18 ก.พ. 2021 เวลา 12:11 • หนังสือ
หนังสือ AI Supper Power หนังสือที่จะพาเราไปทำ ความเข้าใจ AI พร้อมทั้งอนาคตของเรา ว่าในยุคที่ AI เฟรื่องฟู ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร
หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนโดย Dr. Kai Fu Lee จบปริญญาเอกด้าน AI จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน และเคยทำงานที่บริษัทระดับโลกอย่าง Apple Microsoft หรือเป็นประธานบริษัท Google Chaina
ต้องบอกว่าเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นจากคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการ AI และประสบการณ์โดยตรงกับเรื่องของ AI หนังสือจะไม่ได้พาไปลงลึกถึงการสร้าง แต่จะพาเราไปทำความเข้าใจว่า AI คืออะไรรวมถึงการแข่งขันด AI ระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา อาจจะเป็นประเทศที่รวมบุคคลระดับหัวกะทิด้าน AI และต้องยอมรับว่าประเทศจีนแม้จะยังสู้ไม่ได้ แต่เรื่องของ Data ประเทศจีนค่อนข้างจะนำสหรัฐอยู่พอสมควร เห็นได้ชัดเลยว่าทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ่ายเงิน การซื้อของ หรือ Electronic payment ประเทศจีนแทบจะใช้กันอยู่ทุกวันเกือบทุกคน ในขณะที่อเมริกาเรื่องพวกนี้ยังอาจจะสู้ทางฝั่งของจีนไม่ได้
หนังสือเปิดเรื่องมาโดยการเขียนถึงการแข่งขันกันระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา การพัฒนาประเทศจีนในยุคของผู้นำปัจจุบัน ที่มีวิสัยทัศน์อย่างไรถึงทำให้จีนกลายเป็นเบอร์ 2 ของโลกในเรื่องของ AI และกำลังจะแซงขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลก โดยจากแต่ก่อนหลายคนอาจจะมองว่าประเทศจีนเป็นประเทศของนักก๊อป ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปอีคอมเมิร์ซ ก๊อปในเรื่องของระบบขนส่ง แอพเรียกรถ ต้องยอมรับว่าที่ประเทศจีนขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกได้ไม่ใช่เพราะก๊อปอย่างเดียว แต่เพราะมีการพัฒนาให้มันเข้ากับคนในประเทศของตัวเอง
หนังสือได้เล่าถึงว่าเหตุผลที่ยักษ์ใหญ่อย่างซิลิคอนวัลเลย์ที่คนมองว่าเป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรมถึงล้มเหลวในประเทศจีน โดยDr. Kai Fu Lee ได้ให้เหตุผลว่า สาเหตุของความล้มเหลวคือบริษัทอเมริกันปฏิบัติต่อจีนเหมือนที่ปฏิบัติต่อประเทศอื่นๆในโลก บริษัทอเมริกันไม่ลงทุนในทรัพยากรต่างๆ ไม่มีความอดทนและให้อิสระแก่ทีมงานในจีน หรือเน้นสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ทุกๆคนในทุกๆประเทศ โดยใช้รูปแบบเดียว ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ของประเทศจีน เน้นปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับผู้ใช้ในประเทศจีน
หนังสือเล่มนี้ ถ้าในมุมมองของผมผมมองว่าอาจจะค่อนข้างเอียงไปทางจีนนิดนึง แต่ถ้าได้อ่านจนจบ จะเห็นได้ชัดว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ยินเอียงข้างไหน แต่กลับทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกับ AI มากขึ้น
หนังสือแบ่งออกเป็น 3 ช่วง
ช่วงแรกพูดถึงเรื่องของการแข่งขันทางด้าน AI
ช่วงที่ 2 พูดถึงเรื่องการปรับตัว ว่าแต่ละอาชีพต้องปรับ ถ้าเกิด AI เข้ามาปฏิวัติการทำงานของเรา
ในช่วงสุดท้าย จะพูดถึงคนเขียนที่มัวแต่ยุ่งในการวิจัย AI จนลืมความเข้าใจที่แท้จริงว่าที่เราเกิดมานั้นสุดท้ายแล้วเราต้องการความสัมพันธ์ ความรัก กับคนรอบข้าง มากกว่าให้ตัวเราเองกลายเป็นเสมือน AI หรือพูดง่ายๆคือ ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำจนลืมใส่ใจความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
มีประโยคหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบในหนังสือเล่มนี้คือ
ถ้าถามว่าจีนตามหลังซิลิคอนวัลเลย์ในเรื่องของการวิจัย AI มากแค่ไหน ผู้ประกอบการจีนบางคนตอบคำว่า 16 ชั่วโมง นั่นเป็นความแตกต่างของเวลาที่แคลิฟอร์เนียกับปักกิ่ง
สิ่งที่ผมว่าหนังสือเล่มนี้ควรค่าแก่การอ่านคือเรื่องของวิกฤติครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะไม่ว่าเราจะเรียนสูงแค่ไหน แล้วมีความเชี่ยวชาญด้านอะไร ก็ไม่ได้รับประกันเลยว่าจะไม่ตกงาน ถ้าต้องแข่งขันกับ AI ที่คิดและตัดสินใจในระดับที่สมองของมนุษย์ไม่สามารถทำได้
เพราะมันจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวเหมือนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ เปลี่ยนโครงสร้างสังคมใหม่อย่างถาวร กลายเป็นยุคที่ AI มีงานทำอย่างคึกคัก ในขณะที่คนทั่วไปส่วนใหญ่มีรายได้ที่ซบเซา
และสิ่งที่จะตามมาคือ AI จะสร้างความมั่งคั่งในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ให้กับคนบางกลุ่ม ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจจะเป็นชนชั้นไร้ประโยชน์(หนังสือยกประโยคของ ยูวัล เอ็น ฮารารี ที่เคยเรียกแบบหยาบ) ซึ่งนั่นหมายถึงความเหลื่อมล้ำระดับโลกที่สูงมากๆ
ใช่ว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงแต่เรื่อง AI ในทางลบ แต่ยังมีเรื่องดีๆหรือแนวทางการแก้ปัญหาของมนุษย์ที่พยายามจะทำให้ AI ดีขึ้นเพื่อที่จะช่วยลดระยะเวลาการทำงานหรือทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างการแก้ปัญหา เช่นการพูดถึงเรื่องเงินเดือนฟรี หรือให้ทุกคนได้รับเงินเดือนเท่าๆกัน ซึ่งเป็นการกระจายรายได้แบบใหม่
หรือยกตัวอย่างของงานประเภทต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น งานที่อันตราย งานที่ปลอดภัย งานที่ต้องเจอคน และงานที่ระวังตัวไว้ เพราะเมื่อเข้าสู่ยุคของ AI งานเหล่านี้มีโอกาสสูงมากที่จะต้องถูกแทนที่โดยๆ
งานที่อันตราย เช่น คนล้างจาน นักแปลพื้นฐาน มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ในอนาคตอันใกล้
งานที่ปลอดภัย เช่น จิตแพทย์ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ AI แทนที่ในส่วนนี้ไม่ได้ AI ไม่มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ไม่มีความสัมพันธ์เหมือนมนุษย์
งานที่ต้องเจอคน และงานที่ระวังตัวไว้ อย่างเช่นพนักงานเสิร์ฟ คนขายอาหาร คนงานก่อสร้าง คนขับแท็กซี่ งานเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะถูกแย่งงานจาก AI ถ้าถึงจุดที่ AI สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าได้มากกว่านี้ อย่างเช่นแท็กซี่ อาจจะถูกแทนที่ด้วยรถขับเคลื่อนอัตโนมัติเป็นต้น
จริงๆที่พูดมาทั้งหมดอาจจะไม่ได้เป็นการสรุปเนื้อหาแต่เป็นมุมมองที่ได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้มากกว่า แล้วผมขอปิดท้ายประโยคหนึ่งของหนังสือที่ผมคิดว่าเป็นใจความสำคัญที่คนเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
“ เราไม่ได้เกิดมาแค่ทำงานไปวันๆ เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการสะสมทรัพย์สินเงินทอง เพียงเพื่อเวลาเราตายไปแล้ว เราจะได้มอบให้ลูกหลานที่เหมือน Copy ของโปรแกรมชีวิตของเรา จากนั้นลูกหลานก็ทำเหมือนเราซ้ำอีกต่อไป ถ้าเราเชื่อว่าชีวิตมีความหมายมากกว่าแสวงหาวัตถุ AI ก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราค้นพบความหมายที่ลึกซึ้งได้ “
จำนวนหน้า 350 หน้า
ราคา 345 บาท
โฆษณา