16 ก.พ. 2021 เวลา 02:14 • ประวัติศาสตร์
ออนนา-บูเกอิชาซามูไรหญิง
เมื่อพูดถึงนักสู้ผู้กล้าแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะรู้จักกันแต่ “ซามูไร” เหล่าจอมยุทธบุรุษเพศ หากทว่าจริงๆแล้วก่อนหน้าการกำเนิดของซามูไรมาช้านานนั้น ได้มีกลุ่มสตรีญี่ปุ่นที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนการใช้อาวุธอย่างเจนจัดสำหรับการต่อสู้ป้องกันถิ่นที่อยู่ของพวกตนที่ขาดแคลนนักสู้ผู้ชาย พวกเธอได้รับการขนานนามว่า “ออนนา-บูเกอิชา” ความสามารถในการสู้รบนั้นเทียมเท่าซามูไรชาย แม้กระทั่งอาวุธประจำกายก็มีการออกแบบให้เหมาะสมกับสรีระอันบอบบางของสตรีเพศ เรียกกันว่า “นางินาตะ” ลักษณะคล้ายง้าว คือมีด้ามยาวและปลายมีดาบเรียวโค้งคมกริบ พวกเธอสามารถรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับซามูไรชาย และได้รับมอบหมายหน้าที่ภารกิจที่เหมือนกัน
หนึ่งในตำนานวีรสตรีซามูไรรุ่นแรกๆได้แก่ จักรพรรดินี
จินกุ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงค.ศ.169-269 สวามีของจินกุคือจักรพรรดิ
ชูอาอิ ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ ๑๔ ของญี่ปุ่น ชูอาอินำทัพบุกเกาหลีในปีค.ศ.200 แต่ก็พลาดท่าเสียทีถูกปลงพระชนม์ในการศึก
แม้จะเป็นสตรีเพศซึ่งในครั้งกระโน้นถือเป็นประเพณีว่าผู้หญิงเป็นรองผู้ชาย ไม่มีบทบาท
อันใด ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน หากทว่าด้วยความที่มีฝีมือในการยุทธและจิตใจเข้มแข็ง กองทัพญี่ปุ่นจึงยอมรับให้เธอเป็นผู้นำทัพต่อแทน ซึ่งจินกุก็สามารถพิชิตเกาหลีได้ เธอปกปักดินแดนมาตุภูมิจนมีความมั่นคง และในกาลต่อมาถึงค.ศ.1881 อดีตจักรพรรดินีก็ได้รับการชื่นชมบูชาด้วยการพิมพ์ภาพเธอไว้บนธนบัตร นับเป็นสตรีญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับการเชิดชูเยี่ยงนี้ เกียรติประวัติของจินกุได้รับการจารึกไว้ตลอดกาล
ล่วงมาถึงช่วงปี ค.ศ.1180-1185 ได้เกิดศึกเกนเปอิ ระหว่างสองตระกูลใหม่ที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่นคือ ตระกูลทาอิรากับมินาโมโต โดยตำนานเฮอิเกโมโนกาตาริที่นิพนธ์ขึ้นเพื่อจารึกถึงเหตุการณ์ความห้าวหาญของเหล่าซามูไรได้ระบุว่า ขุนศึกสำคัญในสงครามครั้งนี้ได้แก่ซามูไรสตรีนามว่า
โตโมเอะ โงเซน เธอเป็นลูกน้องของ มินาโมโตะ โนะ โยชินากะ
โดยในปีค.ศ.1184 เธอนำซามูไร ๓๐๐ คน เข้าต่อสู้กับทหารฝ่าย
ทาอิรา ๒,๐๐๐ คนอย่างห้าวหาญ และเธอเป็น ๑ ใน ๕ คนที่รอดชีวิตมาได้จากศึกครั้งนี้ ในปีถัดมา โตโมเอะได้นำทัพเข้าปะทะอริตระกูลมูซาชิ บุกตะลุยฝ่านักรบที่แข็งแกร่งสุดๆเข้าไปตัดหัวโมโรชิเกะขุนทัพฝ่ายตรงข้ามได้อย่างน่าตื่นตะลึง
 
ในตำนานเฮอิเกได้กล่าวถึงเธอว่า “โตโมเอะ โงเซน เป็นสาวแสนสวย ผิวขาวผุดผ่อง ผมยาวสลวย จัดว่ามีเสน่ห์อย่างยิ่ง เธอมีความชำนาญในการใช้ธนูอย่างฉกาจฉกรรจ์ และในฐานะนักดาบสตรี เธอก็มีคุณค่าเทียบเท่าซามูไรพันคนนั่นเทียว เธอพร้อมที่จะต่อกรกับผู้ใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นมารหรือเทพ ทั้งบนหลังอาชาหรือว่ายืนสองเท้าบนพื้นดิน เธอบังคับม้าศึกได้อย่างแคล่วคล่อง ไม่ว่าจะเป็นในการศึกใด โยชินากะผู้เป็นนายจะส่งเธอเป็นแม่ทัพหน้าเสมอ ในชุดเกราะแข็งแกร่งกับดาบเล่มใหญ่กว่าปกติ รวมทั้งธนูคู่มือ เธอก็เปรียบประดุจจอมทัพเหนือกว่าขุนศึกใดๆ”
ความเก่งกาจของโตโมเอะ โงเซน ทำให้ชื่อของเธอมีอิทธิพลประทับใจในสำนักฝึกวิทยายุทธทั่วไป มีภาพเขียนของเธอปรากฏทุกแห่ง และได้มีการนำเรื่องของเธอไปทำบทละครหลายหลาก
ตำนานเฮอิเกยังได้กล่าวต่อไปถึงมณฑลภาคตะวันตกของญี่ปุ่นซึ่งปกครองโดยโชกุนตระกูลกามากูระ (ค.ศ.1185-1333) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย มินาโมโต โนะ ยูริโตโม ทั้งนี้หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว โฮโจ มาซาโกะ ผู้เป็นภริยาและมีวิทยายุทธ ก็ได้เป็นออนนา-บูเกอิชา ซามูไรหญิงคนแรกที่ได้มีอิทธิพลต่อการปกครอง เธอได้บวชเป็นชีในพระพุทธศาสนาอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของแม่ม่ายซามูไร ทว่าโฮโจก็ยังคงกุมอำนาจทางการเมือง และส่งให้บุตรชายสองคนของเธอได้ครองตำแหน่งโชกุนสืบทอดต่อกันมา
ตลอดช่วงการกุมอำนาจของโฮโจ มาซาโกะ ได้มีการออกกฎหมายใหม่ๆเกี่ยวกับสิทธิสภาพของสตรี ที่ให้มีความเสมอภาค
เท่าเทียมบุรุษ แม้ว่าหน้าที่หลักๆของผู้หญิงยังคงเดิม คือดูแลกิจการบ้านช่อง แต่ก็อนุญาตให้
เลี้ยงบุตรในวิถีทางของนักสู้ซามูไรได้ นอกจากนี้ในยามศึกสงคราม สตรีซามูไรก็มีหน้าที่ออกสู้รบพิทักษ์แผ่นดินเช่นเดียวกับบุรุษ
ครั้นล่วงมาถึงยุคเอโดะ
(ค.ศ.1800-1868) ได้เริ่มมีอิทธิพลจากปรัชญาของขงจื๊อเข้ามาครอบคลุมญี่ปุ่น ซึ่งลัทธินี้ให้ความสำคัญต่อความอ่อนน้อมและชีวิตสงบสุขของครอบครัว บทบาทของซามูไรสตรีออนนา-บูเกอิชาจึงถูกลดลงไปอย่างมาก พวกเธอไม่มีส่วนร่วมในการศึกสงคราม บรรดาลูกสาวของชนชั้นสูงซึ่งเคยได้รับการอบรมให้เป็นผู้มีใจห้าวหาญ ไม่หวาดเกรงต่อผู้ใด ก็แปรเปลี่ยนเป็นถูกสอนให้สงบเสงี่ยมสุภาพ และอยู่ในโอวาทของผู้ปกครอง
จากกฎเกณฑ์ธรรมเนียมประเพณีใหม่นี้เอง ทำให้ตลอดช่วงสมัยเอโดะผู้หญิงทั้งหลายไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนโดยลำพังได้อีกต่อไป เธอจะต้องมีบุรุษร่วมเดินทางคอยปกป้องคุ้มครอง จะคิดอ่านทำอะไรก็ต้อง
ได้รับอนุญาตเสียก่อน แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีก็แปรเปลี่ยน มิใช่ฉันเพื่อนร่วมชีวิต หากแต่เป็นนายกับบ่าว
“แม้กระทั่งการนอน ก็มิได้นอนร่วมห้องกันดั่งที่เคยเป็นมา สามีจะเข้ามาหาเธอเมื่อเขามีความต้องการทางเพศ เมื่อเสร็จกิจแล้วเขาก็จะกลับไปยังห้องนอนของตนเอง”
จนกระทั่งปลายยุคเอโดะ ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างตระกูลโชกุนโตกูงาวะกับฝ่ายราชสำนักของจักรพรรดิ และเกิดศึกสงครามขึ้นในปี 1868 เรียกว่า “สงครามอาอิสุ” โดยมีกลุ่มซามูไรหญิงจำนวน ๒๐ คน นำโดย
นากาโนะ ทาเกโกะ ร่วมกับซามูไรชาย ๓,๐๐๐ คน ทำการรบต่อต้านเหล่าทหารจำนวน ๒๐,๐๐๐ คนจากฝ่ายราชสำนักที่บุกเข้ามาโจมตีตระกูลอาอิสุ
ทาเกโกะขณะนั้นอยู่ในวัยเพียง ๒๑ ปี แต่ได้รับการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธมาตั้งแต่เด็กโดยมีบิดาซึ่งเป็นขุนนางให้การสนับสนุน เธอนำกองรบหญิง
โจชิตาอิเข้ารบเคียงไหล่กับซามูไรอย่างกล้าหาญจนถึงขั้นตะลุมบอนประชิดตัว แต่แม้เธอจะชำนาญการใช้อาวุธนางินาตะสักเพียงใดก็ตาม ทว่าก็พลาดถูกธนูของข้าศึกปักตรงหัวใจ
ก่อนจะสิ้นลมหายใจเฮือกสุดท้าย ทาเกโกะได้ขอร้องน้องสาวของเธอให้ตัดศีรษะเธอ เพื่อกันมิให้ศัตรูกระทำย่ำยี ซึ่งน้องสาวของเธอก็ได้ทำตามคำขอแล้วนำศีรษะของเธอไปฝังไว้ใต้ต้นสนภายในอารามอาอิโซ บาเงมาชิ ซึ่งต่อมาได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ของทาเกโกะขึ้นที่อารามนี้
นากาโนะ ทาเกโกะ จัดเป็นซามูไรหญิงผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้าย และสมรภูมิอาอิสุก็จัดเป็นภารกิจสุดท้ายของเหล่าออนนา-บูเกอิชา
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือต่วยตูน
โฆษณา