16 ก.พ. 2021 เวลา 05:20 • ประวัติศาสตร์
*** The Ongoing Wars: "24 สงคราม" ที่ดำเนินอยู่ ณ ตอนนี้ ***
2
สงครามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ บทความนี้จะเสนอ 24 สงครามที่กำลังรบพุ่งกันอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ โดยเรียงลำดับตามจำนวนคนตายในปีที่ผ่านมาของแต่ละสงครามนะครับ
2
แม้ปัจจุบันเราจะอยู่ในยุคที่เรียกว่า "Long Peace" หรือสันติภาพยาวนาน แต่นั่นก็เป็นเพียงเพราะเทคโนโลยีอาวุธมีการพัฒนามากเกินไปจนประเทศมหาอำนาจไม่ทำสงครามกันตรงๆ แท้จริงพวกเขาได้เปลี่ยนรูปแบบไปใช้สงครามตัวแทน โดยใช้ประเทศเล็กกว่าเป็นตัวหมากรบกัน
2
นี่ยังไม่นับสงครามกลางเมือง, สงครามที่เกิดจากการก่อการร้ายสากล, หรือสงครามที่ทำกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ เช่นเจ้าพ่อยาเสพติด
หากวัดจำนวนสงครามที่ยังรบกันอยู่จริงๆ จะมีหลายร้อยสงครามไม่อาจลงได้หมด บทความนี้จึงจะขอเสนอ "24 สงคราม" หลักๆ ที่ยังรบกันอยู่ โดยนับจากสงครามที่มีคนตายเกิน 500 คนในปี 2020 ที่ผ่านมาเท่านั้น
1
จะเสนอจากคนตายน้อยถึงมาก มีสงครามไหนบ้างไปดูกันเลยครับ
อันดับที่ 24 "สงครามนาซาไลต์"
5
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลอินเดียกับกองโจรนาซาไลต์
1
เกิดที่ประเทศ: อินเดีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1967
1
คนตายรวม: 12,877-14,369 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 500 คนขึ้นไป
1
กองโจรนาซาไลต์คือกองโจรนับถือลัทธิเหมาอิสต์-คอมมิวนิสต์ของอินเดีย ตั้งชื่อตามหมู่บ้านนาซัลบาริซึ่งเป็นสถานที่เริ่มต้นก่อการ
1
ทางหนึ่งมองได้ว่ากองโจรนี้เป็นหนึ่งในมรดกจากยุคสงครามเย็น อีกทางพวกเขาก็เกิดจากความต้องการต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคมอินเดียโดยเฉพาะระบบวรรณะ จนปัจจุบันพวกนาซาไลต์ถูกปราบไปมาก จนต้องลดระดับทำการเป็นการก่อการร้ายระดับต่ำ อย่างไรก็ตามปีที่แล้วก็ยังสังหารคนได้มากกว่า 500 คน
ภาพแนบ: นักรบนาซาไลต์
อันดับที่ 23 "สงครามแอมบาโซเนีย"
1
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลคาเมรูนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
เกิดที่ประเทศ: คาเมรูน
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2017
คนตายรวม: 3,000 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 527 คนขึ้นไป
สงครามแอมบาโซเนียเกิดจากคนในภูมิภาคคาเมรูนใต้ต้องการแยกตัวจากประเทศคาเมรูน เพราะมีความแตกต่างกันทางภาษาและวัฒนธรรม
ในอดีตคาเมรูนใต้เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (เรียกว่าคาเมรูนใต้เพราะมันเคยเป็นส่วนใต้ของบริติซคาเมรูน ซึ่งส่วนเหนือรวมกับไนจีเรียไปแล้ว), ส่วนคาเมรูนที่เหลือนั้นเป็นอาณานิคมของเยอรมันและฝรั่งเศส
3
อันดับ 22 "สงครามตุรกี-เคิร์ด"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง และสงครามปราบชนกลุ่มน้อยข้ามรัฐ
สู้ระหว่าง: รัฐบาลตุรกีกับชนกลุ่มน้อยเคิร์ด
เกิดที่ประเทศ: ตุรกี ซีเรีย และอิรัก
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1984
คนตายรวม: 45,000 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 533 คนขึ้นไป
สงครามตุรกี-เคิร์ดเริ่มจากตุรกีต้องการปราบชนกลุ่มน้อยเคิร์ดในประเทศตนเองเพราะไม่ต้องการให้แบ่งแยกดินแดน แต่ผู้นำเคิร์ดตุรกีได้ประกาศอุดมการณ์สังคมนิยมทำให้มีชาวเคิร์ดทั้งในตุรกี ซีเรีย อิรัก เชื่อฟังเป็นอันมาก จนเชื่อมโยงกลายเป็นองค์กรเดียวกัน
1
