16 ก.พ. 2021 เวลา 14:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
“คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ให้ค่าเรื่องงานออกแบบมากนัก แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่ถูกออกแบบมา มันผ่านการคำนึงถึงคน คำนึงถึงเมือง ผ่านการใส่ใจรายละเอียดมาแล้ว เราเชื่อว่ามันจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ :)”
หากกลับไปถามคนรุ่นพ่อแม่เกี่ยวกับย่านสะพานควาย จนถึงถนนประดิพัทธ์ น่าจะเป็นที่รู้จักดีในแง่ของชุมชนเก่าที่มีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถนนเส้นยาวถูกขนาบข้างไปด้วยซอยเล็กซอยน้อยเส้นนี้ เคยเต็มไปด้วยธุรกิจคับคั่ง ตั้งแต่ร้านทอง ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงแรมขนาดใหญ่ ตลาดสด ไปจนถึงสถานบันเทิงอย่าง ผับ บาร์ คาราโอเกะนับไม่ถ้วน
เวลาผ่านมาจนถึง พ.ศ. นี้ ธุรกิจร้านรวงเก่าๆ ค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง ที่ดินหลายผืนถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นตึกสูง อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ตลาดนัดกลางแจ้ง จากธุรกิจของคนรุ่นเก่า ประดิพัทธ์วันนี้กำลังจะถูกแทนที่ด้วยคลื่นลูกใหม่ที่เริ่มย้ายเข้ามา มาเปลี่ยนย่านที่กำลังจะตายให้กลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
⛅️ ‘Somewhere’ พื้นที่สาธารณะที่อยากเห็นงานสถาปัตยกรรมอยู่ร่วมกันกับย่านอย่างเป็นมิตร
😘 อ่านบนเว็บไซต์ง่ายกว่า https://breakfast-and-friends.co/somewhere-pradipat/
อาคารทรงกล่องที่กำลังสะท้อนรับแดดอยู่นี่ก็เช่นกัน หากมองแค่ภายนอกมันอาจดูเป็นแค่ร้านกาแฟดีไซน์สวยร้านหนึ่งที่เต็มไปด้วยผู้คน แต่ความตั้งใจของมัน แท้จริงแล้วคือโมเดลของชุมชนขนาดย่อมที่ก่อร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งทำงานออกแบบไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง และหวังว่ามันจะช่วยเติมเต็ม ‘ความเป็นย่าน’ ให้กับประดิพัทธ์ ด้วยงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตร
⛅️ – 1
Somewhere U n – o c c u p i e d | พื้นที่ว่าง
อาจารย์โอ๊ต – ผศ.นันทพล จั่นเงิน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร Founder & Design Director ผู้ออกแบบโครงการ Somewhere แห่งนี้ และ คุณเบล – พนินทร โชคประเสริฐถาวร ผู้บริหารโครงการ เล่าให้เราฟังว่าพวกเขาไม่ใช่คนหน้าใหม่ในย่านประดิพัทธ์ซะทีเดียว กว่า 10 ปี มาแล้ว ที่รวมกลุ่มกันทำงานออกแบบในชื่อ JUNNARCHITECT (จั่น อาร์คิเต็ก) หากจะมีใครที่มองเห็นความเป็นไปและพูดได้เต็มปากว่ารู้จักย่านนี้จริงๆ ก็คงต้องเป็นพวกเขานี่แหละ
“เรามีความคุ้นเคยกับย่านนี้ ผ่านทุกวันมาเป็น 10 ปีแล้ว เรามีความคิดว่าอยากย้ายออฟฟิศจากเดิมที่เคยอยู่ในเวิ้ง 33 Space ประดิพัทธ์ซอย 17 ใกล้ๆ กับตรงนี้ มาทำออฟฟิศใหม่ของตัวเอง โดยมี Business Model อะไรสักอย่างมา Plug in กับเราด้วย เราไม่ได้ต้องการออฟฟิศใหญ่โต แค่อยากได้สิ่งแวดล้อมที่ดี มีสเปซที่ดี”
เช่นเดียวกับหลายๆ พื้นที่บนถนนประดิพัทธ์ 33 Space ก็เคยถูกปล่อยเช่าเป็นธุรกิจโรงแรมม่านรูดมาก่อน จนกระทั่งเจ้าของที่ดินตรงนั้นคิดว่ามันควรถูกพัฒนาไปในอีกรูปแบบหนึ่งมากกว่า 33 Space จึงถูกเปลี่ยนมาเป็นออฟฟิศให้เช่า และกลายเป็น Hub ของเหล่าดีไซเนอร์ สถาปนิก นักออกแบบสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มารวมตัวกันอย่างทุกวันนี้
ไม่ไกลจากออฟฟิศของ Junnarchitect ที่ดินร้างซึ่งเป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเปลี่ยนมือผู้เช่ามาแล้วหลายรุ่น กำลังติดประกาศเปิดให้เช่าประมูล ด้วยสายตาของนักออกแบบ พวกเขามองเห็นฟังก์ชันบางอย่างว่ามันอาจกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างมูลค่าให้กับเมืองได้ในอนาคต
“ตอนแรกที่เห็นไซต์ เราก็เเอบเครียดเหมือนกัน ซากปรักหักพัง ต้นไม้ขึ้นเต็ม มีแต่เศษอิฐเศษปูน รากฐานของอาคารเดิมก็ยังอยู่ และยังถูกขนาบข้างด้วยด้านหลังของตึกแถวกว่า 10 ยูนิต ภาพแรกสำหรับคนอื่นคงมองว่ามันไม่ได้สวยงามอะไรเลย แต่พอพวกเราเป็นดีไซเนอร์ เรากลับมองว่ามันสวย มันมีเสน่ห์ มันบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคนที่อยู่ตรงนี้จริงๆ จะมีสักกี่คนได้เห็นด้านหลังของตึกแถวแบบนี้”
“รู้สึกเหมือนที่นี่มันให้แมสเสจบางอย่างกับเรา เราเลยอยากให้แมสเสจนั้นมันคงอยู่ต่อไป”
⛅️ – 2
Somewhere in B e t w e e n | พื้นที่ระหว่าง
เมื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไรสักอย่างกับที่ร้างตรงนี้ Business Model เเรกที่พวกเขาวางไว้คือ อาคารสูงขนาด 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่จอดรถ มีพื้นที่ใช้สอยบนชั้น 2 และชั้น 3 ฟังดูเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างกำไรได้ไม่น้อยเลย แต่แล้วพวกเขาก็กลับมาคิดว่าหัวใจหลักของการย้ายมาอยู่ที่นี่คืออะไร สุดท้ายคำตอบที่ได้คือ ออฟฟิศขนาดไม่ใหญ่มาก มีเพื่อนบ้านที่ดี มี ‘Space’ หรือ ‘พื้นที่ระหว่าง’ ที่ทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้…
“ถ้าถามคอนเซ็ปต์ง่ายๆ มันคือความเป็นหมู่บ้านนี่แหละครับ ก่อนอื่นต้องวางผังหมู่บ้านก่อน เริ่มจากเรามีความคิดว่าอยากเก็บตัวเงียบๆ อยู่ด้านหลัง เป็นพื้นที่ส่วนตัวของออฟฟิศเรา แต่ก็อยากให้มีกิจกรรมอะไรสักอย่างที่เชื่อมจากข้างหน้าหมู่บ้านมาถึงข้างหลังด้วย ข้างล่างของอาคารหลังนี้มันก็เลยกลายมาเป็นพื้นที่ใช้สอยอเนกประสงค์ (Multi-purpose Space) ซึ่งบางครั้งก็ใช้เป็น Co-working Space ของพวกเราเอง เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ จัดอีเวนต์ ตลาดนัด เป็นอะไรได้หลากหลายมาก” อาจารย์โอ๊ตเล่า
เมื่อหมู่บ้านขนาดย่อมเริ่มวางแปลน คาเฟ่คือแม่เหล็กชั้นดีที่พวกเขานึกถึง เพราะมันสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในหมู่บ้าน ร้านกาแฟ F.I.X. Coffee จึงกลายมาเป็นเหมือน ‘ห้องรับแขก’ ให้กับโครงการ Somewhere ด้วยความคิดที่อยากให้คนที่เข้ามาได้ซึบซับความรู้สึกจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ด้วยการออกแบบพื้นที่เป็น Cut Scene ย่อยๆ อย่างชาญฉลาด เริ่มจากปกปิด หลบซ่อน ถ่อมตัว แล้วค่อยๆ เผยตัวเอง ต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร
“เราตั้งใจให้ F.I.X. Coffee คอนทราสต์กับบริบทรอบๆ แต่เราซ่อนมันไว้ด้วยการทำประตูร้านให้ทึบ พอคนเปิดประตูเข้าไปในร้าน ซีนเเรกที่เขาจะเห็นผ่านช่องหน้าต่างคือภาพคอนโดฯ ท้องฟ้า กับตึกแถว แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่ากันของเมือง ความไม่เหมือนกันแต่อยู่ร่วมกันได้ ความหมายของเมืองสำหรับเรามันเป็นแบบนั้น แต่พอเปิดประตูออกมาทางหลังร้าน ก็จะเห็นซีนที่กว้างขึ้น เห็นรั้วเก่าซึ่งเล่าเรื่องของพื้นที่เดิมในตัวมันเอง มีต้นไม้ มีบาร์ยาวและเก้าอี้สตูลไปจรดกับพื้นที่อเนกประสงค์ข้างหลังกับออฟฟิศของเราพอดี ตรงนี้จะเป็น Sharing Space ให้คนมานั่งเล่น นั่งพัก เขาจะค่อยๆ เห็นภาพของเมืองจริงๆ โดยมีกาแฟเป็นมีเดีย ช่วยเบลนด์ให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่” คุณเบลเล่า
‘Imperfect is perfect’ คือแมสเสจที่พวกเขาได้รับจากการมาดูไซต์นี้ครั้งแรก ความสวยงามของอดีตที่ทิ้งร่องรอยไว้ เป็นความสวยงามด้วยวันเวลา ด้วยประสบการณ์ ด้วยชีวิตจริงๆ ของคนที่นี่ ด้วยความ Real ของย่านที่ปรากฏให้เห็น
“ปกติดีไซเนอร์อาจไม่ค่อยได้เห็น User มาใช้พื้นที่จริง แต่พอเราอยู่ที่นี่ เราได้เห็นฟีดแบคว่าเขาใช้พื้นที่กันยังไง มีคนมานั่งทำงาน พาหมาแมวมาเดินเล่น เพื่อนบ้านที่เห็นตั้งแต่เราก่อสร้าง บางทีก็เเวะมานั่งคุยกัน ซึ่งเรารู้สึกเซอร์ไพรส์นะ เพราะบางอย่างเราเองก็ไม่ได้คิดมาก่อนเหมือนกัน”
“แต่ถ้าในแง่ Business Model บอกตรงๆ ว่าเราแทบไม่ได้กำไรอะไรเลย พอมันเป็นรูปแบบของพื้นที่สาธารณะ เราก็ไม่ได้เก็บค่าเช่าของคนที่มาอยู่ เราแค่ชอบที่ออฟฟิศเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเฟรนด์ลี่แบบนี้ เพราะเราปล่อยให้มันเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่ได้ เราต้องการอะไรบางอย่างมาเติมเต็มเพื่อให้พื้นที่นั้นทำงานได้อย่างมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับนั่ง หรือร่มเงาของต้นไม้ ให้มันสัมพันธ์กันระหว่างสถาปัตยกรรม คน ธรรมชาติ ในบริบทของเมือง”
⛅️ – 3
Somewhere D e v e l o p i n g | พื้นที่กำลังพัฒนา
กว่า 1 เดือนที่โครงการ Somewhere เปิดตัวและมีผู้คนเดินทางมาเยือนจำนวนไม่น้อยเลย อาจช่วยตอกย้ำว่าสิ่งที่พวกเขาคิดนั้นมาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่มาพร้อมกับความ ‘ป๊อป’ ของพื้นที่ใดก็ตาม ก็คือผลกระทบบางอย่างที่ตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้
“ก่อนเราจะสร้างที่นี่ เราเข้าไปคุยกับพี่ๆ น้องๆ ตึกแถวที่อยู่รอบๆ ว่ามันต้องมีการปรับพื้นที่บางอย่าง ความยากคือการก่อสร้างอยู่ด้านหลังของทุกบ้านโดยรบกวนเขาให้น้อยที่สุด กลายเป็นว่าดึกๆ เราแอบสังเกตว่าชาวบ้านแถวนี้เขาอยู่กันยังไง ชาวบ้านบางคนก็คอยมองจากตึกแถว บอกว่าเขาคอยระวังขโมยให้ เตือนให้เราอย่าลืมเปิดไฟสว่างๆ ตอนกลางคืนไว้นะ (หัวเราะ)”
