19 ก.พ. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดกำเนิดของถั่วลันเตา
ถั่วลันเตา [Pisum sativum] เป็นหนึ่งในพืชที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาปลูกในการเกษตร และเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีการปลูกเพื่อการเกษตรมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกในปัจจุบัน โดยถูกนำมาใช้เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงสำหรับมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ถั่วลันเตามาจากไหน มีจุดกำเนิดเป็นอย่างไร ลองมาอ่านดูกันครับ
(ภาพดัดแปลงจาก By Bill Ebbesen - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=15727721)
ถั่วลันเตาในธรรมชาตินั้นมีการแพร่กระจายอยู่ในอิหร่านจนถึงเติร์กมินิสถาน เอเชียไมเนอร์ ยุโรปตอนใต้ แอฟริกาตอนเหนือ โดยเชื่อว่าจุดเริ่มต้นที่ถั่วลันเตาถูกนำมาเพาะเพื่อการเกษตรนั้นอยู่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างไรก็ตามการจะหาหลักฐานทางพันธุกรรมเพื่อมายืนยันหาจุดกำเนิดของการปลูกถั่วลันเตาเป็นเรื่องยาก เนื่องจากถั่วส่วนใหญ่ในธรรมชาติมากเป็นถั่วที่หลุดจากการเพาะปลูกหรืออาจจะมีการผสมพันธุ์กับถั่วสายพันธุ์ที่ถูกนำมาเพาะปลูก
แบบจำลองของการกระจายของถั่วลันเตาในธรรมชาติเสนอว่า ถั่วลันเตาน่าจะมีจุดกำเนิดในทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในบริเวณประเทศอิสราเอล เลบานอน ซีเรียและตุรกีทางตอนใต้ แล้วแพร่ไปทางตะวันตกในทวีปยุโรปในหมู่เกาะของประเทศอิตาลี
และแพร่ต่อไปยังบริเวณตะวันตกและตอนกลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปจนถึงทางตอนเหนือของอียิปต์ และในทางตะวันออกไปถึงทางอิหร่าน หุบเขาคอเคซัส และประเทศอัฟกานิสถาน
ถั่วลันเตาถูกนำมาเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารมาตั้งแต่เมื่อ 10,000 ปีก่อนในยุคหินใหม่ (Neolithic) โดยในตอนต้นนั้นถั่วลันเตาถูกเพาะปลูกเพื่อให้ได้เมล็ดแห้ง จากนั้นถั่วลันเตาก็ถูกปรับปรุงพันธุ์เรื่อยมา ทำให้เกิดถั่วลันเตาหลายๆ สายพันธุ์ โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นการเพาะปลูกถั่วนั้นพบตั้งแต่ในประเทศกรีซ ซีเรีย ตุรกี และจอร์แดนโดยมีอายุตั้งแต่ปลายยุคหินใหม่ (ประมาณ 10,000-6,500 ปีก่อน) ในอียิปต์บริเวณปากแม่น้ำไนล์พบหลักฐานของถั่วลันเตาอายุกว่า 6,800-6,400 ปี ในขณะที่ในทวีปเอเชียก็มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีของถั่วลันเตาเช่นกัน แต่อายุน้อยกว่า เช่น ในอัฟกานิสถานพบหลักฐานของถั่วลันเตาอายุประมาณ 4,000 ปี ในปากีสถานและอินเดียพบถั่วลันเตาอายุ 4,250-3,750 ปี
เมล็ดถั่วลันเตาแช่แข็ง (ที่มา By I, Jina Lee, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2422805)
เมล็ดถั่วลันเตาแกะเปลือกผ่าซีก หรือ Split pea (ที่มา By Sanjay Acharya - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1836049)
ในศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาเริ่มมีการคัดเลือกพันธุ์ถั่วลันเตาแยกออกเป็น 2 แบบ คือ ถั่วลันเตาประเภท ฝักเหนียว และแข็ง เมล็ดโต นิยมปลูกเพื่อ รับประทานเมล็ด (Field pea) ส่วนอีกชนิดปลูก เพื่อรับประทานฝักสด โดยฝักจะมี ขนาดใหญ่ มีปีก (Garden pea และ Sugar pea) โดย Sugar pea ที่กินได้ทั้งฝักนั้นเป็นพืชที่ถูกคัดเลือกพันธุ์มาจากฮอลล์แลนด์
ถั่วลันเตาในตะกร้า (ที่มา By George Chernilevsky - Own work, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=49876818)
โดยคำว่าลันเตา" มาจากภาษาแต้จิ๋วว่า "หลั่งเต่า" (兰豆/蘭豆, จีนกลางอ่าน "หลานโต้ว") แปลว่า "ถั่วจากฮอลันดา (ฮอลแลนด์)" ทำให้เชื่อว่าชาวจีนน่าจะได้รับถั่วลันเตานี้มาจากนักเดินเรือชาวตะวันตก แล้วจึงพาเข้ามาในประเทศไทย และ ถั่วที่เกรกอร์ เมนเดล (Gregor Mendel) บิดาของพันธุศาสตร์นำมาเป็นต้นแบบในการศึกษาพันธุกรรมก็คือ ถั่วลันเตานี้เอง
เกรเกอร์ เมนเดล(Gregor Mendel) บิดาแห่งพันธุศาสตร์
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนเรื่องถั่วเหลืองไว้ครับ น่าสนใจเหมือนกันลองไปอ่านดูได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Smykal, Petr & Kenicer, Gregory & Flavell, Andrew & Corander, Jukka & Kosterin, Oleg & Redden. Curator, Australian Grains Genebank, Robert & Ford, Rebecca & Coyne, Clarice & Maxted, Nigel & Ambrosea, Mike & Ellis, Noel. (2011). Phylogeny, phylogeography and genetic diversity of the Pisum genus. Plant Genetic Resources. 9. 4 - 18. 10.1017/S147926211000033X.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา