21 ก.พ. 2021 เวลา 13:56 • สัตว์เลี้ยง
“ผีเสื้อติดหิน เวียดนาม” ปลาน้อยนักโต้คลื่น
ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนาม ปลาตัวเล็กที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา ยิ่งมองยิ่งน่าค้นหา นอกจากลักษณะภายนอกที่ไม่เหมือนใครแล้ว ชื่อของมันเองก็ยังน่าค้นหาอีกด้วย เอ๊ะว่า.... ทำไมต้องผีเสื้อ? ทำไมต้องติดหินด้วยหล่ะ? เอาหล่ะเรามาทำความรู้จักกับเจ้าปลาตัวนี้กันเลย
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักชื่อเรียกของเจ้าปลาตัวนี้กันก่อน ในเหล่านักเลี้ยงปลามักเรียกปลาตัวนี้ในหลากหลายชื่อ ทั้ง ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนาม ปลาผีเสื้อเวียดนาม จนไปถึงปลาซักเกอร์ผีเสื้อ นอกจากชื่อภาษาไทยที่มีหลากหลายชื่อแล้ว ชื่อสากลของมันก็มีอีกมากมายเช่นกัน Tiger Hillstream Loach, Sewellia Lineolata, Reticulated Hillstream Loach ชื่อเยอะขนาดนี้จนแอบสงสัยเลยว่านี่คือชื่อปลาตัวเดียวใช่ไหมเนี่ย! เอาเป็นว่าบทความนี้ขอเรียกว่า “ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนาม” แล้วกัน
**จากชื่อเรียก “ปลาซักเกอร์ผีเสื้อ” อาจทำให้หลาย ๆ ท่านเข้าใจผิดว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาพวกเดียวกับปลาซักเกอร์ หรือปลาช็อกเกอร์ได้ แต่จริง ๆ แล้วปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามเป็นปลาที่อยู่ในตระกูลปลาหมู หรือปลาค้อ (Hillstream loach) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับปลาซักเกอร์เลยนั่นเอง**
1
ปลาซักเกอร์แคระ
ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนาม จากชื่อเรียก หลาย ๆ ท่านก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่าเจ้าปลาตัวนี้มีที่มามาจากประเทศอะไร ซึ่งแน่นอนเป็นปลาท้องถิ่นของประเทศเวียดนาม และยังสามารถพบได้ทั่วไปในแถบประเทศจีนตอนล่าง และประเทศลาว ตามแม่น้ำ หรือต้นน้ำที่มีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว และมีคุณภาพน้ำสูง ใสสะอาด
ปลาผีเสื้อติดหินมีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 2-3 นิ้ว และอายุที่ค่อนข้างยืนในระหว่าง 8-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลเลี้ยงดู
ขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 2-3 นิ้ว และอายุที่ค่อนข้างยืนในระหว่าง 8-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลเลี้ยงดู
ลายบนตัวมีลายสีดำสลับสีเหลือง หรือสีน้ำตาล แต่ละตัวมีลายที่ไม่ซ้ำกัน หากมองจากมุมด้านบนจะมีลักษณะคล้ายกับก้อนกรวดในแม่น้ำธรรมชาติ เพื่อช่วยพรางตัวจากนักล่าได้อย่างดี
ด้วยลักษณะตัวแบนราบ ด้านล่างส่วนท้องเรียบสีขาว มีส่วนหลังที่โค้ง และหางที่ยาวออกมา ลักษณะเหล่านี้มีประโยชน์ในการเอาตัวรอดในกระแสน้ำที่ไหลแรงได้อย่างสบาย ๆ เลย ท้องที่แบนราบสามารถเกาะติดกับก้อนหินตามแม่น้ำได้อย่างดี ในขณะที่ปลาตัวอื่น ๆ ต้องใช้ความพยายามในการว่ายทวนกระแสนน้ำและใช้พลังงานอย่างมาก เจ้าปลาผีเสื้อติดหินแทบไม่สะทกสะท้าน แถบยังสามารถโต้นคลื่นโฉบไปโฉมมาระหว่างก้อนหินได้อย่างสบายใจ
ส่วนท้องของปลาผีเสื้อติดหินเวียดนาม
ลักษณะนิสัย
