17 ก.พ. 2021 เวลา 05:12
ศาลสั่งประหารชีวิต เฉลียว, ชิต,บุศย์ ในข้อหา ประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว
วันนี้เมื่อ 66 ปีที่แล้ว 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนีย์ และนายบุศย์ ปัทมะศิรินทร์ จำเลยในคดีต้องหาว่าประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ใน เวลา 05.00 น. ณ เรือนจำกลางบางขวาง
ต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวางเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายแพทย์เชื้อ พัฒนเจริญ และนายหลอม บุญอ่อน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมเรือนจำกลางบางขวางเป็นกรรมการ
จากเหตุการณ์ที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ด้วยพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาประมาณ 9.20 น. บนชั้นสอง พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง
สภาพพระศพมีบาดแผลกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) ข้างพระศพมีปืนพกโคลต์ตกอยู่ชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ในช่วงแรกมีการรบกวนพระบรมศพทำให้การพิสูจน์เกิดปัญหา ความเห็นของแพทย์ผู้ชันสูตรเกือบสามในสี่ลงมติเป็นการลอบปลงพระชนม์
แทนพระบรรทม
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 8 มักจะเขียนสาเหตุของการสวรรคตไว้แต่เพียงสั้น ๆ ทำนองว่า "เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง" หลายฉบับอาจระบุสาเหตุเพิ่มเติมด้วย ทำนองว่า "เป็นเพราะพระแสงปืนลั่นระหว่างทรงทำความสะอาดพระแสงปืน" เข้าใจว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการโต้เถียงกรณีสวรรคต
แม้คดีจะถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่กระจ่างชัดเจน จึงทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ซึ่งพยายามจะอธิบายกรณีที่เกิดขึ้น
โดยประเด็นหลักก็คือกรณีสวรรคตนี้ เป็นการปลงพระชนม์โดยบุคคลอื่น หรือรัชกาลที่ 8 ทรงกระทำการอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง
เคยมีข้อสันนิฐานแปลกๆ ในหนังสือ The Revolutionary King: The True–Life Sequel to The King and I (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2543) ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนถึงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์
เขียนโดย วิลเลี่ยม สตีเฟนสัน ซึ่งเป็นแขกที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงระยะหนึ่ง ได้เขียนไว้ว่า สายลับญี่ปุ่น ชื่อ ซึจิ มาซาโนบุ (Tsuji Masanobu) ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทยหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง น่าจะเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์
แต่ปัจจุบันมีหลักฐานที่ไม่สามารถโต้แย้งได้เลยว่า นายมาซาโนบุ ซุจิ ผู้นี้ไม่ได้อยู่ใกล้กับกรุงเทพเลย
แม้จำเลยทั้งสามที่ถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่คดีก็ยังเป็นที่สนใจต่อคนหมู่มาก และน่าแปลกที่คดีไม่เคยถูกรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่เลย
ซึ่งหลายคนก็เชื่อว่า นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนีย์ และนายบุศย์ ปัทมะศิรินทร์ ทั้ง 3 คน เป็นผู้บริสุทธิ์
โฆษณา