ในปี 2015 เคิร์ดซีเรียรบชนะ ISIS สามารถตั้งรัฐเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ตุรกีเลยต้องข้ามพรมแดนไปปราบ จนบัดนี้ยังต่อสู้กันอยู่
ภาพแนบ: ทหารหญิงเคิร์ด
อันดับ 21 "สงครามไซนาย และสงครามปราบกลุ่มก่อการร้ายอียิปต์"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลอียิปต์กับกลุ่มก่อการร้ายในแนวทางญิฮัดสากล
เกิดที่ประเทศ: อียิปต์
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2011
คนตายรวม: 5,800 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 595 คน
สงครามไซนายเกิดขณะอียิปต์วุ่นวายจากการปฏิวัติอียิปต์ในปี 2011 ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ กลุ่มก่อการร้ายจึงฉวยโอกาสก่อการ ต่อมาปี 2014 กลุ่มก่อการร้ายในไซนายได้สวามิภักดิ์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ISIS ตั้งชื่อว่า "จังหวัดไซนาย"
สงครามนี้มีการปราบการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วอียิปต์ แต่เฉพาะในคาบสมุทรไซนายนั้นกลุ่มก่อการร้าย ISIS มีศักยภาพถึงขั้นสู้ชิงเมืองทีเดียว
อันดับ 20 "สงครามระหว่างชนเผ่าในไนจีเรีย"
3
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: ชนเผ่าต่างๆ ในไนจีเรียรบกันเอง และรบกับรัฐบาลไนจีเรียที่ต้องการปราบความไม่สงบ
2
เกิดที่ประเทศ: ไนจีเรีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1998
คนตายรวม: 17,156 คน
คนตายปี 2020: 600 คนขึ้นไป
ประเทศไนจีเรียนั้นมีคนหลายเผ่าพันธุ์ หลากศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน ที่ผ่านมาวิกฤตสิ่งแวดล้อม และภัยธรรมชาติทำให้มีการสู้แย่งชิงกันอยู่แล้ว ความรุนแรงในปัจจุบันหลักๆ เริ่มจากชาวไร่ชาวนาเผ่าโบโรโรฟูลานิทางเหนือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย บีบให้พวกเขาต้องอพยพลงใต้ และรบกับเผ่าโยรูบาเพื่อชิงทรัพยากรอันจำกัดนั่นเอง
อันดับ 19 "สงครามดาร์ฟูร์"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลซูดาน และกลุ่มกบฏ
เกิดที่ประเทศ: ซูดาน
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1998
1
คนตายรวม: 300,000 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 650 คนขึ้นไป
ประเทศซูดานมีคนอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือคนเชื้อสายอาหรับ และคนที่ไม่ใช่อาหรับ (ส่วนใหญ่เป็นคนดำ) ที่ผ่านมาชาวอาหรับซึ่งเจริญกว่าสามารถยึดอำนาจรัฐได้ จึงทำการกดขี่พวกคนดำในภูมิภาคดาร์ฟูร์ทางใต้ถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
หน่วยที่มีชื่อเสียงของสงครามนี้คือหน่วยจันจาวีด หรือหน่วยทหารบ้านอาหรับที่รัฐบาลใช้มาช่วยรบ พวกนี้ดุมาก ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนดำไปเยอะมาก พวกคนดำก็รวมกันก่อกบฏโดยมีอุดมการณ์ต้องการสร้างรัฐที่ยอมรับคนหลากหลาย
ภาพแนบ: กลุ่มจันจาวีด
อันดับ 18 "สงครามชนกลุ่มน้อยพม่า"
1
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลพม่า และกบฏชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน โรฮิงญา
1
เกิดที่ประเทศ: พม่า
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1948
คนตายรวม: ประมาณ 130,000 - 210,000 คน
คนตายปี 2020: 650 คนขึ้นไป
พม่าเป็นประเทศที่ประกอบด้วยคนหลายเผ่า ในปี 1947 นายพลอองซานผู้นำตอนนั้นได้โน้มน้าวชนเผ่าต่างๆ ให้ทำสัญญาปางหลวง เพื่อรวมตัวกันชั่วระยะหนึ่งให้มีพลังในการตั้งประเทศและขอเอกราชจากอังกฤษ
หากต่อมาอองซานถูกลอบสังหาร และหลังพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 เผ่าต่างๆ เกิดความไม่พอใจว่าถูกกีดกันอำนาจทางการเมือง จึงแยกย้ายกันตั้งกองกำลังของตนเองทำสงครามแบ่งแยกดินแดนกับรัฐบาลกลางจนปัจจุบัน
2
ภาพแนบ: ทหารกะเหรี่ยง
อันดับ 17 "สงครามกลางเมืองโคลัมเบีย"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลโคลัมเบีย, กบฏคอมมิวนิสต์, กองกำลังเจ้าพ่อค้ายาเสพติด, และกองกำลังชาวบ้าน
เกิดที่ประเทศ: โคลัมเบีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1964
คนตายรวม: ประมาณ 220,000 คน
คนตายปี 2020: 765 คนขึ้นไป
ใครดูซีรีย์เรื่อง Narcos จะเห็นว่าโคลัมเบียเป็นประเทศที่ค่อนข้างวุ่นวาย คือมีรัฐบาลที่คอรัปชันเยอะ มีกลุ่มกบฏที่ยึดถือแนวทางคอมมิวนิสต์ และมีกลุ่มเจ้าพ่อค้ายาเสพติด ทั้งหมดนี้ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอด ชาวบ้านตาดำๆ ถูกรังแกไม่อาจพึ่งรัฐบาลได้ (หรือถูกรัฐบาลรังแกเสียเอง) จึงต้องจัดตั้งกองกำลังทหารบ้านมาป้องกันตัว เป็นสถานการณ์วุ่นวายต่อเนื่องจนทุกวันนี้
3
ภาพแนบ: ทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์
อันดับ 16 "สงครามปราบกลุ่ม Allied Democratic Forces"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง และสงครามปราบกลุ่มก่อการร้ายข้ามรัฐ
สู้ระหว่าง: รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, รัฐบาลยูกันดา, และกลุ่มก่อการร้าย Allied Democratic Forces (ADF)
1
เกิดที่ประเทศ: สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และยูกันดา
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1996
คนตายรวม: 3,353 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 900 คนขึ้นไป
เรื่องเริ่มจากมีชาวยูกันดาคนหนึ่งชื่อเดวิด สตีเวน ตอนแรกนั้นนับถือคริสต์ ต่อมาเกิดศรัทธาในบินลาเดน จึงเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม และเปลี่ยนชื่อเป็นจามิล มูคูลู
เขาตั้งกลุ่ม ADF ขึ้นก่อการในยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกโดยหวังจะตั้งรัฐอิสลามขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว
ภาพแนบ: คนกลางคือมูซา บาลูกู คนนี้เป็นเอมีร์ หรือผู้นำกบฏคนปัจจุบัน
อันดับ 15 "สงครามลิเบีย"
2
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: กลุ่มอำนาจต่างๆ ของลิเบียที่อ้างตนเป็นรัฐบาล
เกิดที่ประเทศ: ลิเบีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2011
คนตายรวม: 29,859 – 42,253 คน
คนตายปี 2020: 1,486 คน
สงครามลิเบียเริ่มจากการโค่นล้มเผด็จการกัดดาฟีในช่วงอาหรับสปริงปี 2011 นับแต่นั้นลิเบียก็แตกเป็นหลายฝักฝ่ายชิงอำนาจกันเรื่อยมา โดยมีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงมาแทรกแซงเป็นระยะ
1
ปัจจุบันผู้เล่นหลักคือ House of Representatives ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มประเทศอาหรับและรัสเซีย มีศูนย์กลางที่เมืองโทบรูก กับ Government of National Accord ที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี มีศูนย์กลางที่เมืองตริโปลี นอกจากนั้นมี ISIS อัลเคดาโผล่มาลุยด้วยเรื่อยๆ
1
อันดับ 14 "สงครามทิเกรย์"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลเอธิโอเปีย และรัฐทิเกรย์
เกิดที่ประเทศ: เอธิโอเปีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2020
คนตายรวม: 1,600 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 1,600 คนขึ้นไป
1
เอธิโอเปียมีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ รัฐบาลเอธิโอเปียนับแต่ปี 1991 มีรากฐานจากการร่วมมือของสี่รัฐที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาลเก่า คือรัฐโอโรเมีย, รัฐอัมฮารา, รัฐเซาเทิร์น เนชันส์, และรัฐทิเกรย์ ส่วนรัฐอื่นๆ จะถูกสี่รัฐนี้ครอบงำ
นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาห์เม็ดที่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2018 ได้พยายามปฏิรูปสิ่งนี้ โดยตั้งพรรคที่เป็นการรวมคนจากหลากหลายฝ่ายมากขึ้น แต่กลุ่มทิเกรย์ปฏิเสธเข้าร่วม และทำการต่อต้านรัฐบาลกลางหลายประการ จนในที่สุดจึงรบกัน
ภาพแนบ: นายเดเบรซัน เกเบรมิคาเอล ประธานาธิบดีรัฐทิเกรย์
อันดับ 13 "สงครามคาโบ เดลกาโด"
1
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลโมซัมบิก และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
เกิดที่ประเทศ: โมซัมบิก
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2017
คนตายรวม: 3,593 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 1,717 คนขึ้นไป
คนโมซัมบิกส่วนใหญ่เป็นคริสต์ แต่มีที่นับถืออิสลามอยู่ 17.9% ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทางเหนือโดยเฉพาะจังหวัดนิอาสซา และคาโบ เดลกาโด
ในปี 2017 กลุ่มก่อการร้ายซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ ISIS และขบวนการญิฮัดสากลได้มาก่อการที่คาโบ เดลกาโด สามารถยึดบางพื้นที่ได้ จึงสู้รบกับรัฐบาลอยู่
ภาพแนบ: จังหวัดคาโบ เดลกาโด พื้นที่สีเทาคือที่ๆ กบฏยึดครอง
อันดับ 12 "สงครามอิตูรี"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: ชนเผ่าเลนดู และชนเผ่าเฮมา
เกิดที่ประเทศ: สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2017
คนตายรวม: 60,000 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 1,750 คน
ในจังหวัดอิตูรีทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกนั้นมีคนอยู่สองเผ่า คือเผ่าเลนดูซึ่งมักทำไร่นา และเผ่าเฮมาซึ่งมักเลี้ยงสัตว์
ตอนที่เบลเยียมยึดคองโกเป็นเมืองขึ้นนั้นได้ดำเนินนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยเอาใจเผ่าเฮมาเหนือเผ่าเลนดู ทำให้สองเผ่านี้เกลียดกัน (ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอยู่ด้วยกันดีๆ มานาน)
1
ทั้งสองเผ่ากระทบกระทั่งกันหนักขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดกลายเป็นสงครามใหญ่ บ่มเพาะความแค้นลึกซึ้งไม่อาจคืนดีอีกแล้ว ที่ผ่านมาอาจจะหยุดรบเป็นพักๆ เพราะมีกำลังภายนอกมาแทรกแซง แต่ในปี 2017 เกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเฮมาทั้งหมู่บ้าน ทั้งสองเผ่าจึงกลับมารบกันอีกรอบ
อันดับ 11 "สงครามซูดานใต้"
1
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลซูดานใต้ และชนเผ่าต่างๆ
เกิดที่ประเทศ: ซูดานใต้
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2011
คนตายรวม: 383,000 - 400,000 คน
คนตายปี 2020: 2,252 คน
ประเทศซูดานใต้ประกอบด้วยคนหลายเผ่า (อีกแล้ว) และเผ่าที่ครอบงำรัฐบาลอยู่คือเผ่าดิงกา ทำให้เผ่าอื่นๆ ไม่พอใจจึงหาทางปฏิวัติ
นอกจากเรื่องการเมืองแล้วเผ่าต่างๆ ในซูดานใต้ยังทำสงครามชิงทรัพยากรกัน คล้ายๆ สงครามชนเผ่าไนจีเรียในอันดับที่ 22 นั่นเอง
อันดับ 10 "สงครามอิรัก"
ลักษณะ: สงครามระหว่างรัฐ และสงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลกลางอิรัก, รัฐบาลเคิร์ดอิรัก, และกลุ่มก่อการร้าย ISIS
เกิดที่ประเทศ: อิรัก
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2003
1
คนตายรวม: 324,000 –1,215,000 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 2,510 คน
สงครามอิรักเริ่มเมื่ออเมริกาและพันธมิตรนำกำลังมาโค่นล้มเผด็จการ ซัดดัม ฮุสเซนในปี 2003