เจ้าปลาผีเสื้อติดหินเวียดนาม เป็นปลาที่รักสงบ และอาศัยกันเป็นกลุ่ม ๆ อยู่ตามบริเวณท้องน้ำและก้อนหิน ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการแทะเล็มก้อนหิน และหาอาหารกินตามท้องน้ำ กับพวกเดียวกันเองปลาชนิดนี้ค่อนข้างหวงพื้นที่ส่วนตัว หรือก้อนหินของตนเองจนบางครั้งอาจะเกิดการไล่และต่อสู้กันได้ แต่การตู้สู้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต มีนิสัยหวงก้อนหินหวงขนาดที่ เมื่อเรายกก้อนหินขึ้นมาเหนือน้ำแล้วเจ้าปลาตัวนี้ยังเกาะติดกับก้อนหินที่เป็นที่รักของมันอยู่เลย ดังนั้นจึงไปแปลกที่จะใส่คำว่า “ติดหิน” ลงไปในชื่อของมันด้วย
การดูแลปลาผีเสื้อติดหิน
สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ “คุณภาพของน้ำ” และ “ปริมาณออกซิเจนในน้ำที่ต้องสูง” เนื่องจากในธรรมชาติปลาตัวนี้ได้รับออกซิเจนจากฟองอากาศที่เกิดจากกระแสน้ำที่ไหลแรงตลอดเวลา ดังนั้นแหล่งน้ำในบริเวณที่มันอาศัยอยู่จึงมีออกซิเจนละลายในน้ำที่สูง
ปลาผีเสื้อติดหินเป็นปลาต้นน้ำที่เหล่งน้ำมีอุณภูมิในน้ำที่ค่อนข้างต่ำ ต่างจากปลาเขตร้อนทั่วไป โดยอุณภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ 20-23 C. (จากประสบการณ์การเลี้ยงส่วนตัวอุณภูมิประมาณ 25-28 C. หรือไม่เกิน 30 C. ก็ยังสามารถมีชิวิตอยู่ได้และกินอาหารได้อย่างปกติ แต่หากต้องการเพาะพันธุ์อาจจะจำเป็นที่ต้องใช้อุณภูมิที่ต่ำลงอีก)
ค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ (pH) 6.5-7.5
ต้องการการเปลี่ยนน้ำในทุก ๆ สัปดาห์ เนื่องจากเป็นปลาต้นน้ำ น้ำที่ไหลเวียนในธรรมชาติเป็นน้ำที่สะอาดมาก และเป็นน้ำใหม่มาก ดังนั้นนักเลี้ยงปลาที่จะเลี้ยงปลาตัวนี้ต้องขยันเปลี่ยนน้ำให้บ่อย ๆ อย่างน้อย ๆ 20%-50% 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์
เกลืออาจจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของปลาชนิดนี้สักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นปลาไม่มีเกร็ด และไวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของน้ำ การใส่เกลือลงที่มากเกินไปอาจะส่งผลต่อสุขภาพของปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามได้
การจัดตู้ให้กับปลาผีเสื้อติดหินเวียดนาม
ควรติดตั้งระบบไหลเวียนน้ำและสร้างกระแสน้ำในระดับกลางถึงแรง ดังนั้นการจะจัดตู้ที่จำลองกระแสน้ำควรมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ตั้งแต่ 24 นิ้วเป็นต้นไป หรือเป็นตู้สั่งทำที่มีแนวยาว ไม่ตื้นไม่ลึกจนเกินไปก็ได้เช่นกัน
ทราย และก้อนกรวดเหมาะเป็นวัสดุรองพื้นมากที่สุด และใช้ก้อนหินก้อนเล็กก้อนใหญ่วางสลับกันไปเพื่อเลียนแบบแหล่งท่อยู่ในธรรมชาติของมัน และเพื่อให้เกิดช่องว่างกระหว่างก้อนหินใช้เป็นที่หลบซ่อนเวลาปลารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือต้องการพักจากการโต้คลื่น
*หินที่เลือกมาใช้ควรเป็นหินแม่น้ำที่มีความกลมมนเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบริเวณท้องปลาที่แบนราบและค่อนข้างบอบบาง อีกทั้งเพื่อประโยชน์ในการยึดติดไม่ให้กระแสน้ำพัดตัวปลาปลิวไป*
นอกจากก้อนหินแล้ว เศษไม้ ไม้น้ำ หรือพืชน้ำสามารถนำเข้ามาตกแต่งสร้างสีสันและเลียนแบบธรรมชาติเพื่อไม่ให้ปลาเครียดได้อีกด้วย พืชน้ำที่แนะนำควรเป็นพืชที่สามารถทนต่อกระแสน้ำได้ เช่น หญ้าเส้นผม เทปเล็ก สาหร่ายหางกระรอก เป็นต้น
ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามกับตู้ไม้น้ำ
อาหาร
ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามเป็นปลาที่ค่อนข้างกินง่ายอยู่ง่ายและไม่เรื่องมากเรื่องอาหารสักเท่าไหร่นัก เป็นปลาที่กินทั้งพืชทั้งสัตว์ (Omnivore) อาหารที่โปรดปรานที่สุดของมันก็คือสัตว์น้ำ หรือหนอนน้ำตัวเล็ก ๆ และ ตะไคร่น้ำตามโขดหิน สามารถให้เป็นอาหารเม็ด หรืออาหารสดได้ เช่น หนอนแดงแช่แข็ง เป็นต้น เป็นปลาที่เหมาะกับการเก็บกวาดเศษอาหารตามท้องน้ำ หรือพื้นตู้
*อย่างไรก็ตามหากท่านมองหานักกำจัดตะไคร่น้ำภายในตู้ เจ้าปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามตัวนี้อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะมันเพียงเล็มและแทะตะไคร่น้ำแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น อีกทั้งตะไคร่น้ำไม่ใช่อาหารหลักของมันสักเท่าไหร่นัก*
เพื่อนร่วมตู่
ปลาผีเสื้อเวียดนามอย่างที่กว่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นปลารักสงบ ชอบกระแสนน้ำแรง และเป็นปลาท้องน้ำ ดังนั้นหาปลาที่ชอบว่ายทวนกระแสนน้ำมาอยู่เป็นเพื่อนได้ยิ่งดี เช่น ปล่าบู่นีออน ปลาบู่เรดลิปสติก ปลากาล่า ปลาน้ำหมึก ปลาซิวชนิดต่าง ๆ กุ้งฝอย กุ้งแคระ เป็นต้น
ปลาการ่า
การเพาะพันธุ์
ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามตัวนี้ค่อนข้างเรื่องมากเรื่องการผสมพันธุ์ และการเลือกคู่ สถานที่ผสมพันธุ์แทบจะต้องเลียบแบบธรรมชาติให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งอุณหภูมิที่ต่ำ กระแสน้ำ แหล่งวางไข่ ค่าpH และปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อีกทั้งเจ้าปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามตัวเมียยังต้องเลือกคู่ที่ตัวเองถูกใจอีกด้วย โดยตัวผู้จะต้องทำการเต้นรำให้ตัวเมียถูกใจ หากตัวเมียเริ่มถูกใจตัวผู้ตัวนั้นแล้วมันจะตามตัวผู้และทำตัวติดกันตลอดเวลา ดังนั้นการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ค่อนข้างทำได้ยาก อย่างไรก็ตามมีนักเลี้ยงปลาบางท่านสามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้แล้ว และข้อดีของการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ยังไม่ต้องแยกพ่อแม่ปลาออกหลังจากแม่ปลาวางไข่อีกด้วย
*เพศเมียมีขนาดที่ใหญ่กว่าตัวผู้ ขนาดท้องของตัวผู้จะเรียวกว่าตัวเมีย*
นอกจากปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามแล้ว ยังมีญาติ ๆ ของมันที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกันอยู่อีกหลายชนิด เช่น ปลาผีเสื้อติดหินลายจุด (Spotted Hillstream Loach) ของประเทศอินโดนีเซีย ปลาผีเสื้อติดหินแม่น้ำน่าน ที่สามารถพบได้แค่ในจังหวัดน่านของประเทศไทยเท่านั้น
สำหรับนักเลี้ยงปลา หรือท่านไหนที่กำลังจัดตู้ไม้น้ำและกำลังหาปลาที่เป็นจุดสนใจชักจูงสายตา ปลาผีเสื้อติดหินเวียดนามตัวนี่เป็นตัวเลือกที่ดีมาก ๆ ตัวหนึ่งเลย ด้วยลักษณะนิสัยที่ไม่อยู่นนิ่ง การขยับมวลร่างกายที่น่าค้นหา หน้าตาที่แปลกตา เชื่อเหลือเกินว่าหากท่านได้สบตากับเจ้าปลาตัวนี้แล้วท่านจะอยากเอามันกลับมาเป็นสมาชิกใหม่เพิ่มลงในตู้ของท่านแน่นอน
หากอยากรู้จักปลาชนิดไหนเพิ่มเติม พร้อมวิธีการเลี้ยงเบื่องต้นตัวไหนอีก รอติดตามต่อในบทความต่อไป หรือคอมเม้นแนะนำไว้ด้านล่างได้เลย
Written by Tan A-ROUND
อ้างอิง
โฆษณา