“เราไม่ได้อยากให้การเข้ามาของเราทำให้เพื่อนบ้านต้องเดือดร้อน แต่พอคนมาก มันก็จะมีการกระทำมากมายที่เราคอนโทรลไม่ได้จริงๆ เราก็พยายามแก้ไข อธิบาย ประกาศ หรืออะไรก็ตามให้เขาเข้าใจว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ จอดรถตรงไหนแล้วไม่ไปขวางบ้านเขา หรือไม่โดนล็อคล้อ และในอนาคต เราตั้งใจว่าไม่ว่ากิจกรรมใดๆ ที่จะเกิดขึ้นที่นี่ จะต้องไม่เป็นการรบกวนเพื่อนบ้านด้วย”
คุณเบลมองว่า ขาหนึ่งพวกเขาเป็นนักออกแบบ อีกขาเป็นนักพัฒนาเมือง เรื่องเหล่านี้เป็นความท้าทายอย่างมาก ในการจะทำอย่างไรให้การพัฒนา เติบโตอยู่ร่วมกับคนและชุมชนเมืองได้อย่างราบรื่น
“ถ้าพูดในเชิงงานออกแบบ ก็คงต้องกลับมาคำนึงถึงบริบทว่าเราทำอะไรที่ขัดแย้ง เเปลกแยกจากเขาหรือเปล่า เราทำอาคารสูง 5 ชั้น 10 ชั้น บล็อกทิศทางลมเขามั้ย หรือว่าเรากำลังทำอะไรที่ถ่อมตัวและอยู่ร่วมกับย่านได้ เรามองว่า Open Space หรือพื้นที่สาธารณะ ‘จริงๆ’ ยังเป็นจุดที่เมืองเราขาดไป แล้วจะทำยังไงให้พื้นที่ของเราสามารถแบ่งปันกับเมืองได้ด้วย”
“ในมุมของนักออกแบบ อันนี้คืองานยาก เพราะขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์เรื่อง Business ด้วยว่าจุดไหนที่เราเองอยู่ได้ แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าเรารู้จักคำว่าพอ มันก็พอ ถ้าสร้างพื้นที่สาธารณะในสัดส่วนที่เหมาะสม บาลานซ์ไปกับ Business ได้ ผมว่ากรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สาธารณะไว้ให้คนมาใช้ได้อีกเยอะเลย” นี่คือมุมมองของอาจารย์โอ๊ต
ย่านที่เต็มไปด้วยกิจการร้านรวงเก่าแก่ บางร้านแทบจะหาที่ไหนไม่ได้แล้ว ขณะที่บางร้านกำลังจะหายไป วันนี้ประดิพัทธ์ เปลี่ยนโฉมหน้าตาไปจากเดิมไม่น้อย และกำลังเดินหน้าสู่การเป็นย่านธุรกิจใหม่ของกรุงเทพฯ อย่างเต็มกำลัง เราถามคุณเบลและอาจารย์โอ๊ตว่า ในฐานะที่พวกเขาเองก็เป็นผู้ทำให้เกิด ‘New Wave’ ในย่านประดิพัทธ์เหมือนกัน คลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของย่าน มีอะไรที่ต้องคำนึงถึงบ้าง
“มองว่าประดิพัทธ์มันมีความเป็นชุมชนมากๆ คนที่นี่ส่วนใหญ่ก็อยู่มานาน เขามีวิถีชีวิตของเขา เขาไม่สามารถจะปรับตัวไปพร้อมกับเราได้ทันขนาดนั้น จริงอยู่ว่ามีรถไฟฟ้าเข้าถึง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการศูนย์เสียพื้นที่บางแห่งไปเป็นคอนโดฯ ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีข้อเสียเสมอไป เพราะการเข้ามาของผู้อาศัยหน้าใหม่ก็ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ หรือทำให้ธุรกิจเก่าบางอย่างยังอยู่ได้ ทำให้เกิดคอมมิวนิตี้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าทุกคนเข้าใจว่าย่านนั้นคืออะไร เล่าเรื่องอะไร เขาจะไม่เข้ามาอย่างบุกรุก แต่จะเป็นการเข้ามาอย่างประนีประนอม มันทำให้ชุมชนเกิดความรู้สึกอยากต้อนรับทุกอย่างที่จะเข้ามาใหม่”
