ผมเคยเขียนเรื่องวัฒนธรรมตะเกียบ 筷子文化 ของชาวจีนมาแล้วครั้งหนึ่ง
ในครั้งนี้ ผมได้รับคลิปวิดีโอมาจากเพื่อนชาวจีน ถึงการผลิตตะเกียบด้วยมือ Handmade อย่างถูกวิธีและพิถีพิถันของชาวจีน
เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว จะเข้าใจในคลิปวิดีโอนี้อย่างชัดเจน จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่งครับ...
วัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์ ถ่ายทอดออกมาได้จากการรับประทานอาหาร ชาวจีนใช้ตะเกียบ ชาวตะวันตกใช้ช้อนส้อมและมีด ชาวอุษาคเนย์และอินเดียใช้มือ ตะเกียบ
ประดิษฐกรรมที่ชาวจีนใช้หยิบคีบอาหารมีประวัติมานานกว่า ๓,๐๐๐ ปี มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยราชวงศ์ซาง เดิมมีบันทึกเรียกตะเกียบว่า 箸 จู้ แต่ด้วยจู้ได้พ้องเสียงกับ 住 จู้ หมายถึงหยุด คนโบราณเห็นว่าไม่เป็นสิริมงคล จึงใช้คำตรงกันข้ามคือ 快ไคว่ หมายถึงรวดเร็ว และด้วยตะเกียบทำจากไม้ไผ่ จึงเติมไม้ไผ่ไว้ด้านบน เป็นตัวอักษร 筷 มาจนถึงปัจจุบัน
๑. ในแต่ละมื้ออาหารที่เราใช้ตะเกียบ เคยสังเกตกันไหมครับว่า ด้านบนตะเกียบจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างจะมีรูปทรงวงกลม เรื่องนี้บอกอะไรเรา สี่เหลี่ยมเปรียบเหมือนพื้นดิน วงกลมเปรียบประดุจท้องฟ้า ตามคติจีน 天圆地方 เทียนหยวนตี้ฟาง
เวลาใช้ตะเกียบจะสลับด้านกัน เพราะรูปทรงสี่เหลี่ยมย่อมไม่สามารถหยิบคีบอาหารได้แน่ เราจะใช้ด้านกลม ที่แทนความหมายท้องฟ้า คีบอาหารเข้าปาก ให้ความหมายที่บอกเป็นนัยว่า สำหรับประชาชนแล้ว เรื่องปากท้องเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ประหนึ่งเป็นเรื่องของฟ้าเลยทีเดียว 民以食为天
๒. เวลาเราจับตะเกียบคีบอาหาร เราจะใช้นิ้วหัวแม่มือจะอยู่ด้านบน นิ้วกลางอยู่กลาง นิ้วนางนิ้วก้อยอยู่ล่าง นิ้วทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน จึงจะสามารถใช้ตะเกียบคีบอาหารเข้าปากได้ แทนความหมาย ฟ้าดินคน 天地人 เป็นลักษณะความสมดุลของทุกสรรพสิ่งที่ต้องอยู่ร่วมกันตามคติเต๋า
๓. เมื่อเราจับตะเกียบ ข้างหนึ่งจะอยู่นิ่ง อีกข้างหนึ่งจะขยับไปมาเพื่อคีบอาหาร ด้านที่อยู่นิ่งก็คือยิน 阴 (สงบ เย็น มืด พระจันทร์ ผู้หญิง) ด้านที่ขยับก็คือ หยาง 阳 (เคลื่อนไหว ร้อน สว่าง พระอาทิตย์ ผู้ชาย) ยินและหยางต้องทำงานคู่กัน ทุกสิ่งจึงสำเร็จ ยินหรือหยางทำงานฝ่ายเดียว ย่อมไม่สำเร็จ ธรรมชาติและสรรพสิ่งรวมถึงมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น
๔. ความยาวของตะเกียบ มีขนาดความยาวมาตรฐานตามประเพณีโบราณของชาวจีน คือจะต้องมีความยาว ๗.๖ นิ้วจีน (七寸六分) หรือเทียบเท่าประมาณ ๒๒-๒๔ เซ็นติเมตร (1寸 เทียบเท่า 3.3 ซม.) ซึ่งก็ยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
(ตะเกียบไม้ไผ่หักแบบญี่ปุ่น จะมีขนาดความยาวสั้นกว่าตะเกียบมาตรฐานของจีน หรือตะเกียบโลหะหรู ๆ ตามโรงแรมชั้นหนึ่ง บางครั้งม่ีขนาดยาวกว่า ซึ่งเราจะรู้สึกได้เลยว่า ตะเกียบที่สั้นหรือยาวกว่า เวลาใข้หยิบคีบอาหารจะไม่ถนัดมือ)
ด้วยความยาวของตะเกียบนี้เอง บรรพบุรุษยังใช้เป็นเครื่องบอกความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ทั้งหลายได้อีก
ความยาว ๗.๖ นิ้วจีน แทนอารมณ์ ๗ อย่าง 七情 และความอยาก ๖ 六欲 ประการของมนุษย์
อารมณ์ทั้ง ๗ คือ ความยินดี 喜 ความโกรธ 怒 ความเศร้า 哀 ความกลัว 惧 ความรัก 爱 ความเกียจ 误 และความอยาก 欲
ความอยากทั้ง ๖ เปรียบเหมือนอายตนะทั้ง ๖ ตามหลักพระพุทธศาสนาคือ รูป 见欲 เสียง 听欲 กลิ่น 香欲 รส 味欲 สัมผัส 触欲 และอารมณ์ 意欲
ดังนั้น การจับตะเกียบ เหมือนให้เราควบคุมอารมณ์ทั้ง ๗ และความอยาก ๖ ขอให้เรารู้จักเดินสายกลาง ไม่มาก ไม่น้อย ให้พอดี มนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติ จึงจะอยู่ได้อย่างสมดุลตลอดไป คราวนี้เวลาที่เราใช้ตะเกียบคีบอาหารในแต่ละมื้อ คงมีความหมายกันมากขึ้นไม่น้อยเลยนะครับ