เมื่อย้อนไปประมาณ ๑๓๐ ปี นายก้อน ป้องหลักคำ ที่ชาวบ้านเรียกตาก้อน ที่ได้เดินทางกลับจากคัาควาย(พ่อค้ากระบือ) ที่เมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว หรือประเทศลาวในอดีต ได้นำเอาเมล็ดพืชชนิดหนึ่งมาที่ได้จากการรับจ้างหาเหามาปลูก หลังโพนหลังบ้าน ณ บ้านต้าย หมู่ ๔ ตำบลโพนจาน(ต.โพนสวรรค์ในอดีต) โดยมีเป้าหมาย ใช้เป็นสมุนไพร แต่ก็ไม่อาจพ้นจากความอยากรู้อยากเห็นของเพื่อนบ้าน จึงเกิดการพัฒนาและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
นายสังคม มณีรัตน์ หลานเขย อายุ ๗๒ ปี นายหวด มณีรัตน์ อายุ ๘๑ ปี และนายมีชัย จันทร์ดาประดิษฐ์ อายุ ๘๑ ปี ทั้งสาม เป็นราษฎรชาวบ้านต้าย ตำบลโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ในระยะต่อมาการปลูกเพื่อสมุนไพรคนให้ความสนใจน้อย ชาวบ้านจึงปรับปลี่ยนมาใช้ในการเสพ(สูบ) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “บ้อง”เพื่อตนเอง ญาติ ๆ ซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เช่นการเสพเพื่อทำงานเกษตร ทำนา ปรุงอาหารใช้บ้างบางโอกาส การเสพเพื่อสันทนาการหรือเพื่อความรื่นเริงมีน้อยมาก
เมื่อมีคำถามว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่นำมาจากลาวนั้นเป็นสายพันธุ์อะไร มีลักษณะย่างไร ทั้งสามคนก็ใด้คำตอบตรงกันว่า ด้วยความดีใจที่ลุงก้อนเองได้กลับบ้านเกิด และปลอดภัยจากสงคราม พร้อมได้กัญชามาปลูก จึงไม่ได้สังเกตลักษณะของใบ ว่ามีลักษณะย่างไร(๗ แฉก หรือ ๙ แฉก
แต่เมื่อปลูก ต้นกัญชาติดดอก พบว่าลักษณะของดอกเป็นช่อโดยรอบกานดอกยาวเป็นฟูประมาณ ๑๐-๒๐ ซ.ม. ตามสภาพของลำต้น และการดูแลของผู้ปลูก บางต้นดอกมีลักษณะคบ้ายหางกะรอก หรือชาวบ้านเรียกหัวนกเค้า
ระยะเวลาการปลูก จะปลูกเป็น ๒ รุ่น รุ่นแรกหลังเสร็จหน้าปักดำ ชาวบ้านก็จะเพาะกล้าในตะกร้าสาน หรือทำเป็นนั่งร้านตามแปลงนาในช่วงแรก แล้วก็ย้ายลงหลุมปลูก หลุมละ ๑ ต้นตามป่าละเมาะริมทุ่งนาตามป่าโคกช้างไห้ ลักษณะเป็นดินลูกรัง ที่ไม่มีน้ำขัง โดยทำเป็นหลุมยกสูงเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐-๗๐ ชม.โดยใช้ขี้วัว ขี้ควายตามสภาพที่แต่ละคนพึงมี แต่ขาดไม่ได้คือผสมขี้ไก่ ซึ่งบรรทุกมาจากต่างท้องที่ มีการขุดบ่อตอกเป็นแหล่งน้ำเป็นหย่อม ๆ ส่วนในรุ่นที่ ๒ ก็จะย้ายพื้นที่ไปใกล้แหล่งน้ำริมห้วยต้าย และห้วยทวย
การดูแลกัญชา ผู้ปลูกต้องใช้ความรู้ความสามารถในการปลูกโดยใกล้ชิด หลังเพาะกล้าได้สูงประมาณ ๑ ฟุต ก่อนย้ายลงหลุมก็จะทำการคัดเลือกเอาเฉพาะต้นตัวเมีย(ที่จริงมี ๓ เพศ คือต้นตัวเมีย เพศผู้ กะเทย) ระยะเติบโตก็รดน้ำพรวนดิน เหมือนการปลูกพืชลัมลุกทั่วไป ชอบความชื้น ไม่แฉะ ศัตรูพืชโดยทั่วไปก็พวกเพลี้ยแป้ง เพลี้ยจักจั่น ระยะติดดอก ก็จะเป็นหนอนผีเสื้อ ส่วนใหญ่ก็จะใช้ยากำจัดแมลงฉีดพ่น แต่ละรอบก็จะใช้เวลาประมาณ ๕ เดือน ดอกกัญชาที่แก่ได้ขนาดก็จะตัดทั้งต้นนำไปผื่งลมใต้ถุนบ้าน
ขั้นตอนสุดท้าย พอดอกแห้งประมาณ ๔-๕ วันก็จะมีการเก็บเม็ด เด็ดใบให้เหลือแต่ดอก นำดอกที่คัดเลือกแล้ว ใช้เชือกป่านตัดเป็นท่อนยาวประมาณ ๕๐-๖๐ ชม.คลายเกลียวเป็นเส้น ใช้พันมัดดอก กับ ดิ้ว(แท่ง)ไม้ไผ่เหลายาวประมาณ ๑๐ ซม. เมื่อรวมกันได้ ๒๐ ดิ้วก็จะมัดรวมเป็นตั้ง ยางเหนียว ๆ จากดอกกัญชาจะติดมือดำ ล้างออกค่อนข้างยาก ยุคนั้นยังไม่มีถุงมือ และขาดการระมัดระวังในความปลอดภัย รวมทั้งประโยชน์จากยางเหนียวๆที่ติดมือ
ในระยะต่อมา ชื่อเสียงของกัญชาลุงก้อน ที่ได้รับการพัฒนาการปลูก ในพื้นที่โคกช้างไห้ และลำน้ำห้วยต้าย ห้วยทวย ก็ได้รับการกล่าวขานอย่างแพร่หลายในชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียง ในเรื่องของคุณภาพที่เป็นความต้องการ พร้อมกับชื่อเสียงของบ้านต้ายก็ดังกระหึ่มติดหู จนเป็นที่ต้องการ ทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชาอย่างแพร่หลาย จนทำให้ชาวบ้านต้ายมีสภาพเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถซื้อรถบรรทุกวิ่งเล็กวิ่งกันขวักไขว่ในหมูบ้านมากกว่า ๔๐ คันในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
เมื่อสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ผลพวงที่ตามมาก็หนีไม่พ้น การรบกวนจากฝ่ายรัฐ พื้นที่ปลูกกัญชาก็ย้ายถิ่นฐานไปตามสายญาติต่างพื้นที่ และนักธุรกิจกัญชาที่สภาพพื้นที่ปลูก เช่นลำน้ำสงคราม (ซึ่งเมื่อถูกรบกวนก็เลยย้ายพื้นที่ขึ้นไปตามลำน้ำ จนไปแพร่หลายบนเทือกเขาภูพาน) รวมทั้งประเทศลาวที่เป็นต้นกำเนิดอีกด้วย ทั้งนี้รวมทั้งการปราบปรามจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง โดยได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ในแต่ละปีจะมีการนำเฮลิคอปเตอร์ส่งเจ้าหน้าที่มาตัดทั้งทางอากาศ และทางบกอย่างต่อเนื่องทุกปี
ในปี ๒๕๑๒ ผู้เขียนได้ย้ายมาทำงานที่บ้านต้าย ได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กในฐานะที่เป็นครู และคลุกคลีกับชุมชน ภายใต้การปลูกฝังด้วยเป้าหมาย “กัญชายาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม”ซึ่งเป็นการยืนยันแนวคิดในการปลูกฝังที่สวนทางกับวิถีกัญชาชนของชาวบ้าน แต่ด้วยความไม่หวั่นไหว ในความมุ่งมั่นตั้งใจ ได้ใช้เวลาในการเข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการคบหาเพื่อนหนุ่มสาว โดยใช้กิจกรรมกีฬาแชร์บอลสำหรับสาว สาว ฟุตบอลสำหรับหนุ่มๆ และงานสวนสนุก หนังล้อมผ้า แล้วยังใช้ความเป็นครูหนุ่มเนื้อหอม และบ้านพักก็อยู่ไม่ห่างไกลมากนักออกไปเพียง ๔ กม.จึงสามารถคลุกคลีในทุกมิติของการปลูกกัญชา และธุรกิจกัญชา ที่ไม่ขัดแย้งกับคุณธรรมอาชีพครู
หลังปี ๒๕๑๘ เมื่อชาวบ้านที่เป็นภูมิปัญญาถูกรบกวนอย่างหนัก รวมทั้งนักธุรกิจต่างจังหวัด ที่เป็นเครือข่าย บางส่วนก็ย้ายพื้นที่ปลูกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และในประเทศเพื่อบ้าน รวมทั้งประเทศลาวที่เป็นต้นกำเนิดอีกด้วย แต่ก็ยังพึ่งพาธุรกิจพ่อค้าคนกลาง ซึ่งสอดแทรกมาในหลากหลายรูปแบบ
ในปี ๒๕๒๒ รัฐบาลได้มีกฎหมายกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ยึดติดกับรายได้ที่ได้จากการปลูกกัญชา การลักลอบปลูก การย้ายพื้นที่ปลูกมานาน จึงยากต่อการเปลี่ยนแปลง กอปรกับมีการปราบปรามอย่างหนักในทุกพื้นที่ จนมีการต่อสู้กันถึงแก่ชีวิต และถูกจองจำ จึงเลิกโดยเด็ดขาด และกลับมาดำเนินวิถีชีวิตเกษตรกรดั้งเดิม แต่ยังคงยึดติดกับการเพาะปลูกพืชผักส่งตลาด จนเป็นคุณลักษณะที่งดงามในปัจจุบัน
ในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันที่มีฐานทัพในจังหวัดนครพนม ระหว่างพักรบ ก็จะเข้ามาพักผ่อน สนุกสนานกับชาวบ้านต้าย มีการทดลองสูบกัญชา ต่างก็ติดในรสชาติและคุณภาพของกัญชาบ้านต้าย
เมื่อหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี ๒๕๑๘ ที่ทหารอเมริกันได้เดินทางกลับ เหล่าGI ก็คงยังหลงใหลในคุณภาพระดับ Premium ของดอก ความแรงและรสชาติที่ดีในการสูบ ทำให้กัญชาบ้านต้ายเป็นที่ต้องการ จนมีธุรกิจลักลอบส่งขายไปยังอเมริกา จึงเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนเชือกป่านที่มัดเป็นแท่งเป็นเชือกป่านสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ยี่ห้อสินค้าส่งออกโดยเฉพาะ คำว่า Thai Stick หรือด้ายแดง จึงถูกขนานนามตั้งแต่วันนั้น และกลายเป็นสายพันธุ์ยอดนิยมว่า เป็นสุดยอดกัญชาคุณภาพที่ดีที่สุดในโลกในปัจจุบัน และถูกขนานนามตั้งแต่ยุคนั้น
ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ในความคิด ความรู้สึกต่อกัญชา แม้การศึกษาจะปลูกฝังให้เขาเป็นยาเสพติด เป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม มิอาจอยากมีชีวิตที่เสี่ยงคุก ตารางปลูกอย่างผิดกฎหมายในอดีตที่ผ่านมา ระยะเวลามากกว่า ๖๐ ปี อาจจะยากในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ได้เฝ้ามองพัฒนาการของผู้ปลูก ผู้ใช้ ในการดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วยผ่านสื่อในระยะ ๑ ปีเศษ จนเกิดนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมือง เกิดการตื่นตัวของประชาชน แม้แต่ชาวบ้านต้ายที่เคยปลูก และเลิกล้มมามากกว่า ๕๐ปี ก็ยังคิดฝันว่าปลูกกัญชาขาย(เหมือนในอดีต)ก็จะทำให้รวย และ ยังมั่นใจกับชื่อ “หางกระรอก ด้ายแดง”
ระหว่างวิธีการปลูกในอดีตที่มีตลาดในเรื่องของการเสพ กับ แนวคิดกัญชาเพื่อการแพทย์ ก็ยังผสมโรงกันระหว่างความคิด ความกังวลเรื่องสารปนเปื้อน ทั้งทั้งที่ยังไม่มีการปลูกในประเทศไทยในพื้นที่ใดใด ไม่ว่าจะเป็นแบบเปิด แบบปิด แบบโรงเรือน รวมทั้งวิธีการของแผนไทย แผนปัจจุบัน
หากเปิดโอกาสให้ภูมิปัญญาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปลูกแบบเปิดในอดีต โดยสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นดูแล เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ดั้งเดิม(ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ไก่) รวมทั้งวิธีการป้องกันแมลง โดยใช้ดิน ใช้แดดในพื้นที่ถิ่นกำเนิดหางกะรอก หรือหางกะรอกด้ายแดง หรือสายพันธุ์อื่นที่ปลูกกลางแจ้ง แล้วตรวจสอบสารเคมีที่มี ก็จะทำให้เป็นการฟื้นฟู หางกะรอก หรือหางกะรอกด้ายแดงในอดีต และที่สำคัญที่สุดหากได้ใช้พืชกัญชาชนิดนี้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารที่ถูกวิธี ที่พอเหมาะ หรือนำราก ลำต้นใบ ดอก ไปใช้ในการปรุงตำรับยา หรือได้ดอกพืชกัญชาต้นทางที่มีคุณภาพ ก็ยิ่งจะทำให้การดูแลรักษาชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ก็จะเป็นการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะจะฝึกลูกหลานให้มีทักษะใช้พืชสมุนไพรนี้ อย่างรู้เท่าทัน ได้อย่างไร ครับ