25 ก.พ. 2021 เวลา 11:30 • สิ่งแวดล้อม
รู้ไหมว่า หมีขาวไม่ได้มีขนสีขาว !?!
ถ้าพูดถึงหมีขั้วโลก เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงนึกถึงสัตว์ตัวหนา ขนปุกปุย สีขาวสะอาด กลืนไปกับหิมะ
อาจจะนึกถึงภาพหมีขาวกำลังงับปลาแซลมอนที่ว่ายทวนกระแสน้ำ
หรือจะนึกถึง Ice Bear หมีขาวใจดีพูดน้อยในการ์ตูน We Bare Bears
แต่.. นั่นอาจจะไม่ใช่ภาพจำที่ถูกต้องสักเท่าไหร่
เนื่องในวันหมีขั้วโลกสากล (International Polar Bear Day) หรือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เราได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change)
เรามาทำความรู้จักหมีขั้วโลกและสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยพวกหมีกันใหม่ดีกว่า!
กับ
"4 เรื่องน่ารู้ของหมีขั้วโลกที่เราอาจจะไม่เคยรู้"
1. หมีขั้วโลกแทบไม่กินปลา ยิ่งเป็นปลาแซลมอนแล้ว น่าจะเป็นภาพที่หาได้ยากสักหน่อย
Starving polar bear pounces on a seal | The Hunt - BBC, https://youtu.be/0mgnf6t9VEc
หมีขั้วโลกมีอาหารหลักคือ "แมวน้ำ"
เพราะมีไขมันและแคลอรี่ที่ให้พลังงานและความอบอุ่นเพียงพอสำหรับหลายเดือนหรืออาจเป็นปี
รองลงมาเป็นสัตว์น้ำตัวใหญ่ ๆ เช่น วาฬเบลูก้า วอลรัส หรือเป็นซากของสัตว์เหล่านี้
ในการล่าแมวน้ำ แผ่นน้ำแข็งมีส่วนสำคัญมาก
เพราะเอาจริงแล้ว มันไม่ได้ออกล่า แต่ไปดักซุ่มหรือยืนรอนิ่ง ๆ ให้แมวน้ำโผล่ขึ้นมาหายใจผ่านรูของแผ่นน้ำแข็ง
ด้วยทักษะการดมกลิ่นของหมีขั้วโลกที่เป็นเลิศ มันสามารถแยกกลิ่นได้ไกลถึง 1 กม. มันจึงยืนรอได้เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน เพราะมั่นใจได้ว่าเหยื่อยังไม่ไปไหนไกล ถ้าแมวน้ำหนีลงน้ำ ก็รีบว่ายลงไปงับขึ้นมา
แต่ถึงหมีขาวจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์น้ำ แต่มันก็ไม่ได้เก่งถึงขนาดที่จะเป็นผู้ล่าในน้ำ และการว่ายน้ำนาน ๆ ก็ใช้พลังงานเยอะมากเกินไป
แต่ถ้าเจ้าหมีหิวมากและไม่สามารถหาอาหารประจำได้สักที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการที่ไม่มีน้ำแข็งให้หาอาหาร ด้วยความสามารถในการปรับตัว มันจะมองหาอาหารทางเลือกอื่น ๆ แทน เช่น กวาง นก ผัก ผลไม้ หรือ ปลา (ภาพจำที่เราคุ้นตากลับเป็นภาพที่หายาก หมีที่กินปลาแซลมอนบ่อย ๆ มักจะเป็นหมีกริซลี่ ซึ่งเป็นญาติใกล้ ๆ)
ที่น่าเศร้าคือ พักหลังมานี้ เราได้เห็นภาพข่าวที่พบหมีขั้วโลกหิวโซเดินหาอาหารท่ามกลางชุมชนมนุษย์บ่อยขึ้น เพราะการลดลงของบ้านและที่ทำกินของมัน ทำให้มันต้องปรับตัวและหาอาหาร ซึ่งบางที ก็เป็นกองขยะของคนที่มันได้กลิ่นและเดินตามมา
2. หมีขั้วโลกหรือหมีขาวไม่ได้มีขนสีขาว แต่มีสีใสต่างหาก
© naturepl.com/Steven Kazlowski/WWF
ที่เรามักเห็นเป็นสีขาว เป็นเพราะเกิดการสะท้อนแสงกับหิมะหรือบรรยากาศรอบตัว
แถมผิวหนังของมันยังมีสีดำอีกด้วย เวลาตัวเปียก เราเลยมักจะเห็นมันมีสีออกเทา ๆ
ส่วนที่บางทีมีสีแกมเหลือง อาจจะเป็นคราบไขมันจากแมวน้ำหรือสัตว์ที่มันกินเข้าไปก็ได้
เรื่องขนและผิวหนังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หมีขั้วโลกสามารถอยู่กับความหนาวเย็นได้
การที่มันมีขนที่โปร่งใส ทำให้แสงแดดสามารถลอดผ่านไปถึงชั้นผิวหนังได้
สีดำที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูดซับความร้อน ก็จะทำหน้าที่เพื่อเก็บความร้อนนี้ไว้ในตัวของมัน ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปลืองพลังงานในการทำให้ร่างกายอบอุ่น
เรื่องนี้ส่งผลต่อเนื่องกับการใช้ชีวิตของหมีขั้วโลก มันจะเดินแบบเชื่องช้าเท่าที่เป็นไปได้ แม้ว่าถ้าวิ่งอาจจะเร็วพอ ๆ กับม้าที่ 40 กม./ชม. ทีเดียว เพราะยิ่งเคลื่อนไหวมาก ยิ่งใช้พลังงานมาก จะเกิดความเสี่ยงสูงมากที่จะ overheat เพราะมันไม่สามารถระบายความร้อนได้ทันนั่นเอง
ในช่วงหลังมานี้ พวกหมีต้องเดินทางไกลมากขึ้นในการหาอาหาร การที่มันต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นบวกกับความสามารถในการกักเก็บความร้อน ทำให้มันผอมไวและหมดแรงง่ายขึ้น
3. หมีขั้วโลกอยู่ขั้วโลกเหนือเท่านั้น ไม่มีที่ขั้วโลกใต้
Polar bear cubs looking out of their den in Wapusk National Park in Manitoba, Canada © Robert Harding/Alam
ถึงขั้วโลกใต้จะมีสัตว์หลายชนิด และยุคก่อนการแบ่งทวีปจะเป็นแผ่นเปลือกโลกที่เชื่อมต่อกัน แต่ที่ขั้วโลกใต้ไม่มีหมีขั้วโลก และมันคงจะแปลกถ้ามีสัตว์นักล่าไปโผล่ที่นั่น
อย่างไรก็ตาม มีการพูดคุยกันว่า ถึงที่ขั้วโลกใต้จะมีการละลายของน้ำแข็งเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า
จะดีกว่าไหมนะ ที่เราจะช่วยหมีขั้วโลกด้วยการย้ายมันไปที่แผ่นน้ำแข็งของอีกซีกโลกหนึ่ง
ข้อกังวลคือเราจะเข้าไปรบกวนธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เพราะ
1) เนื่องจากที่ขั้วโลกใต้ไม่มีสัตว์นักล่าแบบหมีขั้วโลก ทำให้สัตว์ประจำถิ่น เช่น เพนกวินหรือแมวน้ำ มีความกล้าแกร่งและอยู่บนบกได้เก่งกว่าพวกในขั้วโลกเหนือ
2) ถ้าหมีขั้วโลกยังคงความแข็งแกร่งในการจับสัตว์เหล่านี้กิน ระบบนิเวศจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด
แม้ว่าการที่เกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้น มนุษย์เป็นตัวแปรสำคัญ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติตามใจชอบและไม่สามารถรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่คาดเดาไม่ได้
Fun Fact: เราอาจจะป้องกันการสับสนได้ด้วยที่มาของชื่อขั้วโลกเหนือ คำว่า Arctic (ขั้วโลกเหนือ) มาจากภาษากรีกคือคำว่า ἀρκτικός (arktikos) แปลว่า หมี ส่วน Antarctica (ขั้วโลกใต้) แปลว่าตรงข้ามกับ Arctic คือไม่มีหมีนั่นเอง ถึงจริง ๆ แล้วหมีในที่นี้จะสื่อถึงกลุ่มดาวก็ตาม แต่สามารถเอาไปใช้จำที่อยู่ของหมีขั้วโลกได้
4. หมีขั้วโลกเป็นสัตว์ที่มักอยู่อย่างโดดเดี่ยว
A polar bear outside Churchill, Manitoba, which is located on the animals' annual migration route. © TIM AUER/ POLAR BEARS INTERNATIONAL
ถ้าเราดูสารคดี เรามักจะเห็นหมีขั้วโลกอยู่ตัวเดียวโดด ๆ มากกว่าอยู่เป็นกลุ่ม หมีขั้วโลกจะมีช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับตัวอื่นอยู่แค่ 2 ช่วงคือ
1) ช่วงหาคู่เพื่อผสมพันธุ์
ตัวผู้จะตามหาตัวเมียผ่านการดมกลิ่นจากการเดินเท้า ตัวเมียจะทำการทดสอบว่าเป็นตัวผู้ที่แข็งแรงพอจะทำให้ลูกของเธอแกร่งพอที่จะอยู่รอดได้ หลังจากอยู่ด้วยกันไม่กี่วัน ตัวผู้จะแยกตัวออกไปเดินตามทางของตัวเอง
2) ช่วงเพิ่งคลอดจนถึงอายุ 2 ½ - 3 ปี
แม่หมีจะตั้งท้องและคลอดลูก (มักได้ลูกแฝด) ในโพรงน้ำแข็งและอยู่ด้วยกันในนั้นเป็นเวลา 1 - 1 ½ ปี โดยลูกหมีจะอาศัยอาหารจากน้ำนมของแม่เท่านั้น
และเนื่องจากตัวยังเล็กมาก หูและตายังใช้งานไม่ได้ ขนก็ยังบาง ๆ ไม่สามารถให้ความอบอุ่นกับตัวเองได้ จึงต้องซุกตัวแม่เป็นหลัก
เมื่อแข็งแรงพอก็จะออกไปเรียนรู้จากใช้ชีวิตข้างนอกด้วยกัน จนอายุมากพอก็จะแยกตัวออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง
หลายตัวเดินทางไกลกว่าร้อยกม. เพื่อห่างจากบ้านที่เคยอยู่ ถ้าโชคดีก็จะอยู่รอดได้นานพอที่จะได้ผสมพันธุ์ต่อไป
หลายตัวมักถูกหมีตัวผู้ตัวเต็มวัยหรือหมาป่าที่แข็งแกร่งกว่าและชอบอยู่เป็นฝูงทำร้าย
หลายตัวไม่สามารถหาอาหารให้เพียงพอในการอยู่รอดได้ เพราะลำพังการล่าเหยื่อเองก็ไม่ง่าย จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป น้ำแข็งที่ลดลง อาหารก็หายากขึ้นไปอีก
แล้วพวกเราที่อยู่ตรงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมีขั้วโลกยังไงบ้างนะ?
อ่านต่อได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้เลย
ติดตาม little big green ในช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
โฆษณา