“ธุรกิจจำเป็นต้องมองเรื่องเงินอยู่แล้ว แต่นักพัฒนาก็ควรมีความเอื้อเฟื้อด้วยเหมือนกัน ถ้าเขามองภาพใหญ่ว่าเมืองต้องการอะไร แล้วจะฟีดอะไรให้กับเมืองได้บ้าง เรามองว่านั่นอาจเป็นแนวทางของการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้นะ”
สิ่งที่คุณเบลว่า ทำให้เราเห็นภาพการพัฒนาเมืองหลายๆ ย่านในบ้านเรา โดยไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่หลายโปรเจกต์อาจกลายมาเป็น Pain Point ให้กับเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ เราอยากรู้เหมือนกันว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็น Case Study ให้ทั้งนักออกแบบและนักพัฒนาเรียนรู้ไปพร้อมกันได้หรือเปล่า
“เราจะเห็นย่านอย่างอารีย์ได้ชัดเจนที่สุดว่ามัน High Demand มากแค่ไหนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าคนอยู่ที่นั่นเดิมเขาก็โดนผลกระทบจากคนที่เข้ามาใหม่ไม่น้อยเลย มันดีที่ย่านใดย่านหนึ่งป๊อปขึ้นมา แต่ปัญหาที่ตามมาคือจำนวนคน”
“แต่ถึงยังไง การเกิดขึ้นของพวกร้านรวงต่างๆ ผมมองว่ามันมีเสน่ห์นะ มันทำให้เมืองไม่ตาย ยกตัวอย่างเช่นเมืองในญี่ปุ่น จากเมืองที่เคยเป็นบ้านพักอาศัย เขาก็ปรับให้เป็นย่านธุรกิจ แต่สุดท้ายเมืองมันแอคทีฟจริงๆ แค่ตอนเช้าถึง 3 ทุ่ม หลังจากนั้นเมืองตาย วันเสาร์-อาทิตย์ นี่เงียบกริบ นักพัฒนาเมืองเขาก็ต้องได้รับบทเรียนจากตรงนี้แหละ”
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเติบโตของย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ จะมีแต่ข้อเสียซะทีเดียว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังพยายามแก้ไข Pain Point เหล่านั้นไปพร้อมกันหนึ่งในนั้นคือ Muvmi รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่นอกจากเข้ามาช่วยให้การเดินทางของชาวอารีย์ – ประดิพัทธ์ง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นธุรกิจ Eco ที่ช่วยแก้ปัญหาของเมืองได้อย่างตรงจุดอีกด้วย
“ผมมองว่าเขาเป็นธุรกิจใหม่ที่เจ๋งมากเลยนะ เป็นเทคโนโลยีที่หยิบคัลเจอร์ที่เรามีอยู่แล้วอย่างรถตุ๊กตุ๊กมาใช้ได้ดีมาก เขาเข้าใจว่าย่านเราขาดอะไร แล้วมันต้องเติมอะไร เขาเข้าใจว่านอกจากรถไฟฟ้า การเดินทางเข้าซอยอย่างอารีย์ – ประดิพัทธ์ บางทีมันก็ไม่ได้ง่าย เขามองเห็นปัญหาแล้วก็แก้ไขด้วยวิธีการที่ฉลาด ตอบรับกับคนยุคนี้จริงๆ Somewhere ก็เป็น One Stop หนึ่งของเขาด้วย ยิ่งในอนาคตถนนเส้นนี้จะเชื่อมกับโครงการ ASEAN Linkage & Business Hub บางซื่อ ผมเชื่อว่าย่านนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเหมือนน้ำเปลี่ยนทิศเลย
⛅️ – 4
Somewhere to B e g i n | พื้นที่เริ่มต้น
อารีย์ – ประดิพัทธ์ เคยเป็นหนึ่งในย่านที่ถูกจัดให้เป็นย่านสร้างสรรค์ หรือ Creative District โดย TCDC และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดเทศกาล Bangkok Design Week เมื่อปีที่แล้ว ด้วยความเป็นย่านเก่าและมี Hub ของบรรดานักออกแบบระดับหัวหอกของประเทศอยู่ที่ 33 Space การที่ครั้งหนึ่งประดิพัทธ์กลายเป็น Destination ของเทศกาลศิลปะในเมือง ผู้คน ชุมชน และนักออกแบบได้มาเจอกันย่อมเป็นหมุดหมายที่ดี คำถามคือ เมื่อเทศกาลหรือโปรเจกต์ใดๆ จบลงแล้ว จะทำอย่างไรให้ ‘ความเป็นย่าน’ ยังคงแข็งแรงและยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต
“ผมรู้สึกว่าการทำงาน Curate อะไรแบบนี้มันช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน อันนี้สำคัญ ผมว่ากรุงเทพฯ และหลายๆ แห่งก็เริ่มจะเห็นความสำคัญของอะไรแบบนี้แล้ว แต่ Bangkok Design Week มันเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แล้วทุกคนก็แยกย้ายกันไปทำงาน พอเรามีพื้นที่ตรงนี้ เลยเหมือนเป็นโอกาสเปิดพื้นที่ให้กลุ่มดีไซเนอร์ในย่านได้มาปฏิสัมพันธ์กับเรา กับชุมชนได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น เราสามารถทำให้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ ได้แล้ว” อาจารย์โอ๊ต ผู้เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการหอศิลป์ และทีมจัดงานสถาปนิก’ 60 กล่าว
“ผมมองว่านักออกแบบและสถาปนิกยุคนี้เขาเก่งขึ้นนะ วงการมันก็ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ แต่ความน่ากลัวคือเมื่อ Demand เพิ่มขึ้น แต่ Supply ของกลุ่มดีไซเนอร์ที่ดีมันอาจจะน้อย แล้วยิ่งมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้วยยิ่งน่ากลัว วงการสถาปนิกสมัยใหม่จึงมีความพยายามที่จะปลูกจิตสำนึกเรื่องเหล่านี้ลงไปเหมือนกัน”
“มันจะมีอินเนอร์บางอย่างจากที่เราเห็นสิ่งแย่ๆ ในเมืองหรือในสังคม” คุณเบลกล่าว
“พอโลกมันเป็นแบบนี้ เราก็อยากจะต่อสู้มันด้วยงานออกแบบที่ดี แค่คำพูดอย่างเดียวมันเบา มันไม่พอหรอก จะดีมากถ้าเราใช้งานพูดแทน เพราะงานเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ดีใจที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝัง ไม่ใช่แค่วงการสถาปัตย์ แต่รวมถึงทั้งวงการของดีไซเนอร์เจนเนอเรชั่นใหม่ตอนนี้ด้วย”
“คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ให้ค่าเรื่องงานออกแบบมากนัก แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่ถูกออกแบบ มันผ่านการคำนึงถึงคน คำนึงถึงเมือง ผ่านการใส่ใจรายละเอียดมาแล้ว เราเชื่อว่ามันจะให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ :)”
⛅️ โครงการ Somewhere
ประดิพัทธ์ซอย 17 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน วันจันทร์ – ศุกร์ : 07.00 – 21.00 | วันเสาร์ – อาทิตย์ : 08.00 – 22.00
Facebook : Somewhere
จอดรถได้ที่ :
1. ริมถนนประดิพัทธ์ จอดวันคี่วันคู่ ตั้งแต่เวลา 9:00-16:00
2. ร้านอาหารดาลัด ซ.ประดิพัทธ์ 19 ชั่วโมงละ 20.- เหมาวันละ 100.-
3. โครงการ Camping Ground ชั่วโมงละ 20.-
* หากจอดเกินเวลาอาจมีคุณตำรวจมาล็อคล้อได้
** ขอความร่วมมือเหล่า Cafe Hopper ไม่จอดกีดขวางทางเข้าบ้านในซอยประดิพัทธ์ 17 กันนะ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้ใช้พื้นที่และอยู่ร่วมกันในย่านอย่างเป็นมิตร
🌞 ติดตาม Breakfast and Friends ได้ที่
โฆษณา