ว่านมหาเมฆ ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aeruginosa Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ขิง
สมุนไพรว่านมหาเมฆ มีชื่อเรียกอื่นว่า ขมิ้นดำ ว่านขมิ้นดำ (เชียงใหม่), กระเจียวแดง, มหาเมฆ, อาวแดง, ขิงเนื้อดำ, ขิงดำ, ขิงสีน้ำเงิน, เหวินจู๋ เอ๋อจู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของว่านมหาเมฆ
• ต้นว่านมหาเมฆ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 80-150 เซนติเมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะของเหง้าเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อน หรือเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน จึงมีคนเรียกว่า "ขิงดำ" หรือ "ขิงสีน้ำเงิน" ความยาวของเหง้ามีขนาดประมาณ 12 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร
สรรพคุณของว่านมหาเมฆ
1. เหง้าว่านมหาเมฆมีรสขมเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ใช้เป็นยากระจายเลือดลม (เหง้า)
2. เหง้าใช้เข้าตำรับยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย (เหง้า)
3. เหง้าใช้เป็นยาแก้โรคธาตุพิการ ด้วยการใช้เหง้าสดมาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาว คั้นเอาแต่น้ำกิน (เหง้า)
4. ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาเจียน (เหง้า)
5. เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหอบหืดหายใจไม่ปกติ แก้ไอ (เหง้า)
ประโยชน์ของว่านมหาเมฆ
1. ดอกสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารรับประทานได้ โดยนิยมนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก
2. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรทั่วไปอย่างแพร่หลายในมาเลเซีย อินเดีย และประเทศในแถบอินโดจีน[3] สำหรับการปลูกนั้นควรปลูกในดินร่วนปนทรายผสมดินลูกรังแดง และให้วางหัวว่านโผล่พ้นดินขึ้นมาเล็กน้อย ว่านชนิดนี้ชอบแสงแดด จึงควรนำมาปลูกในที่กลางแจ้ง
3. ในด้านของความเชื่อ มีความเชื่อกันว่าหากเกิดจันทรุปราคา ให้นำหัวว่านมหาเมฆมาปลุกเสกด้วยคาถา (เสกจนพระจันทร์มืดมิด) แล้วนำหัวว่านมาทาบตัว จะทำให้ผู้อื่นมองไม่เห็นตัวเรา และหากปรารถนาสิ่งใดก็จะสมดั่งปรารถนา หรือหากนำมารับประทานก็จะเป็นคงกระพันชาตรี