กล้วยหอมทอง ตอนที่ 2
การปลูกและการดูแล
1. สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
กล้วยเป็นพืชในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับพืชในแถบนี้จำเป็นต้องการความร้อนชื้นในการปลูกเป็นอย่างยิ่ง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมจึงควรอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 15 °C ไม่สูงกว่า 35 °C ซึ่งถ้าอยู่ในช่วงนอกเหนืออุณหภูมิเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยได้ เช่น การแทงปลีช้า หรือการเจริญเติบโตหยุดชะงักลง เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ในเรื่องของน้ำและความชื้นสัมพัทธ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้ปลูกไม่ควรที่จะมองข้าม โดยความชื้นสัมพัทธ์
ที่เหมาะสมต่อการปลูกกล้วยก็คือ 60 % ปริมาณน้ำฝนต่อเดือน เฉลี่ย 20-22 เซนติเมตร จึงจะเหมาะสมต่อการปลูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วๆไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นในเขตพื้นที่เชิงเขา เนื่องจากมีอากาศเย็น แต่ถ้าพื้นที่ใดๆมีอากาศร้อนยาวนานและระบบชลประทานที่ดี มีน้ำสม่ำเสมอจะสามารถปลูกกล้วยได้ดี (เบญจมาศ ศิลาย้อย, 2558)
ลมถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สามารถพบได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ใบกล้วยแตกและไม่สามารถที่จะสังเคราะห์แสงอีกต่อไปได้ นอกจากนี้แล้วถ้าลมมีปริมาณความเร็วมาก ก็อาจจะส่งผลทำให้ต้นกล้วยหักล้มด้วยเช่นกัน (เบญจมาศ ศิลาย้อย, 2558)
2. ดิน
ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกกล้วยคือ ดินน้ำไหลทรายมูล (deep friable loam) ซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี และหมุนเวียนอากาศดี แต่โดยภาพรวมดินควรมีค่า
ความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 4.5-7 สำหรับดินเหล่านี้ สามารถพบได้ในแถบภูมิประเทศ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก (เบญจมาศ ศิลาย้อย, 2558)
3. การปลูก
การปลูกเริ่มต้นควรเลือกการเตรียมดินมาเป็นอันดับต้นๆ เสียก่อน โดยพิจารณาถึงพื้นที่ปลูกมีความสัมพันธ์กับการขนส่งหรือไม่ เช่น การมีถนนตัดผ่าน หรือความสะดวกในการขนส่งเข้าสู่โรงคัดบรรจุ เป็นต้น หลังจากนั้นควรนำดินในพื้นที่ที่เลือกไว้ไปทำการตรวจเพื่อหาธาตุอาหาร เมื่อเห็นว่าเหมาะสมจึงทำการไถพรวน กลบดินเพื่อปราบวัชพืช ปรับดินให้มีความสม่ำเสมอกัน และทำทางระบายน้ำ นอกจากนี้ยังควรที่จะปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน
และแสงแดดที่จัดเนื่องจากว่าแสงแดดมีผลต่อการทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลงได้ ก่อนลงมือปลูกควรไถกลบพืชคลุมดิน และเพิ่มปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ลงไปด้วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เมื่อมีการทำกระบวนการดังกล่าวข้างต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปควรทำการขุดหลุมก่อนปลูกประมาณ 5-7 วัน ขุดลึกประมาณ 45-50 เซนติเมตร กว้าง 45-50 เซนติเมตร ยาว 45-50 เซนติเมตร เอาปุ๋ยคอกรองก้นหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วจึงนำหน่อกล้วยลงปลูก รดน้ำให้ชุม การปลูกโดยส่วนใหญ่นิยมทำกันในฤดูฝน แต่ถ้าในพื้นที่ที่มีการชลประทานที่ดีสามารถที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี (เบญจมาศ ศิลาย้อย, 2558)
4. ระยะการปลูก
ระยะการปลูกถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากว่า ระยะการปลูกนั้นมี
ความเกี่ยวข้องกับการวางแนวซึ่งจะไปมีผลต่อทิศทางของลมและการรับแสงของกล้วย โดยการวางแนวปลูกที่ไม่เหมาะสมจะไปมีผลต่อลมที่พัดเข้ามาส่งผลทำให้ต้นนั้นเสียหายได้ ในเรื่องของแสง ถ้าวางแนวการปลูกไม่ดีจะมีผลต่อการรับแสง เมื่อมีการวางแนวการปลูกกล้วยที่เหมาะสมแล้ว ระยะปลูกก็ควรมีความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน โดยสิงที่ควรคำนึงถึงระยะปลูกก็คือ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพราะถ้าดินอุดมสมบูรณ์ดีก็สามารถที่จะปลูกเป็นระยะถี่ได้ แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำระยะปลูกก็ควรที่จะห่างกัน นอกจากนี้แล้วในเรื่องของความถี่จะส่งผลต่อปริมาณในการรับแสงของต้นกล้วย ถ้าปลูกระยะถี่มากเกินไปจะส่งผลให้ต้นกล้วยได้รับแสงน้อยไป การเขตกรรมก็ทำได้ยาก สำหรับการปลูกโดยทั่วไปมักจะใช้ระยะ 1x3, 1.5x3, 2x3, 2x4 เมตร นอกจากปัจจัยข้างต้น
ที่ผู้ปลูกควรคำนึงถึงแล้ว ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกหลายปัจจัย เช่น ขนาดต้น ขนาดกอ ลักษณะดินฟ้าอากาศของพื้นที่นั้นๆ ที่ควรคำนึงถึงสำหรับปลูกกล้วยเช่นกัน (เบญจมาศ ศิลาย้อย, 2558)
ที่มา
เบญจมาศ ศิลาย้อย. (2558). กล้วย (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์.