน
ความนิยมของเกมส์และ E-Sports นับเป็นโอกาสของธุรกิจแบรนด์จากตลาดต่างๆ ที่จะร่วมจับมือกันสร้างไอเทมพิเศษในเกมส์ผ่านการสร้างสรรค์ออกแบบเกมส์ หรือขายสินค้าควบคู่ไปกับเกมส์อีกที
· พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความยั่งยืน: การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยเริ่มหันมาเน้นการอยู่แบบยั่งยืนมากขึ้น
การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในปัจจุบันง่ายกว่าสมัยก่อนหลายเท่า ทำให้ผู้บริโภคต้องการที่จะเห็นความโปร่งใสจากแบรนด์ที่พวกเขาใช้บริการ รวมไปถึงวิธีการที่แบรนด์ต่างๆ วางแผนรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืน
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคตระหนักถึงปัญหาที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ นี่จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ที่จะสร้างและพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค อาทิ การเน้นการผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเหลือชุมชน การสนับสนุนสังคมเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ดีขึ้น
· วิกฤตการณ์จากสื่อดิจิทัล: ถึงแม้ว่าการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลจะส่งผลประโยชน์มากมายในการดำเนินชีวิต ผู้บริโภคในปัจจุบันต่างเริ่มหันมาสนใจในเรื่องของผลกระทบด้านลบจากการใช้สื่อดิจิทัลกันมากขึ้น
ในยุคแห่งความไม่แน่นอน เทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นที่จะช่วยจรรโลงจิตใจแก่ผู้บริโภค เป็นที่รู้กันว่า เทคโนโลยีถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเราให้ดีขึ้น ถึงกระนั้น การพิจารณาบทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีต่อความรู้สึกของผู้บริโภคก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรจะศึกษาวิจัยไว้
E-Commerce และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบัน ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ ควรที่จะใช้ประโยชน์จากความสามารถของเทคโนโลยีในโลกดิจิทัล เพื่อมาวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่น่าเชื่อถือและต่อเนื่องแก่ผู้บริโภคได้
จากนี้ไป ไม่ใช่เรื่องการมาของเทคโนโลยีแล้ว แต่จะเป็นการดำรงชีวิตต่อไปของคนในสังคม เพื่อความอยู่รอดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบ จึงทำให้ต้องมีการปรับตัวจนกลายเป็นวิถีชีวิต จากนี้ไปคงต้องดูว่าทางผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ จะงัดกลยุทธ์อะไรออกมาบ้างจากเทรนด์ทั้ง7 นี้ เพื่อเข้าไปครองใจผู้บริโภคอีกครั้ง การตลาดแบบเดิมๆ คงใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ที่มาและภาพ