สุญญากาสทางอำนาจที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นทำให้:
1. อิหร่านฉวยโอกาสแผ่อำนาจมาครอบงำรัฐบาลกลางอิรัก
2. พวกเคิร์ดทางเหนือฉวยโอกาสสร้างประเทศของตนเองขึ้น มีอำนาจเป็นอิสระในทางปฏิบัติ
3. กลุ่ม ISIS ฉวยโอกาสมาก่อการด้วย ช่วงพีคนั้นเคยยึดได้เมืองโมซูล หรือเมืองใหญ่ทางเหนือของอิรัก เทียบกับไทยก็ประมาณเชียงใหม่
1
4. กลุ่มบริวารเก่าของซัดดัมพากันหลบลงใต้ดิน และแอบมาก่อการอยู่เสมอ
แม้ปัจจุบัน ISIS จะถูกโค่นล้มลง แต่การต่อสู้นั้นยังดำเนินต่อไป
อันดับ 9 "สงครามมาลี"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลมาลี, กลุ่มกบฏอซาวัด, และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
เกิดที่ประเทศ: มาลี
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2012
คนตายรวม: 11,500 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 2,754 คนขึ้นไป
1
ประเทศมาลีประกอบด้วยคนหลายเผ่า เผ่าทัวเร็กที่อาศัยอยู่ในเขตทะเลทรายทางเหนือนั้นมีภาษาและวัฒนธรรมผิดจากเผ่าอื่นๆ จึงต้องการแยกตัวเป็นอิสระ และทำสงครามกับรัฐบาล ต่อมาได้มีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงหลายกลุ่มอาศัยจังหวะนี้เข้าผสมโรง จึงเกิดความวุ่นวายไปใหญ่
ภาพแนบ: แผนที่เขตยึดครองของฝ่ายต่างๆ ในสงครามมาลี
อันดับ 8 "สงครามโซมาเลีย"
ลักษณะ: สงครามระหว่างรัฐ และสงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลโซมาเลีย, กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง, และรัฐบาลโซมาลิแลนด์
เกิดที่ประเทศ: โซมาเลีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1991
คนตายรวม: 500,000 คนขึ้นไป
1
คนตายปี 2020: 3,082 คน
สงครามโซมาเลียเป็นความวุ่นวายที่เริ่มตั้งแต่การโค่นล้มเผด็จการไซอัด บาร์รีในปี 1991 หลังจากนั้นโซมาเลียก็เกิดทุรยุค มีการเข่นฆ่าชิงอำนาจกันระหว่างฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวางจนสหประชาชาติต้องมาแทรกแซง แต่ก็ยังหยุดสงครามไม่ได้
1
ปัจจุบันผู้เล่นหลักคือรัฐบาลโซมาเลีย, กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอัลชาบับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัลเคดา, กลุ่ม ISIS ซึ่งมาแจมด้วย, และรัฐบาลของโซมาลิแลนด์อันเป็นประเทศใหม่ที่แยกตัวออกไปเป็นอิสระ
ภาพแนบ: พื้นที่สีแดงคือรัฐบาลโซมาเลีย, สีดำอ่อนคืออัลชาบับ, สีดำเข้มคือ ISIS, และสีเหลืองคือโซมาลิแลนด์
อันดับ 7 "สงครามคิวู"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง และสงครามปราบกลุ่มก่อการร้ายข้ามรัฐ
สู้ระหว่าง: รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และกลุ่มกบฏต่างๆ
เกิดที่ประเทศ: สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2004
คนตายรวม: 18,253 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 3,319 คนขึ้นไป
คิวูเป็นเขตหนึ่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อยู่ติดกับรวันดา ยูกันดา บุรุนดี แทนซาเนีย มีทรัพยากรธรรมชาติมาก ในปี 1994 เมื่อเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาก็มีกลุ่มติดอาวุธหนีมาที่นี่มาก และใช้ที่นี่เป็นฐานสู้รบกับรัฐบาลรวันดา
1
ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะจำได้ว่าเฉพาะสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกประเทศเดียวก็มีสงครามจากเหตุต่างๆ ปาเข้าไป 3 สงครามแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่อยู่ในสภาพที่จะหยุดยั้งใครเท่าไร
คิวูมีทรัพยากรมาก อยู่ติดหลายประเทศ เป็นแดนเถื่อนหลบหนีไปมาง่าย ทำให้มันเป็นสวรรค์ของกองโจรต่างๆ มาก่อการ สู้รบกันอีรุงตุงนังที่สุดแห่งหนึ่ง
