17 ก.พ. 2021 เวลา 17:20 • ศิลปะ & ออกแบบ
Pollice Verso ภาพวาดกลาดิเอเตอร์กับนิ้วโป้งเจ้าปัญหา
thumb down = ตาย?
ภาพ Pollice Verso วาดโดย Jean-Léon Gérôme
พูดถึงกลาดิเอเตอร์แล้วหลายคนอาจนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Gladiator เมื่อปี 2000
นึกถึงภาพสลักและเรื่องราวดุเดือดเกี่ยวกับนักสู้เหล่านี้ตามหนังสือหรือสารคดีโรมันโบราณ
และที่ขาดไม่ได้สำหรับอึ่งคือภาพจิตรกรรมชื่อดัง! Pollice Verso ค่ะ
กลาดิเอเตอร์นั้นพูดง่ายๆ สั้นๆ ก็เป็นเอ็นเตอเทนเนอร์ของยุคโรมัน
แต่การแสดงของพวกเขาคือการต่อสู้ที่เจ็บจริงตายจริง
กลาดิเอเตอร์มีหลายประเภท และหลายคนก็เรียกได้ว่าโด่งดังเป็นไอดอลเลยทีเดียว
โดยในการต่อสู้ของพวกเขา เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงจุดที่รู้ตัวว่าสู้ต่อไม่ได้แล้ว
เขาคนนั้นสามารถส่งสัญญาณมือที่เรียกว่า pugnare ad digitum
หรือ ‘to fight to the finger’เพื่อขอยุติการต่อสู้
และผู้ที่จัดการแข่งขัน (editor) จะตัดสินว่าเขาควรถูกฆ่าโดยผู้ชนะหรือไม่
โดยใช้สัญญาณมือตอบเช่นกัน
ซึ่งผลการตัดสินก็มักจะมาจากความต้องการของเหล่าผู้ชม
แม้เขาจะแพ้ แต่ถ้าสู้มาได้ถูกอกถูกใจก็อาจรอด
มาที่ภาพ Pollice Verso อันเป็นประเด็นกันค่ะ
ภาพนี้เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบ กว้างประมาณหนึ่งเมตร ยาวประมาณเมตรครึ่ง (96.5x149.2 cm) ซึ่งถือว่าขนาดใหญ่พอสมควร
วาดโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Jean-Léon Gérôme ในปี 1872
ห่างไกลจากยุคโรมันเลยทีเดียว ซึ่ง Gérôme ก็มีชื่อเสียงมากมายอยู่
โดยเฉพาะภาพวาดแนวประวัติศาสตร์ (ผสมนู้ดบ้าง)
Pollice Verso (โปลิเช แวร์โซ) เป็นภาษาละติน
แปลแบบตรงๆ ได้ว่า ‘with a turned thumb’
คือการใช้นิ้วโป้งเป็นสัญญาณตัดสินชะตากรรมของกลาดิเอเตอร์ผู้พ่ายแพ้
ในตัวคำก็ไม่ได้บอกว่า turn ที่ว่านี้คือชี้นิ้วโป้งไปทางไหน
ชี้บน ชี้ล่าง ชี้ข้างๆ หรือหมุนท่าไหนยังไงก็ไม่ทราบได้แน่ชัด
จากในภาพเราจะเห็นฉากการต่อสู้ของกลาดิเอเตอร์ในอารีน่าตอนที่เรียกได้ว่ารู้แพ้รู้ชนะกันแล้วล่ะ
กลาดิเอเตอร์ที่ชนะยืนอยู่ ส่วนคนที่แพ้นอนราบอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเขา
พร้อมกับส่งสัญญาณมือขึ้นไปทางผู้ชม
กลาดิเอเตอร์ผู้แพ้ส่งสัญญาณมือเพื่อยุติการต่อสู้และรอคำตัดสิน
ทางด้านผู้ชมก็พร้อมใจกันชี้นิ้วโป้งลงพื้นด้วยสีหน้าท่าทางที่ออกจะไม่พอใจ
เพื่อบอกให้ผู้ชนะปลิดชีพผู้แพ้ซะ!
