17 ก.พ. 2021 เวลา 18:22 • การเกษตร
Blockchain กับภาคการเกษตร
“ความน่าเชื่อถือ” ของสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แต่สินค้าเกษตรในประเทศไทยนั้นมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อมาตลอด ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดคือ ผลสำรวจการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชของ Thai-PAN ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผักที่ติดตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นั้นมีการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในสัดส่วนถึงประมาณ 1 ใน 4 ของตัวอย่างทั้งหมดที่ทำการสุ่ม ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าบางทีอาจถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตรต้องมองหาแนวทางใหม่ในการสร้างความน่าเชื่อถือ
เทคโนโลยี Blockchain ถือเป็นการปฏิวัติระบบการสร้างความน่าเชื่อถือแบบดั้งเดิมซึ่งอาศัยตัวกลาง อย่างเช่นระบบเงินตราที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีธนาคารทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการกำหนดค่าเงินและช่วยดำเนินธุรกรรมต่างๆ โดยธนาคารจะเก็บข้อมูลธุรกรรมเหล่านี้ไว้เป็นความลับ ดังนั้นหากธนาคารหมดความน่าเชื่อถือธุรกรรมทั้งหมดก็ขาดความน่าเชื่อถือไปด้วย ในขณะที่ Blockchain นั้นเป็นระบบการสร้างความเชื่อใจแบบไม่อาศัยตัวกลางแต่อาศัยการสร้างเครือข่ายแทน
เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับการสร้างบัญชีธุรกรรมขนาดใหญ่ที่มีการบันทึกประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดและทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายมีสิทธิ์เข้าถึงได้ การบันทึกประวัติจะเกิดขึ้นเป็นรอบโดยข้อมูลธุรกรรมจะถูกเก็บไว้ใน บล็อก (Block) ซึ่งเปรียบเสมือนกล่องบรรจุข้อมูลธุรกรรมที่มีรหัสล็อค ในแต่ละรอบการบันทึกจะมีบล็อกใหม่เพิ่มเข้ามาในระบบเรื่อยๆและแต่ละบล็อกนั้นเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ (Chain) ตามลำดับเวลา การบันทึกข้อมูลธุรกรรมแต่ละครั้งจะต้องได้รับการยอมรับจากคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเครือข่าย หากมีผู้ใดสร้างบล็อกที่มีธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือมี “การโกง” ข้อมูลจะไม่สอดคล้องกับบล็อกอื่นๆที่ถูกบันทึกก่อนหน้า ทำให้คนอื่นๆที่อยู่ในเครือข่ายรู้ถึงความผิดปกติและจะไม่ยอมรับการบันทึกบล็อกข้อมูลนั้น ทางเดียวที่เป็นไปได้ในการโกงคือต้องย้อนกลับไปถอดรหัสและแก้ไขบล็อกอื่นๆที่ถูกบันทึกก่อนหน้าทีละอัน ดังนั้นในเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่และมีบล็อกจำนวนมากการโกงนั้นเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ เทคโนโลยี Blockchian หรือที่มักเรียกกันว่า “บัญชีธุรกรรมแบบกระจาย” จึงสามารถสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมได้โดยอาศัยเครือข่าย
ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการนำแพลทฟอร์มของเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการซื้อขายและการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์เกษตร ในออสเตรเลียบริษัท Agridigital ได้มีการนำ Blockchain มาใช้ในการจัดการระบบการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ผลิตข้าวโอ๊ต รวมไปถึงใช้ในการการติดตามเส้นทางการผลิตและขนส่งข้าวโอ๊ตที่ผลิตในระบบอินทรีย์ ที่ประเทศอเมริกามีรายงานการใช้ Blockchain ในการจัดการขายผลผลิตถั่วเหลืองจำนวน 60,000 ตันให้แก่รัฐบาลจีน โดยผู้บริษัทผู้ผลิตถั่วเหลืองให้ข้อมูลว่า Blockchain ช่วยให้ระยะเวลาในกระบวนการทำธุรกรรมลดลงจาก 2 สัปดาห์เหลืองเพียง 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ที่ประเทศฟิจิมีการนำ Blockchain มาใช้เพื่อติดตามแหล่งที่มาของปลาทูน่า โดยปลาที่ถูกจับได้จากทะเลจะถูกติดด้วยฉลากที่ระบุตัวตนด้วยความถี่วิทยุ ทำให้การเคลื่อนย้ายของปลาที่จับได้ในแต่ละรอบจะถูกบันทึกและติดตามได้ตามลำดับเวลาโดยข้อมูลจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ร้านค้าและผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงที่มาของปลาได้อย่างโปร่งใส และลดปัญหาปลาที่มาจากการทำประมงแบบผิดกฎหมาย จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Blockchain นั้นมีศักยภาพสูงและน่าจะถูกนำมาใช้ในภาคการเกษตรของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเกษตรมากขึ้น
เขียนโดย: ผศ.ดร. สิริวัฒน์ สาครวาสี
โฆษณา