1
อันดับ 6 "สงครามนากอร์โน-คาราบัค"
ลักษณะ: สงครามระหว่างรัฐ
สู้ระหว่าง: รัฐบาลอาร์มีเนีย และรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน
เกิดที่: ดินแดนพิพาทอาร์มีเนีย อาเซอร์ไบจาน
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1988
คนตายรวม: 27,287 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 6,904 คน
ดินแดนนากอร์โน-คาราบัคเดิมเป็นดินแดนของชาวอาร์มีเนีย แต่ตอนที่อาร์มีเนียอยู่ในสหภาพโซเวียตนั้น รัฐบาลกลางโซเวียตได้ตัดแบ่งดินแดนนี้ให้แก่อาเซอร์ไบจานเพื่อสนองนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง และนโยบายต่างประเทศช่วงเวลาดังกล่าว
1
ชาวอาร์มีเนียไม่ยอมรับเรื่องนี้ เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายจึงทำสงครามชิงดินแดนนาร์กอโน-คาราบัค กับอาเซอร์ไบจาน ตอนแรกเป็นฝ่ายชนะ สามารถตั้งรัฐขึ้นมาในดินแดนดังกล่าวเป็นเวลากว่า 30 ปี
จนปี 2020 อาเซอร์ไบจานได้รับการสนับสนุนจากตุรกีให้มาชิงดินแดนคืน ก็สามารถชิงพื้นที่ส่วนใหญ่ของนากอร์โน-คาราบัคคืนจากอาร์มีเนียได้
ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงกันโดยมีรัสเซียคอยประสาน
อันดับ 5 "สงครามโบโกฮาราม"
ลักษณะ: สงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: รัฐบาลไนจีเรีย และกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮาราม
เกิดที่ประเทศ: ไนจีเรีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2009
คนตายรวม: 51,567 คนขึ้นไป
คนตายปี 2020: 7,300 คนขึ้นไป
ไนจีเรียประกอบด้วยคนสองกลุ่มหลักๆ คือพวกนับถือคริสต์ทางตอนใต้ และพวกนับถืออิสลามทางตอนเหนือ
พวกมุสลิมทางเหนือบางส่วนรู้สึกไม่มั่นคงต่อกระแสตะวันตกที่เข้ามา จึงเกิดแนวคิด "อนุรักษ์นิยมอิสลามต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตก และระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งมีชื่อเล่นว่าโบโกฮาราม หรือแปลว่า "โบโกหรือบุ๊ค (หนังสือ ในที่นี้หมายถึงการเรียนการสอนแบบตะวันตก) เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮาราม)"
รัฐบาลที่ปกครองโดยชาวคริสต์เป็นส่วนใหญ่ตอบโต้สิ่งนี้โดยส่งทหารไปกวาดล้างพวกโบโกฮาราม ถึงขั้นแทบจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่อเกิดเป็นความเคียดแค้น และกลายเป็นสงครามใหญ่ในที่สุด ปัจจุบันพวกโบโกฮารามบางส่วนหันไปสวามิภักดิ์ ISIS และยึดถืออุดมการณ์ญิฮัดสากล
2
อันดับ 4 "สงครามซีเรีย"
ลักษณะ: สงครามระหว่างรัฐ และสงครามกลางเมือง
1
สู้ระหว่าง: อธิบายข้างล่าง
1
เกิดที่ประเทศ: ซีเรีย
5
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2011
คนตายรวม: 362,266 - 586,100 คน
คนตายปี 2020: 7,673 คน
สงครามนี้เป็นสงครามที่ยุ่งเหยิงอีรุงตุงนังที่สุด สงครามหนึ่ง ผมขอเอาคำอธิบายที่ผมเคยเขียนหลายปีก่อนมาลงให้เห็นภาพนะครับ:
สำหรับคนที่งงว่าสงครามซีเรียมีกี่ฝ่าย สู้กันทำไมเพราะอะไร ผมจะสรุปให้ว่าสงครามนี้ซับซ้อนเพราะมันคือ "ห้าสงคราม" อยู่ในที่เดียวกัน
1
สงครามที่ 1: ศึกระหว่างระบอบเผด็จการ กับ ผู้ต้องการประชาธิปไตย
ครอบครัวประธานาธิบดีอัสซาดนั้นปกครองซีเรียติดต่อกันมายาวนานด้วยแนวทางเผด็จการ กดขี่ผู้คนเอาไว้มาก ขณะเดียวกันก็พัฒนาประเทศจนเจริญพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอาหรับอื่นๆ ดังนั้นจึงมีคนชอบเยอะ คนเกลียดเยอะ ครั้นเกิดเหตุการณ์อาหรับสปริง ประชาชนอาหรับทั้งแผ่นดินลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย ซีเรียจึงเป็นที่ๆ สู้กันหนัก