และด้วยเรื่องการชี้นิ้วโป้งลง (thumb down)ในภาพนี้ก็ทำให้เกิดการถกเถียงมากมายว่าการตัดสินให้ปลิดชีพกลาดิเอเตอร์ผู้พ่ายแพ้เนี่ย
ต้องชี้นิ้วโป้งลงจริงๆ เหรอ???
ที่สำคัญคือภาพนี้ได้ทำให้ผู้คนเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่า
thumb down คือโทษตาย
เหล่า Vestal Virgin (ชุดขาวแถวหน้า) กับผู้ชมคนอื่นๆ แสดงท่าชี้นิ้วโป้งลง
แต่บางส่วนก็ออกมาแย้งความเชื่อนี้
ในปี 1879 มีจุลสารฉบับหนึ่งถูกตีพิมพ์ออกมาใช้ชื่อว่า
"Pollice Verso": To the Lovers of Truth in Classic Art,
This is Most Respectfully Addressed
กล่าวถึงหลักฐานการอ้างอิงต่างๆ จากหลายคนเลยเลยค่ะ
ความเห็นก็หลากหลายมาก
มีทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านความถูกต้องของท่านิ้วโป้งชี้ลงในภาพ
และยังมีจดหมายลงวันที่ 8 ธันวาคม 1878 ของ Gérôme เองด้วย
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่อึ่งอ่านจดหมายไม่ออกเลยค่ะ เป็นภาษาฝรั่งเศส 😭
อย่างไรก็ตามภาพนี้ก็ยังอยู่ของมันไป และมีชื่อเสียงด้วย
การถกเถียงถึงความถูกต้องในภาพก็คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพโด่งดังล่ะนะ
อึ่งคิดว่าคนที่เห็นภาพก็มีสิทธิ์เชื่อต่อๆ กันไปว่าสมัยนั้นเป็นแบบนั้นแหละ
ต่อให้มีคนอีกกลุ่มที่ถกเถียงและหาหลักฐานต่อไป
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้เห็นภาพแล้วจะได้เห็นหลักฐานหรือการอ้างอิงต่างๆ มาประกอบการพิจารณา
อีกอย่างคืออึ่งคิดว่าภาพมันสวยค่ะ มันดูสมจริง
ความสมจริงนี้อาจหลอกเราไปแวบหนึ่งว่าภาพกำลังนำเสนอความจริงอยู่
มากไปกว่านั้นคือเกิดการผลิตซ้ำความเชื่อนี้ในสื่อต่างๆ
ได้ยินว่าภาพนี้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของการสร้างภาพยนตร์
เรื่อง Gladiator ด้วย
ซึ่งในภาพยนตร์ก็มีฉาก ‘thumb down’ นี้เช่นกัน
คนที่ดูภาพยนตร์ก็อาจรับแนวคิดนี้กันต่อไปอีกก็ได้
ภาพยนตร์เรื่อง Gladiator ปี 2000
ทว่าต่อมาในปี 2004 Anthony Corbeill ศาสตราจารย์ด้านศิลปะคลาสสิก
ซึ่งมีผลงานเลื่องลือด้านการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
วัฒนธรรมโรมัน ได้ออกหนังสือชื่อ
Nature Embodied: Gesture in Ancient Rome
ซึ่งบอกเลยว่าเขาได้อธิบาย วิเคราะห์ และให้ข้อมูลประกอบเต็มเปี่ยมจนสาธยาย
ไม่ไหวเลยเชียวค่ะ 😅
สรุปได้ว่า Corbeill ศึกษาเรื่องท่ามือของชาวโรมันโบราณควบคู่กับหลักฐานต่างๆ
ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและโบราณวัตถุ
และหลักฐานเหล่านั้นก็สนับสนุนความคิดที่ว่าในสังคมโรมันสมัยนั้นการชี้นิ้วโป้งขึ้นเป็นการแสดงความเป็นอริ หรือความไม่พอใจ
อีกทั้งนิ้วโป้งนั้นอาจชี้แบบเคลื่อนไหวด้วย (หมายถึงขยับมือไปด้วย)
ดังนั้นถ้าจะสั่งให้ฆ่าคุณกลาดิเอเตอร์ ก็ควรจะชี้นิ้วโป้งขึ้นมากกว่า
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญซึ่งสนับสนุนว่าท่ามือของการไว้ชีวิตกลาดิเอเตอร์อาจไม่ใช่นิ้วโป้งชี้ลง คือภาพสลักดินเผาโบราณแผ่นหนึ่ง (medallion)
ปัจจุบันอยู่ที่ Musée Archéologique ในเมือง Nîmes ประเทศฝรั่งเศส
เป็นภาพกลาดิเอเตอร์ที่สู้เสมอกัน มีคนชูกำปั้น บวกกับข้อความในนั้นที่บอกถึงการปล่อยตัวไป
แสดงให้เห็นว่าการตัดสินให้ไว้ชีวิตกลาดิเอเตอร์อาจใช้ท่ากำปั้นที่กดนิ้วโป้งไว้กับ
นิ้วชี้มากกว่า ไม่ใช่การชี้นิ้วโป้งลงแบบในภาพวาด Pollice Verso ของ Gérôme
อย่างที่หลายคนเข้าใจ
สำหรับอึ่งแล้วการวิเคราะห์ของ Corbeill ดูสมเหตุสมผลและน่าเชื่อถือมากเลย
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก็ผันแปรไปตามข้อมูลที่พบอยู่เรื่อยๆ
(อยากมีไทม์แมชชีนมากๆ ในจุดนี้)
เราสามารถวิเคราะห์ตามหลักฐานที่รวบรวมได้
สามารถเชื่อในสิ่งที่เป็นไปได้ที่สุด ณ ตอนนั้น
และต้องระมัดระวังเรื่องการนำความคิดหรือค่านิยมในปัจจุบันไปตีความในบริบท
ของอดีต...อันนี้ได้ยินบ่อยมากค่ะ 😁
เหมือนกับที่ตอนนี้เราใช้ thumb down ในความหมายแง่ลบ
ซึ่งจริงๆ แล้วการใช้ท่ามือต่างๆ ในปัจจุบันนี้
ไม่ว่าจะยกนิ้วโป้ง นิ้วกลาง นิ้วก้อย ชูสองนิ้ว ชูกำปั้น ฯลฯ
ในพื้นที่แตกต่างกัน ก็มีความหมายแตกต่างกันไปอีก
ก็ไม่แปลกที่ยุคสมัยแตกต่างกัน จะให้ความหมายต่างกัน
มีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะแบ่งปันคือการดูภาพวาด (เน้นที่ศิลปะตะวันตกละกัน)
ต่างจากการดูภาพถ่าย เราไม่นับพวกฟิลเตอร์แล้วกันนะคะ 😂
ภาพถ่ายจะถ่ายทอดสภาวะที่เป็นจริงตรงนั้นเลย
แต่ภาพวาดคือการสร้างขึ้นมาใหม่
ยิ่งในศิลปะตะวันตก มันผ่านความคิดความเข้าใจของจิตรกร
ผ่านความคิดของผู้สั่งให้วาด มีหลายสิ่งหลายอย่างมากที่ถูกขมวดอยู่หลังฉาก
ก่อนจะออกมาเป็นภาพ
เราจึงไม่สามารถเชื่อทุกสิ่งในภาพวาดว่าเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์
แม้จะเป็นภาพวาดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือวาดได้สมจริงเพียงใดก็ตาม
(อันนี้เจอมากับตัวค่ะ)
ภาพวาดคือโลกในมือของผู้วาด
และการที่ภาพวาดต้องนำพา ‘สาร’ อะไรบางอย่างมาถึงผู้ชม
ให้เราต้องวิเคราะห์ ตีความ หาข้อมูล ถกเถียงกัน
ก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งนะ
ไม่คิดว่าจะยาวเลยนะเนี่ย
แล้วเจอกันนะคะ
🤟🏽
โฆษณา