19 ก.พ. 2021 เวลา 10:04 • การเกษตร
สำรอง สรรพคุณและประโยชน์ของลูกสำรอง 14 ข้อ
สำรอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Scaphium scaphigerum (Wall. ex G. Don) G.Planch. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sterculia scaphigera Wall. ex G. Don)
สมุนไพรสำรอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จอง หมากจอง (อุบลราชธานี), บักจอง หมากจอง (ภาคอีสาน), ท้ายเภา (ภาคใต้), พุงทะลาย, ฮวงไต้ไฮ้ (จีน), พ่างต้าห่าย (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของต้นสำรอง
• ต้นสำรอง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 30-40 เมตร และอาจสูงได้ถึง 45 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูงชะลูด แตกกิ่งก้านออกรอบต้น เรียงกันเป็นชั้น ๆ ลำต้นเป็นสีเทาดำ เปลือกต้นหยาบ มีเส้นเป็นร่องตามแนวดิ่ง สามารถพบได้ตามป่าดิบเขาที่มีฝนตกชุกและมีแสงแดดส่องถึง พบได้มากในจังหวัดจันทบุรี แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าอาจจะสูญพันธุ์ได้
สรรพคุณของสำรอง
1. เมล็ดช่วยลดการดูดซึมไขมัน (เมล็ด)
2. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผลและเมล็ด)
3. ใบ, ผลและเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (ใบ, ผลและเมล็ด)
4. ช่วยแก้ตานขโมยในเด็ก (ผลและเมล็ด)
5. ช่วยรักษาโรคหอมหืด (วุ้น)
6. วุ้นใสที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ด ใช้พอกตา แก้ตาอักเสบบวมแดง ปอดบวม โดยวุ้นสำรองเป็นยาเย็น ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุอ่อน ๆ จึงสามารถนำมาใช้รักษาอาการตาอักเสบได้ วิธีการก็คือให้นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่มชื้น แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดสำรองลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บตา ตาอักเสบอย่างได้ผล (เปลือกหุ้มเมล็ด) ผลแก้ตาแดง (ผล) ส่วนเมล็ดช่วยแก้โรคตาแดงอักเสบ (เมล็ด)
7. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)
8. ผลแห้งนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ผล)
9. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการไอแห้ง คันคอ คอเจ็บไม่มีเสียง ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 3-10 กรัม (หรือประมาณ 3-5 ผล) นำมาแช่กับน้ำพอสมควรจนพองเป็นวุ้น แล้วใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลกรวดลงไป ใช้รับประทานทั้งเนื้อและน้ำ วันละ 3 ครั้ง (ผล)[1],[2] หรือจะใช้เปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว (มีรสจืดเย็น) นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดงหรือชะเอมเทศ ใช้รับประทานแก้อาการร้อนในกระหายน้ำก็ได้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ (เปลือกหุ้มเมล็ด)[1],[3] ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้เช่นกัน (เมล็ด)[1] รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก)
10. เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคคออักเสบ (เมล็ด)
ประโยชน์ของสำรอง
1. เมื่อนำผลมาแช่ในน้ำ เนื้อบาง ๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่จะดูดน้ำและพองตัวออกมา มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น เมื่อนำมาแยกวุ้นออกจากเมล็ด เปลือก และเส้นใย จะสามารถนำแผ่นวุ้นดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำพริก ลาบ ยำ แกงจืด (ใช้แทนสาหร่าย) ใช้รับประทานเป็นขนมหวาน ใช้รับประทานกับน้ำกะทิ หรือใช้แทนรังนก หรือใช้ทำเป็นสำรองลอยแก้ว หรือน้ำสำรองพร้อมดื่มที่บรรจุในกระป๋อง หรือทำเป็นสำรองผง เป็นต้น
2. คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อผลสำรองประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต 68.59%, โปรตีน 8.45%, ไขมัน 0.11%, ใยอาหาร 3.97%, เถ้า 8.01%, แคลเซียม 0.25%, ฟอสฟอรัส 0.20%, ธาตุเหล็ก 0.007%, โซเดียม 0.12%, โพแทสเซียม 0.14% (ผลวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)
3. ลูกสำรองเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ใส่ใจสุขภาพและรูปร่าง เนื่องจากวุ้นจากเนื้อของผลแก่ "มีส่วน" ช่วยในการลดน้ำหนักได้ เพราะมีเส้นใยอาหารมาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว ส่งผลให้รับประทานอาหารอื่น ๆ ได้น้อยลง และวุ้นยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล สารต่าง ๆ (รวมถึงสารที่มีประโยชน์อื่น ๆ อย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่ไปด้วย) มันจึงมีส่วนช่วยชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง และช่วยลดอาการท้องผูกได้ (เพราะเนื้อวุ้นจะช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยเพิ่มปริมาณของใยอาหาร ทำให้มีการบีบรูดของลำไส้เพื่อขับเป็นอุจจาระได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ขับถ่ายคล่อง) อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตได้อีกด้วย โดยให้รับประทานในช่วงก่อนนอน จะช่วยในการขับถ่ายตอนเช้า กากใยที่รับประทานเข้าไปจะไปช่วยชะล้างไขมันที่สะสมอยู่ในลำไส้ ทำให้ลำไส้ใหญ่สะอาดขึ้น ช่วยลดสารพิษตกค้าง แต่หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ พลอยทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา จุดนี้ขอให้ตระหนักไว้ด้วยครับ
4. นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำดื่มสมุนไพรแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำรองที่อยู่ในรูปของแคปซูลอีกด้วย โดยมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระและเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงตับ และเป็นยาแก้ร้อนใน
โฆษณา