อนึ่งความขัดแย้งเรื่องเผด็จการ - ประชาธิปไตยนี้เป็นความขัดแย้งภายในหลักๆ ของซีเรีย ความขัดแย้งที่เหลือเป็นการแทรกแซงจากภายนอก เกิดจากต่างชาติเห็นซีเรียอ่อนแอจึงเข้ามาแทรกแซงเอาผลประโยชน์
1
สงครามที่ 2: ศึกระหว่างอเมริกา กับ รัสเซีย
เนื่องจากซีเรียเป็นทางผ่านท่อส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปขายยุโรป ผู้ปกครองซีเรียจะเลือกใช้ท่อที่เชื่อมจากประเทศบริวารรัสเซีย หรือประเทศบริวารอเมริกาก็ได้
ก่อนหน้านี้ตระกูลอัสซาดสวามิภักดิ์รัสเซียมาตลอด ต่อมาประเทศซีเรียเกิดความขัดแย้งภายใน อเมริกาสบช่องจึงเข้ามาแทรกแซง สนับสนุนฝ่ายต้องการประชาธิปไตยในประเทศ รัสเซียต้องปกป้องบริวารและผลประโยชน์ จึงเข้าร่วมสงครามด้วย
1
สงครามที่ 3: ศึกระหว่างอิหร่าน กับ ซาอุดิอาระเบีย
เนื่องจากประชาชนซีเรียส่วนใหญ่นับถืออิสลามนิกายสุหนี่ ขณะที่ตระกูลอัสซาดนับถือชีอะห์ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา และในตะวันออกกลางนั้นมีสงครามระหว่างสุหนี่ - ชีอะห์อยู่เรื่อยๆ โดยอิหร่านเป็นผู้นำประเทศชีอะห์ ขณะที่ซาอุดิอาระเบียมักเป็นผู้นำประเทศสุหนี่
แม้อัสซาดเองจะไม่เคร่งศาสนา แต่ก็ต้องการการสนับสนุนจากอิหร่าน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียต้องการขยายอำนาจเหนือประเทศสุหนี่ สองฝ่ายจึงส่งกำลังอาวุธเข้าไปแทรกแซงมิได้ขาด
สงครามที่ 4: ศึกระหว่างตุรกี กับ เคิร์ด
ชนกลุ่มน้อยเคิร์ดถูกต่างชาติกดขี่มานาน พอเห็นบ้านเมืองวุ่นวายจึงคิดฉวยโอกาสประกาศอิสรภาพ
ตุรกีซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านซีเรียนั้นไม่อยากให้เคิร์ดซีเรียได้อิสระ เพราะจะไปสนับสนุนให้เคิร์ดตุรกีมีกำลังมากขึ้นด้วย และหากเคิร์ดตุรกีได้อิสระ ประเทศตุรกีก็อาจจะหายไปถึงหนึ่งในสาม ดังนั้นตุรกีจึงยกทัพมาแทรกแซงเพื่อทำลายเคิร์ด
สงครามที่ 5: ศึกระหว่าง ISIS กับ อัลเคดา
พวกอิสลามหัวรุนแรงเช่นอัลเคดา และ ISIS ใช้สมรภูมิซีเรียในการชิงความเป็นใหญ่ในฐานะเจ้าแห่งโลกมืดกัน เนื่องจาก ISIS แข็งแกร่งกว่า จึงยึดได้หลายเมือง และตีดะกับแนวคิดอื่นๆที่ไม่เหมือนตัว ส่วนอัลเคดานั้นแรกๆ ก็ ร่วมมือกับฝ่ายต้องการประชาธิปไตย ตอนนี้แยกออกมาทำการเองแล้ว
2
ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงผมจะพูดว่ามีห้าสงคราม แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะมีสิบฝ่าย เพราะจริงๆ ในแต่ละกลุ่มผลประโยชน์ยังสามารถแบ่งไปมีได้หลายกองกำลัง ซึ่งอาจจะสู้แย่งชิงทรัพยากรกันเองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มนิยมประชาธิปไตยในซีเรียนั้นเป็นพวกที่ค่อนข้างหลากหลายที่สุด อย่างไรก็ตามถ้าใช้กรอบตามนี้ จะพอเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันง่ายขึ้น
3
::: ::: :::
อนึ่งตอนนี้พวก ISIS ถูกตีจนอ่อนกำลังลงมาก ฝักฝ่ายที่เหลืออยู่คือ รัฐบาล, เคิร์ดซีเรีย, อัลเคดา, และกบฏซีเรียซึ่งตอนนี้ถูกตุรกีครอบงำแล้ว
อันดับ 3 "สงครามแก๊งค้ายาเม็กซิกัน"
ลักษณะ: สงครามปราบแก๊งค้ายาเสพติด
สู้ระหว่าง: รัฐบาลเม็กซิโก และแก๊งค้ายาต่างๆ
เกิดที่ประเทศ: เม็กซิโก
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2006
คนตายรวม: ตายในการรบ 41,034 คน ถูกแก๊งเก็บราว 151,000 คน
1
คนตายปี 2020: 7,975 คน
สงครามนี้คล้ายๆ สิ่งที่เกิดในโคลัมเบีย คือพวกแก๊งค้ายาเม็กซิกันนั้นลำเลียงยาเสพติดขายอเมริกาจนร่ำรวยมหาศาล สามารถซื้ออาวุธสงคราม ซื้อเฮลิคอปเตอร์ โมรถถังใช้เอง มันบ้าไปแล้ว
1
ความรวยของพวกแก๊งนั้นมากจนสามารถครอบงำรัฐบาลเม็กซิโก แถมทหารเม็กซิกันบางส่วนรู้สึกเป็นทหารไม่รุ่งก็ออกมาค้ายาด้วย
1
ในลักษณะนี้สงครามปราบยาเสพติด และสงครามชิงความเป็นใหญ่ระหว่างแก๊งของที่นี่จึงมีสเกลใหญ่มาก เอาอาวุธหนักสู้กันเหมือนสนามรบจริง จนสงครามยาเสพติดประเทศอื่นๆ เทียบไม่ติด
1
รัฐบาลเม็กซิโกพยายามปราบแก๊งค้ายาเหล่านี้มาหลายปีแล้วก็ยังไม่มีวี่แววสำเร็จ และยังไม่เห็นอนาคต
สิ่งนี้ทำให้หนุ่มสาวยากจนของเม็กซิโกหลายคนอยากเป็นแก๊งค้ายา เกิด "วัฒนธรรมแก๊งค้ายา" มีสื่อบันเทิงเช่นหนัง เพลง และลัทธิศาสนาของตนเอง (ไว้ถ้ามีโอกาสจะเขียน)
1
อันดับ 2 "สงครามเยเมน"
ลักษณะ: สงครามระหว่างรัฐ และสงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: กองกำลังต่างๆ ในเยเมน, กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง, และรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย
เกิดที่ประเทศ: เยเมน และซาอุดิอาระเบีย
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 2011
คนตายรวม: 26,230 - 83,700 คน
คนตายปี 2020: 19,056 คน
เยเมนมีคนสองกลุ่ม คือพวกนับถืออิสลามนิกายชีอะห์ และพวกนับถืออิสลามนิกายสุหนี่ สองฝ่ายนี้รบกันมาตลอด
ในปี 2014 พวกชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านสามารถยึดเมืองหลวงได้สำเร็จ ซาอุดิอาระเบียซึ่งทำสงครามตัวแทนกับอิหร่านอยู่จึงนำพันธมิตรชาติในสังกัดไปช่วยฝ่ายรัฐบาลเก่าของนายฮาดีที่ถูกโค่นล้ม
แม้จะเงินหนากว่ามาก แต่ซาอุฯ สู้ไม่ค่อยชนะ ถูกพวกกองกำลังชีอะห์ยกข้ามพรมแดนไปยึดเมืองซาอุฯ ได้บางเมือง แต่ซาอุฯ ก็ตอบโต้สามารถยึดเยเมนได้บางส่วนเช่นกัน
2
สงครามนี้มีความซับซ้อนขึ้นเมื่อมีกลุ่ม Southern Transitional Council ซึ่งต้องการแยกประเทศมาสู้ด้วย และมี ISIS กับอัลเคดามาร่วมแจม
อันดับ 1 "สงครามอัฟกานิสถาน"
ลักษณะ: สงครามระหว่างรัฐ และสงครามกลางเมือง
สู้ระหว่าง: กองกำลังต่างๆ ในอัฟกานิสถาน, กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง, และรัฐบาลอเมริกากับชาติพันธมิตร
เกิดที่ประเทศ: อัฟกานิสถาน
เริ่มรบตั้งแต่ปี: 1978
คนตายรวม: มากกว่า 2,000,000 คน
1
คนตายปี 2020: 19,444 คน
สงครามนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1978 ตั้งแต่โซเวียตบุกอัฟกานิสถาน จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นมาหลายครั้ง
มันเป็นสงครามเดียวกับที่บินลาเดนซึ่งซ่อนตัวในอัฟกานิสถานได้ก่อเหตุทำลายตึกเวิร์ลเทรดในปี 2001 และนำสู่การเริ่มต้นของยุคสงครามปราบการก่อการร้าย
แม้อเมริกาจะเข้ามาเคลียร์บินลาเดนและกลุ่มอัลเคดาจนอ่อนแอลงมากแล้ว แต่กลุ่มตาลีบัน และกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงอื่นๆ ก็ยังต่อสู้อยู่ ชนิดที่ยากจะจัดการหมด เพราะอัฟกานิสถานมีภูมิประเทศเป็นป่าเขา ง่ายต่อการทำกองโจร
ปี 2020 อเมริกาสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มตาลีบันได้ แต่จะสามารถนำสันติภาพมาสู่อัฟกานิสถานจริงๆ หรือไม่นั้น ยังต้องดูกันยาวๆ
เป็นอย่างไรบ้างครับ เรื่องราวของ "24 สงครามที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน"
สงครามนั้นเป็นของชั่วร้าย แต่ก็ไม่เคยห่างหายไปจากประวัติศาสตร์ของเรา และบ่อยครั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างมหาศาล
สงครามอาจไม่ห่างตัวเราอย่างที่คิด อยู่ที่เราจะเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์และสิ่งรอบตัวได้บ้าง เพื่อนำมาป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นง่ายๆ
อ้างอิง:
en.wikipediaดอทorg/wiki/List_of_ongoing_armed_conflicts
: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา