16 ก.พ. 2021 เวลา 04:17 • ความคิดเห็น
เกาหลีสายดาร์ก: เบื้องหลังการรังแกในโรงเรียนเกาหลีใต้
ช่วงนี้หนึ่งในข่าวที่ฮอตที่สุดในเกาหลีใต้ที่คนไทยก็ติดตามกันอยู่ก็คือ ข่าวอดีตฉาวโฉ่ของอีดายองและอีแชยอง นักวอลเลย์บอลระดับซูเปอร์สตาร์ของทีมชาติเกาหลีใต้ และ สโมสรฮึงกุก ไลฟ์ พิงค์ สไปเดอร์ ซึ่งรวมหัวกันรังแกเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นสมัยม.ต้นเมื่อ 10 ปีก่อน สื่อได้ขุดคุ้ยเรื่องราวขึ้นมา ทำให้ตอนนี้พวกเธอโดนแบนจากการลงแข่งสนามสำคัญไปแล้ว
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวเรื่องดาราศิลปินหรือนักกีฬาคนดังโดนเปิดโปงอดีตว่า เคยเป็นหัวโจกรังแกเด็กคนอื่น แล้วสาธารณชนก็ไม่ยอมรับ พากันแบนผลงาน และเรียกร้องให้คนดังเหล่านี้ออกมารับผิดชอบ
ในปี 2019 สมาชิกวงชานนาบี (잔나비) ยูยองฮยอนก็เคยถูกเปิดโปงว่าเคยรังแกเพื่อนสมัยเรียน วงชานนาบีต้องหยุดกิจกรรมทั้งหมดทั้งๆที่เป็นช่วงที่วงดังมากๆ จนยูยองฮยอนต้องถอนตัวจากวงไปในที่สุด
กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้เคยสำรวจ"ประสบการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน" ของเด็กนักเรียนป.4 ถึงม. 6 จากโรงเรียน 17 แห่งทั่วประเทศ พบว่าในปี 2018 นักเรียนประมาณ 30% หรือเกือบ 1 ใน 3 เคยประสบความรุนแรงหรือโดนรังแกในโรงเรียน ส่วน 24% นั้นตอบว่าตัวเองเคยรังแกคนอื่นด้วย โดยนักเรียนชั้นประถมประสบปัญหาการรังแกมากกว่าใคร
การรังแกที่พบมากที่สุด คือ การทำร้ายจิตใจด้วยวาจา ส่วนอันดับที่ตามติดมาก็คือ การกีดกันจากกลุ่ม และการรังแกทางไซเบอร์
สาเหตุหนึ่งที่มีการรังแกกันในโรงเรียนเยอะ เพราะเกาหลีเป็นประเทศที่มีการแข่งขันสูงมาก บรรยากาศของสังคมเกาหลีค่อนข้างตึงเครียดทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เพราะพวกเขามีแรงกดดันที่จะต้องประสบความสำเร็จ ต้องเรียนเก่ง ได้งานที่ดี หาคู่ครองที่เหมาะสม และสร้างฐานะให้ได้
เมื่อเลิกเรียนจากโรงเรียนแล้ว เด็กๆเกาหลีแทบจะไม่มีเวลาเล่นอะไรกันมากมาย พวกเขาจะต้องไปเข้าเรียนพิเศษต่อเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังในระดับชั้นต่อไป แม้แต่เด็กอนุบาลและประถมยังต้องรับการกวดวิชาเพิ่มจนถึงดึกดื่น หลายคนต้องอยู่อ่านหนังสือถึงเช้ามืดและถูกปลุกไปโรงเรียน ชาวเกาหลีให้ความสำคัญกับการศึกษามากแบบนี้ เด็กๆจึงรู้สึกกดดันตั้งแต่อายุน้อย และมองเพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่เป็นคู่แข่ง แทนที่จะมองเป็นเพื่อนของตัวเอง
นอกจากนี้ สถาบันครอบครัวของเกาหลีของหลายครอยครัวยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กๆได้อย่างเพียงพออีกด้วย ชั่วโมงการทำงานของชาวเกาหลีโดยเฉลี่ยถือว่ายาวมากติดอันดับต้นๆในเอเชีย
ปัจจุบันทั้งพ่อและแม่ชาวเกาหลีต้องออกไปทำงาน และฝากลูกไว้ให้ติวหนังสือกับโรงเรียนกวดวิชา เด็กๆไม่มีพื้นที่ให้ใช้เวลากับครอบครัวและเล่นแบบเด็กๆ
นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการยอมรับมากขึ้น ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเกี่ยวกับการรักษาอาการป่วยทางจิตวิทยาอย่างจริงจังนัก เด็กๆที่โดนรังแกก็ยังมีบาดแผลที่ต้องเยียวยา และเด็กที่รังแกก็ต้องได้รับการเยียวยาไม่ให้ทำร้ายคนอื่นเช่นกัน
ปัจจุบันเยาวชนเกาหลีได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเยาวชน ทำให้เด็กวัยรุ่นที่ก่ออาชญากรรมอย่างการทุบตีเพื่อนร่วมชั้นไม่ต้องติดคุก เพียงแต่รับโทษด้วยการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะหรือเข้าสถานอบรมเยาวชนเท่านั้น
รัฐบาลเกาหลีพยายามแก้กฎหมายด้วยการลดอายุมาตรการคุ้มครองของกฎหมายเยาวชนจากเยาวชน 14ปี ไปเป็นเยาวชน 13ปี แต่ร่างกฎหมายก็ยังไม่ผ่าน
ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังแก้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้นไม่ได้ สาธารณชนเกาหลีก็ตระหนักเกี่ยวกับความร้ายแรงของการรังแกและผลกระทบต่อเยาวชนค่อนข้างมาก เวลามีเหตุการณ์แบบนี้ ดาราหรือคนดังที่มีอดีตเคยรังแกถือว่าโดนพิพากษาดับอนาคตเลยทีเดียว
เรียบเรียงโดย นางเอกเกาหลี
โฆษณา