23 ก.พ. 2021 เวลา 23:00 • หนังสือ
ช่วงนี้ผมค่อนข้างหงุดหงิดกับตัวเอง
3
คือรู้สึกว่ามีงานออกมาน้อยมาก ทั้งที่ใส่เวลาไปไม่น้อย
ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งรู้สึกหงุดหงิด รู้สึกไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
เวลาหงุดหงิด ผมชอบไปร้านหนังสือ เจอหนังสือชื่อ “The Power of Output”
คุ้น ๆ ว่าเคยฟังรีวิวจากพ็อดแคส Mission to the Moon
2
ตอนแรกกะไม่ซื้อ แต่พอรู้ว่าผู้เขียนคือคุณ ชิออน คาบาซาวะ ผมหยิบไปจ่ายเงินเลย
1
ทำไม?
1
เพราะคือผู้เขียนหนังสือชื่อ “เทคนิคอ่านให้ไม่ลืม ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ” ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมชอบมาก
8
พอซื้อมา แค่เปิดอ่านไม่กี่หน้าก็รู้สึกชอบทันที ทั้งที่ฟังรีวิวมาแล้ว
การอ่านกับการฟังรีวิวไม่เหมือนกัน
สิ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือ โทน หรือ อารมณ์ที่สัมผัสได้จากผู้เขียน
เนื้อหาเดียวกัน แต่อารมณ์ที่ถ่ายทอดไม่เหมือนกัน การรับสารของผู้อ่านก็ไม่เหมือนกัน
3
สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ ก็คือผู้เขียน
ทำไม?
เพราะผู้เขียนเป็นคนที่
- ส่ง E-Magazine ทุกวันเป็นเวลา 13 ปี
- โพสต์ Facebook ทุกวันเป็นเวลา 8 ปี
- อัปโหลดคลิปลง YouTube ทุกวันเป็นเวลา 5 ปี
- เขียนหนังสือทุกวัน อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 11 ปี
- ออกหนังสือปีละ 2-3 เล่ม ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี (ออกมาแล้ว 28 เล่ม)
- เปิดสัมมนาใหม่ ๆ ทุกเดือน เดือนละอย่างน้อย 2 ครั้ง ติตต่อกันเป็นเวลา 9 ปี
16
บ้าไปแล้ว!
ดูแล้วน่าจะเป็นพวกบ้างาน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่หลับไม่นอน
แต่ไม่ใช่เลย
ผู้เขียนทำทั้งหมดนี้โดย
- ไม่ทำงานหลัง 6 โมงเย็น
- ดูหนังอย่างน้อยเดือนละ 10 เรื่อง
- อ่านหนังสืออย่างน้อยเดือนละ 20 เล่ม
- ไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง
- ไปดื่มสังสรรค์อย่างน้อยเดือนละ 10 ครั้ง
- ไปเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 30 วัน
9
เฮ้ย! ไม่ใช่คนแล้ว!!
2
เค้าทำได้ยังไง?
คำตอบก็คือ Output
[Output คืออะไร?]
ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจ ต้องอธิบายคู่กับคำว่า Input
1
Input คือ การนำข้อมูลเข้าสู่สมอง
Output คือ การนำข้อมูลออกสู่โลกภายนอก
1
ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ
Input คือ ฟัง และ อ่าน
Output คือ พูด และ เขียน
1
และ Output ยังรวมถึง การลงมือทำ
เช่น การดูหนัง การอ่านหนังสือ การฟังบรรยาย พวกนี้ถือเป็น Input
การเล่าหนังที่ดูให้เพื่อนฟัง การเขียนรีวิวหนังสือที่อ่าน การนำสิ่งที่อ่านไปปฏิบัติจริง พวกนี้ถือเป็น Output
1
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่าง Input และ Output คือการขยับร่างกาย
การทำเอาต์พุต ไม่ว่าจะเป็น การพูด การเขียน ต้องใช้ประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความจำของกล้ามเนื้อ
ถ้าความจำกล้ามเนื้อจำได้ครั้งนึง จะไม่มีวันลืม เหมือนขี่จักรยาน ถ้าขี่ได้ ก็จะขี่ได้ตลอดชีวิต
1
[กฎพื้นฐานของ Output]
1
กฎพื้นฐานของเอาต์พุต คือ ต้องสร้างเอาต์พุตอย่างน้อย 3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ หลังได้รับข้อมูล
2
“บ้าหรือเปล่า ใครจะไปทำได้?”
แต่ผู้เขียนทำได้ และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
2
นี่อาจเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนทำทั้ง E-Magazine, Facebook, YouTube ทุกวัน ทั้งหมดนี้คือการทำเอาต์พุต
เดาได้เลยว่าเนื้อหาใน E-Magazine, Facebook, YouTube หรือรวมถึงสัมมนา ก็น่าจะคล้าย ๆ กัน คล้ายเป็นการทำซ้ำ
1
ผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า ถ้าเคยดูหนังหรืออ่านหนังสือเรื่องไหน จะไม่มีวันลืม ให้เล่าตอนนี้ก็ทำได้ เพราะทำเอาต์พุตมาแล้ว 3 ครั้งนั่นเอง
[อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ Input: Output คือ 3:7]
6
อ่านไม่ผิดหรอกครับ Input 3: Output 7
แปลว่า ต้องใช้เวลาทำเอาต์พุตมากกว่าอินพุต 2 เท่า!
1
คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผม) ใช้เวลากับ Input มากกว่า Output
หรือ ถ้าพูดกันตรง ๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำเอาต์พุต
สมมติเราอ่านหนังสือเล่มนึงจบ ก็คือจบ พอเวลาผ่านไป เราจะลืมเนื้อหาที่อ่าน เพราะเราไม่ได้ทำเอาต์พุตนั่นเอง
ดังนั้น ถ้ามีเวลา 10 ชั่วโมง
ให้ใช้ 3 ชั่วโมงไปกับการอ่าน
และใช้ 7 ชั่วโมงไปกับการทำเอาต์พุต
7
[เขียน เขียน เขียน]
การทำเอาต์พุตแบบพื้นฐาน มี 2 อย่างคือ พูด และเขียน
1
ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง พูด และ เขียน
การเขียนมีประสิทธิภาพดีกว่า
1
ทำไม?
เพราะการเขียนช่วยกระตุ้นระบบตื่นตัวเรติคิวลาร์ (RAS: Reticular Activating System) ในสมอง
1
แล้วยังไง?
1
เมื่อ RAS ถูกกระตุ้น สมองจะตอบสนองด้วยการตั้งสมาธิแล้วรวบรวมข้อมูลอย่างเต็มที่ ข้อมูลไม่สำคัญจะถูกปล่อยผ่านไป และใช้กำลังสมองจัดการกับข้อมูลสำคัญ
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอยากจำได้ ให้เขียน!
5
ผู้เขียนแนะนำว่า การอ่านหนังสือที่ดี ให้เขียนแทรกลงไปในหนังสือ
การเขียนแทรกทำให้เข้าใจเนื้อหาลึกขึ้น และจดจำได้ดีขึ้น
1
หรืออาจใช้วิธีขีดเส้นใต้ (ขีดไฮไลต์) ก็ได้ แต่ไม่ควรขีดเยอะเกินไป
ถ้าขีดเยอะเกินไปจะไม่รู้ว่าเนื้อหาไหนสำคัญ
หนังสือ 1 เล่ม ขีดเส้นใต้เนื้อหาสำคัญ 3 จุดก็พอแล้ว
1
3 จุดเนี่ยนะ พอเหรอ?
การอ่านหนังสือแล้วค้นพบสิ่งสำคัญ 3 จุด ถือว่าหนังสือเล่มนั้นคุ้มค่าแล้ว
1
ควรทำ Output ตอนไหน?
คำตอบคือ ควรทำ Output หลังทำ Input เสร็จทันที!
