16 ก.พ. 2021 เวลา 10:22 • การเกษตร
กล้วยหอมทอง ตอนที่ 1
กล้วยหอมทอง [Musa (AAA Group) ‘Kluai Hom Thong’] กลุ่มย่อย Gros Michel ชื่อสามัญ Hom Thong Banana เป็นผลไม้เขตร้อนในวงศ์ Musaceae มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย (กรมวิชาการเกษตร, 2559) ลักษณะโดยทั่วไปของกล้วยหอมทอง มีลำต้นเทียม 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่กว้างและมีปีกในหนึ่งเครือจะมี 6-8 หวี หนึ่งหวีมี 12-16 ผล ผลใหญ่กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 21-25 เซนติเมตร บริเวณปลายของผลมีจุดอย่างเห็นได้ชัด เปลือกบางเมื่อสุกจะมีลักษณะสีเหลืองทอง มีรสชาติหวาน (เบญจมาศ ศิลาย้อย, 2558)
กล้วยเป็นพืชอาหารของโลกที่มีปลูกอยู่มากกว่า 135 ประเทศทั้งในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน จากข้อมูล ทั่วโลกมีพื้นที่เก็บเกี่ยวกล้วยประมาณ 62.5 ล้านไร่ ผลผลิตกล้วยประมาณ 105 - 120 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 28.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นผลไม้ที่มีผลผลิตสูงที่สุดในโลก รองลงมาคือแอปเปิล องุ่น และมะม่วง (เบญจมาศ ศิลาย้อย, 2558) มีแหล่งผลิตกล้วยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียคิดเป็น 42.3 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติการเกษตรของประเทศไทย ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในปี พ.ศ.2558 พบว่ามีมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกอยู่ที่ 7,227,927 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือกล้วยหอมซึ่งมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 99.17 ล้านบาท มีตลาดส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นถึงร้อยละ 50 ของตลาดส่งออกทั้งหมด และในช่วงปี 2552 ถึง 2556
มีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง 19.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 16,221.7 ตัน ในปี 2552 เป็น 131,670.6 ตัน ในปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.9 ต่อปี และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 1.7 ตันต่อไร่ ในปี 2552 เป็น 5.5 ตันต่อไร่ ในปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 ต่อปี นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศยังพบว่าการบริโภคกล้วยหอมผลสดในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 78,686.3 ตัน ในปี 2553 เป็น 130,152.5 ตัน ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ต่อปี
ที่มา
กรมวิชาการเกษตร. (2559). ยุทธศาสตร์การพัฒนางานวิจัยกล้วย พ.ศ. 2559-2563. สืบค้น 21 กันยายน 2560, จาก http://www.doa.go.th/hortold/images/stories/ strategyplantort/straegybanana.doc.
เบญจมาศ ศิลาย้อย. (2558). กล้วย (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์.
โฆษณา