17 ก.พ. 2021 เวลา 04:36 • ข่าว
Podcast..รายการหนึ่งถ้วยกาแฟ...อองซาน ซูจี 34
กองทัพพม่าออกโรงจัดแถลงข่าวเป็นครั้งแรกภายหลังโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี โดยรับประกันจะจัดการเลือกตั้งและคืนอำนาจให้ผู้ชนะ อ้างการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของซูจีไม่ใช่การรัฐประหาร พร้อมประณามผู้ประท้วงว่ายั่วยุให้เกิดความรุนแรงแถมข่มขู่ข้าราชการ การแถลงข่าวคราวนี้มีขึ้นหลังจากผู้คนยังคงตบเท้าออกมาต่อต้าน รวมทั้งถูกผู้แทนพิเศษยูเอ็นเตือนเผชิญ “ผลลัพธ์ร้ายแรง” หากปราบปรามผู้ชุมนุม
พลจัตวาซอ มิน ตุน โฆษกของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ซึ่งฝ่ายทหารจัดตั้งขึ้นภายหลังการทำรัฐประหาร ออกมาแถลงข่าวในวันอังคาร (16 ก.พ.64.) ยืนยันว่า กองทัพมีจุดประสงค์ที่จะจัดการเลือกตั้งและคืนอำนาจให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าทหารไม่ต้องการยื้ออำนาจไว้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน โดยมีเพียงคำประกาศตั้งแต่เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า จะบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี
ในการแถลงข่าวที่กรุงเนปิดอ อย่างยาวเหยียดเกือบ 2 ชั่วโมง และมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กด้วย ถึงแม้สื่อสังคมยอดนิยมในพม่านี้จะถูกกองทัพสั่งแบน ซอ มิน ตุน ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับ ซูจี และประธานาธิบดีวิน มิ้น ที่หายหน้าไปตั้งแต่วันที่ 1 โดยปฏิเสธว่าทั้งสองคนไม่ได้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด หากแต่อยู่ในบ้านของพวกเขาเองเพื่อความปลอดภัยระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย นอกจากนี้ ยังระบุว่านโยบายต่างประเทศของพม่าจะไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเปิดกว้างสำหรับธุรกิจและข้อตกลงต่างๆ
ถึงแม้กองทัพส่งยานยนต์หุ้มเกราะและเพิ่มกำลังทหารช่วยควบคุมสถานการณ์ในเมืองใหญ่ๆ บางเมือง รวมทั้งตัดอินเทอร์เน็ตตลอดคืนวันจันทร์ (15) แต่ในวันอังคาร (16) ประชาชนยังพากันออกไปชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน แม้รายงานระบุว่า จำนวนผู้ชุมนุมน้อยกว่าช่วงหลายวันที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยังมีการรณรงค์ของขบวนการอารยะขัดขืน ที่ทำให้เกิดการผละงานประท้วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล
แม้การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างจำกัด แต่ตำรวจได้เปิดฉากยิงหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยิงด้วยกระสุนยาง เพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง
และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การชุมนุมประท้วงที่กรุงเนปีดอ มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกยิงที่ศีรษะและคาดว่าจะไม่รอดชีวิต ด้าน ซอ มิน ตุน กล่าวว่า มีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย จากการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการประท้วง
โฆษก SAC ยังบอกว่า การชุมนุมประท้วงเริ่มใช้ความรุนแรงและการรณรงค์อารยะขัดขืนเป็นการข่มขู่ข้าราชการอย่างผิดกฎหมาย “เราจะอดทนรอ หลังจากนั้นเราจะดำเนินการตามกฎหมาย” ซอ มิน ตุน กล่าว
เวลานี้ กองทัพได้ขยายอำนาจของตนเองในการค้นหาและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย และได้เผยแพร่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่มีเป้าหมายที่จะปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยโทษจำคุกที่หนักขึ้น
ในวันอังคาร 16 ก.พ.64..ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรวมตัวกันบนรางรถไฟชูป้ายสนับสนุนขบวนการอารยะขัดขืน และขวางการให้บริการของรถไฟในเส้นทางระหว่างนครย่างกุ้งไปยังเมืองเมาะลำไย ทางภาคใต้ “ปล่อยผู้นำของเราเดี๋ยวนี้ คืนอำนาจให้กับประชาชน” ฝูงชนโห่ร้อง
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนรวมตัวกันที่บริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และธนาคารกลาง ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน
เวลาเดียวกัน มีพระสงฆ์ราว 30 รูป ได้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่ประชาชนอีกหลายร้อยคนเดินขบวนในเมืองตานเดว ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศ
โฆษกกองทัพย้ำว่า สาเหตุที่ต้องเข้ายึดอำนาจเนื่องจากมีการโกงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจี ชนะถล่มทลาย
เมื่อวันอังคาร ทนายความเผยว่า ซูจีที่เดิมถูกตั้งข้อหานำเข้าวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย 6 เครื่องซึ่งต้องถูกควบคุมตัวถึงวันพุธ 17 ก.พ.64..นั้น ล่าสุดถูกเพิ่มข้อหาละเมิดกฎหมายการบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ
ทางด้านนานาชาติต่างประณามการรัฐประหารของกองทัพพม่า โดยอเมริกาและนิวซีแลนด์ประกาศแซงก์ชันนายทหารใหญ่หลายคน
และเมื่อวันจันทร์ 15ก.พ.64 คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ได้พูดคุยกับพลเอกโซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า โดยย้ำว่า กองทัพต้องเคารพสิทธิ์ในการชุมนุมอย่างสันติและไม่ใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง พร้อมเตือนว่า ทั่วโลกจับตาสถานการณ์ในพม่าอย่างใกล้ชิด และจะตอบโต้อย่างรุนแรงหากทหารพม่ากวาดล้างผู้ประท้วง
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา