23 ก.พ. 2021 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
เจ้าฟ้าสุทัศน์ มหาอุปราชผู้เสวยยาพิษ - เจ้ากรมไวย เสนาบดีหัวหน้ากบฏญี่ปุ่น
ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุทธยามีเหตุการณ์เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ปลงพระชนม์พระองค์เองเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชได้เสวยยาพิษจนสิ้นพระชนม์ แต่เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างคลุมเครือ
 
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาให้ข้อมูลไว้เพียงสั้นๆ ว่า
2
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตร ๒ พระองค์ องค์หนึ่งทรงพระนามเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระอนุชาทรงพระนามเจ้าฟ้าศรีเสาวภาค ประชวรพระยอดเสียพระเนตรข้างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงยกพระราชบุตรผู้พี่ขึ้นเป็นมหาอุปราช อยู่มา ๔ เดือนเศษ พระมหาอุปราช กราบทูลพระกรุณาว่าจะขอพิจารณาคนออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจะเป็นขบถหรือ พระมหาอุปราชมีความกลัวสมเด็จพระราชบิดาเป็นกำลัง ออกจากที่เฝ้าเสด็จมาพระราชวังบวรสถานมงคล เพลาค่ำเสวยยาพิษเสร็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัศโสกาดูรภาพเถิงพระราชโอรสเป็นอันมาก แล้วให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพตามอย่างมหาอุปราช” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม))
จิตรกรรมสมัยอยุทธยาในแผนที่ไตรภูมิโลกสัณฐาน (มีภาพประกอบ) ว่าด้วยตอนนิริยกถาถึงเทวกถา พระยานครศรีธรรมราชถวายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเมื่อ พ.ศ. 2449
ในที่นี้ต้องวิเคราะห์ว่าที่การ “ขอพิจารณาคนออก” มีความหมายว่าอย่างไร เพราะคำพูดดังกล่าวถึงขนาดทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงระแวงพระราชโอรสว่าจะเป็น “กบฏ” และทำให้เจ้าฟ้าสุทัศน์ทรงกดดันถึงขนาดต้องเสวยยาพิษปลงพระชนม์พระองค์เอง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์ว่า “เห็นจะหมายความว่า คนที่เข้ามารับราชการประจำซองอยู่มีคนแก่ชราทุพพลภาพอยู่มาก จะขอให้ปลดคนเหล่านั้นออกเสียจากราชการ...ฝ่ายพระเอกาทศรฐจะเข้าพระทัยไปว่า พระมหาอุปราชเป็นหัวหน้าตัวพวกที่จะฝ่าฝืนพระราชอำนาจ คงจะทรงพิโรธเพียงตรัสบริภาษตัดพ้อพระมหาอุปราชด้วยประการต่างๆ”
.
นายตรี อำมาตยกุล กรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ให้ความเห็นว่า “พิจารณาคนออก คือ พิจารณาคนขึ้น หรือ คนในสังกัด หมายความว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์กราบทูลขอพระราชานุญาตจัดหาคนเข้าประจำกรมวังหน้า ให้ครบตำแหน่ง หรือให้มากขึ้น เพื่อเตรียมฝึกฝนไว้ป้องกันพระนคร จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงระแวงขึ้นมาว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์จะซ่องสุมผู้คนเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ”
หากเชื่อตามการวิเคราะห์นี้ เป็นไปได้ว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์ทรงต้องการปรับโครงสร้างระบบราชการโดยปลดข้าราชการเก่าในวังหลวงบางคนออกโดยเสนอให้ปลดข้าราชการที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงไว้วางพระทัยหรือเป็นฐานอำนาจของพระองค์ ในขณะเดียวกันอาจทรงจัดหาคนของพระองค์ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งทดแทนทั้งในวังหลวงและวังหน้า จนทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถทรงมองว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์กำลังท้าทายพระราชอำนาจจนระแวงว่าพระโอรสจะเป็นกบฏ
หลักฐานต่างประเทศในต้นรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม คือจดหมายเหตุการเดินทางของ ปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Floris) พ่อค้าชาวดัตช์ที่ทำงานให้สถานีการค้าอังกฤษในเมืองปัตตานีช่วง พ.ศ. 2155-2158 (ค.ศ. 1612-1615) ระบุว่าการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าสุทัศน์เกี่ยวข้องกับ “เจ้ากรมไวย” (Jockcrommewaye) ขุนนางผู้มีอิทธิพลในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ ผู้มีชาวญี่ปุ่นนับร้อยคนอยู่ภายใต้บังคับบัญชา
“...He dye anno 1610, leaving dyvers children behyne him. His death hath casued a greate alteration, for hee, lying in his death-bedde, caused his eldest sone to bee slayne, a yong man of very greate hope att the instigation of one Jockcrommewaye, being one of the principall lords of Siam, who, having a greate many slaves thought to make himself King.”
(...พระองค์สวรรคตใน ค.ศ. 1610 โดยทรงมีพระราชบุตรหลายองค์ การสวรรคตของพระองค์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เพราะเมื่อพระองค์ใกล้เสด็จสวรรคต ทรงเป็นเหตุให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ยังทรงหนุ่มและเป็นที่คาดหวังอย่างมากถูกสำเร็จโทษเพราะคำยุยงของเจ้ากรมไวย หนึ่งในขุนนางผู้ใหญ่ของสยามผู้มีข้าทาสบริวารจำนวนมากและคิดการจะตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์)
ฟลอริสระบุว่าเจ้าฟ้าสุทัศน์ทรงถูกสำเร็จโทษ (to bee slayne) ต่างจากพระราชพงศาวดารที่ระบุว่าเสวยยาพิษ อาจเพราะได้รับข้อมูลมาคลาดเคลื่อน เนื่องจากฟลอริสประจำการอยู่ที่ปัตตานี ไม่เคยเข้ามาที่กรุงศรีอยุทธยา
บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับสยามที่เรียบเรียงจากคำให้การของ วิคเตอร์ สปริงค์เกล (Victor Sprinckel) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำเมืองปัตตานีในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถถึงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งถูกรวมอยู่ในจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่สองของ ยาโกบ ฟาน เน็ค (Jacob van Neck) ได้กล่าวถึงขุนนางผู้นี้ไว้เช่นกัน แต่เรียกชื่อต่างกันเล็กน้อยว่า “ออกญากรมไวย” (Oci Chronowi)
3
“De voorsz Ragipi hadd’ onder hem een die wel de meeste te hove was / ghenaemt Ochi Chronowi (Ochi is den tytel van een Grave oft Heer) welcke Chronowi onse Hollandsche Partie seer gunstigh ende bevorderlijck was by den Coning... Aoch by't leven van Ragihapi hadde Ochi Chroniwi heymelijck doen in't landhomen wel vier of vijf hondert Iaponen ghekleedt als koopluyden / om den Koningh te dooden ende't Rijck selfs in te nemen / doch de conspiratie en werdt niet in't werck gheleybt soo langh als de Koningh leefde / maer soo hadst hy ghestorven was / heeft de voorschreven Chroniwi, niet teghenstaende datter Sonen waren van den Koningh Ragihapi, hem selven doen kroonen voor Coningh / ende ghemeynt meester te maecken van't landt”
(รายาอะพี (Ragihapi) นั้นทรงมีข้าราชบริพารผู้ใหญ่ในราชสำนักคนหนึ่งนามว่า ออกญากรมไวย (ออกญา เป็นบรรดาศักดิ์เทียบเท่า กราฟ (Grave) หรือ เฮียร์ (Heere)) กรมไวยผู้นี้โปรดปรานชาวฮอลันดามากและช่วยให้ได้รับผลประโยชน์จากพระมหากษัตริย์...ในรัชสมัยของรายาอะพี ออกญากรมไวยลักลอบนำชาวญี่ปุ่น 400-500 คน เข้ามาในประเทศโดยปลอมตัวเป็นพ่อค้า เพื่อลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และยึดครองแผ่นดิน แต่ยังไม่อาจทำตามแผนการได้ในเวลาที่พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ในทันทีที่พระองค์สวรรคต ออกญากรมไวยได้หมายมั่นจะสถาปนาตนเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองแผ่นดิน โดยไม่สนใจว่ายังมีพระราชโอรสของรายาอะพีอยู่)
1
รายาอะพี มาจากภาษามลายู Raja Api แปลว่า “ราชาอัคคี” จดหมายเหตุของฟลอริสและเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ระบุตรงกันว่าเป็นพระนามของสมเด็จพระนเรศ ส่วนจดหมายเหตุจากข้อมูลของสปริงค์เกลก็มีเนื้อหากล่าวถึงการทำสงครามตีหงสาวดีของรายาอะพีที่ตรงกับสงครามในรัชกาลสมเด็จพระนเรศ ในที่นี้เข้าใจว่าสปริงค์เกลจะคลาดเคลื่อนโดยเอาสมเด็จพระนเรศกับสมเด็จพระเอกาทศรถมารวมเป็นองค์เดียวกัน
บันทึบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับสยามที่เรียบเรียงจากคำให้การของ วิคเตอร์ สปริงค์เกล (Victor Sprinckel) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ประจำเมืองปัตตานีในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถถึงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งถูกรวมอยู่ในจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่สองของ ยาโกบ ฟาน เน็ค (Jacob van Neck)  ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1646
