18 ก.พ. 2021 เวลา 06:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แอปฯ Clubhouse แรงกระเพื่อมใหม่แห่งโลกยุคดิจิทัล
แค่กระแส หรือของจริง
เราจะมาติดตามใน 4 ประเด็นดังนี้ค่ะ
1. จีนบล็อกแอปฯ Clubhouse
2. ราคาหุ้น ClubHouse พุ่งมากกว่า 1,000% (มาแบบงงๆ ต้องขยายเลยทีเดียว)
3. แล้ว Clubhouse จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ Podcast หรือไม่
4. Clubhouse จะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ของเหล่านักการตลาดหรือไม่
เชื่อว่า ไม่มีใครตอนนี้ที่ไม่รู้จักแอปพลิเคชั่นแบ่งปันเสียง (Audio-Sharing App) Clubhouse อย่างแน่นอน ซึ่งแอปฯนี้ใช้ได้เฉพาะในหมู่คนใช้โทรศัพท์มือถือไอโฟนเท่านั้น และต้องได้รับ "คำเชิญ" จากคนที่ใช้แอปฯ อยู่แล้วเท่านั้นถึงจะเข้าไปใช้เพื่อพูดคุยกันทางเสียงได้ และแอปฯนี้ดูจะเหมือนวิทยุสื่อสาร เหมือนฟังวิทยุ ฟังพอดคาสต์สด แต่สามารถพูดคุยได้ และความฮิต ไม่ได้มีในประเทศไทยเท่านั้น ฮิตกันไปทั่วโลกก็ว่าได้
การตอบรับจากมหาชนดังกล่าวทำให้พนักงานสิบกว่าคน และผู้ก่อตั้งสองคนคือ Paul Davison และ Rohan Seth ถึงกับดีใจเป็นอย่างมาก และเมื่อเดือนที่แล้วก็ได้ระดมทุนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมูลค่าบริษัทก็ขึ้นสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตอนนี้ก็พยายามจะต่อสู้กับการจราจรอันคับคั่งในแอปฯ ซึ่งเห็นได้จากการล่มของแอปฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ความแรงของ Clubhouse เริ่มต้นตั้งแต่ อิลอน มัสก์ ได้เข้าไปปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าว และได้ดึงดูดความสนใจเหล่าผู้ใช้แอปฯนี้เป็นวงกว้าง
ความแรงของแอปฯ Clubhouse นี้ ส่งแรงกระเพื่อมใหม่แห่งโลกยุคดิจิทัลเป็นวงกว้าง จากที่ปรากฏในเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ มีทั้งการพูดถึงแอปฯใหม่นี้ วิธีการใช้ ข้อกังวลต่างๆจากหลายฝ่าย และส่งผลต่อหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (อันนี้ฮาค่ะ) โดยปอมจะขอสรุปดังนี้นะคะ
1. จีนบล็อกแอปฯ Clubhouse
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. เซ็นเซอร์ของจีนได้ลบแอปฯ Clubhouse ออกจาก Apple app store ในจีน และพยายามที่จะไม่ให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตในการเข้า หรือเกี่ยวข้องกับแอปฯดังกล่าว ซึ่งแอปฯนี้ ได้กลายเป็นช่องโหว่ ที่คนจีนสามารถเข้าไปคุย “เรื่องต้องห้าม” ได้อย่างเป็นอิสระ โดยที่ไม่มี "กำแพงไฟร์วอลล์เมืองจีน" (great firewall) ซึ่งเป็น เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของพลเมืองจีน
ก่อนที่จะถูกแบน พลเมืองชาวจีนสามารถแชร์เสียงจากแอปฯ Clubhouse ไปให้กับบุคคลอื่นนอกจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเสียงเหล่านั้น จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอ่อนไหว อย่างประเด็นการเมือง แม้กระทั่งเรื่องของคุณหมอชาวจีนท่านแรกที่เตือนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสและถูกลงโทษโดยทางการ
วันที่ 5 ก.พ. ชาวจีนแห่กรูกันเข้ามาร่วมแพลตฟอร์มนี้และยอดผู้ใช้ชาวจีนก็พุ่งแรงขึ้นทันที ผู้ใช้หลายพันคนจาก จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน ทะลักเข้ามาในแอปฯ Clubhouse สร้างห้องพูดคุย (Chatroom) มากมาย ซึ่งรวมแล้วมีผู้เข้าร่วมถึง 5,000 คน ผู้ใช้บางคนจากจีนแผ่นดินใหญ่กล่าวว่า เพิ่งได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวในปัจจุบันที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน บางคนถึงกับรู้สึกว่า สามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ และพอถึงวันจันทร์ที่ 8 ก.พ. แอปฯก็ถูกแบน
ทางการจีนมีความกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองที่จะปกป้องความเป็นปัจเจกบุคคลและข้อมูลของผู้ใช้ และแน่นอน ทำให้พลเมืองชาวจีนหลายคนที่กล้าพูดเหล่านั้น เริ่มกังวลว่าอาจจะถูกติดตามโดยทางการได้
2. ราคาหุ้น ClubHouse พุ่งมากกว่า 1,000%
เรื่องนี้ต้องขยายเลยค่ะ จากการที่แอปฯ Clubhouse ได้รับความนิยมอย่างสูง ส่งผลให้ราคาหุ้น Clubhouse Media Group Inc. พุ่งขึ้นมากกว่า 1,000% โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และดำเนินธุรกิจด้านมาร์เก็ตติ้งและสื่อออนไลน์ โดยเน้นที่การทำการตลาดด้วยการใช้เหล่า Influencer แน่นอนการพุ่งขึ้นของราคาหุ้น มาจากการที่นักลงทุนรายย่อยสับสนว่าบริษัทนี้เป็นเจ้าของแอปฯผู้โด่งดังนั่นเอง
เดิมทีบริษัทนี้ชื่อ Tongji Healthcare Group Inc. ตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนชื่อและหันมาดำเนินธุรกิจการทำการตลาดด้วยการใช้ Influencer และ Social Media เมื่อเดือนที่แล้ว และชื่อก็บังเอิญไปตรงกับชื่อแอปฯ Clubhouse ที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งแอปฯดังกล่าว เป็นของบริษัทร่วมลงทุนภายใต้ชื่อ Andreessen Horowitz และไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นแต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานโดย Bloomberg ราคาหุ้นของ Clubhouse ซึ่งเทรดภายใต้สัญลักษณ์ CMGR พุ่งขึ้น 1,026% ในปีนี้ ด้วยมูลค่าตามราคาตลาดขึ้นไปถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงต้นม.ค. ซึ่งหมายความว่ามูลค่าหุ้นนี้มากกว่ามูลค่าของแอปฯ Clubhouse เลยทีเดียว
ราคาหุ้นของ Clubhouse ที่ไม่ใช่แอปฯ ยังพุ่งขึ้นไปอีก 81% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 ก.พ.) ทั้งนี้ หุ้น Clubhouse เป็นที่สนใจของนักลงทุนใน Wall Street ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. หลังจาก อิลอน มัสก์ เข้าไปปรากฎตัวในแอปฯดังกล่าว นั่นเอง
3. แล้ว Clubhouse จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อ Podcast หรือไม่
New York Times รายงานว่า มีการดาวน์โหลดแอปฯดังกล่าวมากกว่า 4 ล้านครั้งในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเดือนเดียว ทำให้เกิดการถกเถียงกันว่า การใช้เสียงพูดคุยใน Clubhouse นั้น คือคลื่นลูกใหม่ของโซเชียล มีเดีย หรือ คือการเคลื่อนย้ายการเชื่อมต่อทางดิจิทัลจากใช้ข้อความ รูปภาพ และวีดิโอ กลับไปยังการใช้เสียงแบบเดิม และอย่างที่ทราบ ห้องแชตนับพันห้องครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็น ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ โคลงกลอน การลงทุน ฯลฯ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการทำงานของโลกโซเชียลออนไลน์เลยทีเดียว
การเติบโตของ Clubhouse นั้น พุ่งแรงมาก หากย้อนไปเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว มีผู้ใช้เพียงแค่ไม่กี่พันคนเท่านั้น แม้ว่าการเข้าใช้แอปฯ ดังกล่าวจะต้องมาจากการได้รับเชิญเท่านั้น (Invitation Only) และไม่สามารถใช้ได้เป็นวงกว้าง ถึงขนาดที่ว่ามีการประมูลให้ได้เข้า Clubhouse บน eBay ด้วยราคาสูงถึง 89 ดอลลาร์สหรัฐฯกันเลยทีเดียว
การเดินทางของ Clubhouse ก็จะเหมือนกับบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพโซเชียลมีเดียแห่ง Silicon Valley อย่างเช่น Twitter, Snapchat และ Facebook ที่เริ่มมาจากการเติบโตจากการบอกต่อในโลกออนไลน์ ตามด้วยประเด็นวุ่นวายต่างๆ และถือได้ว่า เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่โดดเด่นมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยแอปฯโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ฮิตล่าสุดคือ TikTok แอปฯสัญชาติจีนที่สามารถทำให้วีดิโอความยาว 15 วินาที เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมได้
แอปฯ นี้ได้รับการตอบรับจากการที่ผู้คนหาวิธีการใหม่ๆที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่นๆในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส แถมยังเป็นแอปฯที่มีฟีเจอร์ในการ “Blocking” เพื่อเป็นการควบคุมพื้นที่ของตนเองได้ด้วย และบางครั้งก็ทำให้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการเข้าถึง
อย่างไรก็ตาม ในแง่รูปแบบของสื่อ ซึ่งตอนนี้ก็มีการแข่งขันกันสูงมากในเรื่องของนาทีที่ผู้คนให้ความสนใจในแต่ละวัน และแน่นอน การใช้เวลาไปกับ Clubhouse ก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้ และอาจจะเติบโตร่วมกันได้กับโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างเช่นที่เกิดกับ Youtube ก็ไปเกี่ยวข้องกับ Netflix และ Netflix ก็ไปเกี่ยวข้องกับเคเบิ้ลทีวี มีการแชร์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลกระทบกับ Podcast นั้น ก็มีมุมมองที่หลากหลาย บางคนมองว่า การมาของ Clubhouse ก็แค่ชั่วครู่ มาแล้วก็ไป บางคนมองว่าอาจจะยังมีอยู่ต่อไปและอาจจะมีการนำเสนอโอกาสทางการตลาดที่แข็งแกร่งก็เป็นได้ นอกจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์หัวข้อในห้องแชตด้วย ซึ่งต่างจาก Podcast เพราะห้องแชตใน Clubhouse จะต้องเป็นห้องที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไปนั่ง Hang Out ได้ และในอนาคต หากบรรดาผู้สร้างสรรค์สามารถทำรายได้จาก Clubhouse ได้ ก็อาจจะมีผู้สร้างสรรค์ดีๆเข้ามาในแอปฯนี้เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้ เพราะตอนนี้แม้จะมีผู้ชมมากใน Clubhouse แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าให้เพิ่มมากขึ้นได้เท่าไหร่นัก
และเชื่อว่า ในไม่ช้า ก็จะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง อย่าง Twitter ก็มีแอปฯ Spaces ที่ได้มาจากการซื้อตัวทีมเบื้องหลังแอปฯ Podcast หนึ่งเข้ามา ทางด้าน Facebook ก็กำลังพัฒนาแอปฯคล้ายๆกันนี้
นักวิจารณ์บางคนมองว่า การผลิต Podcast ใหม่ๆ อาจจะน้อยลง แต่ท้ายที่สุด Podcast ก็ยังเป็นประเภทของมีเดียที่เฉพาะ และมีความเป็นตัวตนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่คัดสรรมาแล้ว บรรจงสร้างมาอย่างดี เป็นประสบการณ์ทางเสียงตามที่ต้องการ หากเทียบกับประเภทอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว อีกทั้งผู้ฟังยังได้รับประสบการณ์จากการรับสื่อจาก Podcast ที่ไม่สามารถหาได้จากสื่ออื่นๆ สามารถฟังที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ
ทั้งนี้ หากมองในแง่ “Disrupt” อาจจะต้องเทียบกับการออกอากาศทางวิทยุแบบเดิมๆ เพราะ Clubhouse เป็นรูปแบบใหม่ของตลาด “การออกอากาศทางเสียง”
แต่ท้ายที่สุด อย่าลืมว่า นี่เพิ่งเป็นการเริ่มต้นของเส้นทาง Clubhouse คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าความนิยมจะยั่งยืนแค่ไหน อันนี้ก็ต้องดูว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากเพียงใดด้วยค่ะ
4. Clubhouse จะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ของเหล่านักการตลาดหรือไม่
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทแม่ของ Burger King และ Popeyes ได้เข้าไปร่วมในแอปฯ Clubhouse เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับช่องทางดิจิทัลอีกช่องทางของแบรนด์
Restaurant Brands International (RBI) ได้จัดให้มีการพูดคุยกับผู้บริหารหนึ่งชั่วโมง หลังจากที่มีการรายงานผลประกอบการปีที่แล้วและไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วในวันก่อนหน้า
โดยหัวข้อในห้องแชตชื่อว่า "Open Kitchen" สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อผู้บริหารด้านการตลาดกับทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นนักการตลาดไปถึงผู้บริโภค และยังเป็นการเปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่ว่า แพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเป็นการรวมกันของแอปฯส่งข้อความ แชต การประชุมทางโทรศัพท์ และ Podcast เข้าไว้ด้วยกัน จะสามารถช่วยให้นักการตลาดเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
Klaviyo ซึ่งเป็นบริษัทด้านการตลาดอี-คอมเมิร์ซแห่งหนึ่ง กล่าวว่า กลยุทธ์ของ RBI ที่เข้าไปใน Clubhouse นั้นช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับองค์กร และทำให้ผู้บริหารของบริษัทนั้น เป็นผู้นำทางความคิด และยังทำให้รู้ว่าร้านอาหารในเครือกำลังทำอะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนในขณะนี้
การจัดของ RBI นั้น มีผู้เข้าฟัง 130 คน โดยมีตั้งแต่ผู้ประกอบการร้านอาหาร และพนักงาน RBI ไปจนถึงนักการตลาดของแบรนด์ต่างๆ สื่อ และประชาสัมพันธ์
แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผู้ใช้ Clubhouse ก็มีความคาดหวังของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวของแอปฯที่นำทุกๆส่วนจากแอปฯอื่นๆมาไว้ที่เดียวกันในช่องทางเดียว ในตอนนี้ Clubhouse ก็เปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆเข้ามาร่วมกับผู้บริโภค และเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา โดยที่ไม่เข้าไปบุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
หากแบรนด์ต่างๆรับฟังและเข้าใจในหัวข้อต่างๆเหล่านั้น ก็จะเป็นโอกาสการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ และสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกได้โดยตรงว่าผู้บริโภคต้องการอะไร และข้อมูลเชิงลึกนั้นก็อาจจะนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กลยุทธทางการตลาด และอื่นๆอีกมาก อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มในการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ โดยสามารถใช้จัดงานกิจกรรมต่างๆที่ต้องถูกยกเลิกไป หรือเลื่อนออกไป
สำหรับ RBI นั้น ดูเหมือนว่าจะเห็นความสำคัญของ Clubhouse และให้เป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการสื่อสาร นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะจัดการแชตนี้ในสัปดาห์หน้าด้วย โดยเปลี่ยนกลุ่มผู้ให้ข้อมูล
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริโภคของแบรนด์ต่างๆจะได้รับข่าวสารจากข่าวสารทางการตลาด แต่ Clubhouse (อย่างน้อยก็ตอนนี้) แตกต่างไม่เหมือนช่องทางอื่น เพราะมีคนจริงๆมาพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ซึ่งเป็นการดึงดูดผู้คนได้จริงๆ มีความเป็นธรรมชาติ
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวแรงกระเพื่อมของ Clubhouse ที่ปอมได้รวบรวมมา หากใครยังไม่ได้ลองเข้าไปใช้แอปฯ ดังกล่าว ลองเข้าไปดูนะคะ ถือว่าเปิดประสบการณ์ เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ชอบหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละท่านค่ะ ใครที่ไปลองมาแล้ว คอมเม้นท์มาเล่าสู่กันฟังได้นะคะ ตอนที่ปอมเข้าไป ก็ยืนงงในดง Clubhouse จริงๆค่ะ กว่าจะตั้งตัวได้
ที่มาและภาพ
โฆษณา