18 ก.พ. 2021 เวลา 09:49 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
== 14 เรื่องเบื้องหลังของ Schindler's List ==
เมื่ออาทิตย์ก่อนนุ้น Schindler's List พึ่งครบรอบ 28 ปีไปหมาดๆ วันนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกเบื้องหลังและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหนังเรื่องนี้กันครับ (เนื้อหาค่อนข้างยาวมากๆ) อ่านแล้วทำให้รู้สึกอินกับหนังเข้าไปอีกกกก
1. โธมัส คีนีลลี่ ผู้ประพันธ์ Schindler's List ทราบวีรกรรมของออสการ์ ชินด์เลอร์ จากร้านขายเครื่องหนัง
ในเดือนตุลาคม ปี 1980 โธมัน คีนีลลี่ นักเขียนชาวออสเตรเลีย ได้ไปร่วมงานเทศกาลหนังที่ซอร์เรนโต ,อิตาลี เพราะหนังสือเรื่องหนึ่งของเขาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และไปฉายโชว์ที่นั่น ขากลับกลุ่มของเขาได้แวะเที่ยวที่เบเวอร์ลี่ ฮิลล์ ,แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา , โธมัส ได้ไปช้อปปิ้งในร้านเครื่องหนัง ลีโอโพลด์ เพจ เจ้าของร้านเครื่องหนังพอทราบว่า โธมัส เป็นนักเขียนชื่อดัง ก็บอกว่าเขามีพลอตเรื่องที่น่าสนใจอยากให้โธมัสนำไปเขียนหนังสือ เป็นวีรกรรมยิ่งใหญ่ที่มนุษย์คนหนึ่งได้ช่วยชีวิตคนนับพันไว้ และที่สำคัญมันเป็นเรื่องจริงจากตัวเขาเองและภรรยา และชาวยิวอีกนับพันได้มีชีวิตรอดมาจนทุกวันนี้จากความช่วยเหลือของบุรุษนาม ออสการ์ ชินด์เลอร์ เจ้าของโรงงานที่เป็นสมาชิกพรรคนาซี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ลีโอโพลด์ ไม่เพียงแต่เล่าปากเปล่าให้โธมัสฟังแค่นั้น เขายังเอาหลักฐานต่าง ๆ มากมายมาแสดงให้โธมัสดู มีทั้งบทปาฐกถา , รูปภาพ รวมไปถึงบัญชีรายชื่อชาวยิวที่ออสการ์ได้ช่วยชีวิตไว้ ที่ลีโอโพลด์ยังคงเก็บรักษาไว้ โธมัสประทับใจกับเรื่องราวที่ฟังจากลีโอโพลด์ แล้วเขาก็ถ่ายทอดมันออกมาเป็นนิยายในชื่อ Schindler's Ark ตีพิมพ์ในปี 1982 และเป็นจุดกำเนิดของหนัง Schindler's List ใน 11 ปีต่อมา ซึ่งลีโอโพลด์ เพจ ก็ได้เป็นที่ปรึกษากองถ่ายของหนังด้วย
2. โธมัส คีนีลลี่ ไม่ใช่คนแรกที่ลีโอโพลด์ เพจ เล่าเรื่องราวให้ฟัง
เรื่องราวจากคำบอกเล่าของลีโอโพลด์ เพจ เคยเกือบจะได้สร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อยุค 1960s เริ่มจากภรรยาของมาร์วิน กอช ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์มาซื้อของที่ร้านเครื่องหนังของลีโอโพลด์ เพจ แล้วเพจก็เล่าเรื่องราววีรกรรมของออสการ์ ชินด์เลอร์ให้ฟัง เพจยังโน้มน้าวให้เธอนำเรื่องราวนี้ไปถ่ายทอดให้มาร์วิน ฟัง เพื่อว่าเขาจะสนใจแล้วนำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ เมื่อมาร์วินฟังเรื่องราวจากภรรยาเขาก็สนใจจริง และนำโปรเจ็กต์นี้ไปเสนอกับค่าย เอ็มจีเอ็ม ผลก็คือสตูดิโอเอ็มจีเอ็มตกลงซื้อลิขสิทธิ์เรื่องนี้จากลีโอโพลด์เป็นเงิน 50,000 เหรียญ โครงการหนังเดินหน้าเป็นจริงเป็นจัง ถึงขั้นจ้างโฮเวิร์ด คอช นักเขียนบทภาพยนตร์ที่มีผลงานโด่งดังจากหนัง Casablanca มาเขียนบท โฮเวิร์ด คอช ตระเวณสัมภาษณ์ชาวยิวที่รอดชีวิตจากความช่วยเหลือของออสการ์ ชินด์เลอร์หลายราย แล้วยังได้ไปสัมภาษณ์ตัวออสการ์ ชินด์เลอร์เองอีกด้วย แต่แล้วด้วยปัญหาใดก็ไม่ทราบได้ โครงการหนังก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น
3. รายชื่อชีวิตของออสการ์ ชินด์เลอร์ มีหลายชุด
เท่าที่ทราบออสการ์ ชินด์เลอร์ ทำรายชื่อชาวยิวที่เขาช่วยชีวิตไว้ถึง 7 ชุด เหลือเล็ดรอดอยู่ทุกวันนี้เพียง 4 ชุด อีก 3 ชุดหายสาบสูญ ,รายชื่อ 2 ชุดถูกเก็บรักษาไว้ที่อนุสรณ์สถาน ยาด วาเช็ม ในอิสราเอล , อีกหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน วอชิงตัน ดี.ซี. และอีกรายชื่อเป็นสมบัติส่วนตัวของบุคคลนิรนามที่เคยนำมาออกประมูลผ่านทางเว็บไซต์ EBay ในปี 2013 แต่ไม่ใครสู้ราคาเพราะเปิดตัวเลขสูงถึง 3 ล้านเหรียญ
ในหนัง "Schindler's List" เป็นเรื่องราวของรายชื่อ 2 ชุดแรกที่เกิดเหตุการณ์ในปี 1944 รายชื่อ 2 ชุดนี้ถูกเรียกต่อกันมาว่า "The Lists of Life" ส่วนรายชื่ออีก 5 ชุด เป็นรายชื่อที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากรายชื่อ 2 ชุดแรก ซึ่งทุกชุดล้วนเป็นรายชื่อของชาวยิวที่ออสการ์ดำเนินการคัดกรองเข้ามาทำงานในโรงงานของเขา
4. สตีเวน สปิลเบิร์ก ใช้เวลาตัดสินใจสร้าง Schindler's List นานถึง 10 ปี
ซิด ไชน์เบิร์ก อดีตประธานยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ และเป็นคนที่สตีเวน สปิลเบิร์ก ยอมรับนับถือเป็นแบบอย่าง ซิด เป็นคนยื่นหนังสือ Schindler’s Ark ให้กับสตีเวน และแนะนำให้เขาดัดแปลงเรืองนี้เป็นภาพยนตร์ ซึ่งสตีเวนก็ตอบกลับไปว่า "มันจะเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่เลยใช่ไหม?" ไม่ว่าสตีเวิน จะตกลงสร้างหรือไม่แต่ทางยูนิเวอร์แซล ก็ตกลงซื้อลิขสิทธิ์หนังสือมาสร้างเป็นหนังเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นลีโอโพลด์ เพจ ก็ได้พบกับ สตีเวน สปิลเบิร์ก เองด้วย ซึ่งผู้กำกับใหญ่ก็ให้คำมั่นสัญญากับลีโอโพลด์ว่าเขาจะทำ Schindler's Ark ให้เป็นหนังภายในไม่เกิน 10 ปีนี้แน่นอน
เหตุที่สตีเวน สปิลเบิร์ก ใช้เวลายาวนานกับโครงการหนัง Schindler's List ก็เพราะ เหตุแรก เขารู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะทำหนังเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เพราะสตีเวน สปิลเบิร์กเองก็เปิดเผยตัวตนเสมอว่าเขาก็เป็นยิว และอีกสาเหตุหนึ่งคือ เขาไม่สบายใจที่ยูนิเวอร์แซลไปซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ Schindler’s Ark ตัดหน้าบิลลี่ ไวลด์เดอร์ อภิมหาผู้กำกับของฮอลลีวู้ดในยุค 40s - 50s ที่อยากจะกำกับ Schindler’s List เป็นเรื่องสุดท้าย แต่ก็ชวดไปเพราะยูนิเวอร์แซลชิงซื้อลิขสิทธิ์มาเสียก่อน
5. สตีเวน สปิลเบิร์ก ไม่ขอรับค่าตอบแทนใดๆ จากหนัง
แม้ว่าหนัง Schindler's List จะประสบความสำเร็จทางด้านรายได้อย่างสูง แต่สตีเวน สปิลเบิร์ก ก็ยืนกรานที่จะไม่รับค่าตอบแทนใดๆ จากหนัง ซึ่งความสำเร็จของ Schindler's List ที่กลายเป็นหนังคลาสสิกมาทุกวันนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้กับสตีเวน สปิลเบิร์กได้อย่างต่อเนื่องและตลอดไปก็ตาม เหตุเพราะสตีเวน สปิลเบิร์ก มองว่านี่เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ฉะนั้นเงินที่ได้จากการเล่าเรื่องราวเช่นนี้ก็เปรียบเสมือน "เงินที่เปื้อนเลือด"
สตีเวน สปิลเบิร์ก จึงตัดสินใจนำรายได้ในส่วนของเขาที่ได้จากหนัง ไปก่อตั้งมูลนิธิ USC Shoah Foundation เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ครั้งนั้น ภายในมูลนิธินี้เป็นแหล่งรวบรวมของสะสมจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และยังมีเทปบันทึกเสียงบทสัมภาษณ์จากผู้รอดชีวิตในรายชื่อของออสการ์ ชินด์เลอร์ อีกด้วย
6. ผู้กำกับแถวหน้าหลายรายได้รับข้อเสนอให้กำกับ Schindler's List
ในช่วง 10 ปีที่สตีเวน สปิลเบิร์ก ยังคงลังเลใจที่จะกำกับ Schindler's List นั้น เหตุจากเขารู้สึกว่าตัวเองยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะกำกับหนังมีเนื้อหาคาบโยงกับศีลธรรมอันรุนแรงเช่นนี้ เขาเลยส่งต่อ Schindler’s List ให้กับผู้กำกับหลายคน คนแรกคือโรมัน โปลันสกี้ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างมากเพราะโรมันคือผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตัวจริง แม่เขาก็เสียชีวิตในค่ายที่เอาชวิตช์ด้วย แต่โรมันปฏิเสธข้อเสนอ แล้วก็ไปกำกับหนังที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันคือ The Pianist ที่ส่งให้เขาคว้าออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมในปี 2003 สตีเวน สปิลเบิร์ก เลยนำไปเสนอกับ ซิดนีย์ พอลแล็ค ผู้กำกับใหญ่ที่มีผลงานขึ้นหิ้งอย่าง Out Of Africa (1985) แต่ซิดนีย์ก็ปฏิเสธไปอีกราย
สตีเวน สปิลเบิร์ก ยังคงนำเสนอโปรเจ็กต์ให้กับผู้กำกับอื่นต่อไป รายสุดท้ายคือผู้กำกับระดับตำนาน มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งมาร์ติน สนใจและตอบรับที่จะกำกับ และเดินหน้าขั้นตอนเตรียมการสร้างแล้ว ซึ่งในขณะนั้นสตีเวน สปิลเบิร์ก ก็ไปกำกับ "Hook" หนังแฟนตาซีที่ดัดแปลงเรื่องราวมาจาก Peter Pan ซึ่งระหว่างที่กำกับ Hook อยู่นั้น เขาก็เกิดบรรลุขึ้นในใจว่า เขาพร้อมแล้วที่จะกำกับ Schindler’s List ด้วยตัวเอง กับการเปลี่ยนใจครั้งนี้สตีเวน สปิลเบิร์ก ต้องไปเจรจาของาน Schindler's List คืนจากมาร์ติน สกอร์เซซี ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการขอโทษ สตีเวน มอบโครงการหนังรีเมค Cape Fear ที่เขาเตรียมการสร้างไปแล้วเช่นกัน ให้มาร์ติน เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งมาร์ติน ก็กำกับ Cape Fear ออกมาได้อย่างน่าสะพรึงและน่าจดจำ หนังส่งให้ โรเบิร์ต เดอนีโร และ จูเลียต ลูอิสได้เข้าชิงออสการ์ในปี 1992
7. สตีเวน สปิลเบิร์ก ต้องสร้าง Jurassic Park ให้ยูนิเวอร์แซลก่อน ถึงจะได้อนุมัติให้สร้าง Schindler's List
Schindler's List เป็นหนังที่มีความยาวกว่า 3 ชั่วโมง แถมเป็นหนังขาว-ดำ และเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทุกองค์ประกอบล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงที่ยูนิเวอร์แซลเล็งเห็นว่าโอกาสที่หนังจะทำกำไรนั้นยากเต็มที ถึงแม้ว่าหนังจะใช้ทุนสร้างไม่มาก เพียง 23 ล้านเหรียญ แต่เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ยูนิเวอร์แซล เลยยื่นข้อเสนอให้สตีเวน สปิลเบิร์ก กำกับ Jurassic Park หนังไดโนเสาร์เรื่องแรกออกมาเสียก่อน เพราะอย่างไรก็ตาม Jurassic Park เป็นโปรเจ็กต์ที่แน่นอนว่าต้องทำกำไร หลังจากเสร็จ Jurassic Park แล้ว ทางยูนิเวอร์แซลถึงจะยินยอมให้สตีเวนไปกำกับ Schindler's List ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่สตีเวนอยากสร้างตามใจตัวเอง
8. สตีเวน สปิลเบิร์ก ไม่ต้องการดารามีชื่อเสียงมารับบทออสการ์ ชินด์เลอร์
ก่อนจะมาเป็นเลียม นีสัน นั้น ก็มีเมล กิ๊บสัน และ เควิน คอสต์เนอร์ มาออดิชั่นบทเป็นออสการ์ ชินด์เลอร์มาแล้ว แต่คนที่เข้ารอบมาไกลสุดคือ วอเร็น บีตตี้ ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังตั้งแต่ยุค 60s-70s วอเร็น ได้เป็นตัวเลือกท้ายๆ จนถึงขั้นได้อ่านสคริปต์แล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าตาสตีเวน สปิลเบิร์ก ด้วยเหตุผลที่ว่า "วอเร็นเล่นเป็นออสการ์ ชินด์เลอร์ ในแบบที่ยังถ่ายทอดออกมาผ่านบุคลิกตัวตนของวอเร็นอยู่"
สุดท้ายก็มาถึง เลียม นีสัน ดาราชาวไอริชวัย 41 ปี ที่ยังไม่โด่งดังมากนัก เลียม เคยได้รับบทนำใน Dark Man หนังซูเปอร์ฮีโร่ปี 1990 ผลงานของแซม ไรมี่ แต่สตีเวน สปิลเบิร์ก ประทับใจบทบาทการแสดงของเลียม จากละครเวทีเรื่อง Anna Christie "เลียม มีความใกล้เคียงกับตัวตนของออสการ์ ชินด์เลอร์ มากที่สุด เท่าที่ผมได้รู้จักออสการ์ ชินด์เลอร์ตัวจริง เลียมมีเสน่ห์ในแบบที่ผู้หญิงจะตกหลุมรักเขา ดูมีความเข้มแข็ง เขามีหลายๆ ส่วนที่เหมือนออสการ์ ชินด์เลอร์ ตัวจริงอยู่บ้าง ทั้งความสูง และเป็นคนรูปร่างใหญ่เช่นกัน"
9. สตีเวน สปิลเบิร์ก ทำการค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง
พื่อที่จะให้ตัวเองได้มีมุมมองที่ลึกซึ้งกับเรื่องราวของหนัง สตีเวน สปิลเบิร์ก บินไปโปแลนด์เพื่อทำการศึกษาเรื่องราวเพิ่มเติมก่อนถ่ายทำจริง สตีเวน ได้ไปสัมภาษณ์บรรดาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และไปดูสถานที่จริงตามเรื่องราวหลายๆ แห่ง ไปดูอาคารที่เคยเป็นสำนักงานใหญ่ของเกสตาโป ไปดูอพาร์ทเมนต์จริงของออสการ์ ชินด์เลอร์ ไปดูวิลลาของอามอน เกิร์ธ นายทหารโหดตัวร้ายของเรื่อง พอถึงวันถ่ายทำจริง กองถ่ายก็ยกขบวนไปถ่ายทำในสถานที่จริงถึง 92 วัน ทีมงานได้จำลอง พลาสโซว์ แคมป์ ขึ้นมาใหม่ ส่วนค่ายกักกันเอาชวิตช์นั้น ทีมงานก็ได้รับอนุญาตให้ไปถ่ายทำบริเวณประตูทางเข้าค่ายของจริง
10. เด็กหญิงในเสื้อโค้ตแดงนั้นมีตัวตนจริง
ใครที่เคยชม Schindler's List กันมาแล้ว จะต้องจำภาพของเด็กหญิงในเสื้อโค้ตแดงกันได้ เธออยู่ท่ามกลางหยื่อชาวยิวใน "กรากุฟเก็ตโต" เด็กหญิงในเสื้อโค้ตแดงถูกสื่อแทนภาพลักษณ์ของ "ความไร้เดียงสา" ของเหยื่อชาวยิว ที่กระทบกระเทือนความรู้สึกผู้ชมได้อย่างรุนแรง มีการเปิดเผยภายหลังว่า เด็กหญิงโค้ตแดงในหนังนั้นถูกถ่ายทอดออกมาตามเรื่องราวจริง และเธอมีตัวตนจริง เธอเป็นที่รู้จักและจดจำได้จากชาวยิวในค่ายนั้น ซึ่งชาวยิวที่รอดชีวิตหลายๆ คนจำเธอได้จากเสื้อโค้ตสีแดงที่เธอสวมเป็นเอกลักษณ์ในหนังนั้นเด็กหญิงโค้ตแดงรับบทโดย โอลิเวีย ดราบาวสกา เธอเล่นบทนี้ตอนอายุได้ 3 ขวบ หลังถ่ายทำเสร็จ สตีเวน สปิลเบิร์ก กำชับกับเธอว่าอย่าดูหนังเรื่องนี้จนกว่าจะอายุครบ 18 ปีนะ แต่แล้วโอลิเวีย ก็ทำลายสัญญานั้น เพราะเธอบังเอิญได้ดู Schindler's List เมื่อตอนอายุ 11 ปี ซึ่งเธอเล่าความรู้สึกว่า เธอต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าที่จะลืมเรื่องราวเลวร้ายที่เธอรับรู้จากหนังไปได้ และเธอเข้าใจแล้วว่าทำไมสตีเวน ถึงบอกให้เธอดูหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 18 ปี
ส่วนเด็กหญิงโค้ตแดงตัวจริงนั้นชื่อว่า โรมา ไลกอคคา โชคดีที่เธอได้รอดชีวิตจากค่าย "กรากุฟเก็ตโต" ปัจจุบัน โรมา เป็นศิลปินนักวาดภาพ เธออาศัยอยู่ในเยอรมัน แล้วเธอก็ยังเขียนบันทึกความทรงจำเลวร้ายออกมาเป็นหนังสือชื่อ "The Girl in the Red Coat" ตีพิมพ์เมื่อปี 2003
11. เดิมทีหนังจะไม่ใช้บทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ
ความตั้งใจเริ่มแรกของสตีเวน สปิลเบิร์กนั้น จะให้ตัวละครในหนังพูดภาษาโปแลนด์ และ เยอรมัน แล้วขึ้นซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษแทน เพื่อความสมจริงมากที่สุด แต่แล้วก็เปลี่ยนใจภายหลัง เหตุเพราะว่าถ้าทำแบบนั้นผู้ชมอาจจะพลาดส่วนสำคัญของหนังขณะที่กลอกตาไปอ่านซับไตเติ้ล
12. ทางยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ไม่พึงพอใจนักที่สตีเวน สปิลเบิร์กเลือกทำหนังออกมาเป็นขาว-ดำ
ทางผู้บริหารสตูดิโอไม่พอใจที่สตีเวน สปิลเบิร์ก เลือกที่จะทำ Schindler's List ออกมาเป็นภาพขาว-ดำ ด้วยเหตุว่ามันดูเป็นรูปแบบหนังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกินไป ส่วนสตีเวน สปิลเบิร์ก ก็ยืนกรานที่จะทำออกมาเป็นขาว-ดำ โดยมี จานุส คามินสกี้ ผู้กำกับภาพเห็นพ้องด้วยกับเขา โดยสตีเวน ให้เหตุผลว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังของกลุ่ม เยอรมัน เอ็กเพรสชั่นนิสต์ และ อิตาเลียน นีโอเรียลลิสต์ ที่ทำหนังออกมาในสไตล์นี้ "ผมว่ามันสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว ตลอดชีวิตผมที่เคยได้ชมภาพเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากเทปบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ จากหอจดหมายเหตุต่างๆ แน่นอนว่าเทปบันทึกทุกชิ้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาพขาว-ดำ"
13. งานตามใจตัวเองของสตีเวน สปิลเบิร์ก ที่ลงเอยด้วยความสำเร็จบนเวทีออสการ์
Schindler's List เป็นอีกความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของสตีเวน สปิลเบิร์ก หนังประกาศศักดาบนเวทีแจกรางวัล อคาเดมี่ อวอร์ด ครั้งที่ 66 หรือรางวัลออสการ์ ด้วยการคว้ารางวัลไปถึง 7 ตัว ซึ่งรวมไปถึงรางวัลใหญ่สุดอย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่วนรางวัลอื่นๆ ที่คว้ามาก็คือ กำกับภาพยอดเยี่ยม , ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม , เขียนบทยอดเยี่ยม , ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม และ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม นอกจากนั้นนักแสดงนำอย่าง เลียม นีสัน และ ราล์ฟ ไฟนส์ ต่างก็ได้เข้าชิงด้วยกันทั้งคู่
14. Schindler's List เป็นงานที่สตีเวน สปิลเบิร์ก ทำส่งอาจารย์
ที่จริงแล้วสตีเวน สปิลเบิร์ก เป็นนักศึกษา แผนกการผลิตภาพยนตร์และวีดีโอ ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ที่ลอง บีช แต่สตีเวน ดรอปไว้ตั้งแต่ปี 1969 แล้วเขาก็ตัดสินใจกลับไปลงเรียนต่อโดยใช้นามแฝง จนได้รับปริญญาตรีในปี 2002 แล้วงานที่เขาเอามาส่งอาจารย์ในวิชาเอก ภาพยนตร์ ก็คือหนัง Schindler's List รวมระยะเวลาที่เขาดรอปไปจนได้รับปริญญาตรีคือ 33 ปี
#Themoviegoersclub
#เบื้องลึกหนัง
โฆษณา