หลักฐานต่างประเทศทั้งสองชิ้นให้ข้อมูลว่า “เจ้ากรมไวย” หรือ “ออกญากรมไวย” เป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศ เป็นผู้ใกล้ชิดสามารถเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดินได้ง่าย มีเครือข่ายกับชาวต่างประเทศทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวดัตช์ และมีความทะเยอทะยานคิดตั้งตนเป็นกษัตริย์
การที่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงบริภาษพระราชโอรสว่าจะเป็น “กบฏ” จนทำให้เจ้าฟ้าสุทัศน์ถูกบีบให้ปลงพระชนม์พระองค์เอง สันนิษฐานว่าความสัมพันธ์พ่อลูกของทั้งสององค์ไม่น่าจะราบรื่นมาตั้งแต่ก่อนการ “ขอพิจารณาคนออก” แล้ว เนื่องจากการยุยงปลุกปั่นของเจ้ากรมไวย และเป็นไปได้ว่าการ “ขอพิจารณาคนออก” ของเจ้าฟ้าสุทัศน์ อาจเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อฐานอำนาจของเจ้ากรมไวยเช่นเดียวกัน จนเป็นเหตุให้เจ้ากรมไวยพยายามยุยงให้สมเด็จพระเอกาทศรถระแวงพระราชโอรส
เจ้ากรมไวยผู้นี้จะเป็นใครไม่แน่ชัด มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็น จมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก ซึ่งเป็นข้าราชการใกล้ชิดสามารถเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดินได้ง่าย หรือไม่อาจเพี้ยนมาจาก “เจ้ากรมวัง” คือจตุสดมภ์กรมวังที่เป็นตำแหน่งเสนาบดีผู้ใหญ่
.
หลังจากเจ้าฟ้าสุทัศน์สิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถไม่ได้ทรงสถาปนาพระมหาอุปราชองค์ใหม่จนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2153 (ค.ศ. 1610) พระศรีเสาวภาค พระอนุชาของเจ้าฟ้าสุทัศน์จึงได้รับราชสมบัติแทน แต่ในปีเดียวกันก็ถูกแย่งชิงราชสมบัติโดยพระอนุชาคือ พระเจ้าทรงธรรม (พระอินทราชา)
ในรัชกาลพระศรีเสาวภาค เกิดการสู้รบกับเจ้ากรมไวยที่ทะเยอทะยานคิดตั้งตนเป็นกษัตริย์ โดยบันทึกที่เรียบเรียงจากปากคำของสปริงค์เกลระบุว่า
“...maer de meester van de Stad halpen de Conincks oudste soone / soo dat hy tot Coningh werdt ghehult : ende waren de Hollandsche leggers mede in de hulpe van des Conincr soone teghen den Ochi Chronowi, niet teghenstaende sy van hem in velen ghesavoriseert waren gheweeft, Des Conincr oudste soone is daer nae oock noch omghekomen / ende zijn jonghste broeder heest het Rijck ofte kroone ontsanghen ; doch als Sprinckel van Patane vertrock't welck was........en waren de beroerten in Siam noch niet ghestilt.”
(...แต่ผู้ใหญ่ในพระนครช่วยเหลือพระราชโอรสองค์ใหญ่ให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และกองทหารฮอลันดาได้ช่วยเหลือพระราชโอรสต่อต้านออกญากรมไวยด้วยแม้ว่าจะเคยได้รับความโปรดปรานอย่างมาก หลังจากนั้นพระราชโอรสองค์ใหญ่เสด็จสวรรคต พระอนุชาพระองค์เล็กที่สุดของพระองค์ทรงได้รับราชสมบัติ แต่เมื่อสปริงค์เกลเดินทางออกจากปัตตานี........ความวุ่นวายในสยามยังคงไม่จบสิ้น)
พระโอรสองค์ใหญ่หมายถึงพระศรีเสาวภาคซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่สุดที่ยังมีพระชนม์ชีพในเวลานั้น ส่วนพระอนุชาองค์เล็กสุดในที่นี้หมายถึงพระเจ้าทรงธรรม แต่มีความคลาดเคลื่อน เพราะจดหมายเหตุของฟาน ฟลีต ระบุว่าพระเจ้าทรงธรรมทรงมีพระอนุชาอีกสององค์ คือ พระองค์ทอง (Pra Onthongh) และพระศรีสิน (Pra Sijsingh) พิจารณาจากเนื้อหาเข้าใจว่าเจ้ากรมไวยจะพ่ายแพ้ตั้งแต่รัชกาลพระศรีเสาวภาค
แต่ในปี พ.ศ. 2153 นั้นเอง ฟลอริสบันทึกว่าไพร่พลชาวญี่ปุ่นในสังกัดเจ้ากรมไวย 280 คนได้ก่อกบฏบุกยึดพระราชวังหลวงเพื่อล้างแค้นให้เจ้านาย จนสามารถควบคุมพระเจ้าทรงธรรมไว้เป็นระยะหนึ่ง พวกญี่ปุ่นบังคับให้ทรงส่งขุนนางผู้ใหญ่ 4 คนที่ทำให้เจ้ากรมไวยต้องตายให้ญี่ปุ่นประหาร ให้ทรงทำหนังสือสัญญาด้วยพระโลหิต ให้พระราชทานพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตัวประกัน ก่อนจะใช้กำลังหลบหนีไปพร้อมทรัพย์สมบัติจำนวนมาก ในขณะที่พระราชพงศาวดารระบุว่าพระมหาอำมาตย์ เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือสามารถขับไล่ชาวญี่ปุ่นออกไปจากพระราชวังได้สำเร็จ
ต้นรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรมยังมีปัญหาทางการเมืองตามมาอย่างต่อเนื่อง หลักฐานชั้นต้นของดัตช์ระบุว่า กองทัพกรุงศรีอยุทธยาขับไล่กบฏญี่ปุ่นที่หนีไปอยู่ที่เมืองเพชรบุรีได้ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2154 (ค.ศ. 1611) ในวันเดียวกันนั้นสมาชิกในครอบครัวออกญากำแพงเพชรพยายามลอบปลงพระชนม์พระเจ้าทรงธรรมแต่ไม่สำเร็จทำให้คนร้ายและพรรคพวกถูกลงโทษ ส่วนพวกญี่ปุ่นก็ย้อนยึดครองเมืองบางกอกไว้ได้จนหัวหน้าญี่ปุ่นทำตัวเป็น “กษัตริย์ย่อมๆ” (little king) อยู่ที่บางกอก จนกระทั่งราชสำนักต้องเจรจาให้ญี่ปุ่นยอมออกจากสยามไปใน พ.ศ. 2155 (ค.ศ. 1612)
การยึดพระราชวังหลวงของญี่ปุ่นสมุนเจ้ากรมไวยยังส่งผลให้ประเทศราชของกรุงศรีอยุทธยาทั้งหัวเมืองมอญ กัมพูชา ล้านช้างกระด้างกระเดื่อง จนมีเจ้านายชั้นสูงจากอยุทธยาที่หลบหนีไปล้านช้างชื่อ Tioufa Tanaw (มีการสันนิษฐานว่าคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา “พระเจ้าฝ่ายหน้า” ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศ) ชักนำให้พระเจ้าล้านช้างยกทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยาใน พ.ศ. 2155 แต่ถูกทัพหลวงของพระเจ้าทรงธรรมขับไล่ไปได้
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าสุทัศน์ที่มีเจ้ากรมไวยอยู่เบื้องหลังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความเป็นไปทางการเมืองของกรุงศรีอยุทธยาอย่างมาก ถ้าพระองค์ไม่สิ้นพระชนม์และได้ขึ้นครองราชย์ ประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนไปอีกทางหนึ่งเลยก็ได้
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- นันทา สุตกุล, ผู้แปล. (2513). เอกสารของฮอลันดาสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2151-2163 และ พ.ศ. 2167-2185 (ค.ศ. 1608-1620 และ ค.ศ. 1624-1642). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. (2553). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- สมโชติ อ๋องสกุล. (2519, พฤษภาคม-สิงหาคม). การศึกษาใหม่เกี่ยวกับรัชกาลพระเอกาทศรถ พระศรีเสาวภาคย์ และพระเจ้าทรงธรรม. วารสารประวัติศาสตร์. 1(2), 1-19.
ภาษาต่างประเทศ
- Baker, C., Dhiravat na Pombejra, Kraan, A. van der and Wyatt, D. K.,(Eds). (2005). Van Vliet's Siam. Chiang Mai: Silkworm Books.
- Commerlin, I.,(Ed.). (1646). Begin ende Voortgangh van de Vereenighde Neederlantsche Geoctroyeerde Oost-Indische Compagnie. Amsterdam: J. Janssonius.
- Mooreland, W.H.,(Ed.). (2002). Peter Floris His Voyage to the East Indies in the Globe, 1611-1615. Bangkok: White Lotus Place.
- Record of the Relations Between Siam and Foreign Countries in the 17th Century. Volume I: 1607-1632. (1915). Bangkok: Council of the Vajirañāṇa National Library.
- Polenghi, C. (2009). Yamada Nagamasa, Japanese Warrior and Merchant in Early Seventeenth-Century Siam. Bangkok: White Lotus.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา