24 ก.พ. 2021 เวลา 01:50 • สุขภาพ
ยารักษาโรคกระดูกพรุน กับการทำฟัน
ยาต้านกระดูกพรุนมีหลายกลุ่ม
มีการออกฤทธิ์จะต่างกันคือยับยั้งการสลายกระดูกและกระตุ้นการสร้างกระดูก ในการรักษาโรคกระดูกพรุนทั่วไปมักใช้ยากลุ่มต้านการสลายกระดูก เช่นกลุ่ม bisphosphonate (Fosamax) และ monoclonal antibody (prolia)มีผลกระทบกับการรักษาทางทันตกรรมเหมือนกันคือ เมื่อถอนฟันหรือการทำหัตถการที่เกิดแผลลึกถึงกระดูก แผลอาจหายช้า เกิดภาวะกระดูกขากรรไกรตาย (osteonecrosis of jaw:ONJ) อันเนื่องมาจากกลไก การยับยั้ง การสลายตัวของกระดูกของยาต้านกระดูกพรุน ทำให้ร่างกายเกิดการซ่อมสร้างกระดูกในบริเวณแผลลดลง
ด้วยเหตุผลนี้หมอฟันหลายท่านก็กังวลต่อการถอนฟันในคนไข้ที่ได้รับยาต้านกระดูกพรุน บางท่านปฏิเสธการถอนและส่งต่อคนไข้ไปรับการรักษากับทันตแพทย์ด้านศัลยศาสตร์ช่องปากฯ
ในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าอัตราการเกิด กระดูกขากรรไกรตาย ( osteonecrosis of jaw :ONJ )จากยาต้านกระดูกพรุนกลุ่มข้างต้นไม่ได้สูงมากเหมือนการศึกษาช่วงแรกๆ หรือในกรณีคนไข้ที่ได้รับยากลุ่มต้านการสลายกระดูกในระดับสูง เช่นกลุ่มคนไข้มะเร็งกระดูก การรักษาทางทันตกรรมสามารถทำได้ ถอนฟันได้หากจำเป็น โดยถอนอย่างนิ่มนวล ไม่ชอกช้ำ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีการจ่ายยาต่างๆร่วมด้วย รวมถึงการปรึกษากับแพทย์เพื่อหยุดยาต้านกระดูกพรุนชั่วคราว(drug holiday) ซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้นคนไข้หยุดเองไม่ได้นะครับ
1
กลุ่มยาต้านกระดูกพรุนมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกขากรรไกรตายภายหลังถอนฟัน ปัจจุบันพบว่าความเสียงไม่สูง และสามารถถอนได้หากจำเป็น
ดังนั้นก่อนการได้รับยาต้านกระดูกพรุนควรได้รับการตรวจ ดูแล รักษาสุขภาวะช่องปากและฟันอย่างละเอียดสม่ำเสมอ ซี่ไหนการพยากรณ์โรคดี ดูแล้วเก็บได้ รักษาได้ ก็รักษาเก็บไว้ ซี่ไหนท่าไม่ดี เช่น ผุมาก ไม่มีคู่สบ ฟันคุด ฟันเป็นโรคเหงือกรุนแรง รำมะนาดหรือตุ่มกระดูกงอก- แหลม เสี่ยงต่อการเกิดแผลจากการบดเคี้ยว ให้ทำการผ่าตัดหรือถอนฟันที่สภาพไม่ดีออก เพื่อป้องกันปัญหาการหายของแผลที่จะตามมา และหลังจากได้รับยา ก็ต้องติดตามดูแลต่อเนื่องเพื่อป้องกันการถอนฟันเพิ่มหรือการเกิดบาดแผลการติดเชื้อในช่องปาก อันอาจจะทำให้เกิดกระดูกขากรรไกรตายได้
กรณีที่ท่านได้รับยาต้านกระดูกพรุน ควรแจ้งกับหมอทุกครั้ง หากจำเป็นต้องถอน หมอฟันจะได้วางแผนการรักษาให้ถอนได้อย่างปลอดภัย แผลหายเป็นปกติ
เคสตัวอย่าง คุณยายมาพบด้วยฟันเขี้ยวบนขวาแตก และคุณยายได้รับการรักษาโรคกระดูกพรุนอยู่ ได้รับยาฉีด Prolia ไปเข็มสุดท้ายเมื่อเดือนที่แล้ว จากการตรวจช่องปาก พบตัวฟันเขี้ยวบนขวาแตกหักจากรากฟัน ตัวฟันโยก มีส่วนที่ยังติดกับเหงือกซึ่งมีการอักเสบอยู่ ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือถ้าถอนฟันแผลถอนฟันคุณยายจะหายไหม และถ้าไม่ถอนจะเกิดอะไรขึ้น
จึงส่งถ่าย x- ray พบว่าฟันซี่นี้ ได้รับการรักษารากฟันและปักเดือยฟันมาแล้ว บริเวณปลายรากไม่พบสิ่งที่แสดงถึงการติดเชื้อที่รุนแรง และรอยแตกของตัวฟันก็อยู่เหนือระดับกระดูก
เนื่องจากมีการอักเสบที่เหงือกอยู่ แต่ไม่มีการติดเชื้อในระดับรากฟัน หากถอนฟันทั้งซี่ก็เสี่ยงกับภาวะกระดูกขากรรไกรตาย หากไม่ทำอะไรเลยคุณยายก็ทานอาหารไม่ได้ เพราะเจ็บทุกครั้งที่เคี้ยว และการอักเสบติดเชื้อที่เหงือกก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโอกาสเกิดกระดูกขากรรไกรตายได้อีก ทั้งหมอและคนไข้ตกลงทางเลือกที่เสี่ยงน้อยที่สุด
จึงทำการถอนเอาเฉพาะชิ้นส่วนที่แตกออก เพื่อกำจัดการติดเชื้อบริเวณ
เหงือ ตัดฟันให้เสมอเหงือก เพื่อการทำความสะอาดง่าย ลดการสะสมของเชื้อโรค เศษอาหาร และให้ยาฆ่าเชื้อ เมื่อติดตามดูแผล 1 สัปดาห์ แผลหายตามปกติ ทำการนัดมาถอนฟันอีกครั้งหลังหมดฤทธิ์ยาต้านกระดูกพรุน(Prolia)ในอีก 5 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลถอนฟันไม่หาย และกระดูกขากรรไกรตาย พร้อมทั้งแนะนำให้ใส่ฟันปลอมทดแทนฟันหลังที่ถูกถอนไปนานแล้ว เพื่อช่วยกระจายแรงบดเคี้ยวป้องกันแรงบดเคี้ยวที่มากเกินบนฟันหน้า
อ้างอิง
1.Clinical pharmacology of alendronate sodium.Gertz BJ, Holland SD, Kline WF, Matuszewski BK, Porras AG.Osteoporos
2.The influence of alendronate and tooth extraction on the incidence of osteonecrosis of the jaw among osteoporotic subjects doi: 10.1371/journal.pone.0196419
4.Osteonecrosis of the Jaw Is Rare With Denosumab for Bone Loss https://www.medpagetoday.com/meetingcoverage/acr/48752
โฆษณา