4
เช่น เมื่อดูหนังหรืออ่านหนังสือจบก็ให้เขียนรีวิว
การเขียนรีวิวทันทีทำให้บทวิจารณ์เฉียบคม เก็บรายละเอียดปลีกย่อย รวมถึงสื่อถึงอารมณ์ในตอนนั้น
1
[เทคนิคการเขียนบทความให้เร็ว]
มี 2 อย่างคือ
1. กำหนดเวลาในการเขียน
2
ถ้าไม่กำหนดเวลา เราจะเขียนไปเรื่อย ๆ ทำให้ใช้เวลามากเกินไป
พอใช้เวลามากเกินไป ครั้งต่อไปก็ไม่อยากทำแล้ว
ควรกำหนดไปเลยว่าจะใช้เวลาเขียนกี่นาที แล้วทำให้ได้ตามนั้น
แรก ๆ อาจจะยากอยู่บ้าง แต่ถ้าทำบ่อย ๆ สมองจะได้รับการฝึกฝนจนทำได้ในที่สุด
(ผมคนนึงล่ะ ที่ยังทำไม่ได้ T_T)
1
2. ร่างเนื้อหาแล้วค่อยเขียน
ถ้าไม่ร่าง พอเขียนไปสักพักก็จะเกิดอาการ “เขียนอะไรต่อดีนะ”
แทนที่จะใช้เวลากับการเขียน กลับเสียเวลากับการคิด
การร่างเนื้อหาก่อน (ให้เขียนออกมา อย่าร่างในหัว) ทำให้เขียนบทความเร็วขึ้น 3-4 เท่า
เหมือนการสร้างบ้าน ต้องมีพิมพ์เขียวก่อน แล้วจึงสร้างตามนั้น
2
[คว้าจับ Aha Moment]
คุณรู้จัก “อะฮ้า! โมเมนต์” ไหมครับ?
Aha Moment (Eureka Moment) คือช่วงเวลาที่เราค้นพบหรือเข้าใจอะไรบางอย่าง จนแทบจะร้อง อะฮ้า! ออกมา
ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาทอง
2
ทำไม?
เพราะเมื่อเกิด อะฮ้า! โมเมนต์ จะมีระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 0.1 วินาทีที่เซลล์ประสาททำงานพร้อมกัน ทำให้เกิดวงจรประสาทใหม่
1
แล้ว?
เมื่อเกิดวงจรประสาทใหม่ การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเรียนรู้โดยฉับพลันเสร็จสมบูรณ์
แต่วงจรประสาทใหม่มีอายุสั้นมาก ราว 30 วินาที หรือไม่ถึง 1 นาที
1
ดังนั้น เมื่อเกิด อะฮ้า! โมเมนต์ ควรรีบบันทึกภายใน 1 นาที อาจจะจดใส่สมุด จดใส่โทรศัพท์ หรืออัดเสียงใส่โทรศัพท์ก็ได้ แล้วหยิบไปทำเอาต์พุตต่อ
1
[เหม่อลอย]
เทคนิคนึงที่ใช้ทำเอาต์พุตก็คือ เหม่อลอย
เหม่อลอยเนี่ยนะ?
ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ ช่วงเวลาที่เหม่อลอย หรือไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ Default Mode Network ในสมองจะทำงานอย่างแข็งขัน
Default Mode Network จะประมวลผลความทรงจำหรือภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ เรียบเรียงและจัดหมวดหมู่
ในช่วงเวลานี้ สมองจะทำงานมากกว่าปกติถึง 15 เท่า
4
อาจพูดได้ว่า เวลาเหม่อลอยนั้น สำคัญกว่าเวลาที่สมองทำงานเสียอีก!
2
คนส่วนใหญ่มักมองว่าการเหม่อลอยเป็นเรื่องเสียเวลา จึงใช้เวลาว่างไปกับการเล่นโทรศัพท์ แต่การใช้สมองโดยไม่พักเลยมีผลเสียต่อ Default Mode Network แถมยังทำให้สมองเหนื่อยล้า
2
ผมอ่านตรงนี้แล้วพยักหน้าหงึก ๆ บ่อยครั้งที่เขียนบทความแล้วติด คิดไม่ออก ผมชอบมองไปนอกหน้าต่าง เหม่อแบบนั้นสักพัก แล้วจู่ ๆ มันก็คิดออกเฉยเลย
เพิ่งรู้ว่านี่คือ Default Mode Network นี่เอง ^_^
3
[กฎเหล็กของการทำ Output]
คือ ทำอย่างต่อเนื่อง
หากไม่ทำอย่างต่อเนื่องให้ถึง 3 เดือน ย่อมไม่มีทางสร้างผลสำเร็จที่ชัดเจนได้
4
ผู้เขียนทำ E-Magazine, Facebook, YouTube ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
คีย์เวิร์ดคือ ทุกวัน
1
“แค่คิดว่า ทุกวัน ก็เหนื่อยจนไม่อยากทำแล้ว”
ตอนแรกให้คิดแค่ว่า จะทำ “วันนี้” “ตอนนี้” ก็พอ
อย่าเพิ่งมองไกล เพราะถ้ามองไกล สมองจะยิ่งไม่อยากทำ
[เริ่มทำไม่ได้สักที]
วิธีแก้ปัญหาก็คือ ลงมือทำไปก่อน
3
“อ้าว! ก็กำลังมีปัญหาอยู่นี่ไง”
การลงมือทำไปก่อน คือหนทางเดียวในการแก้ปัญหา
1
ในสมองมีส่วนประกอบที่เรียกว่า Nucleus Accumbens ถ้าส่วนประกอบนี้ทำงานจะทำให้เกิดความรู้สึกตั้งอกตั้งใจ ทำให้สมองอยู่ในสภาพพร้อมทำงาน
3
พูดง่าย ๆ Nucleus Accumbens คือ สวิตช์ความตั้งใจ
แต่สวิตช์นี้จะไม่ทำงานหากไม่ได้รับการกระตุ้นที่แรงพอ ซึ่งการกระตุ้นนี้ต้องใช้เวลา 5 นาที
ดังนั้น ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง ให้เริ่มไปก่อนสัก 5 นาที แล้วสมองจะช่วยเราเองครับ ^_^
2
[สอน สอน สอน]
วิธีสร้าง Output ที่ดีที่สุด และส่งผลต่อการพัฒนาตัวเองมากที่สุดก็คือ การสอน
3
คนที่เคยสอนคนอื่นจะรู้ดีว่า ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้จะสอนคนอื่นไม่ได้
1
การสอนทำให้เรามองเห็นว่า ตัวเราเข้าใจดีแค่ไหน มีจุดบกพร่องตรงไหน
ถ้าอยากเรียนรู้อะไร ให้ตั้งเป้าไปเลยว่า ต้องศึกษาจนถึงระดับสอนคนอื่นให้เข้าใจได้
แล้วจะสอนใครล่ะ?
ถ้าไม่รู้จะสอนใคร อาจเริ่มจากสอนเพื่อน
ถ้าสอนจนชำนาญแล้ว อาจสอนให้กับคนในบริษัท
หรือถ้าเชี่ยวชาญมากขึ้น อาจสอนจนเป็นวิทยากรมืออาชีพเลยก็ได้
ยิ่งสอน ยิ่งเกิดการพัฒนา
คนที่พัฒนามากที่สุดจากการสอนไม่ใช่ผู้ฟัง แต่คือผู้สอน
1
อันนี้ผมเห็นด้วยมาก ๆ ระหว่างการสอนจะมีคำถาม จะมีบางมุมซึ่งเราไม่เคยมอง ทำให้เราต้องไปหาคำตอบ และทำให้เราเข้าใจเรื่องนั้นมากขึ้น
[ตั้งเป้าแค่ 30 คะแนน]
ในแง่ของการเขียนนั้น มือใหม่มักอยากทำผลงานชิ้นโบว์แดง ตั้งเป้าว่าต้องได้ 100 คะแนน
แต่พอทำไปสักพักจะเกร็งจนเขียนไม่ออก
เวลา 80% จะถูกใช้ไปกับการทำดราฟต์แรก เหลือเวลาแก้ไขเพียง 20%
สุดท้ายเวลาก็ไม่พอ ต้องทดเวลาไปเรื่อย ๆ แถมคุณภาพงานก็ไม่ดี
แต่มืออาชีพจะใช้เวลากับดราฟต์แรกเพียง 50% และใช้เวลาอีก 50% สำหรับการแก้ไข
ตั้งเป้าดราฟต์แรกแค่ 30 คะแนน แล้วแก้ไข 3 รอบ
แก้ไขรอบแรกให้เป็น 50 คะแนน
แก้ไขรอบสองให้เป็น 70 คะแนน
แก้ไขรอบสามให้เป็น 90 คะแนน
1
ถ้าใช้เวลาในการแก้ไขมากพอ จะสร้างผลงานที่มีคุณภาพได้
ผมอ่านตรงนี้แล้วสะอึกกึก เพราะตัวเองเป็นแบบแรกเลย
ชอบตั้งเป้าว่าบทความนี้ต้องปัง กลายเป็นกดดันตัวเอง เขียนไม่ออก ใช้เวลามากไป สุดท้ายแป้ก! T_T
3
[ไม่มีเวลาทำ Output]
หลายคนมักจะบ่นว่า อยากทำ Output แต่ไม่มีเวลา
ผู้เขียนแนะนำว่า ลองเริ่มจากทำ Output โดยใช้เวลา 15 นาที
1
เช่น ตั้งเป้าว่าจะเขียนรีวิวหนังสือภายใน 15 นาที แล้วเขียนให้จบภายใน 15 นาที
ต่อให้งานยุ่งแค่ไหน เวลาแค่วันละ 15 นาทีน่าจะพอหาได้ จริงไหม?
เวลาที่เหมาะกับการทำเอาต์พุตก็คือ ‘เศษเวลา’ เช่น เวลาเดินทาง เวลารอนัดพบ เวลาพักกลางวัน
2
เครื่องมือที่ดีที่สุดในการทำเอาต์พุตคือ สมาร์ทโฟน
1
คนส่วนใหญ่มักใช้สมาร์ทโฟนเป็น Input แต่สมาร์ทโฟนนั้นเหมาะกับการทำ Output มาก ๆ เพราะทำตรงไหน เมื่อไรก็ได้
[เขียนรีวิวหนังสือ]
วิธีฝึกทำ Output ที่ผู้เขียนแนะนำคือ เขียนรีวิวหนังสือ
1
คนส่วนใหญ่อ่านหนังสือแล้วก็ลืม เพราะอ่านอย่างเดียว เท่ากับทำอินพุตแล้วจบแค่นั้น
1
เมื่อไม่ทำเอาต์พุต จึงไม่หลงเหลือข้อมูลในความทรงจำ สุดท้ายก็ลืม
“แค่อ่านหนังสือยังไม่มีเวลาเลย แล้วจะทำเอาต์พุตได้ยังไง?”
1
ถ้าไม่มีเวลาทำเอาต์พุต ให้ลดเวลาทำอินพุตลง
1
เช่น จากที่เคยอ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม แล้วไม่ได้เขียนรีวิว
ให้ลดเหลือเดือนละ 1 เล่ม แล้วเขียนรีวิวทุกครั้ง
2
อันนี้ผมสะดุดหัวทิ่มเลย
ปีที่แล้ว (2020) ผมอ่านหนังสือไป 50 เล่ม แต่ถ้าให้เล่าว่าแต่ละเล่มมีเนื้อหาอย่างไร ผมคงเล่าได้เพียง 10 เล่ม
และ 10 เล่มที่ว่า ก็คือเล่มที่ผมเขียนรีวิว
1
การเขียนรีวิวไม่ได้แปลว่าไม่มีทางลืม ต้องมีลืมกันบ้าง แต่ถ้ากลับมาอ่านรีวิวที่ตัวเองเขียน จะจำได้ทันที คล้ายหมุนเมมโมรีกลับไปตอนนั้น
2
อาจเป็นเพราะเขียนรีวิวด้วยภาษาของเรา เรียบเรียงในแบบฉบับของเรา เขียนจากความเข้าใจของเรา พอกลับมาอ่านจึงดึงความเข้าใจนั้นกลับมาได้ทันที
[เขียนลงโซเชียลมีเดียและบล็อก]
การทำเอาต์พุตที่ดีควรเผยแพร่ให้กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรือเขียนลงเว็บบล็อก
การมีคนอ่านทำให้เรามีกำลังใจเขียน ทั้งยังเป็นฟีดแบ็กชั้นดี
1
(อันนี้ผมว่าจริงเลยนะ ถ้าไม่มีคนอ่าน ผมก็คงไม่เขียนบทความ ^_^)
1
การเขียนบล็อกจะมีจุดเลื่อนขั้นครั้งใหญ่เมื่อเขียนบทความได้ 100, 300 และ 1,000 เรื่อง
2
เมื่อเขียนถึง 100 เรื่อง จะมีคนอ่านมากพอสมควร
เมื่อเขียนถึง 300 เรื่อง บล็อกของเราจะอยู่ในหน้าแรก ๆ ของเสิร์ชเอนจิน
และเมื่อเขียนถึง 1,000 เรื่อง บล็อกของเราจะอยู่ในหน้าแรกของเสิร์ชเอนจิน ทำให้มีคนเข้าชมมากขึ้น
การเผยแพร่ข้อมูลสามารถสร้างรายได้ และทำเป็นอาชีพได้
ทุกวันนี้โลกหมุนเวียนด้วยข้อมูล ทำให้เกิดการแบ่งออกเป็น ผู้รับข้อมูล และ ผู้ให้ข้อมูล
ยิ่งรับข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งต้องใช้เงินมากเท่านั้น
ยิ่งให้ข้อมูลมากเท่าไร ยิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น
5
[สิ่งที่ไม่ชอบในหนังสือเล่มนี้]
โดยส่วนตัวไม่ชอบชื่อไทยของหนังสือเล่มนี้
“ศิลปะของการปล่อยของ” ผมคิดว่าไม่ตรงกับเนื้อหา
ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับชื่อต้นฉบับ “The Power of Output: How to Change Learning to Outcome” แทบจะเป็นคนละเล่ม
สไตล์การเล่าเรื่องของผู้เขียนยังดูทื่อ ๆ อ่านไม่ค่อยสนุก (หนังสือฮาวทูของญี่ปุ่นเป็นแบบนี้หลายเล่ม) แต่ก็มีข้อดีที่ชัดเจน ตรงประเด็น
เนื้อหาบางส่วนไม่ค่อยเกี่ยวกับ Output โดยเฉพาะบทที่ 2 ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการพูด
คล้ายเขียนอธิบายให้ตรงหัวข้อ แต่ไม่ตรงกับเนื้อหาหลัก
อ่านไปสักพักจะรู้สึกว่า
“แล้วมันเกี่ยวกับการทำเอาต์พุตยังไง?”
แต่ถ้าไม่คิดอะไรมากก็อ่านได้เพลิน ๆ
[สรุป]
โดยรวมแล้วประทับใจ และนี่คือหนึ่งในหนังสือเล่มโปรด
แม้จะมีสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง แต่ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับทั้งหมด
1
ขอบอกว่าอ่านจบแล้ว “อิน” มาก
มากขนาดไหน?
ขนาดที่อ่านจบแล้วนั่งเขียนรีวิวทันที (แม้จะใช้เวลา 5 ชั่วโมงก็ตาม)
รู้สึกว่าถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่ทำเอาต์พุต จะโดนผู้เขียนมองด้วยหางตา
3
ทำเอาต์พุตก็สนุกดีนะ ยิ่งทำหลังอ่านจบ รู้สึกฟิน โล่ง คล้ายครบจบกระบวนการ
1
หวังว่าการรีวิวหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ
ป.ล. ผมรู้วิธีแก้ปัญหาอาการหงุดหงิดของตัวเองแล้วล่ะ ^_^
โฆษณา