17 ก.พ. 2021 เวลา 16:59 • ไลฟ์สไตล์
“พลาดบ้างก็ได้ ไม่ต้องสมบูรณ์ทุกเรื่อง”
รู้จัก self-blame บทเรียนของมนุษย์เพอเฟ็กต์ชันนิสต์
“เราเป็นคนจริงจังกับเรื่องงานมาก เก็บทุกรายละเอียด เป๊ะกับทุกเรื่องในชีวิตโดยเฉพาะเรื่องงาน จนวันหนึ่งเราขอแฟนที่คบกันมา 8 ปีแต่งงาน สิ่งที่ได้คือ แฟนบอกเลิกเพราะเราให้น้ำหนักที่งานมากเกินไป”
.
.
นี่คือ บางช่วงบางตอนจากบทสนทนาว่าด้วยเรื่องงานในคลับเฮาส์ที่แอดได้มีโอกาสร่วมพูดคุยด้วย คุณพี่ท่านนี้ทำงานในตำแหน่งระดับผู้บริหารของเอเจนซี่แห่งหนึ่ง
.
ในขณะที่ ‘first jobber’ หลายคนเข้ามาแชร์มุมมองการทำงานในช่วงขวบปีแรกๆ เขาเล่าว่า ตอนที่อายุเท่ากับหลายคนในนี้ มุมมองที่มีต่อการทำงานกลับเต็มไปด้วยแรงกดดัน และคิดเพียงแค่ว่างานทุกอย่างต้องออกมาเพอเฟ็กต์ ซึ่งความเพอเฟ็กต์ชันนิสต์แบบนี้ยังแผ่ไปถึงเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง จนทำให้บาลานซ์ในชีวิตเสียสมดุลไปเลย
.
แม้ว่าด้านหนึ่งเพอเฟ็กต์ชันนิสต์จะดูเป็นคนเก็บรายละเอียด ลงดีเทล ใส่ใจทุกขั้นตอน จนทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ภายใต้ความเนี๊ยบเหล่านั้นกลับแลกมาด้วยสุขภาพจิตที่แย่ลง จากความคาดหวังที่เรามีต่อตัวเอง และยังส่งแรงกดดันลบๆ แบบนี้ไปถึงคนอื่นๆ แบบที่เราอาจจะไม่เคยคิดถึงผลลัพธ์ของมันเลยว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จที่แลกมาด้วยผลกระทบเหล่านี้ได้สร้างบรรยากาศในชีวิตอย่างไรบ้าง
.
งานวิจัยจากนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน มหาวิทยาลัยฟิลิปป์แห่งมาร์บวร์ก ระบุว่า ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่คุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการ เพราะมันอาจส่งผลเสียกับสภาพแวดล้อมจนทำให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ รู้สึกแปลกแยกจากตัวคุณ ทำให้ความเป็นทีมเวิร์กสั่นคลอนเพิ่มขึ้น และหากเลือกได้ ทุกคนก็อยากจะร่วมงานกับคนที่ไม่ได้ยึดความสมบูรณ์แบบเป็นสรณะของชีวิตมากกว่า
.
ซึ่งในปี 2018 ที่ผ่านมา ก็มีงานศึกษาจากนักวิจัยชาวอังกฤษเผยแพร่ออกมาด้วยว่า ค่านิยมความเป็นเพอเฟ็กต์ชันนิสต์ดูจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนมิลเลนเนียลหรือคนเจนแซด (Gen Z) ที่มองว่า เป็นเพราะพวกเขาได้รับความคาดหวังจากคนรอบข้างสูงมาก และด้วยเหตุนี้ คนรุ่นใหม่จึงรับเอาความคาดหวังเหล่านั้นมาเป็นแรงกดดันให้กับตัวเอง รวมถึงยังใช้สายตาความเป็นเพอเฟ็กต์ชันนิสต์มองไปยังคนอื่นๆ รอบตัวด้วยความคาดหวังแบบเดียวกันด้วย
.
“คาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” คือหัวใจสำคัญที่ทำให้มนุษย์เพอเฟ็กต์ชันนิสต์พัฒนาความคาดหวังเป็นแรงกดดัน และถ้ามิชชันนั้นล้มเหลวหรือผิดพลาด เพอเฟ็กต์ชันนิสต์ไม่ใช่มนุษย์ที่จะให้อภัยตัวเองได้บ่อยๆ นั่นจึงทำให้ความสมบูรณ์แบบที่พวกเขามี ยึดโยงเข้ากับปัญหาสุขภาพจิตที่พัฒนาไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล รวมถึงในบางกรณีอาจมีความผิดปกติด้านการกินร่วมด้วย
.
เพราะการต้องคอยประคองให้ตัวเองสมบูรณ์แบบในทุกห้วงชีวิต แม้วันนั้นคุณจะเหนื่อยหรืออ่อนแรงแค่ไหนก็ตามนั่นหมายความว่า คุณไม่เคยอ่อนโยนหรือใจดีกับตัวเองเลย คุณคอยเฆี่ยนตีตัวเองอยู่สม่ำเสมอ แม้ว่าลึกๆ แล้ว คุณต้องการ ‘take time’ บ้าง แต่หัวโขนความเป็นเพอเฟ็กต์ชันนิสต์ ที่ไม่อาจปลดระวางได้ง่ายๆ นี่แหละที่ค้ำคอไว้ จนเกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า ‘self-blame’ หรือการโทษและโยนความผิดที่ตัวเอง จนไม่อาจให้อภัยได้อีกต่อไป
.
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณเองก็ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดในชีวิต และที่สำคัญคือ คุณไม่ต้องการให้คนอื่นๆ เห็นความผิดพลาด หรือมองว่าความผิดพลาดที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์จะเกิดขึ้นกับเพอเฟ็กต์ชันนิสต์แบบคุณ เพราะคุณเคร่งเรื่องความสมบูรณ์แบบ คุณแตกต่าง คุณจะไม่มีวันให้อภัยหากเกิดอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผนในชีวิต
.
แต่คุณอาจจะลืมไปว่า คุณเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ความผิดพลาดหรือไม่เป็นไปตามแพลนบ้างก็ไม่ได้หมายถึงความล้มเหลวเสมอไป หรือต่อให้มันล้มไม่เป็นท่าก็ไม่ได้แปลว่า คุณจะแก้หรือผ่านมันไปไม่ได้ใช่ไหม?
.
บทเรียนที่แอดได้จากปีที่แล้วในช่วงเวลาที่พยายามขับเคี่ยวให้ตัวเองสำเร็จเร็วมากๆ ก็คือ สุดท้ายแล้วถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ ปัญหาจะเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ทั้งนั้น สำคัญคือ เราจะผ่านมันไปได้ยังไง และเมื่อผ่านมาได้แล้วคุณได้เรียนรู้และหัดยินดีชื่นชมตัวเองบ้างไหมต่างหากล่ะครับ😊
โฆษณา