Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
15 ก.พ. 2021 เวลา 23:38 • ท่องเที่ยว
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
“วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” หรือ “วัดราชโอรส” .. เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชวงศ์จักรี เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาเดิมชื่อ “วัดจอมทอง”
ในสมัยรัชกาลที่ 2 … เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ขณะทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเป็นจอมทัพไปตั้งทัพสกัดทัพพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรีใน พ.ศ. 2363
เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทอง ฝั่งธนบุรีทรงหยุดพักประทับแรมที่วัดนี้ พร้อมกับทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม ที่หน้าวัดนี้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพ พร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปราชการทัพครั้งนี้ได้ชัยชนะ
หลังจากทรงเลิกทัพกลับพระนคร พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่และถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดราชโอรส’ อันหมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา
ครั้นเมื่อถึงนยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว .. เป็นยุคสมัยที่ว่างเว้นจากสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน การค้าขายกับชาวจีนเฟื่องฟู จนภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา .. มีการสร้างซ่อมวัดขึ้นมากมายทั้งโดยพระมหากษัตริย์และขุนนาง รวมถึงการสร้างงานศิลปกรรมแนวใหม่ขึ้นมาด้วยการนำศิลปะจีนเข้ามาผสมผสาน และวัดที่สร้างภายใต้แนวคิดนี้เป็นแห่งแรกๆ นั่นก็คือ ‘วัดราชโอรสาราม’ วัดประจำรัชกาลที่ 3 นั่นเอง
แผนผังของวัด .. มีการนำแผนผังแบบฮวงจุ้ยจีนเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก โดยพระอุโบสถเป็นอาคารประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นคลอง ด้านหลังเป็นวิหารพระนอนขนาดใหญ่ ขนาบสองข้างด้วยวิหารพระนั่งและศาลการเปรียญ
ซุ้มประตูแบบจีน .. มีเจดีย์โบราณทรงถะแบบจีนขนาบ 2 ข้าง แต่ยังมีการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์ที่มุมกำแพงอยู่ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานขนบแบบใหม่เข้ากับขนบแบบเก่าได้อย่างลงตัว
พระอุโบสถซึ่งเป็นอาคารประธาน .. มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมผสมระหว่างไทย และจีน หลังคาเป็นแบบจีนแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันก่ออิฐแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคล ไม่ว่าจะเป็นแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูง
ตอนล่างเป็นภาพทิวทัศน์มีบ้านเรือน ภูเขา ต้นไม้ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
.. ล้อมรอบพระอุโบสถ คือ ซุ้มเสมาทรงเกี้ยวซึ่งเป็นอีกหนึ่งประดิษฐกรรมใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน
ทวารบาล ... เป็นตุ๊กตากระเบื้องเคลือบขนาดใหญ่ แทนการแกะสลักหรือวาดบนบานประตู
ดูจากลายเสื้อซึ่งเป็นลายมังกรของตุ๊กตากระเบื้องเคลือบสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นรูปเยาวกษัตริย์ของจีน ส่วนบานประตูด้านในวาดเป็นเซี่ยวกางหรือทวารบาลจีนโดยที่ด้านนอกเป็นบานประตูประดับมุกรูปมังกรดั้นเมฆ ซึ่งเป็นการใช้ทวารบาลซ้อนกันสองชั้น
บานประตูด้านนอกพระอุโบสถ ลงรัก ประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆ ล้อมกรอบด้วยลายดอกเบญจมาศสลับลายอาวุธจีน ด้านในเขียนรูปทวารบาลแบบจีน
เหนือช่องกรอบประตูหน้าต่างมี ‘กระจกโบราณ’ เป็นกระจกเงา ซึ่งเป็นสิ่งมงคลและให้ความสว่างไสว กรอบกระจกฉลุสลักลวดลายและทำเป็นรูปหน้าปัดนาฬิกาและลวดลายต่างๆ หลายรูปแบบอย่างสวยงาม ติดไว้ช่องละ ๓ แผ่น
ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร” .. พระพุทธรูปปางสมาธิประทับภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร
พระมหาเศวตฉัตรองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานเมื่อ พ.ศ. 2504
.. เนื่องจากที่บริเวณผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปองค์นี้มีรูปปราสาทอันเป็นตราแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและศิลาจารึกดวงพระชันษาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำมาบรรจุเมื่อ พ.ศ. 2397 พร้อมกับการถวายพระนามให้พระพุทธรูปองค์นี้
ผนังภายในของพระอุโบสถ … ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังลายเครื่องตั้งเครื่องมงคลอย่างจีน บางช่วงมีความหมายในการให้พร ฮก ลก ซิ่ว ตามคติของจีน
บนเพดานเขียนดอกเบญจมาศ ทองบนพื้นสีแดง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แตกต่างจากการใช้ภาพทศชาติชาดกบ้าง พุทธประวัติ และสิ่งนี้ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่สามนี่เอง
บริเวณผนังระหว่างประตูหน้าต่างจะวาดเป็นภาพตำหนักจีนแทน บางช่องมีภาพเทพเจ้าจีนด้วย เช่น นาจา แม้แต่เจ้าแม่กวนอิมก็มี
ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งในศิลปะไทย ที่มีการผสมผสานศิลปะไทย กับศิลปะจีน ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง และองค์พระประธานภายในอุโบสถได้อย่างลงตัว เป็นต้นแบบของความร่วมสมัยผสมผสานของคนโบราณ
ความงดงามของงานจิตรกรรมศิลปะแบบจีนบางส่วน ภายในพระอุโบสถ
ภายนอกพระอุโบสถก็ยังมีสิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ พระแท่นที่ประทับของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อทรงเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้าง บูรณปฏิสังขณ์วัดแห่งนี้
ศาลาราย ..
เจดีย์ทรงถะจีนแปดเหลี่ยม (สถูปเจดีย์) ... อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นสถูปแบบจีน มีทรงเหลี่ยมซ้อนกัน ๕ ชั้น ยอดเป็นรูปทรงน้ำเต้า ถัดมาเป้นทรงเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ
.. ในแต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นช่อง เว้นระยะโดยรอบ ถะ หรือ สถูปองค์นี้ ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทึบ ภายนอกเป็นแผ่นหินอ่อนสลักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และลวดลายปะติดไว้ด้านนอก
สุสานพระธรรม ... อยู่ข้างถะ (สถูปเจดีย์หิน) มีลักษณะเป็นเก๋งจีนเรือไฟหิน ใช้สำหรับเผาพระคัมภีร์หรือข้อเขียนทางพระพุทธศาสนา ภายในสุสานพระธรรมประดิษฐานพระพุทธรูปแบบจีนหินสลักนูนจากแผ่นศิลา
ซุ้มเสมาทรงเกี้ยว ... ซุ้มเสมาที่ทำรูปแบบลักษณะซุ้มคล้ายอย่าง “เรือนเกี้ยว” เป็นแบบแผนซุ้มเสมาที่เริ่มนิยมมาตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา โดยซุ้มเสมานี้สร้างขึ้นด้วยหินอ่อน มีใบเสมา ๒ ใบ เรียกว่าเสมาคู่
กำแพงด้านนอกของระเบียงคด (พระระเบียงคด) .. ที่มีแผ่นแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาและตำราหมอนวด ติดเป็นระยะๆ จำนวนทั้งสิ้น ๙๒ แผ่น คล้ายกับที่พบที่วัดโพธิ์ แม้จะไม่เท่ากับวัดโพธิ์แต่ก็มีมากพอสมควร
ประตูสี่เหลี่ยมแต่ทำกรอบทรงกลม ... เป็นทางเข้าสู่วิหารพระนอนที่สวยมาก ซึ่งเชื่อกันว่าจะนำสิ่งดีงามให้แก่ผู้ที่ผ่านประตูนี้เข้ามาครั้นเมื่อเข้าไปด้านในแล้ว
แนวระเบียงคดรอบพระวิหาร .. เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจากหลากหลายสมัยที่รวบรวมลงมาจากหัวเมืองตั้งแต่ต้นกรุง ล้อมรอบชั้นที่ 2 คือแถวเจดีย์จำนวน 32 องค์
.. ซึ่งเมื่อรวมกับพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ก็จะกลายเป็นตัวเลข 33 ทันที ตัวเลข 33 นี้มีจำนวนเท่ากับของเทวดาทั้งหมด 33 องค์ รวมพระอินทร์ด้วย ดังนั้น พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นเหมือนการจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในอีกวิธีหนึ่ง
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์มีลักษณะภายนอกคล้ายกับพระอุโบสถ แต่หน้าบันมีการประดับน้อยกว่าพระอุโบสถและไม่ได้ใช้กระเบื้องเคลือบแต่ใช้ปูนปั้นแล้วทาสีหรือเคลือบในเวลาต่อมาแทน โดยมีการทำรูปไก่ในกรอบวงกลมกลางหน้าบันเข้าไปด้วย
บริเวณบันไดทางขึ้นพระวิหาร มีแผงกระเบื้องเคลือบกังไสแบบจีน ภายในมีตุ๊กตาที่คงจะแสดงถึงเรื่องราวต่างๆ น่าเสียดายที่หักพังไปมากแล้วจนไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเรื่องอะไร
ภายในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ... ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ปั้น รัชกาลที่ ๔ ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จสรรเพชญพุทธบพิตร”
… เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีสัดส่วนงดงามมาก วัดความยาวจากพระบาทถึงเปลวพระรัศมีได้ ๒๐ เมตร สูง ๖ เมตร พระเขนยสี่เหลี่ยม ใต้พระเศียรซ้อน ๗ พระเขนยลงรักปิดทองประดับกระจกสีฐานชุกชีประดับลวดลายสวยงาม ชั้นบนประดับปูนปั้นลายกลีบบัวรวนกลีบยาวติดกระจกสี
2
ที่พระบาทมีการทำลวดลายมงคล 108 ประการที่พระบาทแบบเดียวกับพระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ แต่วัดราชโอรสใช้เทคนิคลายรดน้ำ ส่วนวัดโพธิ์ใช้เทคนิคฝังมุก
บานประตู และบานหน้าต่างด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้นที่เรียกว่า กระแหนะ เป็นรูปเลี้ยวกางแบบไทย แทนลายเทพนม ยืนอยู่บนประแจจีน ประดับด้วยแจกันดอกเบญจมาศและพานผลไม้ เช่น ทับทิม ส้มมือ ลิ้นจี่ มังคุด และน้อยหน่า เป็นต้น
บานหน้าต่างด้านนอก
บานหน้าต่างของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ทำเป็นรูปไม้ดัดและนก ซึ่งเป็นการวาดภาพบนหน้าต่างแนวใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำที่นี่เป็นที่แรกๆ เช่นกัน
บานประตู
เพดานพระวิหารเขียนลายดอกเบญจมาศ นก และผีเสื้อ สีสวยงาม และหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องสีเป็นลายดอกเบญจมาศและรูปสัตว์มงคลของจีน เช่นเดียวกับหน้าบันพระอุโบสถ
พระพุทธรูปภายในวิหารพระนอน
รอบๆลานพระวิหารมีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองประดิษฐานอยู่ ๓๒ องค์
วิหารพระยืน ... อยู่ทางฝั่งซ้ายของพระอุโบสถ เดิมเคยเป็นอุโบสถของวัดจอมทอง วัดดั้งเดิมสมัยอยุธยาก่อนจะมาเป็นวัดราชโอรสนั่นเอง และนับเป็นส่วนที่เก่าที่สุดของวัดราชโอรสในปัจจุบัน ด้านในมี 2 ห้อง
ห้องด้านหน้าของวิหาร ... เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนกลางศิลปะแบบอู่ทอง อันเป็นที่มาของชื่อวิหารพระยืน
ส่วนห้องด้านในมีกลุ่มพระพุทธรูปสมัยอยุธยาหลายองค์หลากยุค โดยมีองค์ใหญ่สุดตรงกลางเป็นองค์ประธาน
ศาลาการเปรียญหรือวิหารพระนั่ง .. อยู่ทางฝั่งขวาของพระอุโบสถ
พระประธานในศาลาการเปรียญ ... เป็นพระพุทธรูปปั้นปางประทาน พระธรรมเทศนา พระหัตถ์ซ้ายถือตาลปัตร คือ “พระพุทธชัยสิทธธรรมนาถ” ซึ่งเป็น “พระชัยวัฒน์” ขนาดใหญ่
นอกจากนี้ภายในศาลาการเปรียญยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง สลักจากหิน นอกจากนี้ยังมีลวดลายเครื่องตั้งแบบเดียวกับจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถบนหน้าต่าง
“วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และติดคลองบางหว้า ทางด้านทิศเหนือของวัด เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
Ref : ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก
https://readthecloud.co/wat-ratchaorasaram/
http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchaorasaram.php
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
https://www.blockdit.com/articles/5ed837f5713f890cbc088ac4
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
https://www.blockdit.com/articles/5ed8465d713f890cbc132687
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
https://www.blockdit.com/articles/5ed8441c0024840cc1e31ced
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
https://www.blockdit.com/articles/5f161f1bb7bdf70c95b475ad
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
https://www.blockdit.com/articles/5ed840e00024840cc1e10415
สถานีความสุข by Supawan
https://www.blockdit.com/articles/5f0fd42e3131f20c9047d46f
บันทึก
6
4
9
6
4
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย